คุณค่าของความตาย
สตีฟ จ๊อบส์ ไม่เพียงแต่เป็นผู้บริหารองค์กรคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง (แม้จะลาออกจากตำแหน่งซีอีโอไปแล้ว) แต่ยังถือเป็นครุทางจิตวิญญาณสำหรับคนร่วมสมัยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ชื่นชอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทแอปเปิลจำนวนนับหลายล้านคน คำพูดของ สตีฟ จ๊อบส์ ในหลายครั้งให้แรงบันดาลกับคนจำนวนมาก แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาพูดเรื่องความตายไว้อย่างน่าสนใจ โดยเป็นหนึ่งในสามเรื่องที่เขาพูดในพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๘
เมื่อตอนอายุ ๑๗ ผมได้อ่านคำคมหนึ่งที่ว่า "หากคุณใช้ชีวิตแต่ละวัน เหมือนกับเป็นวันสุดท้ายของชีวิตแล้วล่ะก็ มั่นใจได้เลยว่า วันหนึ่งคุณจะพบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้อง" ผมประทับใจมาก ตั้งแต่นั้นมาตลอด ๓๓ ปี ทุกเช้าผมจะมองหน้าตัวเองในกระจกและถามตัวเองว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิต ผมยังอยากทำสิ่งที่จะทำในวันนี้หรือเปล่า” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ติดๆ กันหลายวัน ผมรู้ว่าผมจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างแล้ว
การระลึกว่า “ฉันจะต้องตายในไม่ช้า” เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ผมเคยพบซึ่งช่วยผมในการตัดสินใจสำคัญๆ ของชีวิต เพราะว่าเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากภายนอก ความภาคภูมิใจ ความกลัวขายหน้าหรือความล้มเหลว ล้วนไม่มีความหมายเมื่อเทียบกับความตาย เหลือเพียงสิ่งที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น การระลึกว่าคุณต้องตายเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ผมรู้จักในการเลี่ยงกับดักความคิดที่ว่า คุณมีอะไรต้องเสีย เราทุกคนตัวเปลือยเปล่าอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกคุณจะไม่ทำตามหัวใจของตัวเอง
ประมาณหนึ่งปีก่อน (ค.ศ.๒๐๐๔) หมอวินิจฉัยว่าผมเป็นมะเร็ง ผมต้องเข้าเครื่องสแกนตั้งแต่เช้าตอนเจ็ดโมงครึ่ง และผลออกมาชัดเจนว่ามีเนื้องอกในตับอ่อน ผมไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าตับอ่อนคืออะไร หมอค่อนข้างจะแน่ใจว่าผมเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่สามารถรักษาหายได้ และคาดว่าผมจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๓-๖ เดือน หมอแนะนำให้ผมกลับบ้านและทำสิ่งที่อยากทำ นั่นเป็นสัญญาณว่าให้ผมเตรียมตัวตายได้แล้ว แปลว่าให้คุณพยายามบอกสิ่งต่างๆ กับลูกที่โดยปกติแล้วต้องใช้เวลาสิบปี มาบอกพวกเขาภายใน ๒-๓ เดือน หมายถึงต้องแน่ใจว่าจะจัดการทุกสิ่งให้เรียบร้อย เพื่อให้ครอบครัวไม่ต้องยุ่งยากใจเมื่อถึงเวลานั้น แปลว่าคุณต้องบอกลาแล้ว
ผมหมกมุ่นอยู่กับคำวินิจฉัยนั้นตลอดวัน เย็นวันนั้นผมต้องเข้ารับการตรวจอีก หมอสอดกล้องเอนโดสโคป (ตรวจส่องโพรงภายในร่างกาย) เข้าไปในคอของผม ผ่านกระเพาะลงสู่ลำไส้ใหญ่ แทงเข็มฉีดยาเข้าที่ตับอ่อน แล้วตัดเนื้องอกก้อนนั้นออกมาเล็กน้อย ผมสงบอยู่ด้วยฤทธิ์ยา แต่ภรรยาของผมซึ่งอยู่ที่นั่นด้วยบอกว่า เมื่อหมอเอาเซลล์ไปส่องกล้องจุลทรรศน์ อยู่ๆ พวกหมอก็เริ่มร้องไห้ เพราะปรากฏว่ามันเป็นมะเร็งตับชนิดหายากมากๆ ที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด หลังจากนั้น ผมก็เข้ารับการผ่าตัด และตอนนี้ผมหายดีแล้ว
นี่เป็นเหตุการณ์ที่ผมต้องเผชิญความตายอย่างใกล้ชิดที่สุด และหวังว่ามันจะไม่เข้ามาใกล้มากไปกว่านี้อีกสัก ๒๐-๓๐ ปี การผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาได้ ทำให้ตอนนี้ผมพูดถึงสิ่งเหล่านี้กับพวกคุณได้อย่างมั่นใจกว่าเมื่อตอนที่มันยังเป็นแค่ความคิดเชิงนามธรรม
ไม่มีใครอยากตายหรอก แม้กระทั่งคนที่อยากไปสวรรค์ ก็ยังไม่อยากตายก่อนไปถึง แม้กระนั้น ความตายก็คือจุดหมายปลายของพวกเราทุกคน ไม่มีใครหนีรอดไปได้ มันเป็นสัจธรรม เพราะว่าความตายเป็นประดิษฐกรรมที่ดีที่สุดของชีวิต มันคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ล้างสิ่งเก่าๆ ออกไป เพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทน ตอนนี้สิ่งใหม่นั้นคือพวกคุณ แต่วันหนึ่ง พวกคุณจะค่อยๆ แก่และถูกกวาดไปเช่นกัน ต้องขอโทษด้วยที่พูดเหมือนละคร แต่นี่คือความจริง
เวลาของพวกคุณมีจำกัด ฉะนั้น อย่าเสียเวลาเพื่อเติมเต็มชีวิตคนอื่น อย่าตกเป็นทาสของกฎเกณฑ์ที่ตายตัว คือการใช้ชีวิตตามความคิดของคนอื่น อย่าปล่อยให้เสียงความคิดของคนอื่นมากลบเสียงภายในของคุณเอง และสิ่งสำคัญที่สุด จงกล้าทำตามหัวใจและสัญชาตญาณของตัวเอง เพราะมันรู้อยู่แล้วว่าพวกคุณอยากจะเป็นอะไรจริงๆ สิ่งที่เหลือเป็นเรื่องรองลงมาทั้งนั้น
-----
ข้อมูลจาก
“'You've got to find what you love,' Jobs says”; http://news.stanford.edu/news/2005/june15/jobs-061505.html
วิชาสุดท้าย เล่ม ๑, สฤณี อาชวานันทกุล
(สตีฟ จ๊อบส์ เสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ในวัย ๕๖ ปี)