Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ตามรอยหนังสือแสดงเจตนาฯ

-A +A

กฎกระทรวงมาตรา ๑๒ ขัดกฎหมายหรือจริยธรรมหรือไม่?

          ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ - ในการสัมนาวิชาการ เรื่อง “การปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ ... ขัดกฎหมายหรือหลักจริยธรรมหรือไม่?” ในมุมมองทางจริยศาสตร์ กฎหมาย และการแพทย์ ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

          รศ.สิวลี ศิริไล นักวิชาการด้านจริยศาสตร์ กล่าวว่า ในทางจริยศาสตร์ สิทธิปฏิเสธการรักษา ไม่ใช่การร้องขอความตาย ไม่ใช่การจงใจทำให้ตายหรือทอดทิ้ง เพราะทุกชีวิตมีคุณค่า แต่ต้องไม่เหนี่ยวรั้งหรือเร่งความตาย หัวใจสำคัญตามหลักจริยธรรมสากล คือการเคารพในความเป็นคนของผู้ป่วย หมายถึงมนุษย์แต่ละคนมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยการพูดความจริงระหว่างแพทย์ผู้ป่วย ญาติ เป็นข้อมูล ข้อถกเถียงในทางจริยศาสตร์ที่สำคัญคือ เราพร้อมจะเคารพความเป็นบุคคลของผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน แม้จะเป็นคนที่เรารัก ไม่อยากให้จากไป แต่การไปตัดสินแทนว่าสิ่งที่ดีสำหรับเขาตรงกับสิ่งที่เราคิด ควรทำมากน้อยแค่ไหน 

          ทางด้าน พ.อ.นพ.ดุสิต สถาวร วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงบทบาทของแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายว่า “เป็นการเติมชีวิตให้กับวันที่เหลือ ไม่ใช่การเติมวันให้กับชีวิตที่เหลือ” แต่การออกเป็นกฎหมายทำให้เกิดความกังวลใจ จึงจำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวการใช้สิทธิปฏิเสธการรักษาให้ชัดเจน ตลอดจนให้เวลาแพทย์ในการเรียนรู้และปรับตัวด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการออกจากพื้นที่ปลอดภัยที่ตนเองคุ้นเคยหรือทำงานอยู่ ความคิดเห็นหรือกังวลของแพทย์บางส่วนจึงมีอยู่จริง และควรทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

          ชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ตนเองมีประสบการณ์ดูแลคุณพ่อที่ป่วยอยู่ประมาณ ๒๐ ปี จึงไม่อยากเรียกว่า “สิทธิการตาย” แต่อยากเรียกว่า “วิธีการเลือกในการรักษา” มากกว่า เพราะมาตรา ๑๒ ต้องเชื่อมโยงกับมาตรา ๘ ที่จะต้องให้ข้อมูลด้านสุขภาพชัดเจนเพียงพอให้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับบริการสาธารณสุข 

          กฎหมายดังกล่าวมีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในเชิงปัจเจกชนสูงมากอย่างไม่ค่อยมีกฎหมายฉบับใดในสังคมไทยพูดถึง และคงจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไม่ได้ จึงต้องมีกลไกจัดการความขัดแย้งให้ดีและเพียงพอ ส่วนกรณีแพทย์จะโดนข้อหาทำให้คนตายหรือไม่ เมื่อทำตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยแล้ว ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามมาตรฐานทางวิชาชีพในการดูแลแบบประคับประคองจนลมหายใจสุดท้ายรวมอยู่ด้วย

          สำหรับการมองต่างมุมในเรื่องกฎกระทรวงดังกล่าว นพ สถาพร ลีลานันทกิจ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แสดงความเห็นในตอนท้ายการสัมนาว่า กฎกระทรวงดังกล่าวดีมากสำหรับแพทย์ และประชาชนที่เข้าสู่ภาวะใกล้ตาย เมื่อได้ประกาศออกไปแล้ว สช. ไม่ควรไปเดือดร้อนมากนัก เพราะแม้ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป กว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้อย่างเป็นกิจลักษณะ ล้วนแต่ใช้เวลานานกว่า ๒๐ ปี โดยสิ่งสำคัญในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าว คือผู้ป่วยควรทำในตอนที่ยังไม่ป่วย จึงเป็นหน้าที่ของ สช. ต้องไปสื่อสารให้กับชาวบ้านได้เข้าใจ แล้วในที่สุดจะทำให้แพทย์สบายใจ และทำงานได้ง่าย

 

แพทย์กลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนกฎกระทรวง

          ๘ สิงหาคม - นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล และ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ และขอให้ยกเลิก เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากขัดต่อมาตรา ๔ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๒๕ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สร้างภาระให้กับการบริการสาธารณสุข ขาดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างภาระต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้เพิ่มกว่าเดิม และเป็นการยกระดับให้ผู้ป่วยมีอำนาจสร้างหลักเกณฑ์การรักษาเหนือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

          พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กล่าวว่า กฎกระทรวงเป็นการบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วย หรือญาติ สวนกับความเป็นจริงที่แพทย์ควรจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษาผู้ป่วย แต่กลายเป็นผู้ป่วย หรือญาติมาสั่งให้แพทย์ไม่รักษา อาจเกิดปัญหาให้ลูก หรือญาติ มาร้องเรียนที่หลัง

 

แพทยสภาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับฯ “วาระสุดท้ายของชีวิต”

          ๒๙ สิงหาคม - ศ.นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า การกำหนดวาระสุดท้ายของชีวิตตามกฎกระทรวง มาตรา ๑๒ เขียนไว้ค่อนข้างกว้าง อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ แพทยสภาจึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับในการวินิจฉัยคำว่า “วาระสุดท้ายของชีวิต” เพื่อจะเป็นผู้กำหนดนิยามคำว่าวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาประชุมภายในต้นเดือนกันยายน คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน ๑-๒ เดือน

          พร้อมทำหนังสือถึงนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข พิจารณาแก้กฎกระทรวงตามประกาศ สช. เนื่องจากมีประเด็นที่ไม่ชัดเจนและยากต่อการปฏิบัติ เช่น ควรตัดกรณีผู้ป่วยมีสภาพเหมือนผักถาวรซึ่งไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แพทย์ไม่ควรดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาฯ ... ควรตัดเรื่องความทรมานทางจิตใจออก เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการยุติการทรมานการเจ็บป่วย ... ควรให้มีการทำหนังสือเจตนาฯ ได้ในสถานที่ ๔ แห่งเท่านั้น คือโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาตัว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ และ สช. 

 

          ทางด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ยังไม่พบว่ามีการนำหนังสือมาใช้จนก่อให้เกิดปัญหา ในวันที่ ๑๔ กันยายน สช.จะร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพพยาบาล ลงนามความร่วมมือด้านพัฒนามาตรฐานวิชาชีพของพยาบาล ให้รองรับสิทธิของประชาชน รวมถึงเรื่องหลักการของหนังสือแสดงสิทธิการตายด้วย เพราะถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลโดยตรง 

          ส่วน  ไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายจริยศาสตร์และสุขภาพ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพิจารณาร่างข้อบังคับฯ “วาระสุดท้ายของชีวิต” โดยแพทยสภา เป็นเรื่องทางการแพทย์โดยเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่ขัดแย้งกับกฎกระทรวงแต่อย่างใด ส่วนการทำความเข้าใจเรื่องกฎกระทรวง แม้จะเน้นหนักไปที่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ สช. และศูนย์ฯ ได้วางแผนงานเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนผ่านสื่อหลากหลายไว้แล้ว โดยจะเริ่มดำเนินงานโดยเร็ว

          ...

คอลัมน์:

ผู้เขียน: