มุมมองเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน “ตายดี อยู่ดี”
“ไม่เคยนึกว่าตัวเองจะตายแบบไหน”
“มีแว๊บๆ ว่าสักวันหนึ่งถ้าแฟนไม่อยู่ เราคงจะอยู่ยาก”
“คิดอยู่บ้างเหมือนกันว่า ต้องทำใจและต้องอยู่ห่างๆ บ้างเพื่อเป็นการเตรียมตัว”
“ยังไม่ได้คิดถึงความตายโดยตรงว่าจะตายแบบไหนยังไง”
“ที่บ้าน ไม่ค่อยคุยกันเรื่องความตาย”
“ยังมีความรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าความเป็นตายเป็นเรื่องไม่น่าพูดถึง เลยเลี่ยงๆ หลบๆ เห็นความตายก็ยังหันหลังให้อยู่ มันน่ากลัว มันโศกเศร้า มันน่าจะเจ็บปวด ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดี น่าจะเป็นความทุกข์มากอย่างหนึ่ง”
คำพูดด้านบนเป็นเสียงสะท้อนมุมมองต่อชีวิตและความตายจากชายคนหนึ่งซึ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมาครึ่งศตวรรษ หากเราให้เวลากับการย้อนกลับมาทบทวนใคร่ครวญถึงมุมมองต่อชีวิตและความตายของตัวเราเอง เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้โดยผ่านมุมมองของเราเอง จะเกิดผลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับชีวิตของเราในปัจจุบันและวันข้างหน้า
การได้ทบทวนใคร่ครวญต่อชีวิตและความตายมีความสำคัญ ด้วยเหตุว่า หากเราไม่ต้องการตายอย่างเจ็บปวดทรมาน ทุรนทุราย เราควรจะได้ปฏิบัติตัวอย่างไรในชีวิตปัจจุบันของเรา เพื่อเป็นการได้ฝึกฝน หรือ เตรียมความพร้อม เมื่อถึงวันที่ลมหายใจสุดท้ายของเราหมดไป เราจะได้ “ตายดี ตายอย่างสงบเป็นสุข ตายอย่างที่เราคาดหวัง ตายอย่างที่เราต้องการ” ซึ่งความต้องการตายดีนี้ มีได้หลายมิติ
ในเบื้องต้น หลายๆคน ต้องการตายแบบไม่เจ็บปวดทรมาน ไม่ทุรนทุราย ศพไม่น่าเกลียด เป็นการตายดีในมิติทางกายภาพ มีบางคนต้องการตายท่ามกลางคนรักญาติพี่น้อง ตายโดยไม่เป็นภาระให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง เป็นการตายดีในมิติทางสัมพันธภาพ แต่สำหรับคนที่ต้องการเตรียมตัวเองให้ไปถึงระดับที่ลึกและไกลกว่า ยากกว่า คือ หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น หลุดพ้นจากวัฏสงสาร เกิดปัญญาในขณะตาย ตายดีในทางพุทธ อันนี้เป็นมิติทางด้านจิตใจ
เสียงคนจำนวนมากบอกว่า “ขอตายแบบ หลับแล้วตายไปเลย ไม่ทรมานดี” เป็นมุมมองที่เราต้องระมัดระวัง ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะว่า จิตในขณะสุดท้ายของเราที่เรียกว่า “อาสันนกรรม” นั้นมีความสำคัญ ดังนั้น การได้ฝึกฝนจิตใจของเราให้ไม่ยึดติด ลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง ในทุกๆวัน จึงเป็นการฝึกฝนเพื่อเตรียมจิตสุดท้ายของเราให้ได้ตายดีในทางพุทธ
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ให้คำอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า อาสันนกรรม คือกรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย จะมีผลก่อนกรรมอื่นใด ถ้าเราระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม ความสงบสุข เราก็ไปสู่สุคติได้ พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับวัวในคอก วัวตัวที่อยู่ชิดประตูคอก ทันทีที่เปิดประตูคอก วัวตัวนั้นจะได้ออกไปก่อนวัวตัวอื่นๆ หมายความว่ากรรมจวนเจียนก่อนตายเป็นกรรมที่จะส่งผลก่อนกรรมอื่น ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เรียกนาทีสุดท้ายของชีวิตว่า "นาทีทอง" เพราะว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะวางใจให้เป็นกุศลและนำไปสู่สุคติ กรรมในนาทีนั้นมีอานุภาพมาก เป็นตัวกำหนดภพภูมิที่จะไปเป็นสิ่งแรก
บางคนมีมุมมองว่า “ยาก ทำไม่ได้หรอกชาตินี้”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านกล่าวไว้ว่า คนธรรมดาสามัญ ที่ไม่ใช่พระ ที่เคยเป็นผู้มีความยึดติดมาก่อน ก็สามารถตายอย่างสงบได้ แม้โรคร้ายไข้เจ็บรุมเร้าทำความเจ็บปวดให้แก่ร่างกาย แต่ถ้ามีคนแนะนำให้เขาวางจิตใจได้ถูกต้อง รักษาใจให้เป็นปรกติ ก็สามารถผ่านพ้นความเจ็บปวดทางกายได้ และผ่านความตายได้อย่างสงบ ที่เราเรียกว่า ตายดี