Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ภาวะจิตช่วงสุดท้ายของชีวิตเป็นอย่างไร จะเตรียมตัวคุณแม่ที่ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายให้ไปอย่างสงบได้อย่างไร

-A +A

         ผู้ทุกข์ใจรายหนึ่งโทรปรึกษามาที่สายด่วนให้คำปรึกษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกี่ยวกับจิตสุดท้ายจะเป็นอย่างไร และจะเตรียมตัวให้กับคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งในระยะสุดท้ายอย่างไร หลังจากที่สายด่วนได้พูดคุยแนะนำตามแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว ได้นำประเด็นนี้ไปขอความเห็นเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาสายด่วนฯ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านข้อคิดเห็นค่อนข้างได้รายละเอียดมาก รวมไปถึงภาวะการตายตามแนวพุทธด้วย แต่ถึงแม้ไม่ใช่นับถือพุทธก็นำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน จึงน่าจะเป็นประโยชน์หากนำเนื้อหาดังกล่าวมาเผยแพร่

คำขอปรึกษา : ลูกสาวโทรมาปรึกษาว่า เป็นห่วงคุณแม่อายุ ๘๒ ปีแล้ว ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย อยากทราบว่า จิตในช่วงภาวะสุดท้ายหรือก่อนจะตายเป็นอย่างไร อยากให้คุณแม่ได้เตรียมตัว จะทำอย่างไรดี มีวิธีแนะนำหรือทำอย่างไรให้คุณแม่เข้าใจและเตรียมตัวคะ ตนเองมีการปฏิบัติเจริญสติอยู่บ้าง แต่คุณแม่ไม่ค่อยสนใจเท่าไรเลย ดูทีวีก็ดูแต่เพื่อรายการบันเทิงค่ะ

พระไพศาล วิสาโล : จิตในระยะสุดท้ายของชีวิตหรือก่อนตายนั้น แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอุปนิสัย พื้นเพ ประสบการณ์ และการวางใจของแต่ละคนในแต่ละขณะๆ แต่โดยทั่วไปแล้ว จะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "กรรมอารมณ์"เกิดขึ้น คือ การที่ความทรงจำหรือประสบการณ์เก่าๆ ตั้งแต่เด็กได้ฟื้นกลับมา เหมือนย้อนกลับไปในเหตุการณ์เหล่านั้น แต่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก 

         จากนั้นก็เกิด "กรรมนิมิต" คือ นิมิต โดยเฉพาะภาพเกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีตที่ประทับใจหรือฝังใจ มีทั้งภาพที่ทำให้จิตเป็นกุศล เช่น เกิดปีติ หรือเป็นอกุศล เช่น หวาดกลัว ตื่นตระหนก (เช่น เห็นสัตว์ที่ตนเองเคยฆ่าเป็นอาจิณมาหลอกหลอน) สุดท้ายคือ

         "คตินิมิต" หรือนิมิตเกี่ยวกับภพภูมิที่จะไปเกิด ไม่ว่าสุคติหรือทุคติก็ตาม

         คนที่ทำบุญสร้างกุศลมา ย่อมมีโอกาสมากที่จะเกิดกรรมนิมิตฝ่ายกุศล แต่หากมีอะไรฝังใจ ก็อาจเกิดกรรมนิมิตที่เป็นอกุศลได้ หรือแม้ไม่เกิดนิมิต แต่ใจก็อาจปรุงแต่งไปตามอำนาจของความห่วงใยหรือรู้สึกผิด ในกรณีเช่นนั้นก็จะมีความทุกข์ ทำให้เกิดความทุรนทุราย

         สิ่งที่คนรอบข้างจะช่วยได้ก็คือ น้อมใจผู้ใกล้ตายให้นึกถึงพระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ หรือนึกถึงบุญกุศลและความดีงามที่เคยทำ 

         อาจชวนเขาสวดมนต์ รับศีล หรือรับไตรสรณาคมน์ แต่ถ้าไกลวัด ก็ต้องอาศัยสิ่งอื่นแทน เช่น ประสบการณ์ในอดีตที่ประทับใจ หรือการกระทำที่ตนเองภาคภูมิใจ

         สำหรับกรณีของคุณนั้น สิ่งที่จะช่วยคุณแม่ได้เป็นประการแรก คือ ช่วยให้ท่านคลายความห่วงใยในเรื่องต่างๆ ไม่ว่า ลูกหลาน ทรัพย์สมบัติ การงาน ลูกหลานอาจมาพูดให้ท่านมั่นใจว่า จะรักกัน จะดูแลกัน และทำตามที่ท่านได้เคยแนะนำสั่งสอน จากนั้นควรมีการขอขมา ขออโหสิกรรม

         จากท่าน ถ้าท่านมีพื้นทางธรรมหรือคุ้นเคยพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอยู่บ้าง ก็ชวนท่านรับศีล รับไตรสรณาคมน์ ถ้ามีพระที่ท่านคุ้นเคย มานำท่านทำ ก็ยิ่งดี แต่ถึงจะไม่มีก็ไม่เป็นไร ลูกหลานก็สามารถชวนท่านทำได้

         ระหว่างนี้นอกจากชวนท่านทำบุญ เพื่อเป็นเครื่องระลึกนึกถึงในยามใกล้ตายแล้ว ลูกหลานควรเอาหนังสือธรรมะง่ายๆ มาอ่านให้ท่านฟังวันละนิดละหน่อย ๕ นาทีก็ยังดี เพื่อช่วยน้อมนำใจท่านไปในทางธรรมบ้าง พร้อมกันนั้นก็น่าลองชวนท่านทำสมาธิหรือเจริญสติดู วิธีง่ายๆ ก็คือ ให้มีความรู้สึกตัวเวลายืดแขน หดแขน กำมือ แบมือ เอามือวางบนท้องเพื่อรู้สึกถึงท้องที่พองยุบ ระหว่างที่ทำก็น้อมใจจดจ่อหรือรับรู้ถึงความรู้สึกทางกายดังกล่าว โดยไม่ต้องปิดตา ทำอย่างน้อย ๕ นาที ถ้าลูกหลานทำพร้อมกับท่านหรือทำเป็นเพื่อนท่าน ก็ยิ่งดี ถ้าทำสม่ำเสมอ สติที่เกิดขึ้นจะช่วยท่านได้มากเวลาเกิดทุกขเวทนาหรือเกิดความว้าวุ่นตื่น กลัวเมื่อใกล้ตาย

ที่มา:

คอลัมน์:

บุคคลสำคัญ: