ยายนิ
“พี่บล...วันนี้บ่ายๆ พี่พอมีเวลาไหมคะ หนูอยากให้พี่ช่วยไปเยี่ยมคนไข้ในหมู่บ้าน เค้าเป็นญาติกับจิตอาสาที่มาช่วยงานเรา ป้าเค้าบอกว่าอาการหนักมาก” น้องแอล เจ้าหน้าที่ของเทศบาลที่มาทำงานร่วมกัน พูดกับฉัน ระหว่างที่กำลังเก็บเอกสารหลังจากเราปิดวงสนทนากับกลุ่มผู้สูงอายุที่มาทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเสร็จสิ้น
“คนไข้เป็นอะไรเหรอ” ยังไม่ทันที่น้องจะตอบอะไร ป้าพิน จิตอาสาท่านหนึ่ง ก็เดินเข้ามาหาด้วยท่าทางร้อนรน
“หมอ....ว่างหรือยัง ไปดูยายนิให้หน่อยเถอะ ท่าทางจะไม่ไหวแล้ว”
“คนไข้คนนี้แหละพี่” น้องแอลบอก
“ไม่ไหว....นี่ ขนาดไหนเหรอคะ”
“แกไม่พูด ไม่จา ไม่กินข้าว มาเป็นอาทิตย์แล้วนะ ไม่หือไม่อือเลยหมอ ถ้าจะไม่ไหวแล้ว หมอช่วยไปดูให้หน่อยเถอะ”
“งั้นเราขับรถตามไปก็แล้วกันนะ” ฉันหันไปชวนน้องแอล
“หมอมาแล้วๆๆ” หลายคนส่งเสียงบอกต่อๆ กัน เมื่อเราไปถึง ฉันยกมือไหว้ ทักทายผู้คนที่นั่งอยู่กันเป็นกลุ่มๆ บริเวณลานบ้าน ทั้งตั่งใต้ถุนบ้าน ระเบียง ข้างๆ บันไดทางขึ้น พร้อมทั้งขออนุญาตขึ้นไปดูอาการของยายก่อน
ยายนินอนอยู่บนฟูก ที่ปูวางกับพื้นบ้าน มีญาติๆ นั่งล้อมรอบอยู่ ทุกคนมีสีหน้าท่าทางกังวล
ฉันเข้าไปนั่งข้างๆ ยกมือไว้และทักทาย “สวัสดีค่ะ ยายนิ เป็นไงคะ” ยายนิยิ้มกว้างอย่างดีใจ พร้อมทั้งเอื้อมมือมาจับมือฉันไว้แน่น เมื่อบอกให้ทำอะไร ยายนิก็ทำตามได้ทุกอย่าง เพียงแต่ไม่ส่งเสียงใดๆ เลย อาการไม่ถึงกับ 'จะไม่ไหวแล้ว' เลยซักนิดในความรู้สึกของฉัน
เมื่อพูดคุยถึงความเจ็บป่วย ปรากฏว่ายายนิป่วย เดินไม่ได้มานานหลายปีแล้ว เริ่มจากอาการข้อเข่าเสื่อม ปวด เดินลำบาก และมีภาวะความดันโลหิตสูง ลูกเคยพาไปตรวจที่สถานีอนามัยในตำบลเหมือนกัน ได้ยามาทาน ครั้งหลังๆ ลูกไปขอยามาให้แต่เจ้าหน้าที่ก็ให้เอาคนไข้ไปตรวจ ลูกชายเลยไปขอยาที่สถานีอนามัยใกล้ๆ บ้านอีกแห่งหนึ่งมาให้ รอบแรกได้ยามา แต่รอบหลังเจ้าหน้าที่ก็ให้นำคนไข้ไปตรวจด้วย แต่ยายนิค่อนข้างอ้วน แล้วยังเดินเองไม่ไหว ลูกชายเห็นว่ายาที่ได้มา เป็นยาตัวเดียวกับที่ตัวเองใช้อยู่ จึงแบ่งยาของตัวเองให้แม่กิน และไม่ได้ตรวจเช็คความดันอีกเลย หลังจากนั้นยายนิก็เริ่มมีอาการแขน ขา ซีกขวาอ่อนแรง แต่ยังพูดคุย สื่อสาร รู้เรื่องดี
เมื่อลองป้อนน้ำ ยายนิก็กินได้ ฉันพูดคุยกับสามีและลูกๆ ของยายนิ ว่าน่าจะมีความผิดปกติทางสมอง แต่ถ้าจะให้รู้แน่ชัดคงต้องพาไปโรงพยาบาลจะได้ตรวจเช็คอย่างละเอียด อีกอย่างอาการตอนนี้ ก็ถือว่ายังรักษาได้ แต่ถ้าดูแลต่อที่บ้านไปเรื่อยๆ คนไข้คงจะอาการแย่ลงเนื่องจากขาดอาหารและน้ำมากกว่า เมื่อพูดคุยกันแล้ว ลูกๆ ๔ คน มีความเห็นตรงกันว่าจะพาแม่ไปโรงพยาบาล
“ต้องอี่หล้าแห๋มคน (แต่ต้องถามน้องคนเล็กอีกคนหนึ่ง) เพราะเป็นคนที่อยู่ดูแลแม่ตลอด แต่ตอนนี้อี่หล้าไปกาด(ไปตลาด)” ลูกชายคนหนึ่งเอ่ยขึ้น
“งั้นโทรไปบอกก่อนไหม” ลูกอีกคนแสดงความเห็น
“อี่หล้าบ่หื้อเอาไปหมอ... มันว่า มันกั๋ว” ลูกชายยายนิบอกหลังจากวางสายจากน้องสาวแล้ว
จากบทเรียนที่ผ่านมา ประกอบกับอาการของคนไข้ ทำให้ฉันใจเย็นพอที่จะไม่เหนี่ยวรั้งหรือดึงดัน แต่ให้เวลาในการตัดสินใจแก่ญาติ “เอาไว้ถ้าลูกสาวคนเล็ก กลับมาแล้วค่อยปรึกษากันดีๆ อีกทีก็ได้ ถ้ามีอะไรก็โทรหาบลได้ตลอดนะ”
ฉันให้กำลังใจสามีและลูกๆ ของยายนิ พร้อมทั้ง ให้เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อรถฉุกเฉินของเทศบาลเพื่อนำส่งโรงพยาบาล และเบอร์ส่วนตัวหากต้องการคำแนะนำ
บ่ายวันรุ่งขึ้น ฉันได้รับข่าวว่าญาติพายายนิไปโรงพยาบาล แพทย์บอกว่า เป็นก้อนเนื้อในสมอง แต่อยู่ตื้นๆ สามารถผ่าตัดได้ ถ้าญาติตกลง จะผ่าตัดให้คืนนั้นเลย ข้อมูลที่ได้รับทำให้ฉันเบาใจไปโขทีเดียว
แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิดเมื่อ ๓ วันผ่านไป ฉันเจอลูกๆ ของยายถึงได้รับรู้ว่า ยายนิยังไม่ได้ผ่าตัดเนื่องจากไม่มีใครยอมเซ็นยินยอมให้ผ่าตัด
“เกิดอะไรขึ้น ทำไม ถึงไม่มีใครยอมเซ็น” ฉันถามด้วยความกังขา เมื่อเรามานั่งพร้อมหน้ากันแล้ว
“ก็หมอบอกว่า ถ้าผ่าตัด ก็ห้าสิบห้าสิบ”
“พ่อจะเซ็นก็กลัวว่า ถ้าแม่เป็นอะไรไป ลูกๆ จะซ้ำเติม ลูกห้าคน ห้าครั้ง แล้วไม่ใช่แค่คนละครั้งเดียว พ่อกลัว” ตาปันเอ่ยกับฉันด้วยน้ำเสียงอ่อนล้า
“ให้ลูกๆ เซ็นเถอะ ถ้าแม่เป็นอะไรไป พ่อจะไม่ว่าอะไรลูกๆ หรอก”
“แล้วถ้าเกิดผมเซ็นให้หมอผ่าแล้วแม่เป็นอะหยังไป ลูกคนอื่นก็จะหาว่าเป็นเพราะผม ทำให้แม่ต้องตาย”
ฉันอึ้งกับเรื่องราวที่ได้รับรู้
“งั้น...เซ็นด้วยกันหมดนี่เลยไหม ใครจะได้ไม่ต้องว่าใคร” ฉันโพล่งออกมาด้วยความรู้สึกบางอย่าง
ทุกคนหันมองหน้าฉันและพูดออกมาพร้อมๆ กัน “เออ จริงเนาะหมอ”
ฉันรีบดึงความคิดกลับมา พร้อมทั้งเริ่มสนทนา เพื่อให้แต่ละคนได้รับฟังความรู้สึกกันและกัน
“ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก ตอนนี้หมอเข้าใจแล้วว่าทุกคนอยากให้ยายนิได้รับการรักษา เพียงแต่ว่ากลัวว่าถ้าเป็นคนเซ็นให้หมอผ่าตัด แล้วยายนิ เป็นอะไรไปแล้วจะรู้สึกผิด ใช่ไหม”
“ใช่ หมอ“
“แล้วถ้าไม่ผ่าตัด จะทำยังไงต่อล่ะคะ”
“เราก็อยากให้แม่ได้รักษาจนถึงที่สุดเหมือนกันนะ”
“ที่หมอเค้าบอกว่า ห้าสิบห้าสิบ ถ้าเป็นห้าสิบรอดก็น่าจะดีนะ”
“หมอเชื่อว่าเราอยากให้ยายหาย แต่การรักษาจะได้ผลแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของคนไข้ด้วย ถ้ารักษาได้เร็วโอกาสหายก็มาก แต่ถ้าช้าโอกาสก็จะน้อยลง ในเมื่อทุกคนก็อยากให้ยายได้รับการรักษาให้ถึงที่สุดแล้วจะรออะไร ประเด็นสำคัญคือ ทำยังไงให้ยายได้รับการรักษาเร็วที่สุดมากกว่านะ” ทุกคนอยู่ในความเงียบชั่วขณะ
“งั้น อี่ป้อเซ็นกับเจ้าก็แล้วกั๋นปะ” (งั้นพ่อเซ็นกับหนูก็แล้วกัน) ลูกสาวคนเล็กพูดด้วยน้ำเสียงแน่วแน่
“เอ่อๆๆๆ เอาเต๊อะ อี่แม่จะได้รักษาเวยๆ” (เอาเถอะ แม่จะได้รักษาเร็วๆ ) พี่ๆ เห็นด้วย
หลังจากนั้นยายนิก็ได้รับการผ่าตัด
เรื่องนี้ทำให้ฉันได้มองเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่เคยนึกถึงเลย ความรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจ ความหวาดกลัว การเผชิญหน้ากับภาวะความเจ็บป่วยของญาติ การมีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึก ให้เวลา ให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ และร่วมหาทางออก ทำให้เห็นใจและเข้าใจเขามากขึ้น ขอบคุณสำหรับบทเรียนที่มีค่า ที่ช่วยเตือนสติและทำให้จิตใจอ่อนโยนมากขึ้น
เขียนโดย อุบล หาญฤทธิ์
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลนครพิงค์