ซ้อมตาย
“โอ๊ย...ฉันไม่กลัวตายหรอก ตายก็คือตายไม่เห็นน่ากลัวเลย” คำพูดทำนองนี้ออกจากปากของคุณสุรีย์ ลี้มงคล นับครั้งไม่ถ้วน เพราะงานของเธอคือพยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคระยะสุดท้าย โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งต้องสัมผัสกับความเจ็บป่วยและความตายของคนไข้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยความเคยชินจึงทำให้คิดว่าความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับเธอ จนเมื่อได้มีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะวิทยากรงานอบรม “เผชิญความตายอย่างสงบ” เครือข่ายพุทธิกา และได้ร่วมกิจกรรม “มรณสติภาวนา” ทำให้ได้ทดลอง “ซ้อมตาย” อยู่เสมอ ความคิดของเธอจึงเริ่มเปลี่ยนไป
“แรกๆ เรามองแต่ความตายของคนไข้ ไม่ได้มองความตายของตัวเองจึงเหมือนไม่เห็นกลัวตายเลย เป็นการไม่กลัวตายแบบพูดว่าไม่กลัวตาย แต่ไม่ได้มาทบทวน แต่พอเริ่มมาช่วยงานพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ในการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบก็จะเริ่มมามองความตายของตัวเอง แรกๆ ก็จะนึกว่าเราพร้อมตาย แต่ตอนนอนภาวนามรณสติ ได้เริ่มใคร่ครวญทีละเรื่อง พิจารณาไปตามบทภาวนา จึงได้ทบทวนตัวเองว่าไม่กลัวตายจริงๆ หรือเปล่า และเริ่มรู้ว่าเรายังยึดติดอะไรอยู่ จากนั้นก็เริ่มคิดเองว่าจะกลับไปทำอะไรกับสิ่งที่เราติดอยู่ ด้วยความที่เราไม่มีครอบครัวพอนึกก็ไม่มีอะไรติดค้าง จะมีก็แต่เรื่องงาน พอมีเรื่องงานปุ๊บ สิ่งที่ทำก็คือ กลับมาก็จะพยายามเล่า เมื่อก่อนจะเก็บไง ทำอะไรทำคนเดียว พอหลังๆ ทำอะไรปุ๊บพอทำเสร็จจะเริ่มเรียกน้องมาสอน เริ่มปล่อยวางได้แล้ว และเวลาทำงานใหม่ๆ ก็คิดอย่างเดียวว่าทำให้เต็มที่ ถ้าพรุ่งนี้ไม่ตื่นมาแล้วก็จะไม่เสียใจกับมัน
“ส่วนเรื่องทรัพย์สมบัติเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ติด แต่ว่ายังไม่ได้จัดการอะไรให้เรียบร้อย กลับมาก็เริ่มเขียนพินัยกรรมไว้ว่าเรามีของอะไรเก็บไว้บ้าง พอเราเริ่มเข้าใจก็ไม่สะสมใหม่ ของที่มีอยู่ก็จัดการทำให้เป็นระบบระเบียบให้เรียบร้อย แล้วก็เริ่มตัดไปทีละเรื่องๆ เรื่องห่วงใครอย่างนี้ ที่ห่วงมากสุดก็ห่วงหลาน ก็จะคิดแล้วว่าถ้าเราไม่อยู่ เขาจะอยู่อย่างไร เขามีพ่อแม่ แต่ถ้าทุกคนไม่อยู่หมดเลย จึงเริ่มกลับไปที่ตัวเขา เริ่มบอกเขา เริ่มเตรียมตัวเขาเองให้พร้อมที่จะอยู่คนเดียว ไม่ใช่คิดแค่ว่าเขามีแม่ เราไม่อยู่ไม่เป็นไร เพราะทุกคนก็ไม่แน่นอนหมด อาจจะไม่เหลือใครเลย เหลือเขาคนเดียว หรือก็เริ่มมาคิดเหมือนกันว่าถ้าเกิดหลานเป็นอะไรขึ้นมาจะทำอย่างไร ซึ่งเมื่อก่อนจะไม่กล้าคิดนะ แต่นี่ก็คือความไม่แน่นอน เลยคิดเผื่อไว้หมดว่าถ้าเขาไม่อยู่แล้วเหลือแต่พวกคนแก่ๆ จะอยู่กันอย่างไร คือไม่ได้คิดแค่ว่าเราไปคนเดียวไง แต่ถ้าคนรอบข้างเราไปแล้วเราจะอยู่อย่างไร ก็เริ่มเตรียม
“แรกๆ ที่คิดว่าถ้าหลานไม่อยู่ก็รู้สึกแย่ สะเทือนใจ ใจหวิวๆ และก็คิดว่าเอ๊ะ เราผิดหรือเปล่าที่ไปคิดแบบนั้น เราแช่งเขาหรือเปล่า แต่พอคิดเรื่อยๆๆ ก็มานึกอีกทีหนึ่งว่า นี่คือสิ่งที่เป็นจริง บางทีเราอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี เห็นเด็กๆ ที่ตายไป หรือบางทีดูแลเด็กที่ป่วยเอง เด็กบางคนอายุเท่าหลานเราแล้วเขาจากไป ก็จะกลับไปเล่าให้หลานฟังว่าวันนี้มีคนไข้นะอายุเท่าหนูเอง เขาเป็นอย่างนี้ๆ แล้วเขาก็ไม่อยู่แล้ว หรือบางทีมีคนไข้บางคนที่ลูกยังเล็ก ก็จะเล่าให้เขาฟังว่าคนนี้เป็นอย่างนี้ คือเหมือนว่าเราเตรียมเราด้วย เตรียมเขาด้วย คือเราห่วงเขา ถ้าเขาอยู่ได้เราก็หายห่วง และขณะเดียวกันถ้าเราต่างหากที่ยังอยู่ แต่เขาไม่อยู่ เราจะวางใจอย่างไร เมื่อก่อนเราไม่พูดเรื่องพวกนี้เพราะคิดว่าเป็นลางไม่ดี เป็นการแช่งก็ไม่พูดเลย แต่พอเจอปุ๊บเราจะอยู่ลำบาก ถ้าเราเริ่มพูดเริ่มเตรียมกันแล้ว เราเริ่มมั่นใจว่าถ้าไม่มีเรา เขาก็อยู่ได้ ในขณะเดียวกันเป็นการซ้อมเราว่า ถ้าไม่มีเขาเราจะอยู่อย่างไร
“อยู่ที่ทำงานก็จะพูดกับทุกคนเรื่องตาย ตอนแรกเราพูดความตายของตัวเราเองก่อน เมื่อก่อนเราพูดความตายคนอื่น ถ้าเธอตายไปวันนี้เธอจะทำอย่างไร แต่เห็นหน้าเขาแล้วเขารับไม่ได้ ก็เริ่มพูดความตายของตัวเราเอง พอเราพูดความตายของตัวเราเองบ่อยๆ เราก็บอก ต้องทำนะ เดี๋ยวพี่อาจจะไม่ได้อยู่จนงานเสร็จ ถ้าเกิดวันนี้พี่ออกไปแล้วถูกรถชนตายล่ะ ก็จะพูดความตายของตัวเองเรื่อยๆ เขาจะเริ่มจะเข้าใจความตายของเราแล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจความตายของตัวเขาเอง คือเริ่มยอมรับที่เราพูดถึงความตายของตัวเราก่อน ตามหลักความเป็นจริง คนเรารับความตายของคนอื่นง่ายกว่าความตายของตัวเอง อย่างเราพูดว่าคนนั้นไม่สบายเดี๋ยวก็ตาย พูดง่ายไง แต่ถ้าคนนั้นเป็นคนที่เขารักก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้ามีตัวเขาเข้าไปเกี่ยวโยงด้วย เขาจะรับไม่ได้ เราก็เลยต้องเริ่มพูดก่อน พอเราพูด เขาก็จะเริ่มมองว่าทำไมเรากล้าพูดความตายของตัวเอง แล้วเป็นเรื่องท้าทายนะ ความที่เราไปทำงานเรื่องความตาย ถ้าตัวเราเองยังไม่กล้าพูดเรื่องความตาย แล้วเราจะไปบอกคนอื่นให้เขายอมรับได้อย่างไร ทำให้เรากลับมาเริ่มตรงนี้
“อีกอย่าง ความที่แม่เป็นมะเร็งเต้านม เราก็ต้องตรวจทุกปี ทุกๆ ครั้งที่ตรวจก็จะคิดว่า ถ้าวันนี้ไปตรวจแล้วเจอมะเร็งจะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรกับชีวิต เป็นการซ้อมไว้ก่อน แรกๆ ที่คิดแบบนี้ก็รู้สึกนะ แต่พอเรานึกบ่อยๆ ก็รับได้ รออยู่เหมือนกันว่าวันไหนก็วันนั้น เป็นก็เป็น เชื่อว่าเราจะรับมือกับมันได้ง่ายขึ้น เพราะว่าเราเตรียมไง นอกจากนี้ ด้วยความที่งานเรามันใกล้กับความตาย ก็ทำให้ได้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ คนเป็นหมอเป็นพยาบาลโชคดีถ้าเอาตรงนี้เป็นโอกาส เพราะเห็นทุกวัน เราจะเห็นคนที่ตายแล้วสงบและคนที่ตายแล้วไม่สงบ พอเราเห็นคนที่ตายสงบ เราก็มาทบทวนว่าทำไมเขาตายสงบ บางคนเขาก็เตรียมมาดี ไม่ห่วงอะไรเลย การเห็นความตายทั้งดีและไม่ดีก็เลยย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเรา ทำให้เราได้คิดว่าเราอยากตายแบบไหน เหมือนที่พระอาจารย์ไพศาลบอกว่า คนเราเลือกตายได้ การเลือกตายคือเราเตรียม ถ้าเราเตรียมเหตุเตรียมปัจจัยดี เราก็มีโอกาสที่จะได้ตายดี
“การได้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ อย่างนี้ ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองคือ เมื่อก่อนเราพูดถึงความตายด้วยความคะนองว่า ฉันไม่กลัวหรอกเพราะอยากรู้สึกว่าเราเป็นคนเก่ง ยิ่งถ้าเรามาดูคนไข้เรื่องความตายนี่ ฉันจะกลัวตายไม่ได้ แต่ตอนนี้ถามว่าไม่กลัวไหม เรียกว่าเข้าใจดีกว่า เข้าใจว่าทำไมต้องระลึกถึง บางช่วงสมมุติได้รับงานใหม่ๆ ก็กลัวนะว่าถ้าเราเป็นอะไรไปก่อน งานจะเป็นยังไง แต่จะรู้เท่าทันเร็วว่าเรากลัว ทำไมถึงกลัว เมื่อก่อนจะบอกน้องสาวว่ายังลาออกไม่ได้หรอก ถ้าลาออกแล้วตรงนี้จะอยู่อย่างไร นี่แค่ลาออกยังไม่ตายนะ น้องสาวจะพูดว่า เมื่อไหร่ใครไม่อยู่ คนที่อยู่เขาก็ต้องอยู่ได้ทั้งนั้น แต่ว่าจะอยู่แบบไหน เราก็เริ่มมาคิดแล้วว่าจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเราทำ
“ทุกๆ ครั้งที่มีอะไรแปลกใหม่เข้ามาในชีวิต ก็เหมือนกระตุ้นให้เรามีความคาดหวัง มีความอยาก มีความต้องการ ทำให้เราลืมเรื่องตาย แต่ตอนนี้เราเริ่มมานั่งนึกถึงความตายบ่อยๆ ยิ่งถ้ามีอบรมเผชิญความตายอย่างสงบบ่อยๆ ติดๆ กัน หรือว่าต้องไปพูดเรื่องนี้บ่อยๆ ก็จะเตือนเราว่า เดี๋ยวก็ต้องเป็นเรา เป็นการเตือนเราตลอดเวลาว่า ทำอะไรก็ต้องเตรียม ซึ่งช่วยให้เราไม่ผัดผ่อน เช่น อยากไปเยี่ยมใครเราก็รีบไปเยี่ยมเลย อยากไปเจอใครก็ไปเลย อยากโทรหาใครก็โทรเลย เมื่อก่อนเราก็เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวๆๆ เดี๋ยวนี้เหมือนกับถ้าอยากทำทำเลย เหมือนสติมาเร็ว แต่ก็ไม่ได้มาตลอดนะ ก็มีหลงไป มีช่วงที่หลุดไป แล้วพอทำบ่อยๆ เข้า สติมันเร็วก็จะกลับมาได้เร็วขึ้น และเข้าใจมากขึ้น เข้าใจว่าจะทำอะไร เช่นเข้าใจว่าคิดอย่างนี้ไม่เรียกว่าแช่งนะ แต่เป็นการเตรียม สมัยก่อนเราไม่ได้ นี่แช่งกันนี่ ก็จะรู้ตัวได้เร็วขึ้น
“อีกอย่างก็ช่วยให้ปล่อยวางกับตัวเองได้มากขึ้น ไม่คาดคั้น ไม่คาดหวังกับตัวเอง เมื่อก่อนตอนระลึกถึงความตายใหม่ๆ จะมีนะ ถ้าคืนนี้นอนแล้วพรุ่งนี้ไม่ได้ตื่นขึ้นมาจะต้องทำอะไร ก็จะเตรียมหลายเรื่อง เตรียมทำนู่นทำนี่ หลังๆ รู้สึกว่าไม่ต้องขนาดนั้น คือให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเรารู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต อย่างที่บอกเราเป็นพวกสุขนิยม ถ้ารู้สึกเหนื่อยเกินไปที่จะมาเก็บห้องให้เรียบร้อย เพราะเดี๋ยวตายไปแล้วห้องรก เราก็ไม่เก็บละ จะรกก็รก เดี๋ยวตายก็ไม่รู้แล้ว เรารู้สึกว่าทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำ แล้วก็ไม่มาเสียใจกับเรื่องที่พูดไปแล้ว ทำไปแล้ว หรืออย่างเมื่อก่อนตอนเขียนพินัยกรรมแรกๆ เราจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะเลย แต่พอเขียนรอบหลัง เราจะเริ่มวาง แรกๆ เขียนกระทั่งว่างานศพคืนแรกจะทำอย่างไร จะเลี้ยงอะไร ดอกไม้จะเป็นอะไร จะเยอะมาก แต่พอหลังๆ เราวางได้ ก็จะบอกว่างานศพก็แล้วแต่คนอยู่อยากจะจัดอย่างไรก็แล้วแต่เขาจะเห็นสมควร ให้เขาตัดสินใจเอาเลยเพราะตายแล้วเราก็ไม่รู้เรื่องแล้ว”
**มรณสติภาวนา เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมนอนและจินตนาการตามบทภาวนามรณสติ ช่วยให้แต่ละคนได้ทบทวนตัวเองว่าพร้อมตายแค่ไหน ผู้สนใจซ้อมระลึกถึงความตายตามบทภาวนามรณสติ สามารถติดต่อสั่งซื้อซีดีเสียงชุด มรณสติ : บทพิจารณา “ตายก่อนตาย” ได้ที่เครือข่ายพุทธิกาค่ะ