วิถีสู่ความตายอย่างสงบในสังคมไทย
ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอล ๒ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ผู้มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจ ภาคราชการ และบุคลากรทางสาธารณสุข จำนวนหลายสิบคน ได้มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนว่า “เราจะทำอย่างไรให้คนในสังคมไทย เข้าสู่วิถีการตายอย่างสงบ” ซึ่งเครือข่ายพุทธิการ่วมกับสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้น
พระไพศาล วิสาโล ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาการตายอย่างสงบเป็นทางเลือกของคนจำนวนน้อยที่มีโอกาสพิเศษ อย่างกรณีของ สุภาพร พงศ์พฤกษ์ เป็นตัวอย่างหนึ่ง ปัจจุบันเส้นทางนี้ค่อนข้างแคบสำหรับสังคมไทย เส้นทางที่ใหญ่และให้ความหวัง อยู่ได้นาน รอดตาย มีเทคโนโลยี บุคลากร โรงพยาบาล สิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างคือเส้นทางของโรงพยาบาล เราพบว่าผู้คนบนเส้นทางนี้ ร้อยละ ๙๐ จบชีวิตลงด้วยความทุกข์ทรมานที่โรงพยาบาล แม้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นแต่เป็นคนละเรื่องกับคุณภาพชีวิต เป็นการสร้างภาระให้กับโรงพยาบาล/บุคลากรทางการแพทย์ และสร้างความทุกข์ให้กับญาติ/ครอบครัวของผู้ป่วยผู้เสียชีวิต น่าสงสัยว่า เมืองไทยจะให้เงินอุดหนุนแนวทางนี้ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าอย่างไร เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การขยายเส้นทางการตายสงบ จำเป็นต้องสร้างปัจจัย ๔ ประการ คือ หนึ่ง สถานที่: โรงพยาบาล ฮอสพิซ เตียงสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องเปิดกว้าง สอง บุคลากร: ต้องมีความรู้ ไม่ใช่เพียงแพทย์ พยาบาลที่ต้องมีความรู้ช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ รวมถึงการแพทย์ประคับประคอง อีกด้านหนึ่งต้องมีบุคลากรซึ่งมีความรู้เรื่องการพยาบาลพื้นฐาน ผู้ช่วยเหลือทางจิตวิญญาณ เช่น พระสงฆ์ นักบวช ฆราวาส สาม ความรู้: ในการช่วยให้คนจากไปอย่างสงบ สี่ กฎหมาย: ที่เอื้อให้คนเสียชีวิตที่บ้าน ที่ผ่านมากฎหมายส่งเสริมให้คนไปตายที่โรงพยาบาลเช่น กฎหมายมรณบัตร ประกันชีวิต ประกันภัย
วิถีการสู่ความตายอย่างสงบมิได้ก่อประโยชน์แก่ผู้ใกล้ตายเท่านั้น แต่ยังมีผลในวงกว้างกับผู้ป่วยทั่วไปและผู้ไม่ป่วย ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จะได้รับประโยชน์จากการแพทย์ที่เห็นคุณค่าของการตายอย่างสงบ อีกส่วนคือ ผู้คนที่มีสุขภาพดี เมื่อตระหนักถึงมรณานุสติ จะไม่เพียงนึกถึงการตายดีเท่านั้นแต่ยังนึกถึงการมีชีวิตที่ดี คำนึงถึงการทำความดี ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เตรียมตัวยอมรับความตาย เรียนรู้เรื่องการปล่อยวาง เป็นการทวนกระแสสังคมมุ่งบริโภคนิยม
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เล่าถึงทัศนะการทำงานในปัจจุบันว่า จะทำอย่างไรให้คน/มนุษย์ที่สัมผัสได้ในประเทศไทย ได้ตายดี บนฐานความคิดที่ว่า มนุษย์ทุกคนเหมือนกัน มีความกลัวความเจ็บ ไม่อยากทุกข์เหมือนกัน
ดิฉันอยู่กับเรื่องความตายมาแต่เด็ก แม่ตายตั้งแต่สองขวบกว่า เวลาไปโรงเรียนจะถามว่า คุณแม่อยู่ไหน คำตอบก็คือ ตายแล้ว ดิฉันฉงนสนใจ อย่างเช่น ตอนเด็กๆ ติดใจติดตาเรื่องหมาตาย ได้เห็นถึง การช่วยไม่ได้ เรารักเขา เราเห็นกระบวนการของการย้อนกลับไม่ได้ เป็นปัจจัตตังของความทุกข์ความเจ็บ ไม่ว่าเราจะรักเขาแค่ไหน ก็ได้แต่นั่งดูเขา อันนี้ตั้งแต่เด็กจึงติดตัวมาเรื่อยๆ การเห็นความตายว่ามันอยู่ในชีวิตของเราทุกวัน ตอนที่ไปอยู่ที่สวนโมกข์ ยิ่งเข้ามาชิดตัว เรามาถึงจุดหนึ่งของการยอมรับว่า ชีวิตกับความตายเป็นอันเดียวกัน ตอนอยู่สวนโมกข์คนเดียว 3 เดือน เห็นชัดมากเรื่องนี้ ทุกวันเห็นการแสวงสุขหนีทุกข์ของสัตว์แมลงหมาแมวสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง จึงเห็นว่าเราเหมือนกันหมด
คุณภาพชีวิตที่ดีจริงๆ มีไม่ได้ถ้าคุณไม่เข้าใจคุณภาพการตาย และเมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว จะเข้าใจว่าของคนอื่น ไม่ใช่อื่น แต่เป็นสิ่งร่วมกันหมด เมื่อเรารู้สึกข้างในจริงๆ ช่องทางเปิดเราจะหมุนมาสู่จุดนี้
การบริจาคที่ดินให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ได้ร่วมคิดร่วมวางแผน ดูงาน Hospice ในต่างประเทศหลายประเทศ เห็นความสำคัญของการให้นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล อาสาสมัครเข้าไปดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเพื่อตายที่บ้าน รวมถึงการทำความเข้าใจชุมชน
ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว พูดถึงประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ผ่านมา มีความย้อนแย้งเกิดขึ้น คนจน/คนการศึกษาไม่สูง/คนชนบทมีความทุกข์น้อยกว่าคนรวย/คนมีความรู้/คนเมือง คนแก่มีทุกข์น้อยกว่าคนหนุ่ม ผู้ป่วยมีทุกข์น้อยกว่าญาติ/ครอบครัว มุมมองที่เรามีต่อความเจ็บป่วยนั้นไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ การมองชีวิตจุดคาดหวังในชีวิต หากมองว่ามีมากจะรู้สึกสูญเสียมาก ในแนวทางจิตวิทยา คนเราเมื่อเจอภาวะสูญเสีย จะอยู่ในภาวะปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง แช่อยู่ในภาวะซึมเศร้า ต่อมาจะเข้าสู่การปรับตัว เห็นความดีของชีวิต ที่ทำให้ตอบคำถามกับตัวเองได้ว่า ชีวิตนี้จะอยู่ต่ออย่างไรเพื่ออะไร
ประเด็นสำคัญคือ เราจะสร้างสภาวะแวดล้อมอย่างไรเกื้อกูลให้เกิดการปรับตัวและเติบโตในทิศทางนี้ การลดความเจ็บปวดของคนไข้ ควรผสมผสานการดูแลทางกายกับทางจิตใจ หมอเล่าถึงคนไข้คนหนึ่ง วันแรกมารับการรักษา กลัวมาก ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับตัวเอง แต่วันที่สอง ดูกาย ดูเวทนา ความกลัวที่เข้ามาน้อยลง วันแรกความปวดคูณสอง วันที่สอง ความปวดหารสอง
การเลือกวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาในการหารือร่วมกันกับหมอ พยาบาล คนไข้ ญาติ และคำนึงถึงกำลังสำรองของคนไข้(สภาพแวดล้อม/สิ่งที่คนไข้มี) พยาธิสภาพของโรค คุณภาพชีวิตที่ยาวนานขึ้นของคนไข้ เช่น คนไข้มะเร็งเต้านม มะเร็งกระจายไปปอด กระดูก ต้องทบทวนว่าจะผ่าตัดเชื่อมกระดูกหรือไม่ หากมีชีวิตอยู่ได้ ๖ เดือนจะผ่าตัดไหม ใช้เวลาฟื้นตัวเท่าไหร่ หากอยู่ได้สองเดือนจะผ่าตัดไหม หากใช้การผ่าตัดเล็กลง ใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน มีการพิจารณาผลบวก/ผลลบที่เกิดขึ้น
ปิดท้ายการประชุม ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมประชุม ในฐานะของการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้สู่การตายอย่างสงบด้วยการ แสดงเจตนารมณ์ในการอาสาทำงานตามทุน/ศักยภาพที่ตนเองมี ในการร่วมเป็นคณะทำงาน (ร่วมคิดร่วมทำร่วมวางแผน) แนะนำเครือข่าย ภาคีสนับสนุนงาน ร่วมสนับสนุนงานตามวาระ (ทุนทรัพย์ สถานที่ อื่นๆ)