Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

หายใจหยินหยาง : ปราณสมาธิ สร้างสมดุลกายใจ

-A +A

         วันหนึ่งผู้เขียนได้พบกับคุณอนัญญา  ผลจันทน์ พยาบาลประจำห้องไอ.ซี.ยู. อายุรกรรม โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม ในงานอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ ขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งเธอจะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ฝึกเยี่ยมผู้ป่วยจริงๆ ที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม อันเป็นกิจกรรมสุดท้ายของการอบรมเหมือนทุกครั้ง แต่คราวนี้เธอดูหน้าตาสดชื่น แจ่มใส ไม่ซีดเซียวเหน็ดเหนื่อยเพราะทำงานหนักเหมือนหลายๆ ครั้งที่ได้เจอกัน จนผู้เขียนอดที่จะถามเธอไม่ได้ว่าเธอไปทำอะไรมาถึงได้ดูใสปิ๊งขึ้นขนาดนี้ เธอเล่าว่าเธอได้พบกับเพื่อนซึ่งเป็นนักบำบัดวิถีตะวันออกชื่อ ดร.บัวตั๋น  เธียรอารมณ์ เพื่อนทักตั้งแต่แรกเจอว่าเธอเป็นคนจิตใจดีแต่ไม่มีพลังเพราะสมดุลในร่างกายไม่มี จำเป็นต้องปรับสมดุลร่างกายและจิตใจ จึงแนะนำให้เธอไปเข้าคอร์สอบรมปราณสมาธิ ที่ดร.บัวตั๋นเปิดสอนอยู่ที่สถาบันสุขศาสตร์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

         ในการอบรมปราณสมาธิ คุณอนัญญาได้เรียนรู้การฝึกหายใจแบบหยินหยางและการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์ ซึ่งเมื่อเธอกลับมาฝึกฝนสม่ำเสมอ ร่างกายและจิตใจก็ค่อยๆ ปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น จิตใจมีสติตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวง่ายกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบ อารมณ์จึงดีขึ้นเหมือนมีพลังอยู่ภายใน หน้าตาดูสว่างไสว เปล่งปลั่ง สดชื่น และมีความสุขขึ้นแม้จะทำงานหนักกว่าเดิมก็ตาม เมื่อเห็นอานิสงส์ของการฝึกเช่นนี้ จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้เขียนไปเข้าอบรมปราณสมาธิเช่นเดียวกัน เพื่อสัมผัสและเข้าใจจากประสบการณ์จริง สำหรับฉบับนี้จะขอแนะนำการหายใจแบบหยินหยางหรือการหายใจปราณสมาธิก่อน ส่วนการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์อดใจติดตามต่อในฉบับหน้านะคะ

         ก่อนที่จะฝึกหายใจแบบหยินหยางเพื่อน้อมนำจิตให้กลับมาอยู่กับตัวเอง อันเป็นการปูพื้นฐานก่อนการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ อาจารย์บัวตั๋นจะให้เริ่มฝึกการหายใจเข้าออกยาวๆ ดังนี้ก่อนค่ะ

  • นั่งตัวตรง ยืดลำตัวให้ตรง ๙๐ องศา เพื่อช่วยให้พลังปราณในร่างกายไหลเวียนตามปกติ หากใครมีปัญหาเรื่องหัวเข่าไม่สามารถนั่งกับพื้นจะนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงก็ได้แต่ต้องจัดตัวให้ตรง
  • หลับตาลงเบาๆ ยืดกล้ามเนื้อหน้าท้องขึ้น ค่อยๆ หายใจเข้าดึงหน้าอกให้ขยายเต็มที่ ปอดขยายเต็มที่ สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ยาวๆ เหมือนกำลังจิบไวน์ชั้นดี ค่อยๆ ให้ซึมลงไป ไม่ต้องกลั้นไว้ แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ทางจมูก หายใจแบบนี้สักพักให้รู้สึกคุ้นเคย
  • จากนั้นหายใจเข้า ก่อนหายใจออกให้ยิ้มกว้างๆ ไปที่หัวใจ ให้รู้สึกเหมือนหัวใจเป็นเพื่อนเรา เรากำลังส่งรอยยิ้ม ส่งความรัก ความเมตตาไปที่หัวใจ ทำให้ใจเราเบิกบาน ยิ้มจนกว่าหัวใจเราจะพองโตขึ้น หากใครรู้สึกว่ายิ้มให้หัวใจทำยากเกินไปในตอนแรก อาจยิ้มที่ใบหน้าก่อน จะช่วยให้จินตนาการต่อได้ง่ายขึ้น
  • สุดท้าย หายใจลึกๆ เข้า-ออกช้าๆ ๓ ครั้ง

         ระหว่างที่ฝึกหายใจอาจเปิดดนตรีบรรเลงช้าๆ คลอไปเพื่อช่วยปรับคลื่นสมองให้ช้าลง ช่วยให้สมองหยุดคิด จิตใจผ่อนคลาย จะได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการหายใจอย่างเต็มที่ ต่อไปให้ฝึกหายใจแบบหยินหยางค่ะ

การหายใจแบบหยิน

  • หายใจเข้าโดยสูดลมหายใจเข้าให้สุด แล้วจินตนาการว่าลมหายใจวิ่งผ่านโพรงจมูกขึ้นไปตรงหว่างคิ้ว วิ่งขึ้นไปที่กะโหลกศีรษะ ไหลลงไปที่คอ ผ่านกระดูกสันหลังลงไปที่ก้นกบ แล้วอ้อมก้นกบขึ้นมาที่หน้าท้อง ผ่านหน้าอก ถึงจมูก แล้วผ่อนลมหายใจออก

การหายใจแบบหยาง

  • หายใจเข้าให้สุด แล้วจินตนาการว่าลมวิ่งสวนทางกับหยิน คือ ลมวิ่งลงไปที่ช่องท้องจนถึงบริเวณก้นกบ แล้วอ้อมก้นกบขึ้นมาตามแนวกระดูกสันหลัง วิ่งไปที่คอ กะโหลกศีรษะ และไหลลงมาที่โพรงจมูก แล้วผ่อนลมหายใจออก

         เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ ให้ลองหายใจทั้งสองแบบดู แล้วสังเกตว่าเรารู้สึกสบายเมื่อหายใจแบบไหน หรือชอบแบบไหนมากกว่ากันก็ฝึกแบบนั้นก่อน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการฝึกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มคุ้นชินแล้วค่อยฝึกอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วควรจะฝึกหายใจแบบหยินหยางสลับกัน โดยช่วงเช้าให้จบด้วยการหายใจแบบหยาง เพราะจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจมีพลัง  (หรือหายใจแบบหยางในเวลาที่ต้องการความตื่นตัวหรือต้องการให้สดชื่น มีกำลัง) ส่วนช่วงเย็นหรือค่ำให้จบด้วยการหายใจแบบหยิน เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย ทั้งยังช่วยให้หลับลึกด้วย (หรือหายใจแบบหยินในเวลาที่ต้องการพักผ่อน) เราควรฝึกหายใจแบบหยินหยางนี้ให้ได้วันละเกิน ๑๐๐ ครั้งขึ้นไป หรือฝึกบ่อยๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส เพราะจะช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง นิ่ง สงบ มีพลังตั้งมั่นขึ้น เมื่อจิตมีสมาธินิ่งจากภายใน จิตจะมีกำลัง เป็นภูมิคุ้มกันจิตใจไม่ให้เอาสิ่งรอบข้างมาเป็นอารมณ์ ทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งทางกายและทางใจได้ เมื่อจิตเบาสบายร่างกายก็ได้ผ่อนคลาย เปรียบเสมือนสายน้ำในร่างกายมีการไหลเวียนที่ดีขึ้น และปรับเข้าสู่ภาวะสมดุลตามธรรมชาติ

         คุณอนัญญาเล่าว่าเธอฝึกหายใจแบบหยินหยางมากเป็นหลักร้อยขึ้นไป สังเกตว่าลมที่ออกมาจากปลายจมูกจะมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ หายใจแบบหยินลมจะเย็น หายใจแบบหยางลมจะร้อน ซึ่งเธอนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อครั้งเดินทางไปเกาหลีใต้อากาศหนาวมาก เธอจึงกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์ จากนั้นหายใจแบบหยางอย่างเดียวจนร่างกายอุ่นขึ้นมาก ช่วยคลายหนาวได้ ส่วนอาจารย์บัวตั๋นก็ใช้การหายใจแบบหยินเวลาที่มีเหตุมากระทบใจกระตุ้นให้โกรธ เพื่อดับพลังงานความร้อนอันเกิดจากความโกรธนั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการกลับมาสู่ลมหายใจเพื่อให้เกิดสตินั่นเอง 

         นอกจากนี้ การฝึกหายใจแบบหยินหยางยังช่วยให้รับรู้ร่างกายและภาวะสุขภาพภายในตัวเราได้เร็วขึ้น สามารถรับรู้ได้ว่าร่างกายมีพลังหรือเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียและกำลังจะป่วยหรือไม่ คุณอนัญญากล่าวถึงประสบการณ์อีกครั้งหนึ่งว่าเธอเป็นไข้ เจ็บคอ พอหายใจแบบหยินแล้วจะหลับ หายใจแบบหยางก็ติดขัดช่วงก้นกบ ดึงไม่ขึ้น แสดงว่าร่างกายอ่อนเพลีย จึงไปกราบเพื่อเพิ่มพลังแล้วนอนพัก หลังจากนั้นลองหายใจแบบหยางดูก็พบว่าไม่ติดขัดแล้ว ร่างกายก็สดชื่นขึ้น และกลับมาเป็นปกติภายในหนึ่งวัน ก่อนนอนก็หายใจแบบหยินเพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้พัก ตื่นมาหายใจแบบหยางเพื่อเพิ่มพลังในวันนั้น คุณอนัญญากล่าวสรุปสุดท้ายว่า สำหรับเธอการหายใจแบบหยินหยางเปรียบเหมือนการนั่งสมาธิ การหมุนลมหายใจเป็นอุบายในการฝึก ช่วยให้สนุก ไม่เบื่อ เหมือนจิตมีของเล่น เมื่อฝึกสม่ำเสมอจะเห็นได้ชัดเจนว่าจิตมีกำลังตั้งมั่นและสุขภาพแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

         ฝึกหายใจแบบหยินหยางให้คล่องไว้นะคะ โดยระหว่างการฝึกอาจารย์บัวตั๋นแนะนำว่า เราควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่าในแต่ละวันที่ฝึกร่างกายและจิตใจเราเป็นอย่างไร มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะผลที่ได้รับจากการฝึกฝนนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ละคนอาจได้ผลที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะรับรู้ได้ก็ต้องหัดสังเกตและทำความรู้จักตัวเองอยู่เสมอ ฉบับหน้าจะแนะนำการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์ ซึ่งเปรียบเสมือนการเดินจงกรม ใครที่เดินจงกรม นั่งสมาธิไม่ทน ลองกราบดูค่ะ อาจจะถูกจริตเหมือนผู้เขียนซึ่งนั่งสมาธิไม่ค่อยได้เพราะหลับตลอด แต่พอมากราบแล้วรู้สึกทำได้สบายๆ ไม่หมดกำลังใจ และมีความเพียรที่จะทำมากกว่าวิธีอื่นค่ะ.

ภาพประกอบจาก http://mydeepmeditation.com/

คอลัมน์:

ผู้เขียน: