อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย ยี่สิบสี่ชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตคุณ
ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของคุณ คุณคิดว่าตัวคุณเองได้ใช้เวลาทั้งหมดที่มีไปอย่างคุ้มค่าแล้วหรือเปล่าคะ?
คุณเคยมีช่วงเวลาที่ปล่อยปละละเลยตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป ก็ให้นึกเสียดายว่า น่าจะให้ความสำคัญกับช่วงเวลานั้นมากกว่านี้บ้างไหม?
คุณเป็นคนผลัดวันประกันพรุ่งหรือเปล่า? มีคำที่คุณอยากพูด มีคนที่คุณอยากพบ มีความฝันที่คุณยังไม่ได้ตั้งต้นลงมือทำให้เป็นความจริงอยู่บ้างไหม?
และถ้ารู้ตัวล่วงหน้าว่าชะตากรรมของคุณได้ถูกกำหนดมาให้ต้องตายในอีกหนึ่งวันข้างหน้า คุณจะใช้ช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงสุดท้ายไปทำอะไร?
อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย เป็นการ์ตูนเรื่องใหม่ จากค่ายลิขสิทธิ์น้องใหม่ TKO Comics เรื่องและภาพโดย มาเสะ โมโทโระ (MASE Motoro) เพิ่งวางแผงเล่มแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เองค่ะ
ที่มาของอิคิงามิ เริ่มมาจากแนวความคิดแปลกใหม่เก๋ไก๋ของรัฐบาลญี่ปุ่น (ในการ์ตูน) ที่ขนาดประชาชนขยันขันแข็ง ทำงานกันเป็นบ้าเป็นหลังขนาดนั้นแล้ว ก็ยังอุตส่าห์คิดว่าพวกเขายังใช้ศักยภาพในตัวไม่คุ้มค่า ได้แต่ใช้ชีวิตให้ผ่านไปวันๆ โดยไม่ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง ถ้าพวกเขาตระหนักว่าตัวเองยังมีสิ่งที่สามารถทำได้มากกว่านี้ แล้วลงมือทำทันทีละก็ อัตราการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าทีเดียว
วิธีแก้ปัญหานี้ก็คือ การบัญญัติกฎหมายที่เรียกว่า ‘กฎผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ’ ขึ้นมา
ด้วยความจริงที่ว่า แม้ชีวิตมนุษย์จะเป็นช่วงเวลาที่มีขอบเขตจำกัด แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะตระหนักถึงขอบเขตของมัน คนส่วนใหญ่หลงลืมไปว่ามีหลายสาเหตุ หลายปัจจัยนักที่สามารถทำให้พวกเขาตายได้ก่อนที่จะถึงค่าเฉลี่ยอายุขัยของมนุษย์ พวกเขาจึงมักใช้เวลาไปอย่างเปลืองเปล่าโดยไม่ได้เริ่มลงมือทำสิ่งที่ทำได้หรืออยากทำเสียที จึงเกิดแนวคิดที่ว่า หากมีอะไรสักอย่างที่สามารถทำให้มนุษย์ตระหนักถึงช่วงเวลาอันจำกัดของตน ให้รู้สึกว่าตัวเองกำลังกอดความตายไว้ และวันพรุ่งนี้อาจไม่มีวันมาถึง พวกเขาจะลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถทำได้เสียตั้งแต่วันนี้โดยไม่ผลัดวันประกันพรุ่งอีกต่อไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง
นั่นเองเป็นที่มาของวัคซีนเข็มเล็กๆ เข็มหนึ่ง ที่เรียกว่า ‘วัคซีนเพื่อความรุ่งเรืองแห่งชาติ’ ด้วยตัวตนที่แท้จริงของมันนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าวัคซีนสำหรับป้องกันโรคติดต่อที่ไม่สลักสำคัญอะไรนักโดสหนึ่ง สิ่งที่พิเศษคือ ในทุกๆ หนึ่งพันเข็ม จะมีหนึ่งเข็มที่บรรจุนาโนแคปซูลชนิดพิเศษไว้ด้วย นาโนแคปซูลนี้ได้ถูกกำหนดอายุขัยไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะให้แตกออกที่วันไหน เวลาไหน เมื่อถูกฉีดเข้าไปในร่างกายคน นาโนแคปซูลจะไหลตามกระแสเลือดเข้าไปอยู่ที่ Pulmonary Artery (หลอดเลือดใหญ่ที่นำเลือดจากหัวใจไปฟอกที่ปอด) และหลับอย่างสงบ รอให้อายุขัยของมันมาถึง และเมื่อถึงเวลานั้น โดยไม่ผิดพลาดแม้เสี้ยววินาที นาโนแคปซูลจะแตกออก และส่งผลให้เจ้าของร่างกายเสียชีวิตทันที
วัคซีนเพื่อความรุ่งเรืองแห่งชาติ ถูกนำไปสุ่มฉีดให้แก่เด็กๆ ทุกคนในประเทศทุกๆ ปีในงานปฐมนิเทศนักเรียนชั้นประถมหนึ่ง เด็กๆ เหล่านี้จะได้รับรู้ว่าพวกเขาส่วนหนึ่งจะต้องตายก่อนที่จะข้ามพ้นวัยรุ่น คนๆ นั้นอาจเป็นคนที่ยืนอยู่ข้างๆ เขา อาจเป็นเพื่อนสนิทของเขา หรือแม้แต่เป็นตัวของเขาเองก็ได้ ดังนั้น พวกเขาจะต้องไม่ใช้เวลาอันมีค่าของชีวิตให้เปลืองเปล่าไปกับสิ่งไร้สาระ หากเขาไม่อยากย้อนมองกลับมาในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่มาถึงเร็วกว่ากำหนดแล้วพบว่า ชีวิตที่ผ่านมาของเขาช่างไร้ค่า และยังเหลืออะไรอีกมากมายที่เขาอยากทำ หรือควรทำ แต่ไม่ได้ลงมือทำจนวาระสุดท้าย
พูดง่ายๆ ว่า นี่คือการใช้ความตายมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตระหนักถึงชีวิตนั่นเอง
แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่เห็นด้วยกับกฏผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์เคยสูญเสียคนในครอบครัวให้กับวัคซีนมรณะเข็มนี้ แต่เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ นี่คือบัญญัติซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลง การเสียสละเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนที่ยังเหลืออยู่นับเป็นเกียรติ ไม่เพียงต่อตัวเองเท่านั้น ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังยังได้รับการยกย่องและเงินชดเชยทำขวัญจำนวนมาก ส่วนคนที่ไม่ยอมรับกฎหมายข้อนี้ คือผู้ที่ขาดวิสัยทัศน์ มีความคิดด้อยพัฒนา สมควรแก่บทลงโทษถึงชีวิตด้วยวิธีการเดียวกันกับที่ตัวเขาไม่ยอมรับ นั่นคือการฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย แต่เขาจะไม่ได้รับเกียรติ ไม่ได้รับเงินชดเชย ไม่ได้อะไรเลย
นอกจากความตายเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มีเกียรติ แต่การตายอย่างปัจจุบันทันด่วนก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าเศร้า ดังนั้น เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม ทางรัฐบาลจึงได้จัดส่งเอกสารที่เรียกว่า ‘อิคิงามิ’ มายังผู้ตาย เพื่อแจ้งให้รู้ตัวก่อนถึงเวลาจริงยี่สิบสี่ชั่วโมง ผู้ตายจะได้ใช้เวลาที่เหลือนั้นกับครอบครัว ล่ำลาคนรู้จัก หรือทำสิ่งสุดท้ายที่อยากทำก่อนตาย
ซึ่งสำหรับผู้ตายหลายราย ยี่สิบสี่ชั่วโมงสุดท้าย คือช่วงเวลาที่ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งได้เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง
นี่คือเรื่องราวของอิคิงามิ สาส์นสั่งตาย การ์ตูนดราม่าที่จะสั่นสะเทือนจิตใจคุณจนถึงขีดสุด (ตามคำโปรยบนปกหน้า) ที่นำประเด็นเรื่องการตระหนักเกี่ยวกับความตายมาผูกเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ เป็นความจริงอย่างน่าประหลาดใจที่มีคนจำนวนมากไม่เคยระลึกถึงความจริงที่ว่าชีวิตเป็นช่วงเวลาอันจำกัด วินาทีที่เกิดคือวินาทีที่เริ่มต้นนับถอยหลังไปสู่วันตาย ซึ่งนั่นเป็นหลักธรรมที่ทุกท่านที่นับถือศาสนาพุทธคงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว
ลำพังการรับรู้ว่าตัวเองอาจต้องตายในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกรักและหวงแหนวันเวลาที่เหลืออยู่มากพอแล้ว แต่อิคิงามิบีบเรามากกว่านั้น ด้วยการหดเวลานั้นสั้นเข้าจนเหลือเพียงยี่สิบสี่ชั่วโมงสุดท้ายก่อนตาย...การฉีดวัคซีนยังอาจมีความหวังให้คลายใจได้ว่าเราอาจไม่ใช่หนึ่งในพัน แต่การได้รับอิคิงามิ เป็นการยืนยันว่านี่คือยี่สิบสี่ชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตพวกเขาแล้วจริงๆ
ฉันเคยเห็นคำถามที่ว่า ถ้าพรุ่งนี้โลกจะต้องแตก และทุกคนจะต้องตาย คุณจะเลือกทำอะไรในยี่สิบสี่ชั่วโมงสุดท้าย อยู่บ่อยๆ ตามเวบบอร์ดบางแห่ง คนที่เข้ามาตอบ ตอบจริงบ้าง เล่นบ้าง และส่วนใหญ่มักไปในแนวทางเดียวกันคืออยากจะใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่ากับคนที่ตัวเองรักมากที่สุด
นั่นอาจเป็นคำตอบในอุดมคติ แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกทำตามคำตอบในอุดมคตินั้นไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อโลกไม่ได้แตก ทุกคนไม่ได้ตาย คนที่ตายคือคุณคนเดียวท่ามกลางประชากรอื่นหนึ่งพันคน คุณต้องตายทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด ตายทั้งๆ ที่มีคนที่น่าจะตายมากกว่าคุณอยู่อีกมากมาย ช่วงเวลาสุดท้ายที่ผู้ตายนับถอยหลัง เป็นช่วงเวลาที่สามารถสร้างได้ทุกอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัว ความแค้น ความเศร้า ความสงบ หรือรู้ซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต
จากสองตอนในเล่มแรกของอิคิงามิ คนหนึ่งเลือกที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อการแก้แค้น อีกคนหนึ่งใช้เพื่อแก้ไขทางเดินที่เคยเลือกผิด สิ่งที่ชัดเจนจากทั้งสองตอนคือ เมื่อไม่มีอนาคตข้างหน้าเหลืออยู่อีกแล้ว สิ่งที่ถูกขับดันออกมาจากคนที่ไม่มีอะไรจะสูญเสียอีกต่อไป สามารถเป็นได้ทั้งทางบวกและทางลบ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเขาเคยเผชิญ และลักษณะนิสัยที่เพาะบ่มมาชั่วชีวิต
ลองจินตนาการดูเล่นๆ สิคะ ถ้าคุณคือผู้โชคดีที่ได้รับอิคิงามิ คุณจะทำอะไรกับยี่สิบสี่ชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตคุณ?
ที่มา:
http://blogazine.in.th/blogs/carousal/post/667