กว่าจะมาเป็นอาสาข้างเตียง
ต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ขณะที่อ่านนั้น ในใจก็ยังมีความลังเลสงสัยอยู่ว่า ทำไมง่ายอย่างนี้ เพียงใช้มือสัมผัสผู้ป่วยเบาๆ ให้เขารู้สึกอบอุ่น เข้าใจเขา โดยไม่ต้องจัดแจงหรือมีคำพูดอะไรมากมาย ซึ่งแต่ก่อนนั้นยิ่งพยายามเท่าไร ยิ่งติดลบ ดูเหมือนจะตกเป็นจำเลยของผู้ป่วยตลอดจนญาติมิตร
ที่ผ่านมาข้าพเจ้าพยายามให้ผู้ป่วยมองในแง่ดีของการเจ็บป่วย โดยให้คิดว่า นี่เป็นนาทีทองของชีวิต ที่เรารู้ว่าเราจะมีเวลาเหลือไม่มาก ควรจัดทำสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต ซึ่งบางคนเอาจเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่มีการเตรียมตัว แต่การณ์กลับยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม ณ เวลานั้นข้าพเจ้าถามใจตนเองว่า เรายังมีความปรารถนาดีต่อผู้ป่วยหรือไม่ ? ถ้ามี การถอยหลังหนึ่งก้าวไม่เสียศักดิ์ศรี ขอโทษเขา.
ซึ่งหลังจากที่อ่านบทความนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้นำมาใช้กับผู้ป่วยรายเดิม ผลตอบรับดีมาก ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้การเป็นอาสาข้างเตียง เพราะเชื่อแน่ว่าผู้ที่ได้ประโยชน์คนแรกคือ ตัวเราเอง เราจะวางจิตอย่างไร เมื่อวันนั้นมาถึง คงไม่ใช่ปล่อยกันง่ายๆ เมื่อความเจ็บปวดรุมเร้า และแล้วโอกาสก็มาถึงเมื่อมีโครงการเปิดรับอาสาข้างเตียงของเครือข่ายพุทธิกา
สภาพแวดล้อมสอนเรา
หลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมและรับทราบข้อปฏิบัติตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ แล้ว ข้าพเจ้าได้เรียนรู้สภาพแวดล้อมของเด็กๆ ที่เจ็บป่วยในโรงพยายาลฯ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ในตึกนี้เป็นผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย ความน่ารักและความไร้เดียงสาของเด็กๆ เมื่อเจ็บป่วยก็จะงอแง ร้องไห้ แต่เมื่ออาการดีขึ้นก็จะลุกชึ้นมาเล่นเหมือนผู้อื่นที่สุขภาพแข็งแรง ทำให้ข้าพเจ้าได้ข้อคิดว่า ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อความทุกข์รุมเร้าก็มักจะจมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ และบางครั้งขยายความทุกข์ให้ใหญ่เท่าฟ้า แต่เด็กน้อยเหล่านี้สอนให้เรารู้จักหยุดพักถอยห่างความทุกข์ มาอยู่กับปัจจุบัน โดยเด็กเหล่านั้นได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมห้องว่า ไม่ใช่เราป่วยคนเดียว คนอื่นก็ป่วยเหมือนกันหรือมากกว่าอีก ตลอดจนความเอื้ออาทรของกลุ่มพ่อแม่ที่มีให้กับเด็กๆ เสมือนหนึ่งลูกของตนเองเป็นภาพที่งดงามมาก ทำให้ข้าพเจ้ามีความกล้ามากขึ้นที่จะพบกับหนูน้อยที่ข้าพเจ้าจะได้รู้จัก
เริ่มงานจิตอาสา
วันแรกที่ได้รู้จักน้องพลอย (นามสมมติ) หนูน้อยวัย ๙ ขวบจากจังหวัดสุพรรรบุรี ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ ครอบครัวของน้องพลอยไม่ค่อยสมบูรณ์ แม่ไม่แข็งแรง ยายเป็นผู้พาน้องพลอยมาโรงพยาบาลทุกครั้ง ๓ อาทิตย์ต่อครั้งมาให้เกล็ดเลือดหรือคีโมประมาณ ๕ วัน แต่บางครั้งติดเชื้อต้องอยู่นาน
น้องพลอยเป็นเด็กที่ค่อนข้างติดยาย การเข้าหาหนูน้อยคนนี้ค่อนข้างยากในช่วงแรกๆ เด็กจะต่อต้านไม่พูดด้วย จะพูดแต่ว่าเหนื่อย จะนอน บอกให้ไปคุยกับยาย ณ ขณะนั้นข้าพเจ้าคิดว่าเราเตรียมการบ้านมาดีแล้วนะ จะมาชวนอ่านหนังสือ เล่นด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนไปคุยกับยายและน้องๆ ข้างเตียง ผลตอบรับเริ่มดีขึ้น น้องพลอยเริ่มคุยด้วย ข้าพเจ้าได้ชวนคุยเรื่องไปเที่ยวไปวัด ถามยายว่าเคยไปวัดพระแก้วหรือไม่ ยายบอกว่ามากรุงเทพฯ ก็มาแต่โรงพยาบาลและกลับบ้านเท่านั้น
ระยะสองเดือน เริ่มคุ้นเคยกัน ปกติการเป็นอาสาข้างเตียงจะดูแลเฉพาะเมื่อเด็กอยู่โรงพยาบาล แต่หนูน้อยคนนี้ต้องอยู่บ้านคนเดียว ยายไปทำงาน แม่ป่วยเข้าโรงพยาบาล ข้าพเจ้าจึงโทรเยี่ยมเพื่อทราบข่าวคราวความเป็นอยู่ของน้องพลอย ทราบว่าน้องพลอยบางครั้งทำอาหารทานเองโดยทำไข่เจียว ไข่น้ำ ข้าพเจ้ารู้สึกสะท้อนใจว่าเราโชคดีกว่าหนูน้อย เราก็ป่วยเป็นมะเร็งเหมือนกัน สามมื้อมีคนจัดให้ เราจะเรียกร้องอะไรอีก ทำให้เรามีกำลังใจเข้มแข็งขึ้น
เช้าวันหนึ่ง ยายโทรมาพร้อมเสียงร้องไห้ บอกว่าหมอไม่สามารถรักษาต่อไปได้แล้ว ฉีดคีโมไม่ได้ผล อาการเป็นมากแล้ว ให้ยาคีโมเม็ดไปทานที่บ้าน การรักษาเป็นแบบประคับประคอง ข้าพเจ้ารีบไปที่นั่นเพื่อฟังรายละเอียดและปลอบใจยายไปหลายเรื่อง น้องพลอยนั่งร้องไห้พูดแต่เพียงว่า “หนูไม่อยากตายๆ” ข้าพเจ้ากอดน้องพลอย ถามน้องพลอยว่า ตรงที่หนูยืนอยู่นี้มีคนเยอะหรือไม่ น้องพลอยตอบว่า เยอะ และข้าพเจ้าถามต่อไปว่าถ้าคนไม่ตายจะเยอะหรือไม่ น้องพลอยตอบว่าต้องมากกว่านี้ ข้าพเจ้าจึงตอบไปว่า นั่นสิ! คงต้องขี่คอกันยืนแน่เลย พระพุทธเจ้ายังต้องตายเหมือนกัน หนูเป็นเด็กดีใช่ไหมลูก ไม่เคยทำให้แม่และยายเสียใจใช่ไหม หนูไม่ได้ทำบาปอะไร ถ้าจะต้องตาย หนูจะได้ไปสวรรค์ไปเป็นนางฟ้า คนโบราณเขาบอกว่า เด็กๆ ที่ตายเร็ว เพราะว่าเป็นเทวดาแอบหนีลงมาเที่ยว ๑ วันของเทวดา เท่ากับ ๘๐ ปีเมืองมนุษย์ หนูน้อยเริ่มคลายทุกข์ บอกว่า ป้า หนูอยากไปวัดพระแก้วกับยาย
รุ่งขี้นเราก็ไปวัดพระแก้ว ข้าพเจ้าได้จัดดอกไม้ธูปเทียนให้ยายและน้องพลอยกล่าวคำอธิษฐานกันเอง หลังจากนั้นพาเข้าไปในโบสถ์ แนะนำน้องพลอยว่า “หนูมององค์พระแก้วมรกตนะ มองแล้วลองหลับตา นึกภาพที่มองว่าจำได้หรือไม่ ถ้าจำไม่ได้ก็มองใหม่ และทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะจำได้ ภาพในโบสถ์นี้ภาพไหนที่หนูชอบก็จำให้ติดตานะ นานแค่ไหนก็ได้ไม่ต้องกังวลป้าจะนั่งคอย” ประมาณครี่งชั่วโมง น้องพลอยหันมาบอกว่า หนูจำได้แล้วจ้ะ
หลังจากนั้น แนะนำให้น้องพลอยออกมาเดิน ด้านนอกรอบโบสถ์ ให้จำความรู้สึกขณะที่เดินโดยไม่ต้องคิดหรือบริกรรมคำใดๆ หลังจากที่เดินกลับมาแล้ว ข้าพเจ้าได้บอกน้องพลอยว่า “จากนี้ไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้หนูหนีเข้าไปในวัดพระแก้ว ตามที่หนูจำได้” ที่ข้าพเจ้าแนะนำอย่างนั้นเนื่องจากได้ฟังครูบาอาจารย์กล่าวไว้ว่า เราสามารถเลือกชาติภพที่จะไปด้วยตัวเราเอง ภาพและเสียงสุดท้ายจะเป็นตัวนำพาภพชาติที่จะไปต่อ
ในวันนั้นเราไปเที่ยวกันต่อที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ อีกสองวันต่อมาน้องพลอยโทรมาบอกว่า “หนูไม่กลัวตายแล้ว หนูนึกถึงพระแก้วมรกตทุกๆ ๑๐ นาที” ข้าพเจ้าฟังแล้วอนุโมทนากับหนูน้อยคนนี้มากคะ
ทุกครั้งที่ได้รับทราบเรื่องราวของเด็กๆ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะยอมรับและปล่อยวางกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากขึ้น ณ เวลานี้น้องพลอยมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงขึ้นเป็นลำดับ