Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ดูแลผู้ดูแล

-A +A

         สืบเนื่องจากการได้ไปบรรยายให้ชาวจิตอาสาข้างเตียงของสถาบันสุขภาพเด็กฯ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ที่ผ่านมา “เข้าใจเด็ก (ป่วย)” เป็นหัวข้อในวันนั้น ตอนที่ได้รับมอบหมายจากเลขาฯ โครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ช่วยคิดด้วยว่า จิตอาสาควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเด็กป่วย โชคดีที่ได้ข้อมูลสนับสนุนจาก ดร.พระมหาเผื่อน กิตฺติโสภโณ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รวมเนื้อหาที่เคยบรรยายให้พยาบาลเรื่องการดูแลเด็กป่วยระยะสุดท้าย ดูเนื้อหามากอยู่ แต่พอจบการบรรยาย ยังเหลือเวลาให้ได้ซักถามกัน คุณเพี้ยบอกว่า “แค่หนึ่งชั่วโมง แต่เนื้อหาครบถ้วน” จิตอาสาหนุ่มน้อยคนหนึ่งบอกว่า “รุ่นนี้โชคดี รุ่นผมไม่มีหัวข้อนี้บรรยาย ผมเข้าใจแล้วทำไมเวลาผมเตรียมกิจกรรมมาทำด้วยกัน แต่น้องกลับไม่สนใจ ทำเอาผมหมดกำลังใจ ได้รู้ปฎิกิริยาของเด็กที่มีต่อการรักษาความเจ็บป่วยในโรงพยาบาล ทั้งก้าวร้าว แยกตัว ถดถอย ต่อไปผมจะได้เตรียมตัวรับอารมณ์ของน้องๆ ได้ถูกต้อง” 

         จิตอาสาคนหนึ่งเขียนในใบประเมินว่า “แนวทางการเป็นจิตอาสาเทียบเคียงกับมรรคมีองค์แปดสัมพันธ์กันได้ดีมาก เห็นภาพชัดเจน” จริงๆ แล้วอยากบอกว่า มรรคมีองค์แปดของพระพุทธองค์ใช้ได้กับทุกอาชีพทุกสถานการณ์ เพราะเป็นหนทางสร้างสุขถาวรและพ้นทุกข์สิ้นเชิง เริ่มที่ต้นเองแล้วไปต่อที่ผู้อื่น

         ค่ำวันนั้น คุณเพี้ยก็ขอให้เขียนเรื่อง “การดูแลผู้ดูแล” อยากให้เป็นกรณีตัวอย่างคนไข้ที่เคยดูแล ก็นึกถึงเด็กป่วยระยะสุดท้ายที่ได้ดูแลเมื่อปี ๒๕๕๒ ตอนนั้นเริ่มนำเอาพุทธธรรมมาประยุกต์ ใช้กับการให้คำปรึกษาผู้ปกครองเด็กระยะสุดท้ายคนไข้รายนี้ เป็นเด็กโตได้คุยกับเด็กป่วยและครอบครัวทั้ง ยาย แม่ และพ่อได้เห็นสภาวะเปลี่ยนแปลงของคนเราเมื่อมีทุกข์มากระทบ ธรรม (ชาติ) ในตัวมนุษย์ ก็กระเทือนจนมีปฏิกิริยาให้เห็น (Grief process ของ Elisabeth Kubler-Ross) ที่เริ่มจากช็อค ปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง ซึมเศร้า และยอมรับในที่สุด 

         วันแรกที่ได้พบกันเด็กป่วยวัย ๑๓ ปี นั่งกึ่งนอนบนเตียง ผิวขาวค่อนข้างซีด หน้าตาอิดโรย ถึงดูผอมแต่มีเค้าของวัยรุ่นหน้าตาดี ตอนนั้นคิดว่าคนที่คุยด้วยเป็นแม่ แต่จริงๆ แล้วเป็นยายเล็ก (น้องสาวของยาย) ให้ยายมองเตียงข้างๆ ว่าเขาและเราต่างกันอย่างไร ยายตอบ “ฉันเป็นมากกว่าพวกเขา เพราะพวกนั้นเป็นแค่แม่ แต่ฉันเป็นทั้งยายและเป็นแม่ด้วย เพราะมิกกี้อยู่กับฉันตั้งแต่แบเบาะ พ่อแม่เขาทำงานอยู่กรุงเทพฯ เลี้ยงมาตั้งแต่อายุได้เดือนเดียว เห็นแล้วสงสาร อยากให้มิกกี้ได้กลับบ้าน แต่พ่อเขาไม่ยอมรับ พ่อเขาจะมาวันเสาร์ คุณช่วยพูดกับพ่อให้หน่อยได้ไหม” มิกกี้หันมาพยักหน้า เมื่อถามว่า “อยากกลับบ้านจริงหรือลูก” เป็นครั้งแรกที่ได้สื่อสารกับเด็กป่วย ก่อนลากลับได้บอกว่า ถ้าพ่อมาวันอาทิตย์ ก็จะช่วยพูดช่วยให้ เพราะวันเสาร์ต้องเรียนหนังสือ 

         วันนั้นได้เห็นยายอ่านหนังสือสวดมนต์แปลให้หลานที่เปิดหนังสือดูตาม เป็นการสวดมนต์ที่มีเสียงครั้งแรกในโรงพยาบาล เพราะได้บอกยายว่าการสวดที่มีเสียงจะช่วยสร้างสมาธิจดจ่ออยู่กับการกระทำในปัจจุบัน เวลาที่เจ็บปวดไม่สบาย เราจะได้นึกถึงเวลาที่เรามีสมาธิกับการสวดมนต์ จะทำให้รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดทรมานลดลง จริงแล้วอยากจะบอกมิกกี้ เพราะเด็กก็จะกำหนดรับรู้ความเจ็บปวดได้ยากกว่าผู้ใหญ่ วิธีนี้คงจะเป็นการช่วยเหลือให้มิกกี้ได้รู้จักวิธีผ่อนคลายเวลาปวดได้บ้าง

         พอวันอาทิตย์ก็ได้เห็นภาพพ่อแม่ลูกและยายหัวเราะดูเทปหม่ำโชว์ที่เรานำมาฉายกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ที่สัญญาว่าจะนำมาให้มิกกี้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน วันนี้พ่อต่อรองว่าจะเช็ดตัวให้มิกกี้ก่อน เราเลยต้องพาแม่ไปคุยตามลำพังก่อน แม่คงอยู่ในระยะซึมเศร้าและยอมรับในที่สุด เพราะตอนที่พ่อพูดว่า “อยากได้ลูกคนเดิมกลับไป” แม่ฟุบหน้ากับแขนผู้เขียนร้องไห้ตลอดเวลา ตอบคำถามว่าลูกคนเดิมแบบไหน พ่อตอบทั้งน้ำตาลคลอเบ้าว่า “ลูกที่แข็งแรงไปโรงเรียนได้ มีอนาคตเหมือนเด็กคนอื่น” ก็คงยังอยู่ในระยะต่อรอง ได้เห็นคนอับจนคำตอบเมื่อถามว่า “ปัจจุบันมิกกี้เป็นอย่างไร” 

         พอวันพฤหัสบดี เลขาฯ ทีมพาลลิเอทีฟแคร์โทรมาบอกว่า มิกกี้กลับบ้านแล้วนะฝากบอกพี่ว่า “ผมจะไปดู เอกซ์-เมนส์ ที่บ้านละกัน” ได้ดูภาพมิกกี้ยิ้มชูสองนิ้ว ถ่ายรูปกับยาย แม่ พ่อ และพยาบาล คงเป็นเพราะที่พูดกับพ่อว่า ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลมิกกี้ เราจะให้เขาขอในสิ่งที่เราทำได้สามอย่าง เราจะทำให้ทันที 

         หากข้อเขียนนี้มีคุณค่าแก่ผู้อ่านอยู่บ้างขออุทิศส่วนกุศลให้หนูน้อยเด็กป่วยระยะสุดท้ายผู้เป็นต้นเรื่องให้ไปสู่สุคติด้วยเถิด สาธุ

         จะเห็นว่า “การดูแลผู้ดูแล” นั้นยึดหลักอย่างเดียวคือ ให้เขาเข้าใจความจริงของชีวิตอยู่กับปัจจุบัน นำมรรคมีองค์แปดมาพัฒนาตน สังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เด็กป่วยระยะสุดท้ายมีความสุขตามอัตภาพ ให้ความสูญเสียนำมาซึ่งความตื่นรู้ไม่อยู่ในความประมาท

คอลัมน์:

ผู้เขียน: