เยียวยาผู้ดูแล
หมอตุ๊: พรเป็นสาวพม่า ลักลอบเข้าเมืองไทยมาทำงานเป็นลูกจ้างตามบ้านอย่างผิดกฎหมาย พรอาศัยอยู่กับบ้านนายจ้างที่เป็นครอบครัวคนจีน ที่มีอาแปะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ระยะสี่ อาแปะและครอบครัวได้มาเข้าค่ายมะเร็งที่ อ.วังน้ำเขียว และพรได้ติดสอยห้อยตามมาดูแลอาแปะด้วย ตลอดเวลาที่อยู่ในค่าย สมาชิกค่ายและหมอ พยาบาล จะได้ยินเสียงอาแปะเรียกร้องเอาโน่น นี่ ตลอดเวลา ด้วยเสียงอันดัง เผลอๆ ก็จะได้ยินเสียงลอยตามลมมาว่า... “เดี๋ยวกูเตะเสียนี่” ฯลฯ
เมื่อหมอตุ๊และครูดลได้มีโอกาสไปจัดกระบวนการปรึกษาครอบครัวอาแปะ หมอตุ๊ได้ขอให้ครูดลแยกพรไปคุยด้วย เพื่อให้กำลังใจ
ครูดล: ขณะนี้ พรรู้สึกอย่างไรบ้าง
พร: หนูคิดถึงพ่อ พ่อหนูที่พม่าก็ป่วย แต่หนูต้องมาทำงานเพื่อส่งเงินไปให้พ่อ
ครูดล: วันๆ นอกจากทำงานบ้านและดูแลอาแปะแล้ว พรได้คุยกับใครบ้าง
พร: ไม่มีค่ะ หนูไม่รู้จักใคร
ครูดล: มาเข้าค่ายนี้ พรได้เรียนรู้อะไรบ้าง
พร: ชีวิตนี้เป็นทุกข์เหลือเกินนะคะ...
ถ้าเรามองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ผู้ป่วยในบ้านคือผู้มีทุกข์ที่เราต้องไปช่วยเยียวยา ทั้งกายใจ แต่เรากลับพบว่า มีผู้ทุกข์อีกคนในบ้าน และเป็นทุกข์ที่ไร้พลังอำนาจในการเยียวยาตัวเอง แถมยังต้องแบกรับหน้าที่การดูแลผู้ป่วยอีกด้วย เรา (หมอ พยาบาล จิตอาสา) จะมีท่าทีอย่างไรในการดูแลคนเหล่านี้คะ
พระไพศาล: คนที่รู้สึก (หรือถูกมอง) ว่าไร้พลังอำนาจนั้น แท้จริงเขามีพลังอำนาจแต่ตัวเองอาจไม่รู้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกกระทำให้เป็นเช่นนั้น คือ ถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นต่ำต้อย ไร้เรี่ยวแรง สิ้นไร้ไม้ตอก ไม่มีทางไป ทำอะไรไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น เพียงแค่นี้ก็ทุกข์แล้ว แต่ยังมีทุกข์อีกชั้นหนึ่งซ้ำเติมเข้ามา คือ เมื่อถูกกระทำ เช่น ถูกต่อว่า มีคนดูถูก หรือประสบเคราะห์กรรม (เช่น เจ็บป่วย) ก็เลยต้องกล้ำกลืนฝืนทน ไม่ตอบโต้หรือหาทางออก เก็บความเจ็บปวดไว้ในใจ ซึ่งกลายเป็นว่าถูกอารมณ์กระทำซ้ำเข้าไปอีก กลายเป็นถูกกระทำสองชั้น คือ จากคนอื่นสิ่งอื่น (เช่น เจ้านาย ผู้บังคับบัญชา หรือจากเหตุการณ์) และจากอารมณ์ที่เกิดขึ้น ในทางตรงข้าม หากเขารู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ นอกจากจะไม่ยอมนิ่งเฉยหรือยอมถูกกระทำจากคนอื่นสิ่งอื่นแล้ว ยังไม่ยอมถูกอารมณ์นั้นกระทำฝ่ายเดียว แต่จะพยายามจัดการกับอารมณ์ด้วย
สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยคนเหล่านี้ก็คือ ช่วยให้เขาเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มองตัวเองว่าด้อยหรือต่ำต้อย (พูดง่ายๆ คือไม่ดูถูกตัวเอง) เช่น ชี้ให้เขาเห็นว่าเขามีความสำคัญอย่างไรต่อคนที่ดูเหมือนอยู่เหนือเขา หรือมีความสำคัญอย่างไรในครอบครัว หากไม่มีเขา คนอื่นก็จะเดือดร้อน ครอบครัวก็จะลำบาก ขณะเดียวกันก็อาจแนะนำให้เขารู้วิธีการในการตอบโต้เวลาถูกกระทำ (ไม่ว่าจากคนหรือเหตุการณ์) เช่น โต้แย้งด้วยความสุภาพ หรือยืนยันสิทธิของตน (self-affirmation) ในกรณีที่ถูกกระทำโดยบุคคลอื่น เพียงแค่การไม่ยอมให้อีกคนทำอะไรตามอำเภอใจเหมือนเคย ก็เป็นการเพิ่มพลังอำนาจ (empower) ให้แก่ตัวเองอย่างสำคัญ ขณะเดียวกันทำให้อีกฝ่ายทำตามอำเภอใจอีกต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่นายจ้างจิกหัวลูกจ้างนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะฝ่ายหลังยอมให้ทำโดยดุษณี ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนายจ้าง (เพราะอำนาจเกิดจากการยอมรับหรือยินยอมของอีกฝ่าย) ถ้าลูกจ้างไม่ยอมนายจ้างอีกต่อไป อำนาจของนายจ้างก็หดหายไป พูดอย่างสั้นๆ ก็คือ เมื่อใดที่ “ผู้ไร้อำนาจ” ลุกขึ้นมาตอบโต้ยืนยันสิทธิของตนอย่างสุภาพ การกระทำเช่นนั้นไม่เพียงช่วยให้ตนตระหนักถึงอำนาจที่มีอยู่ภายในเท่านั้น แต่ยังลดอำนาจของอีกฝ่ายลงด้วย แน่นอนว่าอีกฝ่ายคงไม่ยอมง่ายๆ แต่ยิ่งเขาต้องพึ่งพิง “ผู้ไร้อำนาจ” มากเท่าไหร่ ไม่นานเขาก็รู้ว่า ไม่สามารถใช้อำนาจข่มเหงรังแก “ผู้ไร้อำนาจ” อีกต่อไป เพราะวันใดที่ไม่มีคนอย่างพร เขาก็อยู่ลำบาก และในที่สุดก็ต้องหันมาเรียกร้องคนอย่างพรให้กลับมา ถึงตอนนั้นเขาก็จะไม่เผลอใช้อำนาจตามอำเภอใจอีกต่อไป
อีกอย่างที่เราจะช่วยเขาได้ก็คือ แนะนำวิธีการจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นยามถูกกระทำจากบุคคลและเหตุการณ์ เพราะคนที่รู้สึกว่าไร้อำนาจนั้น มักปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ กระทำหรือบีบคั้นตนได้ง่ายมาก การแนะนำเรื่องสติ สมาธิ รวมทั้งการมีวิธีคิดที่ถูกต้อง (โยนิโสมนสิการ) เช่น ไม่ซ้ำเติมตัวเอง หรือคิดว่าเป็นเพราะกรรมในอดีตชาติ ตลอดจนการรู้จักคิดวิเคราะห์ปัญหา ก็จะช่วยให้เขาไม่เป็นฝ่ายถูกกระทำจากอารมณ์และจากเหตุการณ์ฝ่ายเดียว การรู้วิธีจัดการกับอารมณ์และเหตุการณ์นั้น นอกจากจะลดความทุกข์ของตัวเองได้มากแล้ว ยังเป็นการเสริมพลังตัวเองอีกแบบหนึ่งด้วย
ตัดทอนจาก “ผู้ไร้พลังอำนาจ”
วารสารธรรม(ะ)ชาติบำบัด
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๕