Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

อาสาข้างเตียง “มือใหม่”

-A +A

          จากที่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการและอบรม “อาสาข้างเตียง” รุ่นที่ ๗ ของเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับสถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) สองวันที่เข้มข้นในเรื่องการเรียนรู้โดยจิตใจ การฟัง การแบ่งปัน ฝึกไป เล่นเกมไป ข้อคิดต่างๆ ก็ผุดขึ้นมา พร้อมด้วยการสรุปโดยวิทยากร สองวันที่ให้แนวทางและการวางตัว การสังเกต การถอดตัวตนออก อาสาเพียงแต่ไปฟัง

          เราเลือกหอผู้ป่วยอายุรกรรม “เป็นมิตรต่อเด็ก” สิ่งที่ไปพบนั้นไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งแต่บันไดทางขึ้นเป็นการ์ตูนให้ความรู้ สวนหย่อมเล็กๆ ด้านหน้า และโดยไม่คาดฝันคือ ผ้าม่านและเพดานลายการ์ตูน มุมหนังสือเด็กและของเล่นตุ๊กตาต่างๆ เห็นผู้ปกครองนอนพักผ่อนอยู่บนเตียงกับน้อง บรรยากาศสบายๆ เหมือนที่บ้าน เจ้าหน้าที่ใจดี ไม่ดุไม่บังคับน้อง ถามไถ่ความต้องการของน้องและญาติ และใส่ใจฟังคำตอบ

          น้องคนแรกที่เราได้มีโอกาสเยี่ยมติดต่อกันสามครั้ง เป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ผอมๆ อายุ ๗ ขวบ ตอนแรกคุณพ่อดูงงๆ เมื่อแนะนำตัวและคุยเรื่องทั่วๆ ไปค่อยดีขึ้น จนครั้งต่อๆ มาได้รับความไว้วางใจมากขึ้น รับฟังเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งปัญหาที่อยู่ในใจ การพูดทวนบ้าง ฟังอย่างตั้งใจบ้าง บอกว่าจะปรึกษาพยาบาลให้บ้าง ก็รู้ว่าคุณพ่อมีคำตอบในใจเองแล้วละ 

          สำหรับ “น้อง” ครั้งแรกหน้านิ่วเชียว คงอยู่ในสภาวะทางร่างกายที่ไม่สุขสบายอย่างมาก น้ำหนักต่ำหลุดเกณฑ์ ทั้งยังมีเข็มเจาะคาไว้ที่ข้อมือขวา ยกข้อศอกเกร็งไว้ตลอดเวลา เราขอเป็นพวกเดียวกันกับน้องก่อนโดยบอกว่า เวลาที่เราเคยไม่สบาย เมื่อเจ็บตรงไหนมันก็จะรู้สึกเจ็บมากกว่าเวลาปกติเหมือนกัน แล้วค่อยๆ เอามือลูบเบาๆ ตรงข้อศอกของน้องให้คลายลง วันนั้นเราลูบกันอยู่หลายหน ไปนำหุ่นตุ๊กตามาเล่นต่อสู้กัน ได้เห็นรอยยิ้มในแววตาและมุมปากแบบวูบสั้นๆ หลายครั้ง 

          วันต่อมาเราวาดรูปน้องไปให้ดู และมีไดโนเสาร์ไขลานไปฝาก น้องยิ้มทุกครั้งที่ไดโนเสาร์เดินได้ คุณแม่ซึ่งพบกันเป็นครั้งแรก เขินๆ ไม่ยอมคุย พอตอนเราจะกลับเธอจึงยิ้มแฉ่งและบอกว่าอย่าตามใจน้องมากเดี๋ยวเขาจะร้องตาม ครั้งที่สาม “เรา” สนิทคุ้นเคยกันมากขึ้น น้องยิ้มละมัยและรีบลุกขึ้นมานั่งคลอเคลียวิสาสะกับเราตลอดหนึ่งชั่วโมงที่อยู่ด้วยกัน ขณะที่พี่สาวฝากให้ช่วยดูแลและขอตัวลงไปซื้ออาหาร 

          เป็นโมงยามที่ได้แบ่งปันความสุขและธรรมะเล็กๆ ด้วยกัน เห็นคนกำลังเจ็บ เห็นตัวเองเคยเจ็บและหายเจ็บในวันนี้ บอกน้องว่าความเจ็บไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา เจ็บแล้วก็หาย เกิดความผูกพันและปรารถนาดีจากใจอยากจะให้น้องสุขสบายขึ้น เราทำท่าเหมือนจอมพลังวนๆ มือในอากาศแล้วก็ไปแตะที่ไหล่หลังทั้งสองข้าง บอกว่าขอส่งพลังให้น้องสุขสบาย กินข้าวได้เยอะๆ และนอนหลับฝันดี วันต่อมาได้เยี่ยมน้องคนใหม่อีกสองคน ซึ่งล้วนให้ความรู้สึกคล้ายกัน แต่บทเรียนปลีกย่อยแตกต่าง น้องๆ ผู้ป่วยเหมือนครูตัวน้อยๆ ของเรา ขอบคุณน้องๆ ครอบครัว เจ้าหน้าที่ และโครงการที่ให้โอกาสเราทำหน้าที่นี้

          บทเรียนและประสบการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ ของอาสาข้างเตียง “มือใหม่”

  • ธรรมะจากเด็กๆ ซึ่งจิตใจใสบริสุทธิ์ ปล่อยวางอารมณ์จากความเจ็บป่วยทางกายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าผู้ใหญ่
  • ความรักความผูกพันของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ฐานะ และอาชีพใด
  • เด็กๆ มีความรับผิดชอบต่อทั้งครอบครัวและสุขภาพของตนเองด้วยเช่นกัน เช่น กินยาเอง ยอมให้ดูดเสมหะ บอกพี่ว่าหมอให้ไปรับใบสั่งยา
  • วิวัฒนาการใหม่ๆ ของสถาบันสุขภาพ มุมมองและแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่อำนวยต่อการดูแลโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เห็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างเมตตาและนุ่มนวล
  • เรามิได้ไปเป็นผู้ให้อะไรเลย เพียงแต่เป็นคนตัวเล็กๆ เข้าไปร่วมแบ่งปันยางสิ่งบางอย่าง
  • เกิดความอิ่มใจเมื่อได้รับความไว้วางใจในบรรยากาศเดียวกับผู้ป่วยและญาติ
  • มีคำถามว่า “ไม่ผิดใช่ไหม หากอาสาสมัครมีความรู้สึกผูกพันกับเคสที่เราดูแล?”

คอลัมน์: