คุยกับเด็กเรื่องความตาย ความท้าทายที่คนรอบข้างต้องเจอ
เผี๊ยะ! เสียงหลังมือที่ถูกตีอย่างเร็วดังขึ้น ตามมาด้วยเสียงบ่น “นี่แน่ะ แม่บอกแล้วใช่ไหม ว่าไม่ให้พูดเรื่องตาย เขาว่ามันไม่ดี ห้ามพูดกัน บอกแล้วไม่ฟัง”
“โอ๊ย ทำไมดื้อแบบนี้ อยากให้พ่อแม่ตายเร็วๆ ใช่ไหม”
เพียงคำพูดสองประโยคข้างต้น เชื่อหรือไม่ว่า ความคิดที่ว่าความตายเป็นเรื่องต้องห้ามและเป็นเรื่องน่ากลัวได้ปรากฏขึ้นในใจของเด็กๆ ที่โดนข่มขู่ไปเรียบร้อยแล้ว นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจริงและพบเจอได้ไม่ยากเวลาที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่พูดเรื่องความตายกับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยกจากการสนทนาหรือคิดถึงเรื่องความตาย ความตายกลายเป็นเรื่องประหลาดกว่าการกิน เล่น นอน เที่ยว และไม่ใช่เรื่องของชีวิตปกติ ซึ่งสภาวะเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดผลดีกับเด็ก
คงจะดีกว่าแน่นอน ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กได้ถาม หรือมีวิธีการเหมาะๆ ในการชวนเด็กมาพูดคุยเรื่องความตายในมุมที่เขาอยากรู้อย่างเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งของชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเรียนรู้โลก เข้าใจเรื่องราวของชีวิตและความตายได้เหมาะสมกับวัย ส่งเสริมพัฒนาการชีวิตให้เติบโตไปอย่างสวยงาม
เมื่อความตายเป็นเรื่องของธรรมชาติชีวิต แท้จริงแล้วการพูดกับเด็กเรื่องความตายไม่ได้ยากอย่างที่คิดกัน ถ้าผู้ใหญ่อย่างเรา เรียนรู้ที่จะสื่อสารเรื่องความตายด้วยใจที่ยอมรับ และตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างซื่อตรงและเป็นจริงอย่างสง่างาม ที่สำคัญอย่างยิ่งคือควรเรียนรู้วิธีการสื่อสารเรื่องความตายกับเด็กอย่างเหมาะสมตามวัย ความสามารถ และธรรมชาติของเด็ก ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเสนอแนวทางที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการคุยกับเด็กเรื่องความตายอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ โดยแยกเป็นประเด็นสำคัญต่างๆ เชื่อว่าหากท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณา คิดตามอย่างเปิดใจ และค่อยๆ นำไปปรับใช้ในเบื้องต้นก็จะทำให้การคุยเรื่องความตายกับเด็กเป็นไปอย่างราบรื่น และน่าอภิรมย์มากกว่าที่เคยแน่นอน
ความเข้าใจเรื่องความตายของเด็กแต่ละวัย
เด็กแต่ละวัยมีความคิดความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัวได้แตกต่างกัน เรื่องความตายก็เช่นกัน เด็กเล็ก เด็กโต หรือวัยรุ่น ก็มีความรู้สึกนึกคิดและความสามารถในการทำความเข้าใจได้เรื่องความตายได้ไม่เหมือนกัน อันดับแรกเราจึงต้องมาทำความรู้จักกับเด็กแต่ละวัยที่เข้าใจความตายแตกต่างกันเสียก่อน
เด็กอายุไม่เกิน ๒ ปี เด็กน้อยวัยนี้จะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า “ตาย” คืออะไร ความคิดเกี่ยวข้องกับความตายในวัยนี้เป็นเพียงการหายไป หรือถูกทอดทิ้งเท่านั้น
เด็กวัยอนุบาล (๒-๖ ปี) แม้เด็กบางคนจะเริ่มใช้คำว่า “ตาย” หรือ ตั้งคำถามเกี่ยวกับความตายแล้ว แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจความตายได้ตรงตามความจริง เด็กมองว่าความตายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่เข้าใจว่าตายแล้วจะไม่ฟื้น ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องตาย และไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นกับทุกคน แต่เข้าใจว่าเหมือนสิ่งของที่หายไปชั่วคราวและกลับมาให้เห็นใหม่ได้ หรือเข้าใจว่าคนที่ตายแล้วยังคงอยู่ด้วย เด็กวัยนี้กลัวถูกแยกจากพ่อแม่ หรือกลัวว่าคนสำคัญจะตายแล้วทิ้งไป เด็กอาจถามว่า “แล้วคุณแม่จะตายไหม” ผู้ใหญ่อาจตรวจสอบสิ่งที่อยู่ในใจเด็กจากการถามคำถาม เมื่อเด็กแสดงความกังวลเรื่องความตาย เช่น “หนูกลัวว่าแม่จะไม่ได้อยู่ดูแลหนูใช่ไหมจ้ะ” ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ตอบตามความจริงว่า “คนเราทุกคนต้องตายในวันหนึ่ง ไม่ว่าจะแม่ หรือหนู หรือใครๆ แต่พ่อแม่จะไม่ได้ตายตอนนี้และคิดว่าจะอยู่กับหนูไปเรื่อยๆ จนแก่” เป็นต้น
การอธิบายเรื่องความตายกับเด็กวัยนี้ควรใช้คำสั้นๆ และง่ายที่สุด ไม่ยืดยาว เพราะเด็กไม่สามารถเข้าใจความเป็นเหตุและผลได้ เช่น บอกว่า “คุณตาของหนูตายแล้ว จะไม่หายใจ ไม่ตื่นขึ้นมาอีก” เด็กอาจกลับมาถามใหม่เมื่ออยากได้คำตอบมากขึ้น ให้ค่อยๆ บอกเวลาเด็กสงสัยว่า “พอคนตายแล้วจะไม่รู้สึกอะไร ไม่ร้อน ไม่หนาว ไม่หิว ไม่เจ็บ ไม่เห็น ไม่ได้ยินอีก” เป็นต้น ซึ่งอาจยกตัวอย่างความตายของสัตว์เลี้ยง ต้นไม้ แมลง สัตว์ต่างๆ มายกตัวอย่าง
เด็กบางคนสนใจการตายของสัตว์เลี้ยงมากกว่าญาติผู้ใหญ่ บางคนสนใจซักถามเรื่องความตาย หรือบางคนอาจไม่พูดเรื่องความตายเลยแต่เล่นบทบาทสมมุติกับตุ๊กตาหรือกลุ่มเพื่อนแทน ซึ่งเราต้องคอยสังเกตธรรมชาติของเด็ก และอธิบายเพิ่มเติมเมื่อเด็กสับสนหรือสงสัยก็ได้
เด็กวัยนี้เป็นวัยแห่งการจินตนาการ คิดฝันเกินไปจากความจริง เขาอาจรู้สึกผิดคิดว่าตัวเองทำให้คนที่เขารักตาย หรือโทษตัวเองว่าไม่สามารถปกป้องคนสำคัญจากการตายได้ คนรอบตัวควรใส่ใจ เปิดรับและถามความรู้สึกของเด็ก แล้วอธิบายว่าความตายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากตัวเขาเลย
เด็กวัยประถม (๗-๑๒ ปี) เด็กวัยนี้จะเข้าใจได้ว่าตายแล้วตายเลย ไม่กลับมาอีก และค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งต้องตายในวันหนึ่ง รวมทั้งตัวเขาเอง เด็กเข้าใจความเป็นเหตุและผลแบบง่ายๆ ได้ อยากรู้และกล้าถามเรื่องความตายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่พ่อแม่หรือคนรอบข้างไม่ควรห้ามปรามหรือปฎิเสธ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกอาย รู้สึกผิด เข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องต้องห้ามและแม้จะมีความสงสัยซ่อนอยู่ก็จะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีก ในขณะเดียวกัน เด็กบางคนอาจไม่ชอบเรื่องความตาย อยากหลีกเลี่ยง หรือฝันร้ายเกี่ยวกับความตายก็ได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของเด็กด้วย พ่อแม่ควรอธิบายความตายง่ายๆ เป็นรูปธรรม และค่อยๆ ชี้ให้เด็กเห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้น่าเกรงกลัว ไม่จำเป็นต้องเจ็บปวด
เด็กวัยรุ่น (อายุ ๑๒ ปีขึ้นไป) วัยรุ่นจะเข้าใจความตายใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เห็นถึงธรรมชาติของคนที่เปราะบางต่อการตาย และอาจเริ่มคิดเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ซึ่งเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้แลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับความตายและการสูญเสียได้มากขึ้น
เทคนิควิธีการสื่อสารเรื่องความตายกับเด็ก
พ่อแม่คือต้นแบบ
ประสบการณ์เกี่ยวกับความตายที่เด็กรับรู้ผ่านการกระทำของพ่อแม่นั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด หากพ่อแม่ไม่กล้าพูดถึงเรื่องความตาย มองความตายเป็นเรื่องต้องห้าม ปกปิดการแสดงออกทางอารมณ์เกี่ยวกับความตาย เช่น แอบร้องไห้ในงานศพโดยไม่ให้เด็กเห็น สิ่งเหล่านี้เด็กจะสังเกตและสัมผัสได้ ทั้งสิ่งที่เราทำหรือไม่ทำ พูดหรือไม่พูด พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กจึงควรสำรวจและจัดการกับจิตใจของตัวเอง เปิดใจรับรู้และเรียนรู้เรื่องความตายมากขึ้น ค่อยๆ มองความตายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อเข้าใจความตายมากขึ้น ก็จะลดความกลัวเรื่องความตาย คลายกังวลที่จะพูดถึงความตาย นำไปสู่การตอบสนองต่อเรื่องความตายอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมชาติมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะแสดงออกและกล้าพูดเรื่องความตายได้อย่างเปิดเผยเช่นกัน
ไม่ปกปิดหรือโกหกเด็กเรื่องความตาย
การปกปิดเด็กไม่ให้รับรู้เรื่องความตายจะทำให้เด็กกังวล ไม่กล้าเผยความรู้สึกที่แท้จริง ความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้อาจทำให้เด็กจินตนาการเกี่ยวกับความตายแบบเลวร้ายและไม่ถูกต้อง ยิ่งถ้าโกหกเด็กว่าคนที่ตายแล้วไปต่างประเทศ ไปทำธุระ หรือแค่นอนหลับตามปกติ เด็กก็จะรู้ได้ในวันหนึ่งว่าเป็นเรื่องโกหก ทำให้ยิ่งสับสนและเข้าใจความตายแบบผิดๆ ได้ การเตรียมคำตอบที่เป็นความจริงเกี่ยวกับความตายไว้ล่วงหน้า จะช่วยลดความกังวล และท่าทีที่ไม่มั่นใจลงได้ โดยไม่จำเป็นต้องโกหกหรือปิดบัง
ใช้คำว่า “ตาย” เป็นหลักเพียงคำเดียว
เมื่อพูดเรื่องความตายก็ควรใช้คำว่าตายอย่างตรงไปตรงมา การใช้คำอื่นทดแทนคำว่าตาย เช่น หลับสบาย ไปสบาย จากไป จะทำให้เด็กสับสน และไม่เข้าใจความหมาย เช่น การบอกว่าหลับไปหรือหลับสบายแล้ว อาจทำให้เด็กกลัวว่าตัวเองนอนแล้วจะไม่ตื่นขึ้นมาอีก หรือการใช้คำว่าจากไป ก็กลัวว่าถ้าพ่อแม่ออกทำงานข้างนอกแล้วจะไม่กลับมาอีก เป็นต้น
ผู้ใหญ่ควรระมัดระวังการสื่อสารกับเด็กเล็กเรื่องสาเหตุที่ทำให้คนเราตายได้ เช่น เด็กเล็กๆ ที่แยกความเจ็บป่วยแบบต่างๆ ไม่ออกถ้าได้รับการอธิบายว่าคุณตาไม่สบายแล้วตายไป อาจเข้าใจว่าถ้าป่วยแล้วต้องตายและเกิดความกลัว ผู้ใหญ่อาจอธิบายว่า “การไม่สบายมากๆ เท่านั้นที่จะทำให้เราตาย ปกติแล้วเมื่อเราไม่สบายก็จะหายดี” เช่น “ถ้าหนูเป็นหวัด ไม่นานก็จะหายและจะไม่ตาย” หรือการอธิบายว่าคุณยายตายเพราะคุณยายแก่แล้ว เด็กที่เคยมีประสบการณ์ก็อาจสงสัยว่า ทำไมบางคนไม่แก่ก็ตายได้ เราก็อธิบายว่า “คนส่วนใหญ่จะตายตอนแก่ แต่ก็มีบางคนเหมือนกันที่ไม่ได้อยู่นานๆ จนแก่” เป็นต้น
ตอบคำถามอย่างจริงใจ
เมื่อเด็กซักถาม สิ่งที่เขาต้องการคือการได้รับคำตอบที่พอใจสำหรับเขาในขณะนั้นๆ ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเด็กตั้งคำถามและพูดคุยเรื่องความตายได้ และควรตอบคำถามอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา ใช้คำง่ายๆ เหมาะสมกับวัยของเด็ก นิ่มนวล และอดทนที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากนี้ควรตรวจสอบความเข้าใจของเด็กเรื่องความตาย ก่อนและหลังการอธิบาย เช่นถามว่า “แล้วหนูคิดว่าความตายเป็นยังไง” “หนูรู้สึกยังไงกับความตาย/กับเรื่องที่คุณแม่เล่า” หรือ “ทำไมหนูจึงคิดแบบนั้น” เป็นต้น จะทำให้สื่อสารกับเด็กได้ตรงประเด็น และเหมาะสมกับลักษณะความคิดของเด็กแต่ละคน
หากเด็กถามคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ในขณะนั้น ไม่ควรเลี่ยงคำถาม แต่ควรตอบไปตามตรงว่า “ไม่รู้” “ไม่แน่ใจ” หรือ “เรื่องนี้ผู้ใหญ่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน” ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องตอบได้ทุกคำถาม การสื่อสารเรื่องความตายไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบหรือสำเร็จรูปสำหรับทุกสถานการณ์หรือกับเด็กทุกคน
เข้าใจการสื่อสารของเด็ก
เนื่องจากเด็กไม่สามารถเข้าใจความตายได้ลึกซึ้งเท่าผู้ใหญ่ บางครั้งเขาอาจถามคำถามเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ผู้ใหญ่จะต้องใจเย็น อดทน และยืนยันคำตอบที่เป็นจริง บางครั้งคำถามของเด็กอาจฟัง ดูเกินวัยและลึกซึ้งเกินขอบเขตความเข้าใจของเด็ก เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรฟังให้ “ได้ยิน” ความหมายจริงๆ ที่เด็กต้องการจะสื่อสาร เช่น เด็กถามว่าตายแล้วไปไหน เด็กอาจสงสัยว่าคนตายอาจจะอยู่ในงานศพหรือเปล่า ไม่ได้หมายถึงชีวิตหลังความตายในแบบที่ลึกซึ้งเท่าของผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะเล่าความเชื่อตามศาสนาหรือวัฒนธรรมให้เด็กรับรู้อย่างเหมาะสมตามวัยก็ได้
ยอมรับความรู้สึกนึกคิดของเด็ก
ผู้ใหญ่ควรรับฟังและเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความรู้สึก หรือพูดเรื่องความตายในแบบที่เด็กอยากจะแสดงออกตามธรรมชาติของเด็กแต่ละคน ไม่ทำให้เด็กรู้สึกผิด หรืออายเวลาถาม บอกให้เด็กรู้ว่าไม่มีผิดถูกเรื่องการแสดงความรู้สึกและความคิดเห็น แต่หากเด็กเข้าใจความตายไม่ถูกต้องก็ควรอธิบายให้เด็กฟัง ถ้าเด็กไม่พร้อมที่จะพูดคุยเรื่องความตาย ก็ไม่ควรบังคับ
ในวัยเดียวกัน เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน การตอบสนองต่อเรื่องความตายจึงเป็นเรื่องลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรตัดสินหรือบังคับให้เด็กรู้สึกอย่างไรและควรพูดอะไร แต่ให้สังเกตว่าควรจะพูดหรือสื่อสารกับเด็กอย่างไรให้ตรงกับความต้องการและลักษณะของเด็กแต่ละคน
สร้างบรรยากาศที่ดี
บรรยากาศที่ดีสำหรับการคุยเรื่องความตาย คือตอนที่เด็กพร้อมจะคุยเรื่องความตาย สนใจถามเรื่องความตาย หรือพูดเรื่องความตายขึ้นมาเอง เมื่อถึงเวลานั้นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ใกล้ชิดควรสร้างบรรยากาศของการเปิดเผย เปิดใจ ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุย อาจตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดกันและกันมากกว่าการตอบคำถามเด็กอย่างเดียว ให้ความสนใจกับสิ่งที่เด็กถาม การคุยที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่ควรให้ข้อมูลเด็กมากเกินไป หรือสนทนาเนื้อหาที่เกินวัย ซึ่งจะทำให้เด็กเบื่อและเกิดความสับสนได้
เรียนรู้จากความตายที่อยู่รอบตัว
การพูดเรื่องความตายในลักษณะธรรมชาติปกติของสรรพสิ่ง เป็นการสื่อสารความจริงที่นิ่มนวลที่สุด หากใส่ใจที่จะมอง เราก็สามารถดึงเรื่องราวรอบตัว สิ่งที่เด็กพบเจอเชื่อมโยงให้เห็นความตายที่ดำรงอยู่ในสิ่งต่างๆ ได้ เช่น ดอกไม้ที่แห้งเหี่ยวโรยรา สัตว์เลี้ยง ผู้คนที่จากไป
การสื่อสารทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการตั้งคำถาม การตอบคำถาม การชวนพูดคุย การเล่านิทานที่มีเนื้อหาสะท้อนความเป็นไปของชีวิต หนังสือภาพสำหรับเด็ก หรือการสื่อสารที่ให้เด็กได้แสดงความรู้สึกและความเป็นตัวของตัวเอง เช่น การบอกลาคนหรือสัตว์เลี้ยงที่ตายไป การเขียนจดหมายล่ำลา การเขียนไดอารี่
นอกจากนี้ งานศพก็เป็นโอกาสดีที่ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องความตาย ผู้ใหญ่ควรเตรียมเด็กก่อนเจอสถานการณ์จริง คือมีการบอกล่วงหน้า ชวนคุยเรื่องงานศพ ให้ข้อมูลว่าจะไปไหน ได้เจออะไร ไปทำไม ทำไมคนถึงร้องไห้ แต่ถ้าเด็กไม่อยากไปก็ไม่ควรบังคับหรือตำหนิ อาจลองถามว่าเด็กรู้สึกอย่างไร ทำไมจึงไม่อยากไป เพื่อให้เด็กมีโอกาสสื่อสารและบอกความในใจ เราอาจให้เขาเขียนจดหมายล่ำลาหรือ ฝากบอกความรู้สึกต่อผู้ตายแทนก็ได้ นอกจากนี้เราควรพูดถึงเรื่องราวความทรงจำและความรู้สึกที่ดีต่อผู้ที่ตายไป เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าการตายจากกันไปยังคงความรู้สึกที่สวยงามไว้ระลึกถึงกันได้
จากเทคนิควิธีการข้างต้น สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ซึ่งมองว่าการสื่อสารเรื่องความตายเป็นเด็กเป็นเรื่องสำคัญ และนำไปสู่การใช้ชีวิตของเด็กอย่างเข้าใจสิ่งรอบตัวและสรรพสิ่งในธรรมชาติ โดยผู้ใหญ่อย่างเราต่างมีบทบาทสำคัญต่อการโน้มนำสิ่งที่เป็นธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตเข้าสู่ตัวเด็กอย่างง่ายที่สุดจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก
“พ่อแม่ไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องอุปสรรคอย่างเดียว แต่ต้องเลี้ยงให้เด็กอยู่กับความจริงด้วย เริ่มจากอุปสรรคเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มอุปสรรคมากขึ้น เด็กก็จะแก้ปัญหาได้มากขึ้น เมื่อเผชิญอุปสรรคมามากก็รับมือกับความป่วยและความสูญเสียได้ จริงๆ แล้วความตายเราเห็นได้ง่าย ตามถนนมีหมาตาย แมวตาย สัตว์ที่บ้านก็ตาย ประสบการณ์ความตายเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ในชีวิต ยิ่งเด็กเห็นประสบการณ์เรื่องความตายมากเท่าไหร่ก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ยอมรับได้มากขึ้น อะไรที่เป็นธรรมชาติไม่จำเป็นต้องปิดบัง ยิ่งเราเรียนรู้จากธรรมชาติได้ดีเท่าไหร่ ก็จะใช้ชีวิตได้ดีมากขึ้นเท่านั้น” กล่าว
เช่นเดียวกับ ผศ. วิริยาภรณ์ อุดมระติ อาจาร์ยภาควิชาจิตวิทยา สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่าความตายเป็นสิ่งที่เด็กพบเจออยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวที่จะพูด แต่เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กเข้าใจธรรมชาติชีวิต “ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กเห็นทุกเมื่อเชื่อวัน เริ่มจากสิ่งแวดล้อมเล็กๆ ต้นไม้ที่ปลูกก็ตายไป สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือสัตว์ที่เลี้ยงแล้วก็ตาย คุณปู่เสียชีวิต ก็ทำความเข้าใจกับเด็กได้ว่าคุณปู่ไม่สบายและตายไปหมายถึงอะไร หรือในสังคมไทยก็มีเด็กบวชหน้าไฟ เด็กก็มีส่วนร่วมในการรับรู้ความตาย หรืออย่างภาพยนตร์ต่างประเทศ เวลาพ่อแม่จะจากไป เด็กจะถามว่า พ่อแม่ตายไปเขาจะทำอย่างไร พ่อแม่จะบอกว่าพ่อแม่อยู่ในนี้ (ในหัวใจ) ถึงแม้ว่าจะมีใครจากไป แต่ไม่ได้น่ากลัว เพราะคนที่เหลืออยู่จะยังจดจำ และระลึกถึงในหัวใจ ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ของชีวิตที่จะได้เจอ ทุกคนต้องตายทั้งนั้น เพียงแต่เวลาตอนไหนก็จะแตกต่างกัน ให้เด็กเห็นว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต...เด็กเรียนรู้เรื่องอะไรตั้งเยอะ แต่เรื่องชีวิตทำไมจะไม่ให้รู้”
การสื่อสารเรื่องความตายกับเด็กต้องอาศัยกระบวนการภายในซึ่งพร้อมที่จะน้อมไปเข้าใจธรรมชาติของชีวิต จึงจะถ่ายทอดอย่างนิ่มนวล เรียบง่าย และงดงาม การคุยเรื่องความตายกับเด็กไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากวางใจให้ถูกต้อง ไม่ปฏิเสธธรรมชาติของชีวิต และ เชื่อมโยงกับสรรพสิ่งรอบตัวที่ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้กฎเดียวกันของธรรมชาติ แล้วสื่อสารให้เด็กรับรู้เข้าใจตามความจริงอย่างที่เป็น
การสื่อสารเรื่องความตายกับเด็กไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือยากเกินไป หากผู้ใหญ่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจและการยอมรับความตาย มีทัศนคติต่อความตายว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต ก็จะทำให้สื่อสารกับเด็กได้เช่นเดียวกับเรื่องการกิน การเที่ยว การทำงาน นั่นเอง ทั้งนี้การสื่อสารกับเด็กยังต้องเข้าใจธรรมชาติอุปนิสัยและลักษณะการแสดงออกของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน
เพื่อส่งเสริมการเข้าใจชีวิต และความสามารถในการใช้ชีวิตได้คุ้มค่าอย่างแท้จริงตามวิถีทางของเด็กแต่ละคน
เอกสารอ้างอิง
ธรรมนาถ เจริญบุญ. (๒๕๕๖). เด็กกับความตาย. นิตยสาร HealthToday. ฉบับที่ ๑๔๖ เดือนมิถุนายน
Crisp S. (2010). Talking to Children about Death. Retrieved from http://www.netdoctor.co.uk/health_advice/facts/death.htm#ixzz2aEH0Ni7Q
National Institutes of Health. (2006). Talking to Children about Death. Retrieved from http://www.cc.nih.gov/ccc/patient_education/pepubs/childeath.pdf
ตัวอย่าง นิทาน วรรณกรรม ที่ใช้ในการสื่อสารเรื่องความตายกับเด็ก
วงจรชีวิตกบ หนังสือภาพเกี่ยวกับวงจรชีวิตสัตว์ต่างๆ ที่เด็กคุ้นเคย |
|
แมงมุมเพื่อนรัก (Charlotte's Web) เรื่องราวเกี่ยวกับ แมงมุม “ชาร์ล็อต” ซึ่งช่วยชีวิตลูกหมูวิลเบอร์ ที่ถูกเลี้ยงเพื่อนำมาฆ่าเป็นอาหาร ในท้ายเรื่อง ชาร์ล็อต ได้ตายตามอายุขัย เหลือแต่ร่างปลิวไปตามลม ทิ้งไว้แต่ลูกๆ รุ่นต่อไปที่ได้ออกไข่ไว้ก่อนตาย |
|
เส้นทางบรรลุธรรม พระปฏาจาราเถรี (สำหรับเด็กโต)
นางปฏาจาราเถรีเป็นธิดาของเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี นางเป็นหญิงรูปร่างงดงามแต่หลงรักชายคนใช้ จึงหนีไปกับคนรับใช้ ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ กับนางซึ่งต่างเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความสูญเสีย คือ สามีถูกงูกัดตาย, สูญเสียลูกน้อยทั้งสอง และทราบข่าวการตายของบิดามารดา จนนางเสียสติ หลังจากนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมและบรรลุโสดาบัน จากนั้นก็เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าเป็นพระเถรีผู้มีความรอบรู้ในเรื่องพระวินัย พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้ทรงพระวินัย
|