Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ตามรอยซิเซลี

-A +A

          ซิเซลี ซอนเดอร์ส แพทย์หญิงชาวอังกฤษ ผู้บุกเบิกสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสมัยใหม่จนกลายเป็นต้นแบบของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในปัจจุบัน แม้ว่าเธอจะเสียชีวิตไปนานเกือบสิบปีแล้ว แต่การอุทิศตัวเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขและได้ตายดีของเธอ ยังเป็นแหล่งกำเนิดพลังบันดาลใจที่ส่งต่อไปยังผู้มาหลังให้ดำเนินตามรอยทางได้อย่างไม่ขาดสาย สารคดีสั้น After Cicely เป็นประจักษ์พยานอย่างหนึ่งของพลังดังกล่าว

          แน่นอนว่าเรื่องความตายไม่ใช่หัวข้อการพูดคุยที่ง่ายที่สุด แต่ฌอน ลู่ชิงเหวิน วัย ๒๘ และหยางฮุ่ยเหวิน วัย ๒๙ สองสาวคู่หูชาวสิงคโปร์จากบริษัทสื่อแนวสร้างสรรค์แห่งหนึ่ง เลือกที่จะเดินเข้าหาความท้าทายโดยการกำกับและสร้างสารคดีสั้นความยาวไม่ถึงครึ่งชั่วโมง (และสารคดีภาพอีก ๕ เรื่อง) “ตามรอยซิเซลี – After Cicely” ว่าด้วยเรื่องราวของห้าสตรีผู้อุทิศตนเพื่อคนอื่น ผู้ซาบซึ้งต่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งเน้นการบรรเทาและป้องกันความปวดและความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณอันกล้าหาญ ความพยายามอันน่าเหน็ดเหนื่อยแต่คุ้มค่าในที่สุดของพวกเธอ

          โดยสังเขป สารคดีมุ่งถ่ายทำการทำงานของแพทย์สองคน พยาบาล แม่ชี และแม่ (จากมองโกเลีย เวียดนาม ไต้หวัน สิงคโปร์ และบังคลาเทศตามลำดับ) ซึ่งตระหนักถึงความจำเป็นของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในประเทศตน ด้วยความเมตตาที่ออกมาจากใจต่อโศกนาฏกรรมของผู้คนและความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยตายดี

          ยกตัวอย่าง Salma Choudhury คุณแม่ชาวบังคลาเทศวัย ๕๐ ผู้สูญเสียลูกชายวัยสามขวบจากโรคมะเร็งไปเมื่อ ๒๐ ปีก่อน จนจ่อมจมอยู่ในความเศร้า ก่อนที่สามีจะผลักดันให้เธอออกไปทำงานกุศล เพื่อชำระล้างความทุกข์โศกของเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและผู้คนที่พวกเขารัก จนเธอสามารถก่อตั้งมูลนิธิอาชิก (ASHIC) สร้างสถานพักพิงผู้ป่วยเด็กกำพร้าเพื่อเป็นหน่วยการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ศูนย์เด็กในโรงพยาบาลและสถานพักพิงสำหรับครอบครัวจากชนบทที่ต้องเดินทางนานนับหลายชั่วโมงเพื่อพาลูกๆ มารับเคมีบำบัดในเมืองหลวงดากา เธอบอกว่า “มันเป็นงานที่ยาก เราต้องคอยให้คำแนะนำพ่อแม่อย่างใกล้ชิด เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อเมื่อพวกเด็กๆ รู้สึกสบายและมีความสุข นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องการ”

          ส่วนคู่หูผู้กำกับ “ลู่-หยาง” ซึ่งต้องเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อคอยตามดูกิจวัตรประจำวันของผู้หญิงแต่ละคนนานหนึ่งสัปดาห์ ทำให้พวกเธอได้เห็นถึงพลังของเพศแม่ซึ่งเป็นประเด็นที่สารคดีต้องการเน้นให้เห็นชัดเจน “มีผู้หญิงจำนวนมากออกไปทำงานที่ดีมีคุณค่า เพราะมีความรู้สึกร่วมในสิ่งที่ทำ ซึ่งผลักดันให้พวกเธอทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสิ่งที่เธอเชื่อ” แม้อาจไม่มีเครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่ดีที่สุด แต่พวกเธอมีแรงจูงใจที่สูงมากๆ ที่จะช่วยให้ผู้อื่นตายดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรถูกบอกเล่า

          แม้ว่าสารคดีอาจมีเนื้อหาที่หนักและดูน่ากลัวอยู่บ้าง แต่ผู้กำกับทั้งสองเชื่อในเรื่องการให้ความรู้แก่ผู้ชม การฉีดความอบอุ่นของชีวิตเข้าไปในความตาย (หรือกระบวนการตาย) แม้ว่าความตายจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ และไม่ง่ายที่ทุกคนจะเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย ลู่กล่าวถึงการสื่อสารเรื่องความตายว่าเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดอ่อน “มันไม่ใช่เรื่องที่คุณจะบังคับให้ผู้คนพูดคุยกันได้ พวกเราใช้เรื่องราวที่เปี่ยมแรงบันดาลใจเหล่านี้เพื่อนำเสนอทางสายหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจเรื่องดังกล่าว” หยางเสริมว่า “พวกเธอพยายามหาสมดุลระหว่างการใช้กล้องบันทึกช่วงเวลาสำคัญ กับการคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย” หยางเห็นด้วยกับซิสเตอร์เจอรัลดีนจากสิงคโปร์ที่กล่าวว่า การได้เป็นสักขีพยานในการตายเป็นสิทธิพิเศษอย่างแท้จริง

          ประสบการณ์เหมือนได้นั่งรถไฟเหาะทางอารมณ์ที่พวกเธอได้รับระหว่างการถ่ายทำ ทำให้ทั้งคู่รำลึกถึงบางสิ่งบางอย่างในชีวิต และทำให้การสร้างสารคดีกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและใกล้ใจของพวกเธอมากขึ้น “อารมณ์ความรู้สึกของพวกเราถูกปรับแต่งไปตามเรื่องราวที่ก้าวผ่าน” หยางอธิบายว่า “มันทำให้คุณเห็นคุณค่าและชื่นชมชีวิตมากขึ้น” ถึงแม้ว่าพวกเธอต้องเผชิญกับความท้าทายจากการไม่อาจคาดเดาอะไรได้เลย เพราะไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ทั้งสองเชื่อมั่นในการเป็นนักเล่าเรื่องผู้กระหายใคร่รู้ที่จะนำเสนอเรื่องราวที่มีความหมายต่อสาธารณชนและจุดประกายให้เกิดการอภิปรายในเรื่องดังกล่าว

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลู่ซึ่งสารภาพว่าเธอไม่เคยได้กล่าวคำอำลาพ่อก่อนที่ท่านจะจากไป การได้รับรู้เรื่องดังกล่าวทำให้เธอได้เรียนรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากได้เห็นผู้ป่วยปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกส่วนลึกและเรื่องราวที่ค้างคาใจออกมา การได้จุ่มตัวลงในใจกลางโลกของผู้อื่นเป็นประสบการณ์ที่เธอรู้สึกชื่นชม “ฉันตระหนักว่าเพื่อที่จะตายดีคุณต้องมีชีวิตที่ดี การตายดีไม่ใช่สิ่งที่คุณสามารถเนรมิตได้ในนาทีสุดท้าย เธออธิบายว่า “ชีวิตมีจุดสิ้นสุด เราจำเป็นต้องเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาเป็นและมีชีวิตอยู่อย่างมอบอะไรไว้ให้คนที่มาข้างหลัง”

          พวกเธอหวังว่า After Cicely จะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมและพูดคุยเรื่องการตายอย่างเปิดเผย “สิ่งที่สวยงามเกี่ยวกับสารคดีเรื่องนี้คือ มันจริง ไม่มีอะไรที่เป็นการแสดงเลย” ลู่บอกว่าด้วยเรื่องจริงที่แสนจะให้กำลังใจเหล่านี้ พวกเขาได้มอบทางออกสำหรับผู้ที่แบกความรับผิดชอบในการดูแลคนป่วยที่ตนรัก ที่จะตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว “บางครั้ง เราติดกับอยู่ในชีวิตประจำวันจนมองไม่เห็นภาพใหญ่ เราจึงต้องการสิ่งย้ำเตือนว่า “อะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิต” เธอกล่าวอีกว่า “นี่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ และพวกเราไม่ต้องการบอกว่าใครควรจะรู้สึกอย่างไร แต่ในใจของทุกคนจะรู้ดีอยู่แล้วว่าสิ่งนั้นคืออะไร”


เรียบเรียงจาก
ภาพประกอบและข้อมูลเพิ่มเติม www.aftercicely.com

คอลัมน์:

ผู้เขียน:

บุคคลสำคัญ: