เตรียมพร้อมทั้งสองมือ
มือข้างหนึ่งของเด็กน้อยหยิบปากกาเมจิกสีเหลือง อีกมือหนึ่งหยิบทีละด้ามที่กองอยู่ตรงหน้า ส่งมาให้เราถือไว้ ถ้าพูดได้คงบอกว่าช่วยถือไว้ก่อน แต่หนูน้อยธาราเพิ่งจะผ่าน ๑ ปีกับ ๒ เดือนมาไม่นานเอง เมื่อสองวันก่อนยังแค่เปิดซองใส่ปากกาเมจิกไปมา หยิบปลอกออกใส่ปลอกเข้า วันต่อมาก็ขีดเส้นนิดๆ หน่อยๆ วันนี้หนูน้อยจะทำอะไรต่อนะ คำที่กำลังฝึกพูดอยู่ช่วงนี้เป็นคำที่คุ้นชิน บุคลิกเด่นของธาราคือการจดจ่อในสิ่งที่ตนเองสนใจ ถ้าจะลองอะไรก็ลองให้ถึงที่สุด ตัวอย่างของเล่นที่เป็นลูกไข่ หมุนแกะออกมาได้ ก็จะหมุนกลับเข้าไปจนได้
มองดูธาราว่าวันนี้จะมีพัฒนาการอะไรให้เห็นบ้าง หลังจากเคลียร์พื้นที่บนสมุดจนไม่เหลือปากกาด้ามอื่นอีก เธอก็กลับมาหยิบที่ฝากไว้ ๑ ด้าม ตอนนี้ธารามีปากกาทั้ง ๒ มือแล้ว เธอก็บรรเลงทั้งสองมือพร้อมกันเลย จะพยายามเสนอให้ใช้มือขวาข้างเดียวยังไง ก็ไม่ทำให้ธาราไขว้เขว เธอขีดไปมาแลเป็นเส้นสีบนสมุดที่หน้ากระดาษเปิดไว้ แม้ขยุกขยิก ไม่เป็นภาพในสายตาใคร แต่ดูช่างมีความหมายกับเจ้าของชิ้นงานนั้น หน้าตาเธอจริงจังมาก ไม่ใช่ว่าจะวาดให้สะใจหรืออยากเพราะซนอะไร สักพัก จึงวางมือเดินออกไป ทื่อๆ ซะงั้น..
พาตัวเองออกมาจากเด็กน้อยธารา ย้อนดูสิ่งที่เด็กน้อยไร้เดียงสาทำ ไม่ใช่สิ่งขีดเขียน ไม่ได้แสดงภาพอะไรออกมา แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ความพอใจของเด็กไม่ได้อยู่ที่ภาพหรือผลงาน แต่เป็นสิ่งที่เขาทำคือได้ละเลงทั้งสองมือ น่าทึ่งไม่น้อยที่เขาสามารถจับปากกาขีดเขียนพร้อมกันทั้ง ๒ มือ พลันนึกถึงว่า ถ้าธารายังทำได้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องจนโต เขาจะมีต้นทุนเป็นสองเท่า และทดแทนกันได้ในยามที่มือข้างหนึ่งพัก อีกข้างหนึ่งมาทำงานแทนได้
ร่างกายเราเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่เรามักมองข้าม สมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว เราใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์งาน ใช้ทั้ง ๑๐ นิ้วทำงาน ยิ่งถ้าเป็นคนที่พิมพ์บ่อยๆ งานก็จะเสร็จเร็ว หรือถ้าวันไหนนิ้วใด หรือมือข้างไหนมีปัญหา เคลื่อนไหวตามปกติไม่ได้ นิ้วที่เหลืออยู่ก็ทำแทนได้ งานอาจช้าลงไป แต่ถึงอย่างไรก็เร็วกว่าคนที่มีนิ้วครบแต่ไม่ได้ฝึกพิมพ์บ่อยๆ
คนที่ถนัดเขียนข้างหนึ่ง ใช่ว่ามืออีกข้างหนึ่งจะเขียนไม่ได้ แต่ก็ต้องผ่านการฝึก ฝึกตอนอายุยังน้อยอาจจะได้เปรียบทางด้านสรีระร่างกาย ความจำ แต่คนอายุมากก็ทำได้ ถ้าทำบ่อยๆ
คำพูดที่ว่า ความแก่ความเสื่อม ความเจ็บความป่วย เป็นธรรมดา เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของสังขาร ไม่จีรังยั่งยืน เราบอกคนอื่นได้ แต่เวลาที่ตัวเราประสบเอง อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเสื่อม ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ วันหนึ่งพบว่ามือขวาใช้งานไม่ได้ ตื่นเช้าขึ้นมาตาซ้ายขมุกขมัว มีคนวิ่งตัดหน้าสะดุดชนนิ้วชี้ข้างซ้ายหัก หรือจู่ ๆ ประสบอุบัติเหตุ รถพลิกคว่ำกระดูกหัก สูญเสียขาข้างหนึ่ง ฯลฯ อาการแรกที่เกิดขึ้น ตกใจ กลัว วิตกกังวลว่าจะทำยังไง แย่แล้ว เพราะมาจากความรู้สึกว่าเกิดการสูญเสีย ฟูมฟายว่าหมดหนทางแล้ว อยู่ในสภาพที่จิตใจถูกบั่นทอน คิดแต่เสียใจอยากให้มีอะไรที่เคยมีเคยเป็นเคยอยู่ ลืมคำสอนเรื่องความเป็นอนิจจังไปเลย แม้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีอะไรแน่นอนตลอดไป แต่ใช่ว่าจะไม่มีหนทาง เป็นหนทางที่มาช่วยทดแทนหรือสนับสนุนได้ และอยู่ไม่ไกลจากตัวเราเอง อาจเป็นการยากสำหรับคนที่ไม่เคยฝึกมาเลย ง่ายสำหรับคนที่ฝึกบ่อยๆ มาก่อน อย่างคนที่สามารถใช้มือซ้ายทำแทนมือขวาได้ เขียนหนังสือ ออกแบบวาดรูป
เริ่มตั้งแต่วันนี้ ยังไม่สาย คนที่ถนัดขวาเขียนหนังสือ วาดรูป ลองใช้มือซ้ายบ้างจะเป็นไร คุณอาจจะได้รูปที่ไม่เคยคิดมาก่อน อย่างน้อยเขาควรจะได้คะแนนความขยันเต็มสิบ ความสำเร็จเกินร้อย เพราะคุณมีมือที่ใช้เขียนได้มากกว่าหนึ่ง มากกว่าคนทั่วไปที่มักใช้แต่มือข้างเดียวจนลืมอีกข้างที่อยู่ใกล้ตัวนี้เอง
ความเสื่อม ความสูญเสีย อวัยวะเป็นความเศร้า ความเสียใจของคนที่ประสบ แต่ไม่ใช่สิ่งมืดมน.. ยังมีหนทาง ลองสำรวจร่างกายเรา ฝึกฝนอย่างเด็กไร้เดียงสา..ว่าเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย
ภาพ: พ่อวี วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง