Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

คำขอบคุณจากพี่อาสา

-A +A

           จุดเริ่มต้นการเป็นอาสาข้างเตียงของผู้เขียนมาจากวันหนึ่ง ขณะยังนั่งทำงานอยู่ในสำนักงานถึงตีสี่ เกิดความคิดว่า เราปล่อยให้งานมากินเวลาของชีวิตไปมากขนาดนี้ได้อย่างไร ชีวิตยังมีอะไรให้ทำอีกหลายอย่าง เลยเขียนใบสมัครเป็นอาสาข้างเตียงในตอนนั้นเอง และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมอบรม จนมาเป็นอาสาฯ ตลอด ๓ เดือน และได้เจอน้องผู้ป่วยทั้งหมด ๔ คน 

           คนแรก น้องฟิลม์ (นามสมมติ) อายุ ๑๔ ปี กำลังพักฟื้นจากการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง ในตอนนั้น ผู้เขียนกับน้องต่างยังใหม่ต่อกันและกัน ผู้เขียนยังตื่นเต้นที่จะเข้าหาน้อง จึงอยู่ในความเงียบ เมื่อส่งยิ้มให้แล้วน้องยิ้มกลับมา มิตรภาพจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อเริ่มคุ้นเคยจึงได้รู้ว่า น้องชอบวาดรูปและอ่านหนังสือ พอมีจุดเชื่อมความสนใจ ความสัมพันธ์จึงเกิดง่ายขึ้น วันนั้นเราวาดรูปเล่นและอ่านหนังสือด้วยกัน ก่อนจะกลับ เราบอกน้องว่าครั้งหน้าจะมาสอนการลงสีน้ำ แต่พอมาโรงพยาบาลอาทิตย์ถัดไป ไม่เจอน้องแล้ว พยาบาลบอกว่าน้องกลับบ้านไปแล้ว จะหาน้องผู้ป่วยคนใหม่ให้ ความรู้สึกในตอนนั้น ไม่ได้เตรียมใจมาก่อน ไม่ได้คาดคิดเลยว่าจะได้เจอน้องที่เด็กกว่ามาก 

           คนที่สอง น้องแดง (นามสมมติ) อายุ ๔ ขวบ แม่กำลังถ่ายเสลดจากท่อที่คออยู่ พอเข้าไปหา น้องไม่หันมามองเลย แต่เมื่อนั่งข้างๆ สักครู่ น้องก็เริ่มแอบหันมามองบ้าง แต่พูดด้วยแล้วน้องไม่ตอบ เลยจะชวนน้องเล่น คิดอยู่ในใจว่า ของทุกอย่างที่เตรียมมาไม่ค่อยเข้ากับวัยน้องเท่าไหร่ ในที่สุดก็ล้วงเข้าไปในกระเป๋าเจอจานสีรูปปลาวาฬสีฟ้า เลยยื่นให้น้องก่อน แล้วดูท่าทีว่าเป็นยังไง พอยื่นให้ น้องก็ค่อยๆ ยื่นมือมารับ พร้อมกับมองหน้าแบบหวาดหวั่นเล็กน้อย เราจึงชวนน้องคุย ถามว่า “นี่ตัวอะไร” น้องก็หันไปตอบแม่ว่า “ปลา” แม่ก็บอกว่า “หันไปตอบพี่สิ” น้องก็เลยหันมายิ้มแล้วตอบว่า “ปลา” 

           นับตั้งแต่วินาทีที่น้องตอบรับกลับมา แสดงว่าน้องเปิดใจให้แล้ว น้องเริ่มพูดคุยกับเราและสนใจกระเป๋าสะพายมาก น้องบอกว่า “ในนั้นต้องมีสีแน่” อยากระบาย ตอนนั้นคิดว่า กลัวน้องจะเล่นแล้วเลอะเทอะ กำลังจะถามแม่น้องว่าให้เล่นได้ไหม ก็เห็นแม่เทน้ำลงจานสีรอไว้ให้แล้ว เป็นอันว่าเล่นได้ เราเล่นกันจนน้องรู้สึกวางใจ ทีนี้ชวนคุยใหญ่เลย สักพักน้องก็ร้องขอของในกระเป๋าอีก บอกว่าต้องมีอะไรอยู่ในกระเป๋าวิเศษอีกแน่ๆ เลยล้วงดินสอกดขึ้นมา น้องบอกมันทู่ เราก็จัดแจงเปลี่ยนไส้ให้ด้วย พอเล่นกันเสร็จ คุณแม่เทน้ำยาล้างมือให้น้องเช็ด น้องกลับเทน้ำยาที่ชุ่มมือแบ่งให้เราล้างด้วยกัน เป็นความรู้สึกที่ตื้นตันและน่าชื่นชมมาก ว่าน้องอายุเท่านี้ยังมีน้ำใจ รู้จักการแบ่งปันเลย

           เมื่อมองย้อนกลับไป ผู้เขียนได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง สิ่งที่ได้เรียนรู้จากน้องคนแรก คือ สิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย ดังนั้นอย่าคาดหวังกับสิ่งใด การได้พบเจอกันในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าวันพรุ่งนี้เรายังจะได้เจอกันอีก ถ้าจะทำอะไรก็ทำให้เต็มที่ในช่วงเวลาที่มีโอกาสอยู่ด้วยกัน 

ส่วนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากน้องคนที่สอง คือ การกระทำบางอย่างหรือของบางสิ่งที่เราคิดว่าสามารถใช้ได้กับคนบางคนเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว ทุกสิ่งมีความยืดหยุ่น ไม่มีสิ่งใดจำเพาะเจาะจงสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง เราทุกคนสามารถทำอะไรในขอบเขตที่ตนเองทำได้ทุกอย่างห ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้ 

           พอมาถึงน้องคนที่สาม ชื่อ น้องเกมส์ (นามสมมติ) อายุ ๙ ขวบ เป็นลูคีเมีย การมาของเราครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะเป็นครั้งแรกที่ทดลองมาตัวเปล่า อยากลองดูว่าเมื่อไม่มีอุปกรณ์ที่ถนัดติดตัวเลย จะใช้สิ่งที่มีอยู่เฉพาะหน้าได้แค่ไหน และทำอะไรได้บ้าง แรกๆ น้องก็ยังไม่เล่นด้วย หันมาส่งยิ้มและเล่นตุ๊กตาหมีของตัวเองไป คุณแม่บอกว่าน้องติดตุ๊กตามาก เราจึงหันไปคุยกับตุ๊กตาหมีของน้อง พอน้องเห็นว่าเราคุยกับตุ๊กตาหมีรู้เรื่อง ก็เริ่มยอมรับและหันมาคุยด้วย แล้วเราสองคนก็คุยกับตุ๊กตาหมีกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เสียงหัวเราะทำให้เรารู้สึกว่าน้องเริ่มผ่อนคลายแล้ว รวมถึงเราด้วย น้องรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนแล้ว ทีนี้เลยเล่นไม่หยุด นานกว่าทุกคนที่ผ่านมา เป็นเวลา ๔ ชั่วโมงที่เราได้เรียนรู้เยอะมาก 

           กับน้องสองคนแรก เรานำสิ่งที่ตัวเองชอบเข้าไปหาน้อง ซึ่งน้องอาจจะไม่ได้ชอบมากเท่าไหร่ เล่นไปเล่นมาก็เพลิน แต่ไม่ได้มีความสุขเต็มร้อย ต่างกับน้องเกมส์ซึ่งเราเข้าไปหาสิ่งที่น้องชอบ ก็เลยอยู่กันได้นาน ตอนแรกเราทำตัวไม่ถูกเพราะไม่มีสิ่งที่ถนัดอย่างที่ผ่านมา แต่เมื่อพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเล่นของน้องได้ ทำให้ความรู้สึกยึดติดในตัวตนลดลงมาก พร้อมที่จะเป็นใครจะทำอะไรก็ได้ รู้จักการทำตัวให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จากที่เคยคิดแต่ว่าจะนำสิ่งที่ถนัดสิ่งที่ชอบไปเล่นกับน้อง จริงๆ แล้วเหมือนเราเอากรอบของเราไปครอบน้องอีกทีหนึ่ง ซึ่งกรอบนั้นเรายังคงยึดติดว่าต้องสิ่งนี้เท่านั้นที่ทำได้และจะทำ ทั้งที่จริงแล้วแค่เข้าไปพูดคุยกับน้อง เข้าไปสู่หัวใจในสิ่งที่น้องชอบ ก็เพียงพอแล้วจริงๆ 

           น้องคนสุดท้าย น้องพี (นามสมมติ) อายุ ๔ ขวบ เราเข้าไปในช่วงที่น้องกำลังอยากนอน ไม่ได้สนใจจะเล่นอะไรทั้งสิ้น จึงได้ขอตัวกลับ ค่อยมาใหม่ในครั้งหน้า ทุกสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติ สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ก็ปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เป็นเท่านั้นเอง 

           ขอบคุณน้องทุกคนที่ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า การเป็นอาสาฯ หรือแม้แต่การทำอะไรสักอย่าง ไม่ได้สำคัญว่าเราได้อะไรกลับมาจากสิ่งที่ทำ แต่มันสำคัญมากกว่าที่เราได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น 

รูปแรก 

เป็นรูปที่วาดในวันประชุม นำมาให้ดูเพื่อแสดงความรู้สึกจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ภาพนี้เริ่มวาดจากทางขวาไปทางซ้าย เส้นโค้งขดเป็นวงวน สื่อถึงความรู้สึกที่ตื่นเต้น ยังควบคุมและปรับตัวเองไม่ค่อยได้ ใจไม่นิ่งกับหลายสิ่งที่ไม่เป็นอย่างที่คิด อย่างเรื่องการเปลี่ยนเคส การต้องเจอสิ่งที่ไม่ทันตั้งตัว และการเข้าหาน้อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเรียนรู้ทำความเข้าใจได้ ก็เริ่มนิ่งขึ้น เส้นโค้งเริ่มเปลี่ยนเป็นเส้นตรง ส่วนสีที่ใช้เป็นสีเดียว เพราะเป็นสีที่ชอบ สื่อว่าการได้มาเป็นอาสาเป็นสิ่งที่ชอบ เพียงแต่ช่วงแรกมีปัญหาบ้างแต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้

รูปที่สอง 

วาดขึ้นมาใหม่ อยากให้เป็นกำลังใจกับทุกคน 

 

ชยาทิพย์ กิติโชตน์กุล 
อาสาข้างเตียง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ รุ่น ๗

คอลัมน์: