พร้อมก่อนตาย
ณ ใจกลางห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ในวันหยุดสุดสัปดาห์กลางเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเมืองกรุงจะเข้ามาเดินกันขวักไขว่ในอาคารปรับอากาศ ที่มากมายด้วยกิจกรรมพิเศษหรืองานอีเวนต์ เวทีและแสงสีชั่วคราว รวมถึงป้ายนิทรรศการถูกประกอบขึ้นชั่วเพียงเวลาข้ามคืน เมื่อถึงเวลาจัดกิจกรรม พิธีกรก็จะเชิญดารา ผู้มีชื่อเสียง หรือ “เซเลบ” ขึ้นบนเวที มีแขกเหรื่อประชาชนมุงดูชูโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายภาพ แขกรับเชิญจะสนทนาปราศรัยกันเล็กน้อยและก่อนจะโฆษณาสินค้าหรือบริการอันเป็นจุดมุ่งหมายของผู้จัดกิจกรรม
วันนี้ก็เหมือนวันอื่นๆ ของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เว้นแต่สิ่งที่ผู้จัดกิจกรรมกลุ่มหนึ่งต้องการนำเสนอมิใช่สินค้าหรือบริการเพื่อความสุขสนุกสนาน แต่คือเรื่องราวและการเรียนรู้เรื่องความตาย ในนามกิจกรรม Before I die “พร้อมก่อนตาย”
...
Before I die พร้อมก่อนตาย คืองานนิทรรศการและเวทีสาธารณะเพื่อการเรียนรู้วิถีสู่การตายอย่างสงบ จัดขึ้นโดยเครือข่ายพุทธิกา และสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย โดยมีภาคีสุขภาพร่วมสนับสนุน ด้วยเหตุผล ๒ ประการ
ประการแรก เพื่อเป็นกิจกรรมคู่ขนานไปกับการจัดประชุมวิชาการ “เอเชียแปซิฟิกพาลลิเอทีฟแคร์และฮอสพิซแคร์” (Asia Pacific Palliative care and Hospice care Conference) ซึ่งกลุ่มบุคลากรสุขภาพทั่วภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกจะมาร่วมตัวกันแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ที่ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นธารา ในขณะที่ประชาชนก็ควรจะมีพื้นที่สาธารณะสำหรับการเรียนรู้เรื่องการเตรียมพร้อมก่อนเผชิญความเจ็บป่วยและความสูญเสียควบคู่ไปด้วย
ประการที่สอง เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้เรื่องความตายในสังคมไทยที่มีอยู่น้อยให้กว้างขวางขึ้นให้ประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ได้ตามความพร้อมและความสนใจ คนที่ไม่คิดถึงความตายมาก่อนก็ได้ฉุกคิดถึงความตาย คนที่ต้องการเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้เรื่องความตายก็ได้รับความรู้และประสบการณ์อย่างจุใจ
ด้วยเหตุนี้ บริเวณลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ ๑๑ – ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ จึงกลายสภาพเป็นห้องเรียนความตายย่อมๆ ที่ผู้เดินผ่านไปผ่านมาได้แวะชมและฉุกคิดถึงความตาย นอกเหนือจากกลุ่มคนที่ตั้งใจมาปักหลักรอรับความรู้อย่างเนืองแน่น
สำหรับท่านที่ไม่ได้มาร่วมงานก็ไม่ต้องเสียใจ อาทิตย์อัสดง จะขอเล่าเรื่องราวในงานดังกล่าวเป็นของกำนัลแด่ผู้อยู่ไกล
กำแพง Before I die
คุณจะรู้สึกอย่างไร หากกำลังเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าอย่างเพลิดเพลิน แล้วจู่ๆ ก็พบกำแพงดำทะมึน กว้าง ๕ เมตร เขียนคำถามถึงทุกคนว่า “ก่อนที่ฉันจะตาย ฉันปรารถนาที่จะ ______________”
นักช็อปบางคงเห็นแล้วคงใจหาย ตกใจหน้าเสีย แล้วอาจจะอุทานในใจว่า “นี่มันอะไรกัน ทำไมต้องมาพูดเรื่องความตายกันที่นี่ตอนนี้ มันถึงเวลาแล้วหรือ?” เมื่อคณะทำงานเห็นเข้าก็จะเข้าไปพูดคุยไถ่ถามว่า “คุณเห็นกระดานนี้แล้วรู้สึกอย่างไร?” “เคยคิดถึงความตายมาก่อนหรือไม่?” “คิดถึงความตายครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?” และ “ลองถามตัวเองซิว่า นับจากนี้จนถึงเวลาตาย มีสิ่งสำคัญสิ่งใดที่ปรารถนาก่อนตาย?”
กำแพงเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากผู้เดินผ่านไปมา และผู้ตั้งใจมาร่วมกิจกรรมอย่างดี ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่วัยกลางคน หนุ่มสาว จนกระทั่งเด็กเล็กๆ ที่ต่างก็สนใจเข้ามาแบ่งปันความปรารถนาที่จะทำก่อนตายอย่างหลากหลาย ต้องขอบคุณคุณแคนดี ชาง ศิลปินและนักกิจกรรมที่ประดิษฐ์กำแพง Before I die ขึ้นมา และยินดีให้ทุกคนนำไปใช้ได้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (อ่านเรื่องราวกำแพง Before I die ได้ในอาทิตย์อัสดง ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๓ หรือ www.budnet.org/sunset/node/16)
ข้อความที่เขียนบนที่ว่างเหล่านั้นมีความหลากหลาย และน่าประทับใจ ก่อนฉันจะตายฉันปรารถนาที่จะ “ได้กอดลูกอีกครั้งหนึ่ง” ก่อนตายฉันปรารถนาที่จะ “ขอบคุณสามี” ก่อนตายฉันปรารถนาที่จะ “มีดวงตาเห็นธรรม” ก่อนตายฉันอยากจะ “ไปเที่ยวสุราษฎร์ธานี” ฯลฯ
ความปรารถนาของผู้คนที่แบ่งปันจะดูตื้นเขินหรือลึกซึ้งเพียงใด ล้วนมีความสำคัญ เพราะแต่ละข้อความคือสิ่งที่แต่ละคนให้คุณค่า แน่นอน ความปรารถนาดังกล่าวย่อมแปรผันไปตามวัยและบริบทชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ผมหวังว่าท่านผู้อ่านน่าจะได้ลองเขียนกำแพงนี้ดูสักครั้งหนึ่ง แต่หากรอไม่ไหวก็ลองถามตนเองและเขียนลงบนหน้ากระดาษนี้ดูเลยก็ได้
ก่อนฉันจะตาย ฉันปรารถนาที่จะ ____________________________________
เคาต์ดาวน์ชีวิต
เราทุกคนรู้ว่าชีวิตมีวันสิ้นสุด
แต่ใครเล่าจะรู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่?
กิจกรรม “เคาต์ดาวน์ชีวิต” เชิญชวนผู้เข้าร่วมให้ลองกำหนดวันตายของตนดูว่า วัน-เวลา ที่น่าจะเป็นวันตายของแต่ละคนคือวันใด ทุกคนจะได้คำนวณเวลาถอยหลังผ่านโปรแกรมในอุปกรณ์มือถือ โดยมีทีมงานคอยอำนวยความสะดวกและถามชุดคำถามที่ทำให้แต่ละคนได้ใคร่ครวญถึงวัน เวลา สถานที่ตายของตน การคำนวณเป็นไปอย่างเงียบๆ จนกระทั่ง บรู้ม! ทีมงานเผยให้เห็นตัวเลขเวลาที่เหลืออยู่ของแต่ละท่าน จำนวนหลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นวัน
จุดที่หลายคนรู้สึกสะเทือนใจคือตัวเลขวินาทีที่ค่อยๆ นับถอยหลังหมดไปเรื่อยๆ ผู้ร่วมกิจกรรมบางคนไม่เคยนึกถึงตัวเลขเวลาที่นับถอยหลังเช่นนี้มาก่อน บางคนตระหนักถึงบางสิ่งที่สำคัญในชีวิตขึ้นมา เช่น อยากดูแลพ่อแม่ให้มากขึ้น อยากดูแลสุขภาพให้มากขึ้น ทุ่มเทกับการงานให้น้อยลง บางคนรู้สึกเฉยๆ เพราะเจริญมรณานุสติเป็นประจำอยู่แล้ว บางคนไม่กล้าเข้าร่วมคำนวณเวลาถอยหลัง
โปรแกรมเคาต์ดาวน์ชีวิตที่ทีมงานใช้อยู่ยังเป็นเวอร์ชันประยุกต์ อีกไม่นานโครงการเผชิญความตายอย่างสงบก็คงจะมีโปรแกรมให้ทุกคนได้ใช้เป็นอนุสติในสมาร์ตโฟนอย่างแน่นอน อย่าลืมอุดหนุนนะครับ
เข็มกลัดสัญลักษณ์ของความตาย
คุณจะวาดภาพความตายออกมาเป็นรูปอะไร?
นี่คือคำถามที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำเข็มกลัดสัญลักษณ์ของความตายได้ใคร่ครวญ ออกแบบ กลั่นความคิด ความรู้สึกออกมาเป็นภาพหรือถ้อยคำสั้นๆ ลงในเข็มกลัดกว่าร้อยชิ้น ซึ่งถูกวาดและผลิตขึ้น ประดับตกแต่งบนกำแพง หากคุณไปยืนต่อหน้าเข็มกลัดนั้นคุณจะเห็นภาพดอกบัว อาทิตย์อัสดง นกบินกลับรัง ภาพต้นไม้ในอิริยาบถต่างๆ ใบไม้ รุ้งกินน้ำ เด็กๆ ภาพความมืด ภาพสายลม ไม้กางเขน โลงศพ ฯลฯ
เข็มกลัดให้ภาพความตายที่แตกต่างหลากหลาย แสดงให้ผู้ชมงานเห็นว่าแต่ละคนต่างมองความตายไม่เหมือนกัน บางมุมมองหลายคนไม่เคยคิดถึงมาก่อน ตั้งแต่น่ากลัวหวาดผวา รู้สึกเฉยๆ เพราะความตายเป็นธรรมชาติ หรือความตายเป็นความงดงาม ฯลฯ
เสวนา เสวนา เสวนา
Before I die
กิจกรรมหลักในงานวันที่ ๑๑ ตุลาคม ซึ่งผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก ต่างรีบเดินทางมานั่งจับจองพื้นที่ก่อนเริ่มงานเป็นชั่วโมง คือ การสนทนาเรื่อง “Before I Die” ระหว่างพระไพศาล วิสาโลและนักเขียนหนุ่มขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่างสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ “นิ้วกลม” ซึ่งพูดคุยกันอย่างออกรสชาติต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมากจนล้นพื้นที่จัดงาน ส่วนใหญ่ต้องนั่งพื้น ยืนฟังตรงทางเดิน ตรงระเบียงชั้นสองและชั้นสาม โดยวิทยากรทั้งสองท่านพูดถึงการเรียนรู้เรื่องความตายอย่างลึกซึ้งกินใจ และได้ประโยชน์
คุณนิ้วกลมปุจฉาพระไพศาลวิสัชนา ว่าการเรียนรู้เรื่องความตายสำคัญอย่างไร เตรียมตัวได้อย่างไร เตรียมตัวแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร พระไพศาลกล่าวถึงประโยชน์ของการเตรียมตัวตายไว้ว่า
“การที่เราระลึกถึงความตายนี่ มันไม่ใช่มีประโยชน์เฉพาะช่วยให้เราได้ตายดี ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ อาจจะสามสิบปี สี่สิบปี แต่ว่า สิ่งที่มันมีประโยชน์ยิ่งกว่านั้น หรือเห็นผลทันทีนะ ก็คือว่า มันทำให้เรามีชีวิตในวันนี้นี่ได้อย่างโปร่งเบามากขึ้น เวลาเราเจริญมรณสตินี่ ไม่ใช่เพื่อให้เราพร้อมตายในวันนี้ในวันข้างหน้า แต่มันทำให้เรานี่ มีชีวิตที่มีคุณค่าและมีจิตที่โปร่งเบานับแต่วันนี้ เพราะว่า ถ้าเราระลึกถึงความตายอยู่เสมอนี่นะ เราจะเร่งขวนขวายทำความดี เราจะทำความดีกับพ่อ เราจะดูแลแม่ เราจะปฏิบัติกับท่าน ต้องไม่ผัดผ่อน ความสุขเกิดขึ้นตอนนี้เลย นี่มันช่วยทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน การดูแลพ่อแม่ การปฏิบัติธรรม การทำความดีมักจะเป็นเรื่องที่เราผัดผ่อน เพราะเราคิดว่า วันหลังค่อยทำก็ได้ วันนี้ขอมีชีวิต ขอเที่ยวมิดไนท์เซลล์ก่อน ใช่ไหม
ข้อสองนี่ มันทำให้เราปล่อยวางซึ่งที่เราชอบยึดติดนะ เรามีความทุกข์เวลาโทรศัพท์หาย เวลาเงินหาย แต่พอคุณลองคิดถึงความตายขึ้นมานะ ไอ้โทรศัพท์หายนี่เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยเลย ใช่ไหมล่ะ เวลาคุณมีความทุกข์นะ คุณคิดถึงความตาย เงินหาย ของหายนะ คุณจะปล่อยวางมันได้ง่ายขึ้น ถ้าคุณนึกถึงความตาย มันเลยกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไป”
การสนทนาเป็นไปอย่างเป็นกันเอง เพลิดเพลินและได้ข้อคิด ในขณะที่คุณนิ้วกลมกล้าตั้งคำถามที่สงสัยใคร่รู้อย่างตรงไปตรงมา พระไพศาลก็ตอบกลับในภาษาที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประวัน เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะไม่ค่อยมีศัพท์แสงที่เป็นภาษาบาลี จนเป็นภาพน่าแปลกที่แม้จะคุยเรื่องตายซึ่งเป็นเรื่องซีเรียสจริงจังแต่ผมกลับได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะทั้งจากวิทยากรและผู้ฟังเสวนาตลอดการจัดงาน
คำสนทนาของวิทยากรทั้งสองยาวเกินกว่าจะนำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ ท่านใดต้องการชมคลิปวีดีโอมรณสนทนาฉบับเต็ม ขอเชิญรับชมได้ที่ http://goo.gl/bMYSot
ป่วยเป็นก็เห็นสุข
ทุกคนต้องป่วย แต่จะมีใครป่วยเป็นกันบ้าง? คือคำถามที่พิธีกรถามผู้ฟังเสวนาก่อนที่จะเชิญวิทยากรทั้งสามขึ้นเวที (คุณอรทัย ชะฟู คุณอภิสิทธิ์ เดชะวงศ์อนันต์ คุณสายชล ศรทัตต์) บ้างก็เคยเป็นมะเร็ง และบางคนยังเป็นมะเร็งอยู่
เมื่อความเจ็บป่วยมาเยี่ยมเยือน วิทยากรต่างสะท้อนว่าชีวิตที่เคยดูเหมือนมั่นคงปลอดภัยแน่นอนกลับไม่เป็นจริง แต่กระนั้นความเจ็บป่วยก็ยังให้มุมบวกแก่ทั้งสามได้ จนกระทั่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต จากที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำก็ได้ทำในสิ่งที่รัก ได้กลับมาดูแลสุขภาพกายใจ ได้รู้จักและทำความเข้าใจตัวเองอย่างถึงแก่น ได้คิดถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ที่สำคัญคือได้ฝึกฝนการอยู่ร่วมกับความทุกข์ความเจ็บปวด ได้ฝีกฝนสติและการปล่อยวาง
ความเจ็บป่วยที่เคยเป็นภัยอันตรายกลับทำหน้าที่เป็นมิตรที่มากระซิบถึงความจริงของชีวิต
ผู้สนใจติดตามคลิปเวทีเสวนาฉบับเต็ม ติดตามได้ที่ http://goo.gl/E7QxJw
พร้อมก่อนตาย
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ หรือ “ป้าศรี” หนึ่งในภาคประชาชนที่ทำงานสร้างความเข้าใจเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีระบบบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายในภูมิภาคต่างๆ มาสนทนาเรื่องการเตรียมพร้อมก่อนตายตอนหนึ่งของการสนทนา คุณหญิงกล่าวถึงความสำคัญในการเตรียมจิตก่อนตาย
“การเตรียมพร้อมด้านจิตใจก่อนตาย คือการพร้อมที่จะเชื่อม เชื่อโยงกับผู้อื่น และที่สำคัญคือการเชื่อมโยงกับตนเอง เพราะตอนตาย ความขัดแย้งกับตัวเองนั่นเองที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราจากไปอย่างไม่สงบ” และการอยู่กับตนเองอย่างไม่ขัดแย้งกับตนเองก็เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้เลยในปัจจุบัน ทั้งจากการทำแบบฝึกหัดก่อนนอนว่า วันนี้หากเรานอนและไม่อาจตื่นขึ้นมาได้อีก เราจะไม่เจอบุคคลอันเป็นที่รักอีกแล้ว (ถึงตอนนี้ให้นึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักอย่างชัดเจนทีละคนๆ) ถามตัวเองว่า เราจะพร้อมจากไปหรือไม่ หากไม่ อะไรที่ดึงรั้งเราไม่ให้พร้อมที่จะจากไป และเราสามารถที่จะละวางสิ่งนั้นที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ได้หรือไม่ ป้าศรีฝากแบบฝึกหัดให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนากลับไปทดลองทำเองที่บ้านได้ทุกคืนแบบฝึกหัดนี้แรกๆ จะยาก แต่ท้าทาย ทำบ่อยๆ จะง่ายขึ้นและกลัวความตายน้อยลง
ผู้สนใจติดตามคลิปเวทีเสวนาฉบับเต็ม ติดตามได้ที่ http://goo.gl/lW2RgE
พื้นที่ทางสังคมเพื่อการเรียนรู้เรื่องการตาย
ในกิจกรรม ยังมีผู้ร่วมงานชาวต่างประเทศแวะเวียนมาไต่ถามที่มาที่ไปของการจัดงาน พวกเขาสะท้อนว่าเป็นเรื่องที่แปลกและดีมาก ที่สามารถพูดถึงความตายได้ในที่สาธารณะ การพูดเรื่องความตายประเทศของเขานั้นเป็นเรื่องต้องห้าม เวลาจัดกิจกรรมเช่นนี้ต้องทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ไม่อาจทำอย่างเปิดโล่งได้เช่นนี้
ผู้เขียนเองรู้สึกแปลกใจที่มีผู้ให้ความสนใจและเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก บางคนมาร่วมงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น ผิดวิสัยการเดินห้างที่ต้องเดินไปเรื่อยๆ เพลินๆ บางคนสะท้อนว่ากิจกรรมที่เตรียมมายังน้อยไป อยากให้มีกิจกรรมเรียนรู้เชิงลึกมากขึ้น เหล่านี้เป็นคำสะท้อนที่ทำให้ทีมงานรู้สึกดีใจและหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งทีมงานรู้สึกเสียดายที่การจัดงานทำได้เพียงสองวันด้วยข้อจำกัดหลายประการ แต่การจัดงานครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา
เราเคยตั้งสมมติฐานไว้ว่า ความตายเป็นเรื่องต้องห้ามในที่สาธารณะ บัดนี้สมมติฐานดังกล่าวไม่น่าจะเป็นจริงเสียแล้ว ในทางตรงข้ามผู้เขียนเห็นว่าพื้นที่การเรียนรู้เรื่องความตายกำลังจะเป็นที่ต้องการของคนในสังคมกลุ่มต่างๆ การออกแบบพื้นที่ทางสังคมเพื่อร่วมกันเรียนรู้วิถีสู่การตายอย่างสงบควรจะมีความหลากหลายทั้งในเชิงเนื้อหาและกิจกรรม โดยเข้าใจพื้นฐานประสบการณ์และความสนใจของกลุ่มผู้เข้าร่วมอย่างจริงจังเพื่อให้สังคมไทยสามารถเข้าถึงภูมิปัญญาที่จะเผชิญความตายและดำเนินชีวิตได้อย่างสงบเย็นและเป็นประโยชน์มากยิ่งๆ ขึ้น
ท่านที่สนใจติดตามกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ กรุณากด like เพื่อรับข่าวสารได้ที่แฟนเพจ www.facebook.com/peacefuldeath2011
Before I die เย็นวันศุกร์ --- ใจกลางกรุงเทพ --- รถติด คลื่นคนเดินไหลตามๆ กันไปบนทางเดินลอยฟ้าย่านสยามสแควร์ พวกเขาและเธอกำลังจะลอยไปสู่แห่งหนใดในความปรารถนาของแต่ละคน ไม่ทันรู้ตัว จากทางเดินเหนือถนนที่รถยนต์เรียงรายอยู่ข้างใต้นั้น ก็นำพามาสู่บันไดเลื่อนในศูนย์การค้าอันเจริญตาและโอ่อ่า ใครบางคนไหลเคลื่อนลงมาสู่โถงด้านล่างของศูนย์การค้านั้น ด้วยบันไดไฟฟ้า ท่ามกลางบรรยากาศแห่งวิถีบริโภคนิยม สรรพเสียง และทุกองศาการมอง ณ ที่แห่งนั้น ล้วนแล้วแต่ถูกแต่งแต้มฉาบทาด้วยสรรพสินค้า และบริการเพื่อปลุกเร้าความอยากได้ อยากมี อยากเป็น เบื้องหน้าของเธอคนนี้ มีการรวมตัวของผู้คนนับร้อย แน่นขนัดอยู่หน้าเวที อาจไม่แปลกนัก หากเป็นเวทีอีเวนต์ส่งเสริมการตลาด ประกวดประชันโดยมีดาราหนุ่มหล่อสาวสวยชื่อดัง เป็นแม่เหล็กดึงดูด พร้อมแสงสีเสียงตระการตาและกระหึ่มรูหู แต่นี่กลับเป็นเวทีที่มีการพูดถึงความถดถอยของชีวิต ความจริงที่ไม่มีใครพึงปรารถนา วงคุยหัวข้อ “ป่วยเป็นก็เห็นสุข” มีบรรดาผู้ที่ถูกโรคภัยรุมเร้า แต่ก็ยังหยัดยืนที่จะมีชีวิตดีๆ ต่อไป ตามด้วยการเสวนาระหว่างหนึ่งพระ กับหนึ่งฆราวาส คนช่างคิดช่างเขียน “Before I die” แง่คิดดีๆ เพื่อให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ลืมตาย และวันต่อมา สตรีสูงวัย แต่หัวใจเบิกบานเสมอ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ก็จะมาบอกเล่าการเตรียม “พร้อมก่อนตาย” ไม่น่าเชื่อว่า ในฝูงชนที่เข้ามาในห้างสรรพสินค้า เพื่อมาเสพ และตอบสนองความต้องการของตัวเองในหลากหลายรูปแบบ จะมีคนมุ่งหน้ามานั่งฟังสิ่งซึ่งเป็นความเป็นจริงของชีวิตอยู่อย่างหนาแน่น ยังไม่เคยเห็นว่า มีเวทีใดในห้างใหญ่แห่งนี้ จะมีคนสนใจถึงกับต้องนั่งลงกับพื้น แทรกตัวอยู่ตามช่องว่าง เพียงเพื่อสดับตรับฟังความเป็นจริงของชีวิต นี่ไม่ใช่งานอีเวนต์ ที่มีสินค้าผลิตภัณฑ์ หรือเนื้อหนังหน้าตาสวยงามของดาราเป็นเครื่องล่อ แต่นี่คือความจริงที่เราควรตระหนัก แต่กลับถูกโลกทำให้หลงลืมว่า ความเจ็บป่วยล้มตาย เป็นสิ่งธรรมดาที่อาจเกิดกับเรา หรือคนที่เรารักได้ทุกเมื่อ เชื่อว่าหลายคนที่เดินผ่านไปมาในห้างแห่งนั้น บนบริโภควิถี เมื่อได้เงี่ยหูฟังความเป็นจริงของชีวิต อาจฉุกคิดอะไรขึ้นมาบ้าง เหมือนที่พิธีกรหนุ่มบนเวทีบอกว่า เดี๋ยวเสร็จงานคงต้องรีบโทรหาใครอีกหลายคน เพราะหากคิดว่า เวลาในชีวิตเรากำลังจะหมดลงในอีกไม่นาน เราจะลำดับความสำคัญได้เอง จะทำอะไรก่อนหลัง การเดินห้างอาจไม่จำเป็นและเร่งด่วนเท่าการกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง คนรัก นั่นคือความปรารถนาที่แท้ และในความเป็นจริง ไม่มีใครบอกได้ว่า ใครจะตายเมื่อไหร่ อาจกะทันหันเพียงชั่วลมหายใจเฮือกหน้าก็ได้ หรืออาจจะยืนยาวไปอีกหลายสิบปี “พรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่แน่ว่าชาติหน้าอาจมาถึงก่อน” พระไพศาล วิสาโล กล่าว ความปวดร้าวทุกข์ทนกับความตาย ไม่ว่าจะของตัวเอง หรือคนใกล้ตัว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่หากเราไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม ก็ทำให้เราข้ามผ่านภาวะนั้นไปได้โดยไม่ทุกข์มากนัก “ความตายไม่น่ากลัวเท่าความกลัวตาย” “คนกล้า ตายครั้งเดียว คนขลาด ตายหลายครั้ง” “ความตายคือการเปลี่ยนสภาพ” ข้อความสั้นๆ ที่ปรากฏอยู่ในสมุดจดเล่มเล็กๆ เป็นข้อคิดที่ได้จากการนั่งฟังเสวนา ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำความเข้าใจ และเห็นจริงตามนั้น ไม่เพียงแต่จะยอมรับความตายได้มากขึ้น พระไพศาล วิสาโล ผู้นำแนวคิดการเผชิญความตายอย่างสงบมาสู่ผู้คนในสังคม ยังได้ชี้ให้เห็นว่า การตายเป็นวาระสำคัญของชีวิตที่ไม่มีโอกาสแก้ตัว การตายที่ดี การตายที่สงบงดงาม เกิดขึ้นได้ ต้องมีการเตรียมการเตรียมตัวเตรียมใจ และเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน หรือซ้อมตายทุกขณะ เพราะการตายคือการพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักหมดทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง อาชีพการงาน คนที่เรารัก หรือแม้กระทั่งร่างกายของตัวเราเอง จึงไม่แปลกว่าคนเราจึงกลัวตาย เพราะเรายังยึดติดในสิ่งต่างๆ แต่พอถึงวันที่จำต้องละวางพลัดพรากทั้งหมดที่เรามี ก็ยากจะทำใจ นั่นจึงเป็นที่มาของความทุกข์ ความกลัวตาย ถึงกับทำให้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงจนหลงลืมว่า วันหนึ่งความเป็นจริงในสิ่งนี้ ต้องเกิดกับเราทุกคน และมันจะน่ากลัวน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าวันนี้เราทำความรู้จัก ทักทายความตาย ซ้อมตาย ซ้อมปล่อยวางบางสิ่งบางอย่างในชีวิต “มีชีวิตเหมือนลูกจ้าง ทำงานเต็มที่ รอเวลาเลิกงาน ทำกิจด้วยจิตที่ปล่อยวาง” อีกข้อความหนึ่งจากหน้าสมุดจด ที่ได้จากเวทีเสวนา ทำให้คิดได้ว่า หากเราทำงานเต็มที่แล้ว ก็คลายความยึดติดถือมั่นในผลงานความสามารถความบากบั่นของตัวเองบ้างก็ได้ แต่นั่นมิใช่การละเลยการทำงานอย่างทุ่มเท เพียงแต่ไม่ยึดมั่นว่าต้องประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับชื่นชมยินดีเสมอไป เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดความทุกข์ใจได้อีก ระหว่างนั่งฟังสิ่งน่าคิดบนเวที ท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตาหลากวัยหลายรสนิยม หญิงสาวนางหนึ่งก้าวจ้ำผ่านเข้ามา ด้วยความคุ้นหน้ายิ่งนัก สุดท้ายก็ลุกไปทัก ไม่น่าเชื่อว่า หญิงสาวเจ้าของบุคลิกปราดเปรียว โฉบเฉี่ยว สมกับเป็นแอร์โฮสเตสมาดมั่น เธอตั้งใจมาฟังบางสิ่งในงานนี้ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักใครเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้พูดบนเวที หรือกระทั่งคนจัดงานจะเป็นใคร จัดงานนี้เพื่ออะไร เพียงเธอได้ข่าว เธอก็ก้าวเข้างานมาอย่างตั้งใจ ด้วยบุคลิกเป็นคนทันสมัย เกาะกระแสแฟชั่น โลดแล่นอยู่ในโลกสมัยใหม่ จึงอดแปลกใจไม่ได้ว่าอะไรบันดาลใจให้ เธอมานั่งอยู่บนพื้นห้างสรรพสินค้า เพื่อฟังบางสิ่งจากบางคนที่เธอไม่เคยรู้จักบนเวที หลังเลิกงานบนเวที ในมุมหนึ่งของร้านอาหาร เธอนั่งคุยให้ฟังถึงชีวิต “นางฟ้า” หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง เธอก็พกพาความเชื่อมั่นเข้าสู่อาชีพแอร์โฮสเตส และแต่งงานกับหนุ่มชาวต่างชาติ มีครอบครัวที่อบอุ่น กับลูกสาววัยน่ารัก ความปกติสุขที่มีอยู่ ไม่ได้ทำให้เธอประมาทกับชีวิต ใครจะรู้ว่า วันไหน อะไร จะเกิดขึ้นกับเราบ้าง ความธรรมดาๆ ของวันๆ หนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ที่เราปรารถนา เช้ามาเรายังรู้สึกตัว หายใจ และร่างกายยังคงทำหน้าที่เป็นปกติ สามีที่รักยังอยู่กับเรา ลูกยังงอแงให้เราหงุดหงิดบ้าง น้ำยังไหล ไฟยังสว่าง มีเงินให้จ่ายค่าน้ำมันรถ มีอาหารกิน มีอะไรๆ อีกหลายอย่าง ที่พอต่อการมีชีวิตอยู่ในวันนั้นๆ ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี เพียงแค่นี้ ก็อาจะเป็นความปกติสุขอย่างเหลือล้น เมื่อเทียบกับบุคคลในรายการเล่าข่าวยามเช้า ที่ลูกพลัดตกน้ำตาย แม่ยายถูกหลอกเงินจนหมดตัว ผัวเก่าใจร้ายกลับมาฆ่าล้างแค้น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฟ้าผ่า และสารพัดเหตุที่ทำให้เกิดการพลัดพราก สูญเสีย จนชีวิตเสียศูนย์ แน่นอนว่า การระลึกนึกถึงความตาย ซึ่งเป็นการพลัดพรากแบบหมดจด จะทำให้เราเห็นเรื่องอื่นเป็นเรื่องเล็ก ความพลัดพรากสูญเสียของคนอื่น ที่ตื่นเช้ามาเราก็รับรู้ผ่านข่าวสาร น่าจะช่วยสะกิดเตือนได้ว่า หากวันหนึ่งเหตุการณ์ไม่ปกติสุขเช่นนี้เกิดขึ้น เราจะวางใจอย่างไร ให้ทันทุกข์ที่ถาโถมเข้ามา ชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์เป็นบทเรียนให้แก่กันและกันเสมอ เพียงแค่ไม่เห็นเป็นความชินชาว่าเป็นข่าวร้ายรายวัน การเตรียมตัว ยอมรับ และกล้าเผชิญหน้ากับการพลัดพรากอย่างหมดจดในวันสุดท้ายของชีวิต ก็จะทำให้วันนี้ ชั่วโมงนี้ และนาทีนี้ เป็นโมงยามที่ดีที่สุดของชีวิต ที่พร้อมจะทำทุกอย่างให้หมดจด งดงาม ชนิดที่ไม่ต้องคาดหวังการแก้ตัว เพราะไม่แน่ว่า เราหรือใคร จะมีเวลาแก้ตัวต่อกันหรือไม่
|