เผชิญความตายอย่างสงบ “รู้ไว้ใช่ว่า”
นับแต่เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาจนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้เครื่องมือทางการแพทย์และการรักษาโรคต่างๆ สามารถยืดเวลา “ความตาย” ออกไป เพื่อให้ “การพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก” ช้าออกไป มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเรามิอาจปฏิเสธได้ว่า “ความตาย” เป็นสภาวะสุดท้ายของทุกชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องความตายจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรถูกหยิบยกขึ้นมากระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและสนับสนุนกระแสการเรียนรู้แนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
หากพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของความตายในมิติประวัติศาสตร์ ความเชื่อเรื่องความตายมีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะ นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๒ ที่มีความเชื่อเกี่ยวข้องกับความตายว่า หากคนใดตีไก่จับปลาจะต้องตกนรก หรือการเผาตัวเองเพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นสิ่งที่ได้บุญมาก จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นช่วงที่เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด เพราะเป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้ความคิดเรื่องโลกอุดมคติจางลง เนื่องจากความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เข้มแข็งมากขึ้น ในทางกลับกันพุทธศาสนาถูกผลักออกจากประชาชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน และอีกกรณีศึกษาที่สำคัญคือ การมรณภาพของท่านพุทธทาสภิกขุใน พ.ศ.๒๕๓๖ ทำให้กระแสความสนใจในเรื่องการกำหนดแนวทางการรักษาหรือดูแลร่างกายโดยเจ้าของร่างกายเองขยายตัวมากขึ้น ซึ่งในระดับนโยบายมีการทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๙ โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ในขณะที่ภาคสังคมก็มีความตื่นตัวที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของหลักสูตรการอบรมที่เกี่ยวกับเรื่องการตายอย่างสงบหรือหนังสือที่พูดเรื่องการตายดีจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังไม่ได้รับรู้กันทั่วไปในสังคมไทย ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้น ดังเช่นกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัตการ “พร้อมก่อนตาย: พินัยกรรมชีวิต” ในเวทีเสวนา การตายอย่างสงบ : บทเรียนและกรณีศึกษาในสังคมไทย ซึ่งจัดโดย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายพุทธิกา มีผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้กว่า ๑๐๐ คนที่ได้ลองทำพินัยกรรมชีวิต ผ่านการทบทวนความคิด ความรู้สึก และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม โดยตอบคำถามว่า...หลังจากตายแล้วจะให้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างไร
- ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ อยากให้จัดการอย่างไร
- อยากฝากให้ใครดูแล ช่วยเหลือญาติมิตร ลูกหลาน พ่อแม่ อย่างไรบ้าง (รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย)
- การงานหรือธุรกิจที่คั่งค้าง อยากให้จัดการต่ออย่างไร
- ร่างกาย อวัยวะ งานศพของเราอยากให้จัดการอย่างไร
- หากเราอยู่ในระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารได้ เรามีความต้องการเรื่องเหล่านี้อย่างไร เช่น การรักษาแบบใดที่ไม่ต้องการให้ทำกับเรา การรักษาดูแลแบบใดที่อยากให้ทำ อยากพบใคร อยากให้ใครมาดูแลเรา อยากอยู่ที่ไหน อยากให้ใส่เครื่องช่วยชีวิตแค่ไหน อยากใส่เสื้อผ้าแบบไหน ฯลฯ
- จะมอบให้ใครช่วยจัดการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ใน ๕ ข้อแรก
หลังจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทบทวนและแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึก ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จริงๆ แล้ว คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรคิดและเตรียมตัว เสมือนเป็นพินัยกรรมที่สำคัญสำหรับคนใกล้ชิดที่ต้องดูแลจัดการเรื่องต่างๆ หลังจากเราเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้การทบทวนยังทำให้เรามีสติและใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มีคุณภาพมากขึ้น
โดยในเวทีเสวนาฯ ได้หยิบยกกรณีศึกษาของคุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ ซึ่งเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเต้านม และช่วงสุดท้ายของชีวิตได้เลือกดูแลตัวเองแบบธรรมชาติ พร้อมใช้หลักธรรมะในการเยียวยาเพื่อเสริมจิตใจให้เข้มแข็งและเบิกบาน ไม่ขอเลือกวิธีการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการรักษาที่ทำร้ายร่างกาย ซึ่งเรื่องราวของคุณสุภาพรถูกบอกเล่าโดยคุณสุรภี ชูตระกูล เพื่อนผู้คอยดูแลคุณสุภาพรในวาระสุดท้ายอย่างใกล้ชิด
“พรเป็นคนเข้มแข็ง และเป็นที่รักของเพื่อนฝูง ช่วงที่รู้ว่าตัวเองป่วย พรก็เลือกที่จะบอกเพื่อนและดูแลตัวเองโดยไม่บอกครอบครัว เพราะกลัวว่าแม่จะไม่สบายใจ หลังจากที่พรรู้ว่าตัวเองป่วยก็พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งและการดูแลตัวเองเยอะมาก รวมทั้งเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต อาหารการกินก็ปรับมาเป็นกินอาหารแนวชีวจิต ออกกำลังกาย อยู่กับธรรมชาติ นั่งสมาธิและใช้ธรรมะในการเยียวยาความเจ็บปวด ซึ่งช่วงที่พรได้ฝึกปฏิบัติในการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเอง ทำให้พรมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะช่วง ๒ ปีสุดท้ายก่อนที่พรจะเสียชีวิต นับเป็นช่วงเวลาที่วิเศษและมีค่ากับพรมาก ซึ่งในภาวะที่พรเจ็บป่วย พรจะรู้สึกผ่อนคลายถ้ามีโอกาสได้แบ่งปันความรู้สึกกับคนใกล้ชิดและคนที่พรไว้วางใจ และสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในตัวพรมากคือ พรเป็นนายในร่างกายของตัวเอง พรเลือกและตัดสินใจเองทุกอย่าง ท่ามกลางความช่วยเหลือเกื้อกูลของกัลยาณมิตรที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาหาพรมิได้ขาดสาย” คุณสุรภีค่อยๆ ย้อนนึกและเล่าเรื่องราวการดูแลตัวเองในวาระสุดท้ายของคุณสุภาพรให้หลายคนได้เรียนรู้
การเข้าถึงการตายดีนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นระบบที่มีความ เกี่ยวพันกับผู้คนยามเจ็บป่วยจนถึงวาระสุดท้าย จึงควรสร้างการเรียนรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องการตายดี ตลอดจนการใช้ข้อมูลพื้นฐานในทุกมิติของผู้ป่วยในการร่วมวางแผนกับครอบครัว เช่น ถ้ารู้ว่าผู้ป่วยมีความเชื่อแบบไหน ก็ไม่ควรละเมิดหรือมองข้ามความเชื่อนั้นๆ ในทางกลับกัน อาจใช้ความเชื่อมาเยียวยาผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่คุณสุภาพรเสียชีวิต ระบบในสังคมที่เกี่ยวกับเรื่องการตายดีได้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีหลักสูตรอบรมโครงการเผชิญความตายอย่างสงบให้กับบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลที่สนใจทั่วไปโดยเครือข่ายพุทธิกา พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๒ ว่าด้วยเรื่องสิทธิการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ฯลฯ
อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องการตายดีหรือการเผชิญความตายอย่างสงบคือ “ความกลัว”
ดร.จอนห์น แมคคอนแนล นักจิตวิทยาแนวพุทธและอาสาสมัครช่วยเหลือด้านจิตใจของผู้ป่วยระยะสุดท้าย และเพื่อนผู้ร่วมดูแลคุณสุภาพร ได้พูดไว้ว่า “การเผชิญหน้ากับความกลัวเป็นสิ่งที่ต้องมีการฝึกฝน อย่างสุภาพรในช่วงเวลา ๗ เดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต แผลที่หน้าอกเริ่มมีปัญหาค่อนข้างมาก ถ้าเป็นคนส่วนใหญ่มักจะกลัว แต่สำหรับสุภาพรไม่กลัวเลย ซึ่งเธอเป็นอย่างนี้ได้ เพราะเธอได้ฝึกฝนโดยมีธรรมะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมาโดยตลอด เช่น การใช้หลักอริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ เข้าใจทุกข์ ยอมรับในทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ช่วงเวลาที่ใกล้ถึงวาระสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่ธรรมดาและเตรียมตัวคืนสู่ธรรมชาติให้มากที่สุด ความกลัวหรือความกังวลมักเกิดขึ้นซ้ำๆ เพราะเรามักคิดซ้ำคิดซ้อนกับเรื่องเดิมๆ ดังนั้นการฝึกจิตอยู่เสมอจะทำให้เราเตรียมพร้อมตัวเองได้ดี ส่วนด้านการเยียวยากับการรักษา มีความแตกต่างกัน การแพทย์จะเกี่ยวกับการรักษาที่เป็นเหมือนการซ่อมร่างกาย แต่การเยียวยาด้านจิตใจเป็นเหมือนการเยียวยาทางด้านจิตวิญญาณ ดังนั้นการรักษาทางแพทย์จึงมิควรละเลยการเยียวยา และช่วยกันเปลี่ยนความป่วย ความทุกข์ให้เป็นพลังด้านบวก เพื่อสร้างความรักความเมตตาต่อกัน”
ภายใต้ความเร่งรีบจากการงานและการใช้ชีวิตที่นับวันจะต้องแข่งกับเวลามากขึ้น เพื่อให้ก้าวทันอะไรก็ตามแต่ จนทำให้หลายคนมักใช้ชีวิตแบบลืมตายอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นถ้าเราหมั่นนึกถึงเรื่องตายอยู่เป็นนิจ จะช่วยทำให้เรามีโอกาสในการทบทวนการใช้ชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงการใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่าและมีคุณภาพมากที่สุด
ที่มา : http://www.hsri.or.th/en/node/1249