ความตายของลำยอง
ในยุคสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีการแพทย์ก้าวไกล สามารถยืดชีวิต หวังเอาชนะความตาย ชีวิตเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เน้นการหาความสุขทางวัตถุ สะดวกสบาย จนลืมไปว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความคิดเรื่องตาย หรือจะตายอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ไม่พูดถึง แต่สังคมไทยในอดีตจนถึงในสังคมชุมชนที่ยึดแบบแผนในอดีตตามคำสอนทางพุทธศาสนานั้น จะให้ความสำคัญต่อการพูดถึงความตาย ยิ่งพูดถึงชีวิตยิ่งต้องพูดถึงความตายด้วย เพราะความตายเป็นอนุสติสอนให้คนรู้จักใช้ชีวิตไม่ให้ประมาท ระมัดระวังดูแลทางร่างกายยังไม่พอ การดูแลทางจิตใจให้เบิกบาน ทำสิ่งดีงามทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สังคม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เวลาใกล้ตาย จิตไม่มัวหมอง และน้อมนำไปในทางที่เป็นกุศล ไม่ห่วงกังวลใด ตอนตายย่อมตายอย่างสงบ ในทางกลับกัน คนที่ตายไม่สงบ เพราะจิตตอนจวนเจียนตายจะเข้าไปอยู่ในทางที่เป็นอกุศล เรื่องในอดีตที่เคยทำไม่ดี ไม่ได้แก้ไข จะเข้ามาทำให้ใจว้าวุ่น ห่วงหาอาลัย คำสอนทางพุทธศาสนาสอนเรื่องความไม่ประมาทจึงครอบคลุมความหมายและให้ตระหนักด้วยคำพูดที่ว่า มีชีวิตอย่างไร ก็ตายอย่างนั้น
การตายของลำยอง หรือเรียกติดปากชาวบ้านว่าอีลำยอง ในละครดังเรื่อง ทองเนื้อเก้า สะท้อนคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี ลำยองมีชีวิตที่มุ่งแสวงหาความสุขใส่ตัว ยึดเอาแต่ความต้องการของตนเอง แม้สิ่งที่ต้องการจะได้มาโดยเบียดเบียนหรือทำร้ายคนอื่น จนลืมกระทั่งคนที่ตนรักอย่างลูกและสามีว่าจะระทมขมขื่นปานใด น่าเสียดายนัก ทั้งๆ ที่ในยุคสมัยของเธอ วัฒนธรรมยังเป็นแบบบ้านๆ ครอบครัว ชุมชน วัด แวดล้อมไปด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน แต่เธอกลับไปหลงทางอบายมุขเพราะไม่เชื่อเรื่องเวรกรรม จึงต้องประสบชะตากรรมที่มิอาจหลีกเลี่ยง ตายอย่างอเนจอนาถเจ็บปวด
ความตายเข้ามาในวันที่เธอไม่มีโอกาสจะทำในสิ่งที่ปรารถนา คือทำความดีชดเชยแก่คนที่เธอรัก และยังตายอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างในสภาพน่าสมเพช ร่างกายเน่าเฟะจากโรคหนองในที่กัดกินเนื้อ เลือดออกตามตัว ตายอย่างอนาถา ผิดไปเป็นคนละคนจากที่เคยเป็นสาวสวยอันดับหนึ่งของซอยของตลาดในชุมชน ใครที่เดินผ่านจะต้องเหลียวหลังมาดู สภาพของลำยองไม่ต่างอะไรกับสุนัขจรจัด เธอเหมือนตกนรกทั้งเป็น เพราะที่เจ็บกว่านั้นคือจิตใจ เธอกำลังรับกรรมที่ก่อไว้ในช่วงที่มีชีวิต
กรรมที่กำลังตามหลอกหลอนให้เธอหวนรำลึกถึงเรื่องราวในอดีตที่เคยทำอกุศลกรรมไว้มากมาย จากจุดเริ่มต้นที่ลำยองเคยมีความสุขตั้งแต่พบผู้ชายที่ตนรักและหมายปอง จนเธอได้เป็นเจ้าของ กินอยู่ด้วยกัน จนมีลูกชายที่น่ารักคนหนึ่ง ชีวิตครอบครัวกลับพังทลายเพราะความเห็นแก่ตัวของเธอเอง ที่เอาแต่หาความสุขใส่ตัว ไม่ทำหน้าที่แม่บ้าน ไม่ดูแลครอบครัว วันๆ เอาแต่เล่นการพนัน และมีเรื่องโต้ตอบกับแม่สามีอยู่เป็นประจำ จนสามีเริ่มเอือมระอา และลงเอยด้วยการทะเลาะเบาะแว้งกันทุกที จนสามีต้องแยกทางไป ลำยองไม่ยอมให้ลูกไปอยู่กับพ่อ แต่สามีก็ยังคงส่งเสียลูกด้วยความรักและคอยห่วงใย ดูแลอยู่ห่างๆ ในใจลำยองนั้นยังรักสามีไม่จางหาย หากแต่เต็มไปด้วยทิฏฐิ เอาความโกรธแค้นไปลงที่ลูก ด้วยการทุบตี ด่าทอ ไม่ว่าวันเฉลิม ลูกชายจะทำดี คอยดูแลแม่สักปานใด ลำยองก็เอาแต่ติดเหล้าเมาหยำเป เล่นการพนัน เอาเงินทั้งหมดของลูกชายที่ได้มาจากพ่อไปเล่นการพนัน แทนที่ลูกจะได้ร่ำเรียนหนังสือ กลับจะต้องมาดูแลแม่ แต่ถึงแม้ลูกจะเจ็บปวดแค่ไหน ก็ไม่ทำให้ลำยองรู้สึกรู้สา ลูกอดทนไม่โกรธแม่ ขอร้องแม่อย่างเดียวว่าอย่าว่าลูกอกตัญญู เพราะลูกรักแม่และมีความกตัญญูเสมอมา ถึงตรงนี้ สิ่งท้ายสุดของลำยองคือน้ำตาที่ไหลอาบแก้มเมื่อเวลาสุดท้ายนี้มาถึง จะต้องพรากจากลูกไปอย่างไม่มีโอกาสล่ำลาสุด แสนขมขื่น หัวใจแตกสลาย...ฉากสุดท้ายของลำยองก่อนสิ้นลมแสนเจ็บปวดยิ่ง เหมือนตกนรกทั้งเป็น เป็นตอนที่คนในสังคมสมัยใหม่น่าจะได้ดู จะได้เห็นว่าตายไม่ดีนั้นเป็นอย่างไร ที่ว่า มีชีวิตอย่างไร ก็ตายอย่างนั้น ทำให้เป็นคำพูดที่เตือนใจได้ทุกวัน