อุบัติเหตุ อุบัติธรรม
กว่าสองปีก่อนคุณระวีวรรณ ศรีทอง เกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ประสบอุบัติเหตุในต่างแดน หนักขนาดที่ลูกชายส่งคลิปวิดีโอมาสั่งลาแม่ว่าไม่ต้องห่วงนะ เดี๋ยวจะดูแลน้องๆ เอง เพราะคิดว่าแม่คงไม่รอดแน่ แต่เธอก็ผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ด้วยสติ แถมอุบัติเหตุครั้งนั้นยังทำให้เธอมองเห็นสัจธรรมอย่างแจ้งใจว่า “ชีวิตมีแค่นั้นเอง” และช่วยแปรเปลี่ยนความกลัวตายมาเป็นพร้อมตายมากขึ้น
“แต่ก่อนเป็นคนที่กลัวความตายมาก วิตกกังวลว่าคนที่เรารักจะจากไป ถ้าเกิดเขากลับผิดเวลาจะกระวนกระวาย ตอนเด็กๆ แม่ไม่กลับบ้านจะกังวล จะไม่สงบสุขแล้ว แล้วก็พูดเรื่องตายไม่ได้ คือที่บ้านจะห้ามพูดเรื่องอัปมงคล เราจะรู้สึกว่าความตายเป็นอะไรที่แตะต้องไม่ได้และต้องกันออกไปให้ไกลที่สุด พูดแล้วจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดี จะเป็นลางหรือเปล่า เลยมองเป็นเรื่องเกี่ยวกับโชคลาง ฟุ้งซ่านไปทางนั้น
“พอตอนหลังๆ เริ่มมาผ่านกระบวนการเรียนรู้ภายในของเสมสิกขาลัยเกี่ยวกับการเอาศาสนาพุทธมาวิเคราะห์ทุกข์ของตัวเอง รวมทั้งเรื่องนพลักษณ์ ก็ค่อยๆ ซึมซับ แล้วก็อ่านหนังสือธรรมะเริ่มจากธรรมะธรรมดา จนมาอ่านงานของหลวงพี่ไพศาลเรื่องมรณสติ พออ่านไปแล้วปฏิบัติธรรมไป ตอนมาช่วยงาน ๑๐๐ ปี หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ก็เหมือนกับปฏิบัติธรรมแล้วก็เริ่มเอามาใช้กับตัวเอง มาแก้ความคิดนั้น ตอนหลังก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองทำความเข้าใจเรื่องความตายมากขึ้นแต่ก็ยังไม่ลึกซึ้งมากมาย
“จนกระทั่งมาประสบอุบัติเหตุที่เมืองจีนรถตกเขา คือเป็นรถมอเตอร์ไซค์พ่วงหลัง มอเตอร์ไซค์อยู่ข้างหน้าแล้วก็มีกระบะน้อยๆ อยู่ข้างหลัง นั่งกันมา ๕ คน เรานั่งท้ายห้อยขาอีก ๔ คนนั่งข้างๆ คือคันเล็กมาก แต่ละคนตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น จังหวะนั้นมอเตอร์ไซค์ดับ เราเข้าใจว่าล้อหลังปีนไหล่ทางแล้วด้วยน้ำหนักบรรทุกเลยดึงให้รถพลิก คนก็เลยเทลงมา เรานั่งอยู่หลังสุดไม่มีอะไรเกาะก็เลยหล่นลงมากระแทก นอนแอ้งแม้งโดยที่ซี่โครงหักแบะออกมา กระดูกสันหลังหัก ตอนนั้นสลบ ภาวะนั้นเหมือนกับเราฝัน เหมือนอยู่ในที่ขาวมากๆ เลย สว่าง ขาวไปหมด คือตอนที่หล่นลงมามันวูบ ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น สักพักหนึ่งก็ได้ยินเสียงเรียก พอรู้สึกตัวก็ลืมตาเหมือนคนเพิ่งตื่นนอน งัวเงียๆ จนกระทั่งเริ่มมีสติรู้ตัวทั้งหมดก็เริ่มนึกถึงเหตุการณ์ก่อนที่จะตก นี่อุบัติเหตุเหรอ นี่เรื่องจริงเหรอ ตอนนั้นก็ตกใจนะ แต่ก็ตั้งสติกลับมา ตรวจดูทุกอย่าง ร่างกายเคลื่อนไหวได้ยังกระดุกกระดิกได้แล้วก็ยังหายใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ ตกใจไหม ตกใจ กลัวไหม ก็กลัวนะ กลัวว่าเราจะเดินไม่ได้ แต่สภาวะนั้นมันมีสติ มันนิ่ง นิ่งสักพักหนึ่งก็ปล่อย ปล่อยทุกอย่าง รอจนกระทั่งหมอมา คือไม่ให้ใครมายุ่งกับเราจนกระทั่งหมอมา ถามว่าทรมานไหม ทรมานนะเพราะเราถูกน้ำกรด แสบทั้งตัวเลย แต่เราก็เฉยๆ กับมัน
“หลังจากนั้นพอเข้าโรงพยาบาลปุ๊บหมอก็จัดการเรา โดนน้ำกรดหนังก็ถลอก เขายกเราก็ปวดแต่ก็เฉยๆ กับมัน จนกระทั่งมานอนอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร ตอนนั้นชีพจรเต้นต่ำมาก อยู่ในภาวะใกล้ช็อก แต่ความที่เรามีสติเพราะฝึกมา ตอนนั้นไปค่ายหลวงตาสุริยา มหาปัญโญ วัดป่าโสมพนัส มาแล้ว ๒ ครั้ง สภาวะนั้นมันไปของมันเอง เราก็ไม่ได้มานั่งทำอะไร แต่เหมือนปล่อยวางได้เอง สติมาอย่างอัตโนมัติเลย รู้ปุ๊บ เราก็ ชีวิตมีแค่นั้นเอง ตอนนั้นไม่รู้สึกว่าเราเจ็บปวดหรือหนักอะไรเลย เฉยมาก นิ่งมาก คือไม่มีความกลัวว่าจะตาย ไม่ได้คิดว่าคนข้างหลังจะเป็นอย่างไร ไม่ได้กังวลเรื่องลูก ไม่ได้คิดถึงอนาคตเลย อยู่กับปัจจุบันจริงๆ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะทำอะไรไม่ได้เลย นอนได้อย่างเดียว ก็มีความสุขนะ ตอนที่จะช็อก สิ่งที่รู้อย่างเดียวคือหายใจ เราก็พยายามหายใจลึกๆ เพราะเคยฝึกอยู่ ไม่ได้ตกใจ ฝึกหายใจๆ ใครจะเป็นใครจะตายก็ช่างมัน ก็ผ่านช่วงนั้นมาได้
“อีกช่วงหนึ่งที่วิกฤตคือช่วงที่เขาเจาะเพื่อจะเอาเลือดออกจากปอดเพราะซี่โครงทิ่มปอดแล้วเลือดตกใน ตอนที่เจาะเขาฉีดยาชา ฉีดเข็มแรกข้างขวาก็ได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมาข้างซ้ายคือเลือดแข็งตัวแล้วเวลาเขาใส่ท่อลงไปเลือดไม่ออกมาเขาก็ต้องเจาะซ้ำอีก รูเดียว ๓ รอบ แผลเดิม วันแรกที่เจาะเราก็ใช้วิธีทำสมาธิเอาใจไปอยู่กับการเคลื่อนไหวหมุนนิ้ว คลึงนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ ก็จบด้วยดีวันนั้น วันที่สองข้างที่ไม่ออกแล้วมาเจาะซ้ำ ตอนเช้าก็ยังพอรับได้อยู่ ตอนบ่ายอีกรอบหนึ่งรูเดิม ตำแหน่งเดิม แค่ฉีดยาชา ตรงนั้นเราไม่ไหวแล้วทรมานมากแต่ก็ไม่ได้ครวญครางอะไรนะแค่หมดพลัง คือขอให้ใครมาช่วยจับมือให้หน่อย เราก็จับมือเขาแล้วก็ผ่านมาได้ หลังจากนั้นก็ต้องไอ ไอเพื่อให้เลือดออกมา คิดดูซี่โครงข้างหน้า ๑๑ ซี่ที่หักแบะตรงกลางแล้วมันต้องไอเพื่อให้กระบังลมขับเลือดออกมา เราก็เจ็บ แต่ก็อยู่กับมัน ดูลมหายใจ คือไม่เอาความรู้สึกไปจับที่ความเจ็บ ตอนนั้นความคิดน้อยมาก ไม่ฟุ้งเลย อยู่กับลมหายใจอย่างเดียว พอเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้ก็ยกมือสร้างจังหวะ อยู่กับการเคลื่อนกาย ทำให้ไม่ต้องกังวลกับความเจ็บปวด ว่างก็ยกมือๆๆๆๆ ถือเป็นการออกกำลังกาย เหมือนเราได้กายภาพด้วย ยกมือสูงๆ เพราะเรานอนอยู่กับที่ เคลื่อนไหวไม่ได้เลย จะกินก็ต้องป้อน แปรงฟันก็ต้องทำให้
“จุดเปลี่ยนอีกจุดก็คือหลังจากที่กลับมาแล้ว พอเดินได้แต่ยังต้องใช้ไม้เท้าอยู่ก็ไปปฏิบัติธรรม ไปครั้งนี้ได้เห็นเวทนา ไปเดินจงกรมแล้วเห็นสภาพร่างกายเรา เห็นความเจ็บปวด เห็นทุกข์ ก็อ๋อ...ชีวิตมีแค่นี้เองหนอ ความเจ็บปวดก็คือความเจ็บปวดกาย ถ้าใจเราไม่ไปยึดมันก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไร อย่างน้อยเราก็อยู่กับมันได้ ทุกข์ไหมทุกข์แต่ไม่ทรมาน ไม่ได้ไปพะวงอยู่กับมัน เราก็ทำอย่างอื่นทั้งๆ ที่เราเจ็บ หลังจากนั้นมาก็หลุดทุกอย่างคือจะตายก็ตาย พร้อมตาย ตายได้ตลอดเวลา ไม่ได้กลัวความตาย แต่ไม่ใช่ว่าทำอะไรแบบประมาท เป็นแบบว่าทุกคนในบ้านใครจะตายตอนนี้พร้อมแล้ว มองว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้ทำอย่างไรให้พร้อมที่จะตาย คือเราเลือกที่จะตายได้ ตายแบบไหน ให้มีสติรู้ขณะตายแค่นั้นเอง แล้วจะทำอย่างไรให้สภาวะจิตสุดท้ายมีสติ ตอนนี้ก็พยายามพัฒนาตัวเอง
“พอปล่อยวางได้อย่างนี้ใจเราก็เบาเหมือนเราเกาะอะไรไว้แล้วเราปล่อย เวลาเราเกาะเราโหนมันหนัก เราห้อยตัว มันแกว่งไปแกว่งมา พอเราปล่อยปุ๊บเหมือนเรายืน มันมั่นคง มันนิ่ง ไม่วอกแวก คือเราพร้อม อะไรจะเกิดก็เกิดเรารู้แล้วว่าสิ่งไหนที่เราจัดการไม่ได้ มันอยู่นอกเหนือการจัดการของเราเราก็ปล่อย แต่ถ้าหากยังจัดการได้อยู่เราก็ไม่ยอม ก็ยังทำ แต่พอทำมาถึงจุดหนึ่งแล้วรู้สึกว่าเหนื่อย ทำแล้วยังทุกข์อยู่ ชีวิตไม่ได้มีอิสระเราก็จะปล่อยให้มันเป็นไป คือทำเต็มที่แล้วไปต่อไม่ได้เราก็ยอมรับ
“ตอนนี้ทำอะไรก็แล้วแต่จะคิดว่าเวลาเราเหลือแค่นี้เองนะ เพราะฉะนั้นจงทำสิ่งที่ดีสิ่งที่เราอยากทำ แต่ไม่ใช่ไปเบียดเบียนหรือว่าไปแย่งชิงเขานะ ตอนนี้พยายามเน้นทำงานกับพระ เป็นจิตอาสาทำล้างพิษให้พระ บางทีก็ทำยาไปถวายพระ ก็มีความสุขดี และถ้ามีงานอาสาให้ช่วยเกี่ยวกับทางธรรมก็จะทำทางนี้มากกว่า เวลาว่างก็หาโอกาสไปปฏิบัติธรรม ไปล้างออกๆๆ คือเวลาปฏิบัติธรรม ๗ วัน จะเอาความคิดเราออก จะเห็นความคิดเข้ามาเยอะมาก พอเห็นความคิดเราตัดก็เหมือนเราขัด ปฏิบัติธรรมทีก็ขัดทีหนึ่งแต่ถามว่าหมดไหม ไม่หมด ก็ต้องขัดอยู่เรื่อยๆ แต่อย่างน้อยมันเห็น เห็นสิ่งที่เป็นอุปนิสัยเห็นกิเลสของเราเองว่าเราเป็นคนประเภทไหน เห็นความชั่ว เห็นความอิจฉาริษยา เห็นความที่เจตนาดีแต่แฝงร้าย กิเลสหรือสิ่งไม่ดีก็จะออกมา ตรงนี้ก็ทำให้เราค่อยๆ ขัด เหมือนเราล้างห้องน้ำ ถามว่าหมดไหมวันนี้ไม่หมดหรอก ตะไคร่มันจับอยู่เป็นสามสิบสี่สิบปีแล้ว เราก็ค่อยๆ ขัดวันละนิดวันละหน่อย อย่างน้อยจากที่หนาๆ ก็เริ่มบางลงๆ แล้วปัญหามันเข้ามาๆ ท่านพุทธทาสบอกว่าปัญหาเหมือนมีด ปัญญาเหมือนหินลับมีด ปัญญาไม่ใช่ความรู้ที่เราอ่านหนังสือแต่เป็นสิ่งที่เราสามารถพินิจพิเคราะห์ รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ รู้ว่าเราจะพิจารณาเหตุปัจจัยแล้วจะนำไปสู่ผลอย่างไร อริยสัจสี่เห็นเลยว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างไร คือไม่ถึงกับว่าหลุดพ้น แต่อย่างน้อยเราเข้าใจกระบวนการเกิดทุกข์ เพียงแต่สติเรายังไม่มากพอที่จะชึบๆๆ ยังไม่คมพอ ปัญญาเรายังไม่เฉียบคมพอ ต้องลับไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่เราได้จากการปฏิบัติ”