ข้างเตียงคนไกลบ้าน
สังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมเปิด ผู้ที่อาศัยหรือผ่านเข้ามาในประเทศมีมากมายหลากหลายเชื้อชาติและภาษาไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น การดูแลผู้ป่วย (โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย) ให้มีประสิทธิภาพจึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขเหล่านี้ด้วย ดังตัวอย่างอาสาข้างเตียงคนนี้
...
“ภาษาอังกฤษพอได้ไหมคะ...” คุณพยาบาลวอร์ด ม9ก ถาม ก่อนจะพาฉันไปที่เตียงผู้ป่วยเด็กและครอบครัวชาวศรีลังกา “เอ” (นามสมมติ) เด็กชายวัย ๗ ปี ประสบอุบัติเหตุจากการเล่นน้ำในสวนน้ำแห่งหนึ่งในวันหยุดช่วงสงกรานต์ ทำให้เขาต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและอยู่ประเทศไทยต่ออีกระยะหนึ่ง ขณะที่ครอบครัวของเขาได้รับความช่วยเหลือให้อาศัยอยู่ที่บ้านพักพิงโรนัลด์ แมคโดนัลด์ ส่วนญาติและเพื่อนร่วมทริปคนอื่นๆ เดินทางกลับประเทศศรีลังกาตามกำหนด โดยมี “บี” (นามสมมติ) เด็กสาววัยรุ่นจิตใจงาม ผู้เป็นญาติสนิทของเอรับอาสาอยู่ประเทศไทยต่ออีกคนเพื่อช่วยสื่อสารภาษาอังกฤษให้กับเอและครอบครัว
ครั้งแรกที่พบกัน เอดูอ่อนเพลีย อาการบาดเจ็บบวกกับความเซ็งที่ต้องอยู่ในประเทศที่ไม่คุ้นเคย ไม่ได้กลับไปเรียนหนังสือกับเพื่อนๆ ทำให้เขาดูเศร้าหมอง บีเล่าให้ฉันฟังว่า ทริปสงกรานต์สุขสันต์ของครอบครัวกลับกลายเป็นประสบการณ์อันโหดร้ายยากที่จะลืมของทุกๆ คน แต่ภายใต้ความโชคร้ายนั้นยังมีกำลังใจที่ดี เมื่อญาติคนหนึ่งนำเรื่องราวไปปรึกษาผู้ทำนายโชคชะตาที่ศรีลังกาแล้วพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอถือเป็นความโชคดี เคราะห์หนักหนาสาหัสกว่านี้อาจเกิดขึ้นหากเขาอยู่ที่ศรีลังกาในเวลานั้น บียังระบายความในใจจากการเฝ้าน้องชายของเธอว่า เธอไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้เนื่องจากเธอเป็นคนเดียวที่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลได้ และในโรงพยาบาลก็ไม่มีอะไรให้ทำมากนัก ฉันจึงอาสาไปหานิตยสารภาษาอังกฤษมาให้อ่านแก้เบื่อ เธอดีใจถามหานิตยสารแฟชั่น Glamour โชคดีที่เป็นนิตยสารโปรดของพี่สาวของฉันเหมือนกัน จึงรวบรวมมาให้อ่านได้ ๕-๖ เล่ม ครั้งต่อๆ มา ฉันเตรียมหนังสือนิทานภาษาอังกฤษมาอ่านให้เอฟัง โดยมีบีแปลเป็นภาษาสิงหลอีกทอด เอดูสดใสขึ้นมาก รวมทั้งพ่อแม่ของเขาและบี เราเริ่มพุดคุยกันสนุกสนานมากขึ้น บีเล่าเรื่องชีวิตและอนาคตของเธอให้ฉันฟัง พร้อมพูดกับฉันประโยคหนึ่งที่ฉันไม่มีวันลืม “You made our stay happier…” (เธอทำให้การอยู่ที่นี่ของพวกเรามีความสุขมากขึ้น) ครั้งสุดท้ายที่พบกันก่อนที่พวกเขาจะออกจากโรงพยาบาล เราวาดรูปแลกกันเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก ครอบครัวเอขอบอกขอบใจฉันมากมาย ส่วนฉันเองก็รู้สึกอบอุ่นในใจ เพราะพวกเขาก็ทำให้ฉันมีความสุขมากขึ้นเช่นกัน
ระหว่างการดูแลผู้ป่วยรายนี้ ฉันได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของสวนน้ำที่มาเยี่ยม เจ้าหน้าที่จากสถานทูตศรีลังกา นักสังคมสงเคราะห์ที่เข้ามาช่วยเหลือ คุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลใจดีมาก ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจในมิตรภาพและความปรารถนาดีของทุกๆ ฝ่าย และภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพวกเขาอีกด้วย
อภิกุล โกเมศโสภา (มุ้ย)
อาสาข้างเตียง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ รุ่น ๗