เที่ยวงานวัดสมัยใหม่ ส่งกำลังใจถึงน้องๆ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ห้างสรรพสินค้าได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางบริโภคนิยมแห่งยุคสมัยที่ผู้คนในปัจจุบันเดินทางไปเพื่อแสวงหาความบันเทิง ความสุขสนุกสนานให้กับตัวเองจากการได้เสพได้บริโภค ไม่บ่อยนักหรอกที่สถานที่ดังกล่าวจะมีพื้นที่ให้กับกิจกรรมทางศาสนาที่มีหลักการอย่างชนิดตรงข้ามกัน
การจัดงาน “วัดลอยฟ้า” เนื่องในโอกาสพุทธชยันตี หรือพระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี ณ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในวันที่ ๑๖-๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ จึงมองได้หลายแง่มุม ว่าเฉพาะด้านบวก นี่อาจเป็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ให้ได้สัมผัสรับรู้พุทธศาสนา เพราะสถานการณ์พุทธศาสนาไทยในปัจจุบันแสดงความเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อคนรุ่นใหม่ๆ ไม่เข้าไปเรียนรู้พุทธศาสนาในวัด การยกวัดไปไว้ในห้างสรรพสินค้าจึงเหมือนเป็นการย้อนรอยกุศโลบายในครั้งพุทธกาลที่พระพุทธองค์มีรับสั่งให้เหล่าพุทธสาวกเดินทางเข้าหาประชาชน แทนที่จะรอให้ประชาชนเดินมาหา
ในงานนอกจากเป็นการรวบรวมสำนักพุทธแนวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ พุทธมหายานจากหมู่บ้านพลัม พุทธวัชรยานจากมูลนิธิพันดารา และพุทธสายปฏิบัติอันหลากหลายมาไว้ในงาน ผ่านรูปแบบการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลแล้ว ยังมีการนำเสนอกิจกรรมในรูปแบบใหม่ๆ ที่เอาคุณค่าแบบพุทธมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ดังเช่น “ธนาคารจิตอาสา” ซึ่งเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึง (บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ [เวยยาวัจจมัย] ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐) หรือโครงการสายด่วนปรึกษาทางใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่เป็นสื่อกลางส่งผ่านความปรารถนาดีจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ตลอดจนลุงป้าน้าอาไปสู่ผู้ป่วยเด็กด้วยโรคเรื้อรังและโรคระยะสุดท้าย ซึ่งแม้โรคทางกายอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว บางรายเพียงรอเวลาจากไป แต่ทุกคนสามารถช่วยกันดูแลให้พวกเขาได้รับความสุขอันพึงมีในยามมีชีวิตอยู่ได้อีกมาก ในขณะเดียวกันกับที่เราจะได้ระลึกถึงความตายอันเป็นธรรมดาของชีวิตให้มากขึ้น ว่าอาจเกิดขึ้นกับใคร เมื่อใด และอย่างไรได้ทั้งสิ้น ไม่มีใครรู้ เพื่อเป็นอนุสติในการทำชีวิตให้คุณค่ายิ่งขึ้น
ตลอด ๔ วันที่โครงการสายด่วนฯ จัดกิจกรรม “เขียนการ์ดให้กำลังใจผู้ป่วยเด็กฯ” มีผู้สนใจทุกเพศทุกวัยเข้ามาร่วมเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ เกินกว่าที่คาดคิดมาก แม้โดยมากจะใช้เวลาตกแต่งการ์ดด้วยภาพวาดหรือเขียนข้อความให้กำลังเพียงสั้นๆ แล้วนำไปประดับบน “ต้นไม้แห่งความปรารถนาดี” ก่อนจะปลีกตัวไปสัมผัสกิจกรรมอื่นๆ ที่มีมากมายในงาน
แต่มีจำนวนไม่น้อยที่นอกจากจะส่งความปรารถนาดีไปให้กับน้องๆ ผู้ป่วยแล้ว ยังได้มีโอกาสอ่านคู่มือสายด่วนฯ พูดคุยแลกเปลี่ยนกับจิตอาสาของโครงการฯ หลังจากเขียนการ์ด หรือระหว่างยืนรอลูกวาดภาพสื่อกำลังใจให้กับเพื่อนๆ ทำให้หลายคนยอมรับว่าไม่เคยรับรู้หรือคิดถึงเรื่องความตายอย่างจริงจังมาก่อนเลย หลายคนให้กำลังใจแก่โครงการฯ ว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ตลอดจนมีหลายคนที่แนะนำความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่โครงการฯ ไม่น้อย คงเป็นเรื่องเว่อเกินไปที่จะกล่าวว่าผู้แวะเวียนเข้ามาร่วมเขียนการ์ดให้กำลังใจผู้ป่วยเด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความตายว่าเป็นธรรมดาของชีวิตแล้ว แต่อย่างน้อยเกือบทุกคนที่เข้ามาคงจะต้องเกิดการใคร่ครวญก่อนจะเขียนการ์ดให้กำลังใจผู้ป่วยเด็ก “ระยะสุดท้าย” และหวังว่าการระลึกถึงความตายบ้างแม้เพียงครั้งคราว อาจทำให้บางคนเกิดการฉุกใจมองเห็นความเป็นธรรมดา และเกิดการกลับมาทบทวนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
เช่นเดียวกับกำลังใจที่ทุกคนมอบให้จะถูกส่งต่อไปยังผู้ป่วยเด็กในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีและโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจของพวกเขาให้แช่มชื่นต่อไปได้แม้ในยามโรคภัยรุมเร้า
โดย สรนันท์ ภิญโญ