การดูแลเพื่อการตายดี... การดูแลสุขภาพองค์รวม
* เก็บความจากการเสวนาเรื่อง “การดูแลเพื่อการตายดี มิติหนึ่งของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม” ในงาน HA National Forum ครั้งที่ ๑๓ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ ณ อาคารอิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๑๐.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. โดย พระไพศาล วิสาโล (ประธานเครือข่ายพุทธิกา) ดร. นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ) ผศ. พญ. ลักษมี ชาญเวชช์ (โรงพยาบาลวัฒโนสถ) และพยาบาลพรวรินทร์ นุตราวงศ์ (โรงพยาบาลวชิระ) ดำเนินรายการโดย กนกวรรณ กนกวนาวงศ์ นักจัดรายการวิทยุ “มองชีวิต มีชีวา” คลื่นเอฟเอ็ม ๙๖.๕ เมกะเฮิร์ตซ์
การเผชิญความตายอย่างสงบกับปรัชญาความตายทางพุทธศาสนา
พระไพศาล วิสาโล: พุทธศาสนามองว่า ความตายเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ควรหลีกหนีหรือปฏิเสธ แต่ควรเรียนรู้ที่จะยอมรับว่านี่คือความจริงที่หนีไม่พ้น และเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเผชิญหน้า ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นข้อต่อของกระบวนการเกิดดับซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา ความตายมีสองมิติ คือ ด้านกายภาพและด้านจิตใจ กระบวนการที่จะไปสู่ความตายจึงมีสองด้าน ตลอดจนความตายไม่ใช่หายนะ แม้อาจเป็นวิกฤตทางด้านร่างกาย แต่เป็นโอกาสทางด้านจิตใจที่สามารถนำพาให้ผู้คนเข้าถึงความสุขสงบ และการยกระดับทางจิตวิญญาณได้
พุทธศาสนามองว่าความตายมีหลายประเภท ตายดี ตายลำบาก แตกต่างจากที่คนทั่วไปมองว่าการตายเป็นสิ่งที่ไม่ดี การตายดีคือ การตายอย่างสงบไม่ทุรนทุราย มีสติ และดีกว่านั้นคือ ตายอย่างสว่าง เกิดปัญญาก่อนสิ้นลม การตายดียังรวมถึงกระบวนการก่อนที่จะตาย เช่น การมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย
ในปัจจุบัน คนมองความตายว่าเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง หรือทำให้เกิดช้าที่สุดโดยใช้เครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ยืดความตายออกไป ซึ่งนำไปสู่ความทุกข์ทรมาน เป็นการมองความตายแบบลดทอนให้เหลือแต่มิติด้านกายภาพตามการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายกระแสหลัก คือ การทำทุกอย่างเพื่อยื้อชีวิตให้นานที่สุด หรือในทางกลับกันงก็ไม่ดูแลไม่สนใจเลย โดยเห็นว่าควรไปช่วยผู้ที่มีโอกาสรอดจะดีกว่า มองข้ามเรื่องทางจิตใจและคุณภาพชีวิตไป
ถ้าเราสามารถทำให้เกิดการเข้าใจที่ถูกต้องต่อความตาย กระบวนการรักษาจะเปลี่ยนไปเป็นการดูแลทั้งทางกายและจิตใจ นอกจากหมอและพยาบาลแล้ว ญาติ รวมถึงคนไข้ก็จะไม่เป็นเพียงผู้รอรับการรักษาอย่างเดียว เกิดการร่วมมือกันทั้งสามฝ่าย ทำให้การเยียวยาทางจิตใจเป็นไปได้
อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมอีกด้วย เพราะถ้าทุกคนตระหนักรู้ว่าการตายดีเป็นไปได้ และเป็นอย่างไร ก็จะไม่ใส่ใจเพียงแค่การอยู่ดี แต่จะเตรียมเรื่องการตายดีด้วย เห็นความสำคัญของการทำดี ซึ่งจะเป็นทุนช่วยให้ไปอย่างสงบเมื่อนึกถึงความดีที่ได้ทำ ทั้งยังเห็นความสำคัญของการฝึกจิตฝึกใจให้รับมือกับความเจ็บป่วยและความตายได้ดีขึ้น ไม่โอนความรับผิดชอบให้หมออย่างเดียว ญาติก็จะให้ความสำคัญในการดูแลทางจิตใจของผู้ป่วย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติก็จะดีขึ้น ถ้าเราเห็นความสำคัญของการตายดี การรวมศูนย์ที่โรงพยาบาลก็จะน้อยลง เราจะเห็นความสำคัญของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย บ้าน หรือวัด ซึ่งแม้ไม่มีเทคโนโลยี แต่เมื่อคนไข้ได้ฟังธรรมก็สามารถจากไปอย่างสงบได้
การมีทัศนคติต่อความตายที่ถูกต้องสามารถจะเปลี่ยนทิศทางของสังคมได้ ในปัจจุบัน สังคมเป็นวัตถุนิยมบริโภคนิยม ที่เชิดชูความสำเร็จ ความสนุก เซ็กซ์ และความเป็นหนุ่มเป็นสาว ซึ่งไม่เป็นสาระและเป็นปฏิปักษ์กับความแก่ เพราะเมื่อเราแก่ เจ็บ หรือตาย เราก็เสพสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าใจความตายก็จะรู้ว่าถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แต่ไม่ใช่สาระ ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถเอาไปได้
การเผยแพร่ทัศนคติดังกล่าวต่อสังคม จะก่อให้เกิดผลดีต่อชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคม ในด้านการศึกษา เช่น ในวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ควรจะพูดถึงความตายด้วย ยิ่งโรงเรียนแพทย์ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการตายดีและช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ สื่อมวลชนเองก็มีส่วนช่วยให้สังคมเกิดความเข้าใจได้ โดยการนำตัวอย่างของผู้ที่ตายดีมาเผยแพร่ เช่น หนังสือบันทึกประสบการณ์ของคุณกานดาวศรี (ตุลาธรรมกิจ) เรื่องเยียวยาด้วยรัก และเพื่อรอยยิ้มเมื่อสิ้นลม ที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับคนไข้ระยะสุดท้ายที่มีฐานะ ประสบการณ์และความตายที่แตกต่างกัน ทั้งตายดีและไม่ดี ชี้ให้เห็นว่าการตายดีเป็นสิทธิของทุกคน แม้จะจนแค่ไหนก็ตาม ถ้าระบบสุขภาพ หมอและพยาบาลให้ความสำคัญ
ความสำคัญของการทำความเข้าใจ เตรียมให้ผู้ป่วยและญาติเผชิญความตายที่ไม่ทุรนทุรายจนเกินไป
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์: ผมสนใจเรื่องนี้เมื่อครั้งที่ท่านพุทธทาสภิกขุมรณภาพ มีการตั้งวงพูดคุยกันเยอะ อย่างที่ท่านพุทธทาสบอกว่า ทัศนะต่อความตายของเราเป็นอย่างไร เราควรดิ้นรนขนาดไหน คิดว่าคนในยุคผม ได้รับผลกระทบจากเรื่องราวของท่านพุทธทาสเป็นหลัก เช่น แนวคิดการตายก่อนตาย
ประเด็นเรื่องความตายแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ว่าเราเผชิญกับอะไร ในยุคปัจจุบันเราสังเกตได้ว่า วิธีการเขียนประวัติศาสตร์แตกต่างไปจากเดิมที่เป็นแบบตำนานพงศาวดาร การเขียนแบบใหม่มีคุณลักษณะที่กำหนดท่าทีต่อความตายของเราอย่างมาก คือ หนึ่ง ทัศนะการมองเวลาเป็นเส้นตรง เดินหน้าไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนสมัยก่อนมองเวลาเป็นวัฏฏะเป็นวงกลม หรือที่เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิด แต่พอเรารู้สึกว่าชีวิตเรามีเพียงหนึ่งเดียว พอตายแล้วก็จบ ทำให้ทัศนคติต่อความตายของเราเป็นแบบหนึ่ง สอง การเขียนว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ จึงสามารถกำหนดได้ตามอำเภอใจ แต่ถ้าเราดูตำนานทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสต์กับอิสลาม จะพบว่าเราไม่ได้มีเจตจำนงอิสระของตัวเอง พระเจ้ามีสิทธิที่จะกำหนดให้เราเกิดหรือตายเมื่อไหร่ก็ได้
ทัศนะต่อเรื่องความตายเป็นเรื่องของยุคสมัย ถ้าถามคนปัจจุบันว่าตายดีตายอย่างไร คนส่วนหนึ่งจะตอบว่าตายไปเลย ตายอย่างปุบปับไม่ต้องทรมาน ซึ่งการตายแบบนี้สมัยก่อนเรียกว่าตายโหง ไม่เหมาะสมใดๆ ทั้งสิ้น การตายดีต้องเป็นการตายในหมู่ญาติพี่น้อง มีเวลาเตรียมตัว ได้สั่งเสียร่ำลาลูกหลาน
ปัญหาที่เราต้องมาทำงานด้านความตายเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ประเด็นเรื่องความตาย ว่าจะตายเมื่อไหร่ดี หรือว่าเราจะยื้อชีวิตคนไข้ไปถึงเมื่อไหร่ ประเด็นเชิงจริยธรรมหรือในเวชปฏิบัติแบบนี้ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เมื่อวงการแพทย์ประดิษฐ์เครื่องช่วยหายใจได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการถกประเด็นเรื่องความตาย เพราะเมื่อคนไข้ใส่เครื่องช่วยหายใจแล้วก็ยังไม่ตาย ยังมีชีพจรอยู่ เช่น กรณีของหญิงชาวญี่ปุ่นที่ตั้งครรภ์และจมน้ำ เมื่อใส่เครื่องช่วยหายใจก็สามารถอยู่จนคลอดลูกได้ และในไทยเมื่อมีการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะก็มีข้อถกเถียงว่าเมื่อไหร่จะนับว่าตาย แต่ก่อนถือว่าเมื่อสัญญาณชีพต่างๆ หมดไปก็ถือว่าตาย แต่การรอสัญญาณชีพหมดไปจะทำการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะไม่ทัน พอหัวใจหยุดเต้น การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ก็ไม่มี เมื่อผ่าอวัยวะออกมาก็เสียหายไปแล้ว วงการแพทย์จึงประชุมกันกำหนดเกณฑ์การตายดังที่เราใช้ในปัจจุบัน คือเกณฑ์สมองตาย เมื่อสมองส่วนบน (upper brain function) หยุดก็ถือว่าตาย นี่ถือเป็นการผลักดันผ่านอุตสาหกรรมการแพทย์อุตสาหกรรมยาต่างๆ เพื่อจะให้ตายเร็วๆ รีบเอาอวัยวะไปใช้ การนิยามความตายจึงถือเป็นการเมืองเหมือนกัน
เมื่อญาติมีเงินและอยากจะซื้อความตายของผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยพร้อมจะจากไป
พญ.ลักษมี ชาญเวชช์: ตนเองเป็นแพทย์เฉพาะทางพาลลิเอทีฟแคร์และการบรรเทาความปวด ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการตายดีในหมู่ผู้ดูแล คือ บุคลากรทางสุขภาพเป็นอันดับแรก การดูแลแบบประคับประคองทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ และเน้นการสร้างความเข้าใจต่อครอบครัว ถ้าผู้ป่วยตายไปแล้วครอบครัวไม่มีความสุขก็จะส่งผลต่อสังคมด้วย ฉะนั้น เราไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของญาติได้โดยทันที แต่ค่อยๆ สร้างความเข้าใจและให้ข้อมูล
ในโรงพยาบาลวัฒโนสถต้องเตรียมพร้อมบุคลากรทุกระดับ แพทย์และพยาบาลผู้ดูแลต้องให้ข้อมูลและต้องดึงครอบครัวให้มีส่วนร่วมในการช่วยดูแล แต่ปัญหาคือ มีเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่เข้าไปร่วมดูแลแบบพาลลิเอทีฟแคร์ตั้งแต่แรกเมื่อผู้ป่วยเริ่มเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิต
การกอดเพื่อเยียวยา
พยาบาลพรวรินทร์ นุตราวงศ์: สามีเคยป่วยเป็นมะเร็ง เมื่อได้รับยาเพียงแค่ ๔ ครั้งจาก ๘ ครั้ง สามีก็หมดกำลังใจจนจะฆ่าตัวตาย ตอนนั้นกอดเขา แล้วบอกเขาว่าพี่กลับบ้าน ไม่ต้องรักษาแล้ว พอพากลับบ้าน หมอก็โทร.มาตามให้มารับยาต่อ เผื่อโชคดีรักษาหาย เราปฏิเสธ ถ้าเขาจะตายให้ตายท่ามกลางความรักของคนในครอบครัวดีกว่า เรากอดกันทุกวัน เดินสวนกันก็กอด วันหนึ่งเป็นสิบๆ ครั้ง ตอนที่กอดเขาก็เหมือนเพิ่มพลังให้ตัวเราและเขา ส่งพลังจากใจสู่ใจ แล้วก็บอกเขาว่าพี่อย่าตายนะ อยู่กับแอ้อยู่กับลูก ไม่มีพี่ แอ้เลี้ยงลูกไม่ได้ ตอนนั้นลูกจะไปอเมริกา สามีก็ถามว่า พี่จะตายแล้วนะยังให้ลูกไปอีกหรือ เราก็บอกว่า พี่จะตายแต่ลูกยังต้องอยู่ แอ้สัญญา แอ้จะดูแลพี่จนกว่าลูกจะกลับมา ณ วันนี้ผ่านไป ๘ ปีเต็ม สามีก็ยังไม่ตาย
มีอีกกรณีหนึ่ง เจอคุณป้าร้องไห้อยู่หน้าตึก ถามแกก็ไม่ตอบ เลยเข้าไปกอด แกบอกว่าหมอจะให้พาลุงกลับบ้าน ป้าบอกว่าพากลับไม่ได้ เพราะที่บ้านอยู่กันแค่สองคน ป้าพากลับไปก็ไม่มีคนดูแล เลยบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวบอกหมอให้ ยังไม่พร้อมก็ไม่ต้องกลับ กอดแก แกบอกว่าขอบคุณมาก อยากกอดหนูทุกวัน พอกอดกันได้ ๓ วัน ก็ชวนคุณป้าไปกอดคุณลุง
วันถัดมา ป้าเตรียมตัวมาอย่างดี เราปิดม่านเพราะรู้ว่าเขาจะอาย พอบอกให้กอด ป้าก็กอดแล้วก็ซบลุงร้องไห้ บอกลุงว่า ฉันรักแก ไม่อยากให้แกตาย ลุงก็อึ้งไปนิด แล้วบอกว่าฉันก็เป็นห่วงแกจะแย่แล้ว ถ้าฉันตายไปแกจะอยู่กับใคร เป็นใจสู่ใจจริงๆ ต่อมาทั้งสองก็กอดกันเรื่อยๆ ไม่ต้องปิดม่าน ถัดมา ๓ วัน ป้าก็บอกว่าจะพาลุงกลับบ้าน จะพาไปกอดที่บ้าน หลังจากนั้น ป้าก็โทร.มาขอบคุณและเล่าว่าพาลุงไปใส่บาตร ทำสังฆทาน ทั้งๆ ที่หมอบอกว่าอยู่บ้านได้ไม่เกินหนึ่งเดือนก็ต้องกลับมาตายที่โรงพยาบาลแน่นอน แต่ลุงอยู่ได้ถึง ๘ เดือน ป้าโทร.มาบอกว่าลุงไม่กินอาหารหรือน้ำแล้ว ได้ถามป้าว่าจะพาลุงมาให้อาหารทางสายยางที่โรงพยาบาลไหม ป้าก็บอกว่าไม่ จะกอดอยู่ที่บ้าน ตอนปลายเดือนที่แปด ป้าก็โทร.มาอีกครั้งหนึ่งบอกว่าลุงตายแล้ว ช่วงที่ลุงกำลังจะตาย ป้าอ่านหนังสือสวดมนต์ให้ลุงฟัง บอกว่าไม่ต้องห่วง และสวดทำนองสรภัญญะเพราะอยากให้ลุงไปอย่างสงบ แล้วลุงก็ค่อยๆ จากไป เป็นเคสที่ดิฉันมีความสุข
คำถามจากผู้ร่วมเสวนา : การทำให้ผู้อื่นตายโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งๆ ที่ผู้นั้นยังมีอาการปกติดี ทำให้รู้สึกผิดอย่างมาก ไม่สบายใจเลย อยากจะเยียวยาความรู้สึกของตนเอง
พระไพศาล วิสาโล: การทำอะไรก็ตามถ้าไม่เจตนา ในทางพุทธศาสนาไม่ถือเป็นบาป ความรู้สึกผิด ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มีแง่คิดว่า เมื่อไรที่เราระลึกถึงความผิดพลาดในอดีต เหมือนเราได้กระทำกรรมนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แม้จะเป็นมโนกรรมก็ตาม ทางที่ดีให้เราพยายามยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งเราพยายามผลักไสความรู้สึกผิด มันยิ่งรบกวนจิตใจของเรา และลึกๆ ที่เราไม่สามารถลืมได้ เพราะเราไม่สามารถจะยอมรับความจริงว่ามันได้เกิดขึ้นแล้ว อาตมาว่าถ้าเรายอมรับความจริง และตระหนักว่ามนุษย์ย่อมมีการผิดพลาดกันได้ เราก็จะยอมรับความรู้สึกผิด และก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่ผิดไปแล้วแก้ไม่ได้ แต่เราสามารถทำกรรมปัจจุบันที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดได้อีก