Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ความฝันกับความจริง

-A +A

          ตั้งแต่ ปีพ.ศ.๒๕๔๙ ดิฉันได้รับโอกาสจากโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา ให้เป็นผู้ประสานงานโครงการอาสาข้างเตียง โดยทำงานชั่วคราวเพียง ๓ เดือน หลังจากกิจกรรมในครั้งนั้น หลายสิ่งหลายอย่างทั้งเนื้องานที่มีความน่าสนใจและท้าทาย ระบบการทำงานที่เป็นแนวราบ ไม่มีหัวหน้า มีแต่ที่ปรึกษา และเพื่อนร่วมงานที่มีความเป็นกันเอง ทำให้ดิฉันตัดสินใจทำงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

          ความรับผิดชอบเริ่มมีมากขึ้น มีการขยายงานจิตอาสาจากกรุงเทพฯ ถึงต่างจังหวัด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ดิฉันเหนื่อยอ่อน หากสนุกไปกับการวางแผน ทดลอง และปฏิบัติการ เพื่อให้งานบรรลุตามที่ตั้งใจไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ลากจูงให้ดิฉันห่างออกจากความฝันที่แท้จริงมากขึ้นไปทุกที จากการทำงานเกี่ยวกับความตาย ทำให้ดิฉันฉุกคิดได้ว่าเวลาของดิฉันมีการจบสิ้น ดิฉันตื่นขึ้นและเริ่มดำเนินการตามความฝัน 

          ดิฉันได้สมัครเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพศิลปะบำบัด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันศิลปะบำบัดแห่งบริติชโคลัมเบียประเทศแคนาดา (BCSAT) และศูนย์ศิลปะบำบัดฮิวแมนเซ็นเตอร์ (HUMAN Center) ซึ่งใช้เวลาในการเรียนทั้งหมด ๒ ปี ดิฉันคาดว่าศิลปะบำบัดคงมีรูปแบบเฉพาะบางอย่าง เน้นการตีความผ่านผลงาน และใช้การสังเกตกระบวนการทำงานศิลปะเพื่อให้เกิดความเข้าใจผู้รับการบำบัด แต่เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันที่ดิฉันเรียนจบหลักสูตรแรก ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ศิลปะบำบัดกับกลุ่มเด็กและวัยรุ่น กลับพบว่าแนวทางดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

          ศิลปะมีความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ โดยตัวศิลปะเองเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ได้อยู่กับตนเอง ได้ถ่ายทอดตัวตนที่อยู่ภายในออกมาเป็นผลงานภายนอกที่เป็นรูปธรรม ช่วยนำไปสู่การเข้าใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง นอกจากนั้น ยังเป็นการปลดปล่อยอารมณที่คั่งค้างยากที่จะเป็นคำพูดออกมาเป็นสัญลักษณ์ หรือเรื่องราว เป็นการฉายภาพตนเองที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำพูด หรือเลือกเฉพาะบางถ้อยคำมาเปิดเผย ซึ่งทำให้ผู้รับการบำบัดรู้สึกปลอดภัย ไม่ถูกคุกคาม 

          ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นไม่ได้ถ่ายทอดเพื่อเน้นความสวย ความถูกต้อง แต่เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก บางครั้งผลงานที่ปรากฏอาจจะงดงามด้วยตัวมันเอง แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งดิฉันใช้กระดาษเอสี่ สีขาว ๓ แผ่น มาบิดและขยำเป็นประติมากรรมสีขาวล้วน ชิ้นแรกแทนความเป็นปัจจุบันขณะ ชิ้นที่สองแทนการหนักแน่นรอคอย ชิ้นที่สามแทนความไว้วางใจ และสุดท้ายนำกระดาษบางมาติดเพื่อแทนการปล่อยวาง 

          ดิฉันมีความภาคภูมิใจและรู้สึกว่างานนั้นมีคุณค่าและความหมายต่อดิฉันมาก เพราะได้ค้นพบเรื่องราวบางอย่างของตนเอง แต่จากประสบการณ์หลายต่อหลายครั้ง ทำให้ดิฉันรู้ว่า คนอื่นไม่ได้คิดอย่างนั้น ดิฉันรีบเดินลงมาชั้นล่าง บอกพี่ที่ดูแลสถานที่ว่า “กระดาษที่ขยำวางอยู่ไม่ได้เป็นขยะนะคะ พี่อย่าเพิ่งเอาไปทิ้งนะ” 

  

          มีครั้งหนึ่ง ดิฉันอยู่ในอารมณ์โมโหและน้อยใจ ดิฉันกำดินสอ EE และขีดไปมาลงบนกระดาษขาว เส้นที่ลากหนักและเข้ม สักพักเมื่ออารมณ์คลาย เส้นก็อ่อนลง ต่อมาดิฉันวาดรูปอีกหน้าเป็นรูปนกสองตัวอยู่ด้วยกัน บ่งบอกถึงความสมดุลของอารมณ์

          นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ดิฉันค้นพบ และคนทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความสามารถและเชี่ยวชาญทางศิลปะ แต่ยังมีกลุ่มคนบางประเภทที่ต้องการความช่วยเหลือจากนักศิลปะบำบัด เช่น เด็กออทิสติคที่มีปัญหาทางภาษาและพฤติกรรม เด็กป่วยระยะสุดท้ายที่มีความหวาดกลัว เด็กถูกทารุณกรรมที่ไม่สามารถแสดงอารมณ์ได้ เป็นต้น 

          ความจริงศิลปะบำบัดกับงานอาสาข้างเตียงที่ดิฉันทำอยู่นั้นไม่ได้ต่างจากกันเลย หลักการพื้นฐานและแนวทางในการเข้าหาผู้คน ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำพูดและการตีความมากมาย แต่อาศัยการอยู่กับปัจจุบันขณะ อยู่กับคนที่อยู่ตรงหน้า รับฟังอย่างลึกซึ้ง ยอมรับคนที่อยู่ตรงหน้าอย่างไม่มีเงื่อนไข และตอบสนองโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ยิ่งมีการตระเตรียมคำพูด หรือมีความตั้งใจอยากจะได้อะไร ยิ่งทำให้ไม่สามารถซึมซับความรู้สึก และอารมณ์ของผู้รับการบำบัดได้อย่างแท้จริง

          ดิฉันดีใจที่งานและความฝันของดิฉัน ไม่ได้มีแนวทางที่ห่างไกลกันเลย อีกทั้งยังสามารถนำความรู้จากศิลปะบำบัดมาประยุกต์ใช้กับงานในปัจจุบันได้อย่างกลมกลืนกัน และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอีกมากมายในอนาคตได้อีกด้วย

คอลัมน์: