Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

กันย์: ยิ้มกว้างบนทางสายป่วย

-A +A

กันย์

“ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากโรคที่คุณเป็นนะ แต่เกิดจากที่คุณไม่อยากเป็น คุณดิ้นรนขัดขืน
คุณแกะโรคออกมาไม่ได้หรอก หมอยังแกะออกมาไม่ได้เลย

ในนาทีที่คุณยอมรับ มันง่าย เรายิ้มได้ การยอมรับไม่เพียงดีต่อตัวเรา แต่ยังดีต่อคนตรงหน้าด้วย
หลายคนตรงหน้ามีกำลังใจ เพียงเพราะเห็นรอยยิ้มของเรา เราก็ดีใจว่า การแบ่งปันมันง่ายกว่าที่เราคิด
เพียงเรามีกำลังใจดี จิตใจดี เขาก็ได้รับพลังดีๆ ไปด้วย มันมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นเยอะเลย...”

 

     นี่คือข้อคิดจากประสบการณ์ตรงของผู้หญิงที่ชื่อกันย์ รสวรรณ ม่วงมิ่งสุข สามัญชนคนธรรมดาที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่รักษาไม่หาย เมื่อความตายมาเยี่ยมเยือนเตือนสติพร้อมบททดสอบที่เคี่ยวข้น ข้อคิดและประสบการณ์ของเธอจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครหลายคนรวมถึงผมด้วย กันย์ยินดีแบ่งปันเรื่องราวของเธอในโครงการ “ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง?” ดำเนินงานโดยทีมงานและอาสาสมัครเครือข่ายพุทธิกา

     ใครหลายคนบอกว่า กันย์ยังอายุน้อย เพียง 33 ปี ไม่น่าจะต้องป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่ 4 เช่นนี้ แต่ความจริงคือชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ใครเล่าจะกำหนดให้ตนแข็งแรงไปตลอดกาลได้

     หลังการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง กันย์เข้าสู่กระบวนการรักษา ในช่วงแรกแพทย์ผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับรับยาเคมีบำบัด การรักษาเหล่านั้นได้สร้างความทรมานไม่แพ้กัน เมื่อถึงจุดหนึ่งกันย์เลือกที่จะไม่รับยาเคมีบำบัด ขอหยุดพักการรักษาเป็นเวลา 1 ปี ช่วงเวลานี้เธอเลือกที่จะท่องเที่ยวในที่ที่อยากไป ทำงานอาสาสมัคร พร้อมกับเริ่มต้นปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง

     ปีถัดมา มะเร็งกลับมาลุกลามใหญ่โต จนต้องตัดกระเพาะปัสสาวะทั้งหมด ทำให้ต้องปัสสาวะผ่านท่อเทียมที่หน้าท้อง (ทวารเทียม) แถมยังมีปัญหาแทรกซ้อน ขาขวารู้สึกชา ขยับและเดินไม่ได้ ซึ่งต้องฟื้นฟูดูแลมาจนถึงปัจจุบัน

 

ความตาย ความกลัว และการยอมรับ

     เดิมทีเธอคิดว่าความตายแม้เป็นสิ่งแน่นอน แต่มันก็อยู่ไกลมาก จนกระทั่งเมื่อแรกได้รับรู้ว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 4 นั่นแหละ เธอจึงรู้สึกได้ถึงความตายที่ขยับเข้าใกล้ชิดในระยะสบตาและสัมผัสได้

     กันย์ทุกข์มากจากคำว่า “มะเร็ง” และ “ระยะสี่” ยิ่งเมื่อได้เห็นผู้ป่วยเตียงข้างๆ มีอาการทุกข์ทรมานสาหัส ก็ยิ่งกริ่งเกรงหวาดกลัวมากขึ้น แต่หลังจากที่เธอสนใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ก็เริ่มมีสติรู้ตัวว่าอนาคตที่เธอวิตกกังวลนั้นยังมาไม่ถึง ปัจจุบันเธอยังมีร่างกายที่แข็งแรง ยังทำอะไรได้อีกหลายอย่าง เธอจึงยอมรับได้มากขึ้นว่ากำลังป่วยเป็นมะเร็ง และกำลังจะตาย

     แม้ความจริงนั้นจะดูโหดร้าย แต่เมื่อเธอยอมรับได้ กลับกลายเป็นว่าเธอสามารถยิ้มได้ง่ายและกว้างกว่าเดิม คนรอบข้างก็พลอยรับพลังและกำลังใจจากเธอไปด้วย

     แม้จะยอมรับความตายได้ แต่กันย์ก็สะท้อนข้อคิดเรื่องความกลัวตายได้น่าสนใจ

     “การยอมรับกับความกลัว เป็นคนละเรื่องกัน บางคนจะไม่เข้าใจตรงนี้ เหมือนเรากลัวที่จะผ่าตัด แต่เรายอมรับการผ่าตัดได้ เราก็จะกล้าเข้าห้องผ่าตัด เช่นเดียวกับเรื่องความตาย ซึ่งแม้เราจะกลัว แต่เราก็เริ่มที่จะปรับใจยอมรับเขาได้มากขึ้น เขามาเมื่อไหร่ก็ยอมตายเมื่อนั้น”

      

พอกับชีวิต

     การยอมรับความตาย ทำให้เรา “พอแล้ว” กับการรักษาได้ เลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับการรักษาพยาบาลแบบไหน ผมคิดว่าการยอมรับความตาย มีส่วนสำคัญให้พี่กันย์บริหารความสมดุลในชีวิตได้ดีมากระหว่าง ความสุขสบาย ชีวิตที่ยืนยาว และศักดิ์ศรีที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง

     นอกจากการเรียนรู้ปฏิบัติธรรม และยอมรับความตายได้ สิ่งที่ทำให้กันย์พอจะปล่อยวางชีวิตได้คือ การได้ทำบรรลุความปรารถนาส่วนใหญ่ในชีวิตของเธอ “อยากเรียนก็ได้เรียน อยากเที่ยวก็ได้เที่ยว อยากทำงานอะไรก็ได้ทำ ได้ฝึกปฏิบัติธรรม” ดังนั้นการยืดยื้อชีวิตให้ยาวนานออกไปจึงดูมีความหมายน้อยสำหรับเธอ

     กันย์ยังให้ข้อคิดว่าสำหรับคนอื่นๆ ที่มีครอบครัว มีคนรัก ความรักและความผูกพันอาจทำให้การปล่อยวางชีวิตและยอมรับความตายเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา เธอบอกว่าโชคดีที่ไม่มีสามี มิฉะนั้นสถานการณ์คงแตกต่างและยากกว่านี้มากนัก

     ค่าใช้จ่ายกับการรักษาก็เป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคร้ายแรง ต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน เธอจึงเลือกวิธีการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า กันย์ไม่ต้องการให้สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลจนหมดเนื้อหมดตัว สภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัวหลังการเสียชีวิตของเธอก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเธอเช่นกัน

     นอกจากนี้ เธอยังได้มาพบแพทย์ที่รับเธอเป็นผู้ป่วยในการดูแล ตามแนวทางการดูแลระยะท้ายแบบประคับประคอง (Pallaitive Care) กันย์จึงมั่นใจว่าจะได้รับการบรรเทาความเจ็บปวดในระยะท้ายเป็นอย่างดี และจะได้รับการตอบสนองทางจิตใจตามที่ได้แสดงความปรารถนาไว้ เธอยิ้มกว้างกว่าเดิมเพราะได้เพื่อนคู่คิด ประคับประคองชีวิตจนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องจากไป

      

จากผู้ป่วยสู่ผู้แบ่งปัน กับแฟนเพจ “มะเร็งพลิกชีวิต”

     เพราะเวลาในการพบแพทย์แต่ละครั้งช่างน้อยเหลือเกิน อินเตอร์เน็ตจึงเป็นแหล่งความรู้สำคัญในการดูแลสุขภาพของกันย์ (และเราทุกคน)

     เธอได้เข้าเยี่ยมชม และหาข้อมูลจากเว็บไซต์สุขภาพต่างประเทศเกี่ยวกับผู้ป่วยทวารเทียมอยู่บ่อยๆ กันย์พบว่า ฝรั่งหลายคนช่างหน้าทึ่ง แม้ต้องขับถ่ายทางหน้าท้องก็ยังสามารถว่ายน้ำ วิ่งมาราธอน ปีนเขาได้สบายๆ ให้แรงบันดาลใจในการป่วยแต่ผาสุกยิ่งนัก แต่ความรู้ดังกล่าวมักเป็นภาษาต่างประเทศ เธอจึงเปิดเฟซบุคแฟนเพจเล่าประสบการณ์การเป็นมะเร็งและมุมมองชีวิตของตัวเธอเองในชื่อ “มะเร็งพลิกชีวิต”

     ผลตอบรับดีเกินคาด แทนที่เธอจะเป็นฝ่ายให้ความรู้ เธอกลับได้กำลังใจจากเพื่อนที่รู้จักและคนแปลกหน้าอย่างมากมาย นอกจากนี้กันย์ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเพื่อนร่วมประสบการณ์ ได้เรียนรู้เส้นทางชีวิตของแฟนเพจ มิตรภาพที่เบ่งบานในโลกไซเบอร์ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ปัจจุบันเธอยังดูแลแฟนเพจโดยมีผู้ติดตามกว่าเจ็ดร้อยคน

 

บทเรียนจากกันย์

     หากประเมินจากการดูแลสุขภาพกายและใจของเธอที่ดีเยี่ยม กันย์ยังคงมีเวลาที่เหลืออีกพอสมควร สำหรับเตรียมตัวรับความสูญเสียที่กำลังจะเกิดกับครอบครัวของเธอ สั่งสมความดีผ่านการแบ่งปันความรู้และกำลังใจกับคนใกล้ชิด  ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และปฏิบัติธรรมในชีวิตจริง ให้รสชาติเข้มข้นกลมกล่อม ดูเหมือนกันย์สอนให้เรารู้ว่า บางครั้งกว่าชีวิตจะเข้าถึงคุณค่าและความหมายด้วยความผ่อนคลายและเบิกบานได้ ก็ต่อเมื่อได้เผชิญความเจ็บป่วยและความตายอย่างมีสตินั่นเอง

 

สัมภาษณ์เมื่อ 7 ตุลาคม 2557

 

-------------------------------------------------------------------

โครงการชีวิตสอนอะไรเราบ้าง

ในมุมหนึ่ง ความตายคือครู ผู้มาสอนบทเรียนแห่งชีวิตแก่เราทุกคน

สำหรับผู้ป่วยระยะท้าย หรือเคยผ่านประสบการณ์เฉียดตาย
ที่สามารถยอมรับความตายได้ ได้รับข้อคิดสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต
และยินดีแบ่งปันบทเรียนแก่สาธารณะ

เราขอเชิญชวนท่าน ฝากบทเรียนสำคัญแห่งชีวิตให้คนรุ่นหลัง
ในโครงการ “ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง

เพียงกรอกที่อยู่ติดต่อ และหัวข้อบทเรียนไว้กับเรา
ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ทีมงานของโครงการจะตามไปสัมภาษณ์ 
เก็บเกี่ยวบทเรียนของท่าน เพื่อเผยแพร่แก่คนรุ่นหลังในช่องทางต่างๆ

ศึกษาคุณสมบัติผู้ให้บทเรียน และรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการได้ที่ http://goo.gl/O1P9nH

ดำเนินงานโดย เครือข่ายพุทธิกา เพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม

 

ที่มา:

คอลัมน์: