เหลียวหลัง แลหน้า อาสาดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย
ขัอมูลจากการสัมภาษณ์ ศ.คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
มีนิทานเซนเรื่องหนึ่ง เล่าว่าคหบดีคนหนึ่งไปทำบุญที่วัดในวันปีใหม่ แล้วขอพรจากหลวงพ่อเจ้าอาวาส พระท่านก็เขียนคำอวยพรให้ว่า "พ่อตาย ลูกตาย หลานตาย" คหบดีเห็นเข้าก็โกรธ ต่อว่าหลวงพ่อว่าเหตุใดจึงมาแช่งกัน หลวงพ่อตอบคหบดีว่า การตายตามลำดับอายุขัยเป็นพรอย่างยิ่งแล้ว ลองคิดดูว่าหากหลานตายก่อนปู่ หรือลูกตายก่อนพ่อ ตายอย่างไม่เป็นไปตามธรรมดา ธรรมชาติ เขาจะมิยิ่งโศกเศร้าหรอกหรือ คหบดีได้ฟังเช่นนั้นก็เข้าใจในธรรมที่หลวงพ่อให้ จึงขออภัยและคำนับขอบพระคุณด้วยความซาบซึ้งในธรรมที่ได้รับ
แต่ในความเป็นจริง ทุกครอบครัวไม่ได้โชคดีอย่างคำอวยพรของหลวงพ่อในนิทานเสมอไป แต่ละปีสังคมไทยมีเด็กเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ นับหมื่นนับแสนคน เพียงการรับมือกับการตายของตัวเองหรือญาติพี่น้องก็นับว่ายากยิ่งแล้วสำหรับผู้คนในปัจจุบันที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับความตายอย่างเหมาะสมเพียงพอ ยิ่งเมื่อผู้ใกล้ตายเป็นลูกหลานในวัยเยาว์ที่กำลังสดใสน่ารัก ความทุกข์ทรมานใจอาจเพิ่มมากเป็นทวีตรีคูณ
ลำพังบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสุขภาพปัจจุบันที่มีภาระล้นมือ ย่อมไม่เพียงพอต่อการเยียวยาผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายและดูแลจิตใจญาติไปพร้อมกันได้ การเปิดโอกาสให้ผู้คนที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูแล เป็นเพื่อนให้กำลังใจ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และหนทางที่วาดหวังไว้ว่าควรจะเป็นยังอยู่อีกยาวไกล แต่จากประสบการณ์พัฒนาระบบจิตอาสาเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ดังจะกล่าวถึงต่อไปในบทความ และบทเรียนจากโครงการอาสาข้างเตียง โดยเครือข่ายพุทธิกา อาจถือได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของการวางรากฐานการดูแลผู้ป่วยเด็กที่ประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในอนาคต
เส้นทางจิตอาสาโรงพยาบาลเด็ก
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ถือเป็นสถาบันสุขภาพทางด้านเด็กแห่งแรกของประเทศ โดยแตกหน่อมาจากรากเดิมที่เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของโรงพยาบาลราชวิถี (เดิมชื่อโรงพยาบาลหญิง เป็นโรงพยาบาลเฉพาะสตรีและเด็ก) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ต่อมาเนื่องจากต้องรองรับผู้ป่วยเด็กจำนวนมากขึ้น จึงได้ก่อสร้างอาคารแผนกเด็ก และให้ชื่อว่า “โรงพยาบาลเด็ก” ในโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ก่อนจะพัฒนามาเป็นสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีในปัจจุบัน
ความแออัดและไม่สมดุลระหว่างบุคลากรทางแพทย์และผู้ป่วยเป็นปัญหาที่ขยายตัวมาพร้อมๆ กับการเติบโตของระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะเมื่อผู้คนจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลเข้ามาแออัดกันในนครหลวง โรงพยาบาลเด็กจึงต้องประสบกับปัญหาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มาแต่แรก และนับวันจะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ
โรงพยาบาลจึงเห็นความสำคัญของการเชิญชวนจิตอาสาเข้าร่วมดูแลสุขภาพเด็กมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๐๗ โดยเริ่มจากการร่วมงานกับมูลนิธิด้านเด็กในการช่วยเหลือเด็กที่ถูกทิ้งในโรงพยาบาล ก่อนที่จะขยายไปเป็นงานจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเฉพาะเรื่องที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยพัฒนาการช้า ฯลฯ หากแต่เป็นการดำเนินงานเฉพาะในแต่ละหน่วย ไม่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบในส่วนกลาง ทำให้งานจิตอาสาไม่สามารถขยายตัวออกไปได้เพียงพอต่อความจำเป็นในการดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนแออัดมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๕๐ สถาบันสุขภาพเด็กฯ จึงเริ่มวางระบบการจัดการจิตอาสาอย่างเป็นรูปธรรม มีการทำระบบลงทะเบียน ว่ามีจิตอาสาเข้าออกตรงหน่วยไหนของโรงพยาบาล และดูแลผู้ป่วยในหลากหลายรูปแบบอย่างไร ตลอดจนสื่อสารความต้องการจิตอาสาของสถาบันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงทำให้งานจิตอาสาขยายออกไปได้ จนมีกลุ่มชาวต่างประเทศเข้ามาลงทะเบียนสมัครเป็นจิตอาสาอีกด้วย
จนในปัจจุบัน ในแต่ละปีจะมีจิตอาสาสมัครเข้ามาร่วมงานกับโรงพยาบาลถึง ๖๐๐ – ๗๐๐ คน
จิตอาสาสามประเภท
แม้ว่างานจิตอาสาทุกประเภทจะมีคุณค่าอยู่ในตัวเอง แต่ธรรมชาติของงานแต่ละอย่าง ตลอดจนความต้องการและศักยภาพของจิตอาสาแต่ละคน ย่อมมีความแตกต่างหลากหลายกันไป การบริหารจัดการให้งานและจิตอาสาเป็นไปอย่างสอดคล้องลงตัว เพื่อให้จิตอาสาได้แสดงศักยภาพออกมาและเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ การทำความเข้าใจประเภทของจิตอาสาและงานเป็นเรื่องราวแรกๆ ที่จำต้องทำความเข้าใจ
สถาบันสุขภาพเด็กฯ แบ่งกลุ่มจิตอาสาที่เข้ามาร่วมงานในโรงพยาบาลเด็กออกเป็นสามกลุ่ม
กลุ่มแรกคือ กลุ่มจิตอาสาทั่วไป มีหน้าที่เข้ามาพูดคุย ดูแล เยี่ยมเยียน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษอะไร เพียงช่วยทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเพลิดเพลิน ลืมความทุกข์ไปได้ชั่วคราว
กลุ่มที่สองคือ อาสาข้างเตียง เป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
เป็นงานอาสาเฉพาะทางที่ต้องอาศัยเวลาและความละเอียดอ่อนมาก เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ในระยะแรกโรงพยาบาลจึงยังไม่เปิดรับจิตอาสา หากอาศัยนักเรียนพยาบาลเข้ามาช่วย แต่พบข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องพอ จึงเริ่มเปิดรับจิตอาสาจากภายนอกโรงพยาบาล
เริ่มแรกสถาบันเป็นผู้จัดอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับจิตอาสาก่อน แต่เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่ง พบว่าทำไม่ไหว เพราะกิจกรรมดังกล่าวมีรายละเอียดมาก ต้องอาศัยการบริหารจัดการสูง นอกจากการอบรมแล้ว ยังมีงานลักษณะอื่นๆ เช่น การประสานงาน และติดตามผลอีกด้วย
สถาบันจึงจัดตั้งหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเฉพาะ ประกอบเป็นคณะกรรมการจากทีมแพทย์ พยาบาลหอผู้ป่วย นักจิตวิทยา และนักกิจกรรมบำบัด ฯลฯ เพื่อดูแลบริหารจัดการแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับสมัคร การฝึกอบรม การประเมินผล การเยี่ยม ตลอดจนทำกิจกรรมกับผู้ป่วยและญาติ โดยเปิดโอกาสให้องค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในงานดังกล่าว อาทิ เชิญชวนเครือข่ายพุทธิกาเข้าช่วยทำเรื่องการรับสมัคร และฝึกอบรมจิตอาสา เป็นต้น
กลุ่มที่สามคือ กลุ่มที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน เช่น นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรชีวิตและความตายจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) นักศึกษาจากสาวิกาสิกขาลัย หรือกลุ่มศิลปะบำบัด โดย พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทักษะในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยเด็กและญาติ ได้รับการอบรมมาอย่างดีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง จึงไม่ต้องบริหารจัดการหรือเตรียมความพร้อมมากนัก เพียงแต่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาเป็นอาสาข้างเตียงในบางโอกาส และให้บุคลากรของสถาบันได้ศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มไปด้วย
ศูนย์ประสานงานจิตอาสาและศูนย์ประสานงานช่วยหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย
จากเดิมที่การรับจิตอาสาเป็นเรื่องเฉพาะหน่วยงานในโรงพยาบาล ต่อเมื่อตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบการจัดการเพื่อเชื่อมร้อยงานจิตอาสาต่างๆ ในสถาบันสุขภาพเด็กฯ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง ศูนย์ประสานงานจิตอาสา (Children Friendly Center) ซึ่งมีหน้าดูแลเรื่องจิตอาสาทั่วไป และศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Padiatric Palliative Care Center) สำหรับดูแลอาสาข้างเตียง
กล่าวเฉพาะงานช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย ศูนย์ประสานดังกล่าวมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยและสถานการณ์การดูแลของทุกหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ป่วยระยะสุดท้ายในแต่ละหอ ความต้องการจิตอาสา ว่าเป็นแบบไหน อย่างไร รวมถึงการช่วยประสานงานให้จิตอาสาและเจ้าหน้าที่ประจำหอผู้ป่วยมีความสนิทสนมกันในระดับหนึ่งอีกด้วย
ศ.พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ หนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่มพัฒนาระบบการจัดการจิตอาสาในสถาบันสุขภาพเด็ก กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า “เพราะการอยู่ใกล้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทั่วไป เมื่อจิตอาสาต้องมาเผชิญกับความตาย อาจจะเกิดปัญหาหรือความเครียดโดยไม่รู้ตัว และต้องการคนพูดคุยปรึกษาหารือด้วย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่ จิตอาสา และญาติผู้ป่วย จะช่วยให้การทำงานเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะสถาบันต้องการจิตอาสาที่จะอยู่กับผู้ป่วยไปจนวาระสุดท้าย”
แต่กว่าจะมาเป็นศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างในปัจจุบันได้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายประการ ที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจกับบุคลากรในโรงพยาบาลโดยเฉพาะแพทย์ เพราะระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะต้องเริ่มต้นที่แพทย์ หากแพทย์ไม่ยอมรับ ระบบดังกล่าวย่อมไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปไม่มีแพทย์คนใดยอมรับว่าคนไข้ของตนเองจะต้องตาย ยกเว้นเมื่อใกล้จะตายจริงๆ จึงเป็นภารกิจสำคัญของทางศูนย์ประสานงานที่จะต้องให้ข้อมูลและทำความเข้าใจร่วมกับแพทย์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทำให้แพทย์มองเห็น เข้าใจ และยอมรับระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในที่สุด
แม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะแพทย์จะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้าใจในเรื่องดังกล่าว แต่ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะใบขอรับคำปรึกษามายังหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากแพทย์เจ้าของไข้ จะช่วยเปิดทางให้ทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วยวิสัญญีแพทย์ นักจิตวิทยา และนักกิจกรรมบำบัด สามารถเข้าไปประเมินผู้ป่วย เพื่อร่วมกันกำหนดกิจกรรมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายได้อย่างเต็มตัว
ศ.พญ.วินัดดา กล่าวว่า “นับจากวันที่เริ่มมีระบบการดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว การทำงานมีการพัฒนาไปมาก จนได้รับการยอมรับให้เข้าไปอยู่ในงานประชุมวิชาการของสถาบันมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๑ มีการพัฒนาระบบการดูแลให้ครอบคลุมผู้ป่วยทั้งสามกลุ่ม คือ หาย พิการ และตาย โดยเฉพาะในช่วงสองปีหลัง การดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายเริ่มบูรณาการเข้าไปสู่ระบบการเรียนการสอนประจำ รวมถึงการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์อีกด้วย
“ล่าสุดในปี พ.ศ.๒๕๕๔ สถาบันได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย และรับฝึกอบรมเรื่องดังกล่าวให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อสร้างต้นแบบที่ทุกคนสามารถจะดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายได้ และนำเสนอความรู้เรื่องแนวทางการดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายเฉพาะกลุ่มที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในวงกว้างต่อไป”
อุปสรรค และความต่อเนื่อง
การดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย เป็นงานที่ต้องการอาศัยความต่อเนื่องอย่างมาก และควรประกอบไปด้วยจิตอาสา แพทย์ พยาบาล และนักเรียนพยาบาล ทำงานประสานกัน จึงจะดำเนินไปได้ดีกว่าปล่อยให้เป็นภาระของบุคลากรทางแพทย์เพียงฝ่ายเดียว สถาบันจึงต้องการให้มีจิตอาสาที่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องในระยะยาว แต่จากที่ผ่านมาจะพบว่า แม้จิตอาสาบางคนมีใจ แต่ยังขาดความทน เมื่อต้องเข้ามารับรู้ปัญหาของคนอื่นมากๆ จึงมักจะหลุดออกไปจากวงจรจิตอาสาอย่างง่ายๆ ทำให้การดูแลขาดองค์ประกอบสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย
แต่การดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจะขาดความต่อเนื่องไม่ได้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ไม่ให้สถาบันต้องพึ่งพาการดูแลผู้ป่วยจากส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงอย่างเดียว จึงต้องว่าจ้างนักจิตวิทยาและนักกิจกรรมบำบัดเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ เพื่อคอยดูแลผู้ป่วยร่วมกับทีมแพทย์เป็นหลักด้วย ไม่ว่าจะมีจิตอาสาหรือไม่ก็ตาม รวมถึงคอยติดตามการทำงานทุกเดือนว่า ผู้ป่วยยังได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมอยู่หรือไม่ แม้จะยังทำได้ไม่สมบูรณ์นักก็ตาม
และเพื่อให้ระบบสามารถดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่องจริง ปัจจัยเรื่องเงินทุนเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เช่นกัน แม้ว่างานจิตอาสาจะได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้บริหารของสถาบันและแพทย์แล้ว แต่เพื่อให้การบริหารจัดการคล่องตัวยิ่งขึ้น ศูนย์ประสานงานจิตอาสาและศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จึงพยายามแสวงหาการสนับสนุนจากภายนอกด้วย เช่น สปสช. รวมถึงการตั้ง ”กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ จึงทำให้คณะทำงานมั่นใจว่า งานจิตอาสาจะไม่สะดุดหยุดลงจากขาดเงินสนับสนุนแม้ว่าจะต้องถูกตัดงบเพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังมหาอุทกภัยถล่มเมืองก็ตาม
สู่ปลายทาง - จิตอาสาชุมชน
แม้ว่าระบบจิตอาสาดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายในสถาบันสุขภาพเด็กฯ จะนับว่ามีความก้าวหน้าไปมาก แต่ยังห่างไกลจากเป้าหมายสุดท้ายที่สถาบันต้องการอยู่ไม่น้อย คือการมีจิตอาสาเข้ามาร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ในระยะยาว และช่วยสอนจิตอาสารุ่นใหม่ๆ ต่อไป ซึ่งแม้จะมีอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ถือว่าน้อยมาก เพียงประมาณร้อยละ ๕ ถึง ๑๐ ที่ยังคงไปมาหาสู่และเกาะติดสถานการณ์บนหอผู้ป่วยอยู่เป็นประจำ เช่น มาร่วมในกิจกรรมตักบาตรข้างเตียง และกิจกรรมนิมนต์พระมาฝึกพ่อแม่ที่หอผู้ป่วย ตลอดจนบางคนยังมาเป็นอาสาข้างเตียงด้วย เป็นผู้ฝึกอบรมจิตอาสา ฝึกเจ้าหน้าที่ด้วย และทำกิจกรรมกับญาติผู้ป่วยด้วย
โดยการดูแลจิตอาสาให้ยังคงร่วมงานกับสถาบันอย่างต่อเนื่องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหอผู้ป่วย ศูนย์ประสางานจิตอาสา และจิตอาสาว่ามีความสนิทสนมเพียงใด
อีกประการหนึ่งคือ การเข้าถึงจิตอาสากลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม เพราะผู้ที่จะมาเป็นจิตอาสาเพื่อดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย ควรจะต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากพอ และสามารถมาทำงานได้อย่างต่อเนื่องยาวนานพอ ไม่ใช่ไปๆ หายๆ ตามอารมณ์ ซึ่งมีไม่น้อย โดยมากมักเป็นคนรุ่นใหม่ อายุยังน้อย เข้าสู่ระบบไอทีได้ไว วูบหนึ่งอยากทำดี แต่แล้วก็เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นๆ ได้ง่าย ซึ่งจะทำให้หมดแรงไประยะยาว ในขณะที่สถาบันพบว่าแม้คนอยากทำความดีและมีคุณสมบัติเหมาะสมจะมีมาก แต่คนกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ยังไม่รู้เส้นทางเข้าถึงการทำความดี เช่น กลุ่มครู ข้าราชการ ซึ่งจะอายุมาก เข้าไม่ถึงข้อมูลทางไอที จึงต้องหาวิธีการอื่นเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนดังกล่าวให้เหมาะสม
เช่นเดียวกับการรับสมัครจิตอาสาจากคนในชุมชนรอบๆ โรงพยาบาล ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เพราะมีเงื่อนไขที่เหมาะสมหลายประการ เช่น ไม่ต้องเดินทางไกล ตอนเช้าสามารถแวะมาเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องมาไกลจากเมืองนนท์เพื่อมาเยี่ยมผู้ป่วย แต่การทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดเป็นจริงได้ จะต้องทำให้โรงพยาบาลเป็นของชุมชนจริงๆ เสียก่อน ซึ่งแม้ไม่เรื่องง่าย และเป็นหนทางอีกยาวไกล แต่หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของสถาบันร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป คงเป็นจริงได้ในสักวันหนึ่ง
อ่านต่อ >> ทบทวนประสบการณ์อาสาข้างเตียง
เรียบเรียงโดย กองสาราณียกร