Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ทบทวนประสบการณ์อาสาข้างเตียง

-A +A

* บทความจากการสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์จากการทำงานอาสาข้างเตียง
ของคุณเพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ ผู้ประสานงานโครงการอาสาข้างเตียง เครือข่ายพุทธิกา


           
เป็นเวลากว่า ๕ ปีแล้ว ที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ญาติหรือบุคลากรโรงพยาบาลปรากฏอยู่เป็นเพื่อนข้างเตียงมิให้ผู้ป่วยโดดเดี่ยว คือจิตอาสาดูแลผู้ป่วย หรือ “อาสาข้างเตียง” 

           เวลาที่ผ่านมา เครือข่ายพุทธิกาและโรงพยาบาลที่ร่วมทำโครงการด้วยกันได้บ่มเพาะประสบการณ์และเรียนรู้การทำงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่อาจเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย 

 

เริ่มต้นงานอาสาข้างเตียง

           โครงการอาสาข้างเตียง เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ เริ่มตั้งแต่การจัดอบรมเผชิญความตายอย่างสงบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ ผู้ผ่านการอบรมส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายแพทย์และพยาบาลที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) และต้องการขับเคลื่อนงานการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังและระยะสุดท้ายในมิติต่างๆ ตลอดจนให้โรงพยาบาลที่ตนสังกัดมีกิจการจิตอาสาดูแลผู้ป่วย ประกอบกับผู้ผ่านการอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบก็ต้องการพื้นที่เพื่อฝึกฝนประสบการณ์ ในขณะที่เรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าจะเป็นโจทย์สำคัญของสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ แต่แพทย์และพยาบาลก็มีภาระงานมากล้นเกินกว่าจะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องใช้เวลาและความละเอียดอ่อนเป็นพิเศษได้ทั่วถึง 

           งานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยจึงเป็นคำตอบหนึ่ง โดยการริเริ่มโครงการอาสาข้างเตียงขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๙ มีพื้นที่การทำงานในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

           อาสาสมัครที่ประกอบด้วยผู้มีจิตอาสาจากหลากหลายอาชีพ ทยอยเข้าร่วมเป็นจิตอาสาในโครงการรุ่นละประมาณ ๑๐ – ๒๐ คน หลังจากได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับทัศนคติ ความรู้ และทักษะที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว แต่ละคนจะได้รับหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา ๓ เดือน หากไม่มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยกลับบ้าน หรือเสียชีวิต 

           โดยโครงการอาสาข้างเตียงจะไม่เน้นเฉพาะผลลัพธ์จากการทำงาน แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ภายในของจิตอาสาไปด้วย

 

ผู้คนที่เกี่ยวข้อง

           งานอาสาข้างเตียงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดายเพียงใครสักคนต้องการเป็นจิตอาสาแล้วสามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้เลย การที่คนซึ่งไม่ได้เป็นบุคลากรในโรงพยาบาลและญาติจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรังหรือระยะสุดท้ายในหอผู้ป่วยได้นั้น เกิดจากการทำงานของผู้คนหลายฝ่าย ดังนี้

จิตอาสาดูแลผู้ป่วย หรืออาสาข้างเตียง

           จิตอาสาดูแลผู้ป่วย หรืออาสาข้างเตียง คือกลุ่มบุคคลผู้มีจิตอาสาที่จะให้การดูแล และเรียนรู้ประสบการณ์จากการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มาจากหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ข้าราชการเกษียณ พ่อค้า พนักงานบริษัท อาชีพอิสระ แม้แต่นักศึกษาหรือพยาบาล โดยจะได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จิตอาสาจะได้เรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วย การดูแลจิตใจตัวเองด้วยการฟังเสียงจากภายในของตนเอง ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับจิตอาสาคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน

           “เวลาอุทิศ” และ “ใจเรียนรู้” คือคุณสมบัติพื้นฐานของจิตอาสา จิตอาสาควรจะจัดสรรเวลาในการเยี่ยมดูแลผู้ป่วยเป็นประจำ เพราะจะทำให้สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอาสาและผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปิดใจรับประสบการณ์แปลกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดูแล ทั้งความเศร้า เสียใจ สะเทือนใจ แม้แต่ความปลื้มปีติ และความสุขที่เกิดขึ้น จากช่วงเวลาที่ได้อยู่ร่วมกับผู้ป่วย ญาติ และตนเอง

           อาสาข้างเตียงอาจรู้สึกว่าตนเองไร้ประโยชน์ในบางช่วงขณะ เมื่อพบว่าตนเป็นส่วนเกินของญาติ หรือไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้ป่วย ความรู้สึกดังกล่าวอาจบั่นทอนกำลังใจในการดูแล บางรายอาจถอนตัวจากโครงการ แต่สำหรับบางคนความรู้สึกดังกล่าวอาจทำให้ได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้น ดังนั้นทุกความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจากการดูแล ล้วนแล้วแต่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเติบโต หากสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิดนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการเรียนรู้ได้

           อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกประเภทที่เหมาะกับงานอาสาข้างเตียง เช่น ผู้ป่วยที่เด็กเกินไปและไม่สามารถสื่อสารกับจิตอาสาได้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักหนาสาหัสเกินไปจนอาจทำให้จิตอาสารับไม่ไหว หรือเบาเกินไปจนอาจไม่ต้องการจิตอาสามาดูแล ตลอดจนผู้ป่วยที่ต้องไป-กลับบ่อยซึ่งอาจทำให้อาสาไม่สามารถดูแลได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยที่ยังไม่ยอมรับความป่วยไข้ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและยังต้องได้รับความดูแลอย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาล เป็นต้น ล้วนไม่เหมาะจะเข้าร่วมโครงการ

           จากประสบการณ์การทำงาน สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ป่วยและอาสา คือหอที่มีผู้ป่วยประมาณ ๑๕ – ๒๐ คน ควรจะมีอาสา ๓ – ๔ คน 

แพทย์และพยาบาล

           แพทย์และพยาบาล คือผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่อนุญาตให้จิตอาสาเข้าไปทำงาน ในการทำงานช่วงแรกๆ ความไม่เข้าใจกันระหว่างบุคลากรโรงพยาบาลกับจิตอาสาเป็นปัญหาสำคัญ จิตอาสาไม่เข้าใจว่าทำไมพยาบาลจึงไม่ยิ้มแย้มต้อนรับ ในขณะที่พยาบาลอาจไม่ไว้วางใจหรือระแวงระวังต่อจิตอาสา จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายได้รู้จักและทำความเข้าใจกันมากขึ้นในการอบรม กระบวนการกลุ่มจะทำให้พยาบาลเข้าใจว่าจิตอาสามาทำอะไรในโรงพยาบาล และจิตอาสาเข้าใจว่าพยาบาลต้องเผชิญกับความตึงเครียดจากภาระงานในแต่ละวันอย่างไร

           จากการดำเนินงานหลายปีที่ผ่านมา ด้วยข้อจำกัดหลายประการของบุคลากรในโรงพยาบาลเอง เช่น พยาบาลมีภาระงานนอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แพทย์มีคนไข้ในความดูแลจำนวนมาก และมีงานด้านอื่นให้สนใจ ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการจิตอาสาเท่าที่ควร 

ผู้ประสานงานโรงพยาบาล

           ผู้ประสานงานจิตอาสาในโรงพยาบาล เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยอำนวยการให้เกิดจิตอาสาขึ้นในโรงพยาบาล ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานหาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยที่ต้องการ อำนวยความสะดวกในการจัดอบรมหรือจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จัดหางบประมาณสนับสนุนโครงการ ตลอดจนติดตามแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาสามเดือน

           ที่ผ่านมา ผู้ประสานงานในโรงพยาบาลมีส่วนสำคัญในการดำรงอยู่ของกิจการจิตอาสา ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในงาน มีความสนใจส่วนตัวในเรื่องงานอาสากับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หากมีการเปลี่ยนผู้ประสานงานที่ไม่ได้มีความสนใจ หรือผู้ประสานงานมีภาระด้านอื่นมาก หรือประสานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจทำให้กิจการอาสาข้างเตียงของโรงพยาบาลนั้นๆ ต้องล้มเลิกไป

ผู้ประสานงานโครงการ

           คุณเพ็รชลดา จากเครือข่ายพุทธิกา ทำหน้าที่ประสานงานโครงการตั้งแต่การรับสมัครจิตอาสา ประสานงานกับโรงพยาบาล จัดอบรม จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตลอดสามเดือน

           การทำงานอาสาข้างเตียงทำให้คุณเพ็รชลดาได้เรียนรู้วิธีที่จะทำงานสัมพันธ์ด้านลึกกับผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ทักษะในด้านการรับฟังจึงเป็นสิ่งจำเป็น เธอเรียนรู้ว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถจัดการได้ถ้ามีการเตรียมตัว เช่น การสื่อสารด้วยความจริงใจและตรงไปตรงมา การรับฟังโดยไม่ตัดสิน การใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับอย่างยืดหยุ่น การหาข้อเท็จจริงในประเด็นที่ขัดแย้งเพื่อให้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ตลอดจนการสร้างบรรยากาศเชิงบวกในการทำงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้ประสานงานโครงการที่จำเป็น

           หัวใจของการดูแลผู้ป่วย คือความเท่าเทียม และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะต้องสะท้อนออกมาจากวิธีการทำงานและวิธีประสานงานกับผู้คน การทำงานจิตอาสาจึงอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ ไม่บังคับ จิตอาสามีสิทธิที่จะยกเลิกการดูแลผู้ป่วยเมื่อใดก็ได้ การติดต่อประสานงานขับเคลื่อนงานจิตอาสาจึงต้องใช้ความสัมพันธ์ฉันท์มนุษย์มากกว่าการใช้อำนาจจากหน่วยงานหรือสินจ้างรางวัล

 

กระบวนการทำงานอาสาข้างเตียง

รับสมัครและสรรหา

           จิตอาสาส่วนใหญ่ ได้รับข่าวสารจากเว็บไซต์เครือข่ายพุทธิกาหรือคนรู้จักบอกต่อ โดยเฉพาะจากการอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบ หรือจากอีเมลล์ไปให้สื่อมวลชนและบุคคลจากฐานข้อมูลของเครือข่ายที่คุณเพ็รชลดาส่งไปประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

           เมื่อถึงเวลาเปิดโครงการ จะมีการสัมภาษณ์จิตอาสาที่แสดงความจำนงเข้าร่วมเพื่ออธิบายโครงการให้ทราบเป็นรายบุคคล ซักถามความคาดหวังของผู้สมัคร เปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัย ชี้แจงสิ่งที่จิตอาสาอาจต้องเจอทั้งในด้านดีและด้านร้าย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่าหากจิตอาสาเข้าใจความคาดหวังของโครงการ ตลอดจนสิ่งที่อาจจะประสบพบเจอตั้งแต่แรก จะช่วยลดอัตราการถอนตัวจากโครงการในระหว่างการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยได้มาก

การอบรม

           เมื่อได้จิตอาสาตามต้องการ จะมีการอบรมเป็นระยะเวลา ๒ วัน แบบไป-กลับ เพื่อแนะนำแนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีการฝึกภาคปฏิบัติ สร้างสัมพันธภาพระหว่างจิตอาสาที่กำลังจะทำงานด้วยกัน การอบรมส่วนใหญ่จะทำในโรงพยาบาลที่จิตอาสาจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับบุคลากรในโรงพยาบาลและหอผู้ป่วย ตลอดจนวันสุดท้ายของการอบรม จิตอาสาจะมีโอกาสทำความรู้จักผู้ป่วยที่จะได้ทำหน้าที่ดูแลตลอดโครงการด้วย

           การอบรมจะเชิญพยาบาลประจำหอผู้ป่วยเข้ามาเรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วย และทำความรู้จักจิตอาสาที่กำลังจะเข้ามาทำงานร่วมกัน อธิบายข้อจำกัดของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดปัญหาความสัมพันธ์ และการถอนตัวของจิตอาสาในระหว่างการดำเนินโครงการ

           หัวใจของเนื้อหาการอบรม คือ การสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยด้วยการรับฟัง การอยู่กับผู้ป่วยในปัจจุบันขณะจริงๆ การให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการดูแล ท่าทีในการดูแลแบบเป็นเพื่อนที่เท่าเทียมกัน

เยี่ยมผู้ป่วย

           ผู้ป่วยที่จิตอาสาดูแลอาจเป็นผู้ป่วยเด็ก หรือผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ขึ้นอยู่กับประเภทของหอผู้ป่วยหรือโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ

           จิตอาสาจะทำงานเยี่ยมผู้ป่วยในวันและเวลาที่ตนเป็นผู้เลือกเอง ไม่น้อยกว่า ๑ วันในหนึ่งสัปดาห์ การเยี่ยมแต่ละครั้งจะใช้เวลาตามที่ควรจะเป็น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางครั้งโอกาสไม่เอื้ออำนวยในการเยี่ยมก็อาจอยู่ได้เพียงสิบนาที หรือบางครั้งอาจยาวนานถึง ๓ – ๔ ชั่วโมง

           การดูแลของจิตอาสาจะช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลของผู้ดูแลที่เป็นญาติ ที่อาจต้องคอยดูแลตลอดเวลา การเข้ามาช่วยดูแลแม้ระยะเวลาเพียงไม่นานสามารถทำให้ญาติได้มีเวลาผ่อนคลาย ทำธุระส่วนตัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายสำหรับผู้ให้การดูแลอย่างมาก

           จิตอาสาอาจต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยกับผู้ป่วย ด้วยการทำสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการซึ่งเป็นเรื่องที่จิตอาสาต้องค้นหา และมักต้องใช้เวลาเพื่อเข้าถึงจิตใจผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจเล่าเรื่องที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังแก่จิตอาสา หากผู้ป่วยแสดงภาวะอารมณ์ส่วนลึก เช่น ความกลัว ความเสียใจ ความกังวล หรือความภูมิใจ จิตอาสาควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า และยินดีที่ผู้ป่วยให้เกียรติเปิดเผยความจริงส่วนลึกที่อาจจะมีน้อยคนที่ได้รับรู้

           ความสัมพันธ์นั้นอาจสานต่อจนกลายเป็นเพื่อนหลังจบโครงการ หรืออาจต้องจบลงเพราะผู้ป่วยกลับบ้านหรือเสียชีวิต แต่ล้วนเป็นประสบการณ์ที่มีค่า หากอาสาได้เรียนรู้และเข้าใจตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ มุมมอง เห็นคุณค่าบางอย่างที่อาจไม่เคยเห็น 

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์

           การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานเป็นส่วนสำคัญของโครงการ มักจะจัดให้มีขึ้น ๔ ครั้งๆ ละครึ่งวัน ตลอดการดำเนินโครงการในรุ่นหนึ่ง โดยเดือนแรกจัดให้มีขึ้น ๒ ครั้ง โดยจะตั้งหัวข้อเกี่ยวกับประสบการณ์ดีๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้ และข้อเสนอแนะอื่นๆ 

           การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสมือนการช่วยให้อาสาแต่ละคนได้ “เท” สิ่งที่เปี่ยมล้นอยู่ในใจออกมา ไม่ว่าจะเป็นความสะเทือนใจ หรือความปีติยินดี เพื่อให้วงสนทนาได้ร่วมรับรู้และเรียนรู้สิ่งที่อาจเป็นประโยชน์ ปัญหาและวิธีการแก้ไข ตลอดจนเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในการทำงานครั้งต่อไป

           ในวงสนทนาแลกเปลี่ยนจะประกอบไปด้วยจิตอาสา ผู้ประสานงานโครงการ และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแผนกของโรงพยาบาล แน่นอนว่าข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย และสิ่งที่อาสาได้เรียนรู้นั้นจะมีประโยชน์แก่บุคลากรในโรงพยายาลด้วย เพราะกระบวนการนี้อาจช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ของคนไข้ หรือจิตอาสาได้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาแพทย์และพยาบาลยังไม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากนัก 

 

โจทย์ทิ้งท้ายและความท้าทาย

           โครงการอาสาข้างเตียงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคน ๓ ฝ่าย คือ จิตอาสา บุคลากรโรงพยาบาล และผู้ป่วย จิตอาสาเป็นกลุ่มคนที่เห็นชัดว่าได้รับประโยชน์เพราะมีกระบวนการที่สนับสนุนมากมาย ในขณะที่ยังไม่ได้มีการติดตามผล สอบถามความพึงพอใจสิ่งที่ผู้ป่วย ญาติ และโรงพยาบาลต้องการจากจิตอาสามากพอ

           ท่ามกลางการขับเคลื่อนให้มีพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โครงการ “อาสาข้างเตียง” น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะนำไปพัฒนาและขยายระบบจิตอาสาอย่างไร ให้เกื้อกูลแก่ตัวผู้ป่วย บุคลากรโรงพยาบาล และจิตอาสา 

           ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

 เรียบเรียงโดย กองสาราณียกร

คอลัมน์: