Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ความตาย พูดได้ แนวโน้มใหม่ในอเมริกา

-A +A

          ฉันอายุมากพอจะจำได้ถึงยุคที่ไม่มีใครพูดกันเรื่องมะเร็ง แม้ว่าเพื่อนรักของแม่สองคนและย่าของฉันจะตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม แต่ไม่มีใครอยากจะถกกันถึงเรื่องความตาย ประสบการณ์แรกของฉันเกี่ยวกับความตายจึงดูน่ากลัวเพราะเป็นหัวข้อสนทนาต้องห้าม หากฉันถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับปู่ย่าตายาย เมื่อพวกท่านหายไป? จะไม่มีคำตอบกลับมา ครั้งหนึ่ง ฉันกลับจากโรงเรียนและพ่อทำเหมือนพูดเล่นกับฉันว่า คุณยายของฉันคนหนึ่งตายแล้ว ฉันถามว่าทำไมถึงไม่มีใครบอกฉันก่อนหน้านี้ล่ะ “พวกเราไม่อยากให้เธอกังวลใจ” ฉันรู้สึกเหมือนถูกหลอก แต่ไม่เข้าใจว่าทำไม

          ความตายยังคงเป็นปริศนาอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ที่หวาดกลัวอย่างฉัน โดยเฉพาะนับแต่แม่ฆ่าตัวตายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่มันกลายเป็นเรื่องที่คุ้นเคยและพอจะรับไหวมากขึ้น เมื่อฉันไปเข้าร่วมอบรมการดูแลรักษาตัวเองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งนานหนึ่งสัปดาห์ ในปี ๒๕๓๒ กับองค์กรสาธารณประโยชน์ คอมมอนวีล (Commonweal) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๑๙ ในโบลินาส แคลิฟอร์เนีย โดยมุ่งทำงานเพื่อ “การเยียวยา การเรียนรู้ สิ่งแวดล้อม และความยุติธรรม” ที่นั่น ฉันได้เรียนรู้ว่า แม้ไม่อาจรักษามะเร็งในตัวจนหายขาดได้ แต่ฉันยังสามารถเยียวยาจิตวิญญาณของตัวเองได้โดยเรียนรู้การมีชีวิตอย่างแท้จริงในปัจจุบันขณะ แม้เมื่อต้องเผชิญกับการพยากรณ์ถึงความตายของตัวเองจากหมอ แต่ในที่สุดฉันก็ยังไม่ตาย 

          พลังใจจากประสบการณ์พิเศษที่คอมมอนวีล ทำให้ฉันเปลี่ยนตัวเองและใช้ชีวิตแบบที่คิดว่ายังเหลืออีกเพียงแค่ปีเดียว คุณค่าต่างๆ ในชีวิตที่ฉันยึดถือยังไม่เปลี่ยนไป แต่ฉันเลือกที่จะใช้ชีวิตบนทางสายใหม่ ไมเคิล เลิร์นเนอร์ อภิมหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้งคอมมอนวีล เตือนฉันว่า อาจมีคนจำนวนมากโกรธเมื่อฉันเลือกทางเดินชีวิตใหม่ และเขาพูดถูก 

          ฉันจึงใส่ใจเฉพาะสิ่งที่เห็นว่าสำคัญ ละทิ้งการเป็น “เด็กดี” ของคนอื่น แล้วชีวิตที่เหลืออยู่ของฉันก็รุ่มรวยขึ้นมาก ทุกๆ วันฉันรู้สึกขอบคุณที่ได้รับของขวัญแห่งชีวิตนี้ 

          ตอนนี้ คอมมอนวีลสอนบทเรียนสำคัญๆ หลายเรื่องให้แก่ฉันอีกครั้ง ในปี ๒๕๕๐ ไมเคิล เลิร์นเนอร์ สร้าง “โรงเรียนแห่งใหม่” (New School) ที่คอมมอนวีล โดยเชิญบรรดาวิทยากรผู้โดดเด่นและเปี่ยมวิสัยทัศน์มาพูดให้กับผู้ฟังที่ตื่นตัวและช่างสงสัยในหัวข้อต่างๆ อย่างกว้างขวาง “วงสนทนาวาระสุดท้ายของชีวิต” เน้นที่ความตายและการตาย วิทยากรรับเชิญจะตั้งคำถามที่ทำให้ต้องหาคำตอบใหม่ๆ เช่น คุณจะตายอย่างเป็นตัวของตัวเองได้อย่างไร ที่ไม่ใช่การตายในโรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชรา คุณต้องการทิ้งมรดกอะไรไว้ให้เพื่อนหรือครอบครัวนอกเหนือจากทรัพย์สิน การย้อนมองชีวิตตัวเองเพื่อเขียนอัตชีวประวัติเสียใหม่ คุณปรารถนาที่จะตายอย่างไร และคุณต้องการให้ผู้อื่นรู้เรื่องวาระสุดท้ายของชีวิตคุณอย่างไร

          การสนทนาเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนยุคเบบี้บูมอย่างพวกเราที่เกิดในระหว่างหรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คงไม่ก้าวสู่วัยชราโดยปราศจากการตั้งคำถามต่อสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำไว้ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา พวกเราได้ให้ความหมายใหม่ๆ กับทุกๆ ช่วงของชีวิต ตอนนี้ เมื่อต้องเผชิญกับบทสุดท้ายของชีวิต พวกเรากำลังตั้งคำถามว่า เราต้องการตายอย่างไร มองความตายอย่างไร และประเพณีทางจิตวิญญาณแบบไหนที่อาจช่วยให้พวกเรานิยามประสบการณ์ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “การตายดีและมีศักดิ์ศรี” เสียใหม่ได้

          ความตายเริ่มปรากฏชัดจากสิ่งปิดบัง ดังที่ยุคดิจิตอลทำให้เป็นเช่นนั้น เรื่อง “ความตายและการตาย” กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ของสังคม 

          ที่คอมมอนวีล ความตายเป็นการแสวงหาทางจิตวิญญาณและพุทธิปัญญาที่จริงจัง เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง นิวยอร์คไทมส์ มีพื้นที่สำหรับ “นักสำรวจความตายและการตาย” เป็นพิเศษ แต่คุณจะไม่แปลกใจเลยว่า แม้แต่บรรษัทใหญ่ของอเมริกายังคิดว่าจะทำกำไรได้อย่างไรจากความปรารถนาของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะสร้างประสบการณ์วาระสุดท้ายของชีวิตแบบใหม่ นั่นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

          ฮอลมาร์ค (Hallmark) บริษัทเอกชนผู้ผลิตบัตรอวยพรรายใหญ่ ซึ่งเคยขายบัตรอวยพรแสดงความเห็นใจแก่ผู้สูญเสีย ได้สร้างสรรค์บัตรอวยพรชนิดใหม่ที่พูดถึงความกลัวและความกังวลของผู้ที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย ในนิตยสาร อีโคโนมิสต์ ฉบับเร็วๆ นี้ บันทึกว่า “อุตสาหกรรมบัตรอวยพร ซึ่งศึกษาแนวโน้มของสังคมมาอย่างดี เป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีประโยชน์มาก บรรณาธิการและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ที่สำนักงานใหญ่ของฮอลมาร์คในมิสซูรีกล่าวว่า เดี๋ยวนี้ ลูกค้าต้องความจริงใจและตรงไปตรงมา แม้กระทั่งเรื่องความเจ็บป่วยระยะสุดท้าย”

          บัตรอวยพรบางใบแสดงออกถึงความสุขของ “ชีวิตที่เราได้มาพบกันในชาตินี้ และเธอจะอยู่ในความทรงจำที่ดีที่สุดที่ฉันมีและจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป” ในร้านขายยายุคปัจจุบัน คุณสามารถมองหาชั้นวางสินค้าที่มีป้ายบอกถึง “ช่วงเวลายากๆ” หรือ “โรคเรื้อรัง” ซึ่งรวมถึงคำว่า “มะเร็ง” ด้วย มีแม้กระทั่งบัตรอวยพรเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม (Alzheimer) ที่กล่าวถึง “แสงสนธยาที่ตกกระทบบนจิตใจของคนที่คุณรัก” อันเป็นผลมาจากการวิจัยของผู้ให้คำปรึกษาด้านการดูแลความเศร้าโศก ฮอลมาร์คยังขายบัตรอวยพรที่แสดงถึงความโดดเดี่ยวจากการสูญเสีย “เนิ่นนานหลังจากอาหารจานสุดท้ายหมดไปและเสียงโทรศัพท์หยุดดัง”

          บัตรอวยพรเหล่านี้ดูเหมือนจะสร้างผลกำไรมหาศาล ฮอลมาร์คขายบัตรอวยพรแสดงความเห็นใจได้ถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่ขายกันในอเมริกา เมื่อหญิงชาย ๗๒ ล้านคนที่เกิดในยุคเบบี้บูมกำลังจะเข้าสู่วัย ๖๕ พวกเขากำลังมองหาเส้นทางใหม่ในการใช้ชีวิตบทสุดท้าย พวกเขาอยู่ดีกินดีกว่าและออกกำลังกายมากกว่าคนรุ่นก่อน พวกเขาอายุยืนด้วยยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์แบบใหม่ สิ่งที่ติดตัวพวกเขามาคือ สำนึกว่าด้วยสิทธิอันพึงมีพึงได้ ที่มีรากฐานมาจากความเชื่อในวัฒนธรรมการต่อต้าน หรือการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในช่วงที่พวกเขาอยู่ในวัยหนุ่มสาว 

          ครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยคิดว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนอเมริกาได้ เดี๋ยวนี้ พวกเขากำลังหาทางสร้างความตายและการตายแบบใหม่

          แม้ว่าการแสดงความตรงไปตรงมาต่อความตายและการตายจะถูกทำให้เป็นเรื่องการค้า แต่ยังมีสัญญาณดีๆ ที่บอกว่าชาวอเมริกันแสดงเจตจำนงมากขึ้นที่จะแลกเปลี่ยนความกลัวต่อการพูดถึงวาระสุดท้ายของชีวิตกันอย่างซื่อสัตย์ หลังจากปฏิเสธเรื่องนี้มานานหลายทศวรรษ คนชราจากรุ่นเบบี้บูมอาจจะเพิ่งเปลี่ยนแปลงสิ่งที่นักข่าวจอมขุดคุ้ยผู้ยิ่งใหญ่ เจสสิกา มิตฟอร์ด (Jessica Mitford)*  อธิบายอย่างชัดเจนในหนังสือของเธอเรื่อง “วิถีการตายแบบชาวอเมริกัน” (The American Way of Death) ที่พิมพ์ในปี ๒๕๐๖ พูดถึงเรื่องความตายที่ถูกปฏิเสธในสังคมอเมริกัน “มันถูกทำให้เกิดอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าปกติ ถูกทำให้เป็นเรื่องการค้าอย่างยิ่ง และเหนืออื่นใดคือ ราคาแพงจนเลยเถิด” บางที พวกเราอาจจะทำให้ดีกว่าเดิมได้

 

แปลและเรียบเรียงจาก
'Death and Dying' Is Trending โดย Ruth Rosen

* เจสสิกา มิตฟอร์ด เสียชีวิตเมื่อปี 2539 และแสดงเจตจำนงที่จะจัดการกับศพของตัวเองโดยการเผาอย่างง่ายๆ โดยมีค่าใช้จ่ายในการเผาศพราว ๕๓๓ เหรียญสหรัฐ โดยไม่มีการจัดงานพิธีใดๆ ก่อนจะนำเถ้ากระดูกไปโปรยในทะเล ค่าใช้จ่ายดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้เตาเผา ราว ๔๗๕ เหรียญสหรัฐ อ้างอิงจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Jessica_Mitford 

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน:

บุคคลสำคัญ: