สามีของดิฉันกำลังจะตาย
ทง อิ๋ง ปุจฉา - กราบนมัสการเจ้าค่ะ ดิฉันมีเรื่องทุกข์ใจค่ะ สามีป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม นอนรอวัน สามีไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคอะไร ได้แต่ปิดบังไว้ แต่สามีรู้สภาพตัวเองว่าคงอีกไม่นานค่ะ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ใช้เงินไปล้านเศษ อยู่โรงพยาบาล ๔ เดือน สามีดิฉันทานอะไรไม่ได้เพราะมะเร็งลุกลามไปที่กระเพาะอาหารทั้งหมดแล้ว ให้สารอาหารทางเส้นเลือดใหญ่ ต้องฉีดมอร์ฟิน ทุก ๒-๔ ชม.
ตอนนี้พาสามีออกมาอยู่บ้านได้ ๓ วันแล้วเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องซื้อยามารักษาที่บ้าน เหมือนเดิม ดิฉันต้องเปลี่ยนน้ำเกลือ เปลี่ยนสารอาหาร ฉีดมอร์ฟินให้สามีเอง ทำแบบนี้ก่อนออกไปทำงาน ทิ้งให้สามีกับลูกดูแลกัน ดิฉัน อายุ ๓๒ ปี สามี ๓๙ ปี มีลูกชาย ๙ ขวบ ทุกข์ใจทุกข์กายเจ้าค่ะ ด้วยโรคภัยบีบบังคับ หนี้สินเงินทอง การงาน ปัจจัยหลายๆประการ ทำให้คิดฟุ้งซ่านมากมาย ดิฉันจะทักทวงความคิดนี้ได้อย่างไรค่ะ ในเมื่อตอนนี้ดิฉันกำลังเผชิญสิ่งที่เรียกว่าการสูญเสียครั้งใหญ่ของชีวิต สามีดิฉันกำลังจะตายเจ้าค่ะ มีแต่คนให้กำลังใจว่า เวรกรรมร่วมกัน ทำให้ดีที่สุดวาระสุดท้าย ทำใจนะ ปลงนะ ดิฉันเข้าใจค่ะ แต่จะทำยังไงเจ้าค่ะ ปลงยังไง ทำใจยังไง ดิฉันก็ได้แต่ทุกข์ใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทุกข์เจ้าค่ะ ดิฉันจะทำอย่างไรดีเจ้าค่ะ ฟุ้งซ่านจนจะกลายเป็นคนเสียสติแล้วเจ้าค่ะ
ดิฉันให้กำลังใจสามีว่า พี่ไม่ต้องคิดนะและไม่ต้องห่วงอะไร อยู่ได้กี่วันก็อยู่ วันหนึ่งสองวันก็อยู่ ขอแค่เราได้อยู่ดูแลกันในวาระสุดท้าย ถึงเราจะอายุยังน้อยแต่เราก็โชคดีที่ได้ดูแลกันยามเจ็บป่วย บ้างคู่คนแก่คนเฒ่าแล้วก็ยังไม่ได้ดูแลกันเลย หมดแรงดูแลกัน ต้องให้ลูกหลานดูแล นี้เราถือว่าโชคดีมากแล้ว สิ่งที่ดิฉันได้ยินสามีพูดคือ
"แม่เหนื่อยไหม?"
มันเกินบรรยายมากเจ้าค่ะพระคุณเจ้า
พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา - อาตมารู้สึกเห็นใจคุณมากที่กำลังพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่พึงตระหนักก็คือ ตอนนี้ความสูญเสียดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น สามียังอยู่กับคุณ ดังนั้นจึงควรใช้เวลาช่วงนี้ทำสิ่งดี ๆ ด้วยกัน รวมทั้งมีความสุขร่วมกันเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนั้นอีกสิ่งที่คุณควรใส่ใจตอนนี้ก็คือ ช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด รวมทั้งมีความทุกข์ให้น้อยที่สุด อย่าลืมว่าแม้เจ็บป่วยหรือทุกข์กาย แต่เขาไม่จำเป็นต้องมีความทุกข์ใจก็ได้ ป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ การบรรเทาความป่วยกายนั้น หมอและพยาบาลทำได้ดีที่สุด ส่วนการบรรเทาความป่วยใจนั้น คุณอยู่ในฐานะที่จะทำได้ดีกว่าหมอและพยาบาล สามีของคุณต้องการการดูแลทางจิตใจไม่น้อยกว่าการดูแลทางกาย
การดูแลทางจิตใจทำอย่างไร อาตมาได้เขียนเป็นบทความ แนบมาให้แก่คุณแล้ว ซึ่งมีหลักการใหญ่ ๆ ๒ ประการ คือ น้อมใจให้เขานึกถึงสิ่งดีงาม และช่วยปลดเปลื้อง ความกังวลและสิ่งค้างคาใจ อาตมาเชื่อว่าหากสามีของคุณได้รับการดูแลดังกล่าว เขาจะรู้สึกดีขึ้นแม้ร่างกายจะเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามคุณจะช่วยสามีในเรื่องนี้ได้ จิตใจคุณต้องพร้อม โดยเฉพาะการตั้งสติให้ดี พยายามอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งกังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
อย่าลืมว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณสามารถทำได้ในขณะนี้ แต่หากคุณมัวแต่วิตกกังวลหรือเศร้าโศกเสียใจในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง คุณจะท้อแท้และไม่มีเรี่ยวแรงทำสิ่งดี ๆให้แก่สามีในตอนนี้ได้เลย พึงตระหนักว่าหากจิตใจคุณย่ำแย่ สามีคุณจะพลอยรู้สึกย่ำแย่ไปด้วย เพราะความรู้สึกแบบนี้ถ่ายทอดกันได้ หากคุณอยากให้สามีมีความสงบใจ คุณก็ต้องทำใจให้สงบได้ก่อน หากคุณไม่ดูแลจิตใจของคุณ คุณจะดูแลช่วยเหลือจิตใจของสามีได้อย่างไร
ที่มา: เพจ พระไพศาล วิสาโล – Phra Paisal Visalo