กรมคุ้มครองสิทธิฯ เสนอ 'พินัยกรรมชีวิต สิทธิการตาย' อุ้มผู้ป่วยระยะสุดท้าย
สช.จับมือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กระตุ้นสังคมให้เห็นความสำคัญของการแสดงเจตนาที่จะตายอย่างสงบ เป็นทางเลือกให้แพทย์ตัดสินใจสำหรับแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย-การขยายตัวของโรคร้ายแรงและเรื้อรัง พร้อมกระตุ้นวงการแพทย์เพื่อสร้างระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
นพ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง “พินัยกรรมชีวิต สิทธิการตาย (Living Will)” เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๗ ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีอัตราการตายของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับแรก และมีอัตราการตายด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เกิดเป็นระบบบริการที่ชัดเจน โดยเฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐ
ขณะเดียวกัน ในการดูแลต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ ของพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ระบุให้ “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะขอรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”
เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสามารถแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะ “ปฏิเสธการบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต” เพื่อให้ตนเองตายโดยสงบ ตายตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่การทำการุณยฆาต (Mercy Killing) หรือการเร่งการตาย
อย่างไรก็ตาม การทำหนังสือแสดงเจตนา และการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักและสร้างระบบรองรับให้ชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนมีการทำงานเป็นทีมภายใต้การปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่องระหว่างแพทย์ พยาบาล ครอบครัว และตัวผู้ป่วยเอง
พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้รับผิดชอบพัฒนา “ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย” กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลมีวัตถุประสงค์แรก เพื่อรักษาชีวิตให้ผู้ป่วยได้มีศักยภาพในการดำรงชีวิตต่อไป แต่ในระยะหลังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องพันธนาการผู้ป่วย เพื่อยื้อการตาย ทั้งที่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ดังนั้น Living Will จึงมีความสำคัญ ต้องทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมรู้จักและนำไปใช้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยได้รับการยอมรับจากแพทย์และครอบครัวของผู้ป่วย
“สิ่งที่แพทย์กังวลในการรักษาแบบประคับประคองที่ผ่านมา คือ การถูกหลอกให้เป็นเครื่องมือของผู้หาประโยชน์จากคนป่วย เช่น กรณีมรดก เป็นต้น ซึ่งแพทย์พบเป็นจำนวนมาก “
สำหรับวงการแพทย์ ยังมีประเด็นเรื่องทัศนคติที่ถูกสอนให้รักษาผู้ป่วยจนหาย เป็นความภูมิใจของแพทย์มาโดยตลอด แต่การทำตามเจตนาของผู้ป่วยในการขอตายอย่างสงบ อาจทำให้แพทย์มองว่าแพ้ ดังนั้น ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแพ้หรือชนะ แต่เป็นเรื่องทางเลือกของชีวิตของคนไข้เอง
ส่วนครอบครัวเองอาจยังขัดแย้งกัน จากความเห็นที่แตกต่าง แม้ผู้ป่วยจะแสดงเจตนาไว้แล้วก็ตาม แต่หากตัดสินใจโดยเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางก็จะทำให้เห็นพ้องกันทั้งหมด ว่าควรทำอย่างไร
พ.ต.อ. ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่จะเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคล (ICCPR) ซึ่ง Living Will เป็นหนึ่งในการเคารพสิทธิของพลเมือง ประกอบกับมาตรา ๑๒ ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ มีการระบุไว้ชัดเจน แต่ยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ดังนั้น จะต้องเร่งเผยแพร่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ว่ามีทางเลือก และทางออกในการทำพินัยกรรมชีวิตไว้ล่วงหน้า เพื่อขอจากไปอย่างสงบในระยะสุดท้าย ไม่ให้ทรมาน และเป็นภาระต่อลูกหลาน
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายในหลายกรณี พบว่าการที่คนไข้ไม่ได้แสดงเจตจำนงไว้ ทำให้แพทย์ไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาของผู้ป่วยได้ แม้ว่าการรักษานั้น จะสร้างความทรมาน และเป็นไปเพื่อยื้อการตาย การแสดงเจตนาไว้จะช่วยได้ เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้หรือตัดสินใจอะไรได้แล้ว
ในกรณีของตนเองได้เขียนไว้อย่างละเอียดว่าจะไม่รับการรักษาในกรณีใดบ้าง และให้ลูกรวมถึงแพทย์เป็นพยานในทำหนังสือเจตนาดังกล่าวไว้ แต่สังคมไทยต้องก้าวข้ามคำว่า “กตัญญูและบาป” ให้ได้ โดยเฉพาะลูกหลาน ให้คิดใหม่ว่า แท้จริงแล้วการยื้อความตาย ทำเพื่อผู้ป่วย หรือทำเพื่อไม่ให้ตนเองถูกต่อว่าไม่ดูแลพ่อแม่
อย่างไรก็ตาม การแสดงเจตจำนงการตายอย่างสงบ จะต้องมาพร้อมกับระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ประเทศไทยยังขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อดูแลแบบองค์รวม และยังขาดศูนย์ดูแลป่วยในระยะสุดท้าย ดังนั้น ตนเองจึงได้บริจาคที่ดิน ๑๐๐ ไร่ ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนา “ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย” ให้เป็นต้นแบบของประเทศไทยต่อไป
เรียบเรียงจาก “กรมคุ้มครองสิทธิฯ เสนอ 'สิทธิการตาย' อุ้มผู้ป่วยระยะสุดท้าย”
สำนักข่าว Hfocus วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗