Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

จิมมี่ : ผู้ป่วยผู้เยียวยาผู้ป่วย

-A +A

จิมมี่ ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง

 

‘หลง’ รถเข็นยืน ที่สร้างจากแรงบันดาลใจและมิตรภาพ

“หลง เพื่อนของผมตายไปแล้ว แต่เขายังอยู่ในความทรงจำของผมเสมอ ตอนที่สร้าง ผมไม่รู้จริงๆ ว่าจะทำอย่างไร แต่ด้วยความที่เป็นเพื่อนสนิทกับหลง และแรงบันดาลใจจากมิตรภาพของเขา ทำให้ผมสามารถสร้างรถเข็นยืนต้นแบบคันแรกได้สำเร็จ ผมจึงตั้งชื่อว่า ‘หลงรถเข็นยืน’ (Hlong standing wheelchair) และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอุปกรณ์อื่นๆ ที่ถูกประดิษฐ์ตามมา เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเรื่องการออกกำลังกายของผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานที่ที่ผมเลือกมาตายอย่างสงบเมื่อ ๓ ปีก่อน คามิลเลียน โซเชียล เซนเตอร์ (ศูนย์ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ มูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทย)” 

 

ชีวิตที่โลดแล่น

จิมมี่เคยใช้ชีวิตมาหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าเขาจะเป็นชายรักร่วมเพศแต่ไม่เคยมั่วทางเพศ เขาเคร่งครัดและระมัดระวัง การติดเชื้อเอชไอวีจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เขาประหลาดใจอย่างที่สุด 

จิมมี่ หรือ เจอร์เกน ฟรานซิส คิลลิงเจอร์ (Jurgen Francis Killringer) วัย ๕๙ ปี เป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวที่นับถือคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิค ผ่านการทำงานมาสารพัดรูปแบบ ทั้งงานในโรงแรม ปั๊มน้ำมัน เป็นกุ๊ก ซ่อมรถ เล่นกีฬาหลากหลายชนิด เป็นผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลเยาวชนของอังกฤษ เล่นฟุตบอลอาชีพในฐานะผู้รักษาประตูโดยการชักชวนของนักฟุตบอลทีมชาติสกอตแลนด์อย่าง อาร์ชี เกมมิลล์ (Archie Gemmill) หรือแม้แต่เป็นนักเต้นคลาสสิกร็อคมืออาชีพในเดอะมิวสิคัลอย่าง ‘Cats’ โดยการชักชวนของแอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ (Andrew Lloyd Webber) นักประพันธ์ชื่อดัง สุดท้าย จิมมี่มีโอกาสได้พบรักกับเพื่อนชายและมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่ประเทศไทย จังหวัดอยุธยา

 

การพลัดพราก และการเดินเข้าสู่ความตาย

จนกระทั่งเมื่อ ๕-๖ ปีก่อน คนรักที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานานถึง ๑๔ ปี ถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงเทพฯ จิมมี่เสียใจมากกับความพลัดพรากที่เกิดขึ้น เขากลับไปที่เยอรมัน ชีวิตเหมือนขาดพลังในการก้าวต่อไป ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลพักใหญ่ แต่ไม่มีวี่แววของการติดเชื้อเอชไอวีแต่อย่างไร

 จิมมี่กลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยอีกครั้งโดยเป็นครูสอนภาษาและคอมพิวเตอร์ที่ขอนแก่นเกือบสองปี แต่แล้วจู่ๆ น้ำหนักตัวก็ลดลงฮวบฮาบเกือบ ๒๐ กิโลกรัม เขาคิดว่าอาจมีปัญหาด้านระบบการย่อยอาหาร หรือทำงานมากเกินไป เพื่อนพามาหาหมอที่กรุงเทพฯ ทันทีที่เห็นหน้า หมอบอกจากประสบการณ์ ว่า เขาเป็นเอดส์ แต่เขาและเพื่อนยังไม่ปลงใจเชื่อ จึงไปหาหมอคนอื่นเพื่อตรวจสอบซ้ำ และได้รับคำยืนยันตรงกัน เขาเป็นเอดส์และปอดน่าจะติดเชื้อวัณโรคด้วย เขาพักอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในช่วงสั้นๆ ระหว่างรอผลการตรวจสอบ แล้วจู่ๆ วันหนึ่งขณะนั่งรับประทานอาหาร ร่างกายก็อ่อนแรงลงไปเฉยๆ เพื่อนพาไปโรงพยาบาลและให้เริ่มตรวจอย่างจริงจัง

ระยะเวลาเพียง ๓-๔ เดือน ที่จิมมี่รู้ว่าตัวเองเป็นเอดส์ และปอดดำด้วยเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่น่าจะเป็นวัณโรค ร่างกายผ่ายผอม ทานอะไรไม่ได้เลยนอกจากรับอาหารทางสาย หมอบอกว่าเขากำลังจะตาย  ทางโรงพยาบาลได้เชิญท่านบิชอปจากคณะคามิลเลียนไปทำพิธีสุดท้ายของชีวิตแก่เขา ท่านได้มอบไม้กางเขนสีแดงให้ จิมมี่้เล่าว่า ตอนนั้นไม่ทราบว่าสิ่งที่รู้สึกคืออะไร แต่ทำให้เขาพบกับความสมดุล ความสงบภายใน ไม่กลัว ไม่มีอนาคต ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร สองวันต่อมาเขาตัดสินใจว่า ไม่สามารถตายอย่างสงบที่โรงพยาบาลได้ เพราะบรรยากาศรอบด้านไม่ทำให้เขาพบความสงบได้เลย ทางโรงพยาบาลจึงช่วยส่งเขาให้มาตายที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ มูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทยตามที่ต้องการ 

 

คำถามเปลี่ยนชีวิต

ที่นี่คือที่ไหน? และ เขากำลังทำอะไรกัน? ทันทีที่คำถามเหล่านี้ผุดขึ้นมา จิมมี่ได้หลุดออกจากโลกของความคิดบนเตียงในห้อง PCU ของศูนย์ วินาทีนั้นเขารู้สึกว่า ชีวิตกลับมาแล้ว ทันทีที่เกิดคำถาม นี่อาจเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เขาอยากใส่เครื่องแบบที่มีไม้กางเขนสีแดงแบบนั้น และเชื่อว่าตัวเองจะดูแลผู้ป่วยได้ดี ไม่เหมือนอยู่ที่โรงพยาบาล ที่นั่นเขาคิดว่าตัวเองตายไปแล้ว แต่ที่นี่มีวิทยุ มีโทรทัศน์ มีเสียงผู้คนซักถาม พูดคุยกัน บรรยากาศเหมือนครอบครัว สองสัปดาห์ผ่านไป เขาจึงขอลุกขึ้นยืน แต่มันไม่ง่ายนัก  สต๊าฟของศูนย์ต้องมาช่วยคอยนวดเฟ้นขาให้เขาเสมอๆ ดวงตาของจิมมี่เริ่มเปล่งประกายชัดเจนเมื่อเขาเล่าถึงความเอื้ออาทรที่ได้รับจากบรรดาผู้ดูแลที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จนสองเดือนผ่านไป เขาก็สามารถที่จะลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง !!!

 

ปาฏิหาริย์มีจริงหรือ?

สามเดือนถัดมา จากการตรวจร่างกายอีกครั้ง จิมมี่พบว่าเชื้อวัณโรคที่ปอดหายไปแล้ว ทุกคนบอกว่านี่คือปาฏิหาริย์ แต่เขาบอกว่า ไม่ใช่ ทุกอย่างเกิดจากใจของคนเราที่มีพลัง ความเชื่อ และความศรัทธาอันแรงกล้าต่างหากที่ทำให้เขาแข็งแรงขึ้น การเยียวยาไม่ได้เกิดจากตัวยา แต่เป็นจิตต่างหากทำหน้าที่นั้น ความเชื่อในการมีชีวิตต่างหากที่ทำให้กลับฟื้นตัว จิมมี่ให้ความเห็นว่ามุมมองของการรักษา เรามักจะคิดว่าเป็นตัวยา แต่การรักษาส่วนใหญ่แล้วต้องรักษาสิ่งที่คิดอยู่ในหัวเราต่างหาก เราต้องการจะอยู่หรือเราต้องการจะตาย สำหรับจิมมี่ คำตอบคือต้องการมีชีวิตอยู่ เขาเริ่มทำงานเป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยและเริ่มแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เป็นส่วนหนึ่งของสต๊าฟ และได้มีโอกาสใส่เครื่องแบบที่มีไม้กางเขนสีแดงอย่างที่ตั้งใจ จากนั้นไม่นาน ‘หลง’ ก็เข้ามาอยู่ที่นี่ในฐานะผู้ป่วยใหม่

 

Let go คำสั้นๆ ที่ยากที่สุด

การได้มีโอกาสดูแลหลงอย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งที่ดึงคุณค่าในตัวจิมมี่ให้เบิกบานขึ้น ด้วยความต้องการช่วยเหลือหลงอย่างเต็มกำลัง เขาจึงทุ่มเททุกอย่างในการดูแล ทำให้หลงดูดีขึ้นตามลำดับ เริ่มเดินได้ เริ่มทำอะไรต่ออะไรได้ แต่แล้วจู่ๆ ก็เกิดความผิดปกติในสมองของหลง ทำให้หลงอาเจียน สูญเสียการทรงตัว หลงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล จิมมี่ขอคำสัญญาจากหลงว่าจะสู้เพื่อมีชีวิตต่อไป หลงยกมือให้สัญญาณตอบว่าสัญญา นั่นคือภาพที่ติดตาไม่รู้ลืม 

หลงพยายามทำตามคำสัญญานั้นอย่างจริงจัง ๖๓ วันแห่งการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดเกิดขึ้นอย่างทุกข์ทรมาน จนจิมมี่เริ่มรู้สึกว่า ‘คำสัญญา’ ที่เขาขอจากหลงนั้นเป็นความเห็นแก่ตัวของตนเอง การดำเนินไปของโรคที่หลงเป็นนั้นหนักมากแล้ว หนึ่งวันก่อนที่หลงจะเสียชีวิต จิมมี่ได้เรียนรู้มากมายในวันนั้น เขาบอกตัวเองว่า เขาเห็นแก่ตัวอย่างนี้้ต่อไปไม่ได้ มีสิ่งหนึ่งที่เขาจำเป็นต้องบอกหลงให้ได้ในวันนั้น เขาจึงไปที่โรงพยาบาลเพื่อจะบอกกับหลงว่า ‘Let go’ ที่โรงพยาบาล ร่างกายของหลงพ่วงติดอยู่กับอุปกรณ์ช่วยชีวิตมากมาย และเมื่อเขาบอกหลงเสร็จ เหมือนกับเขาเห็นว่าหลงขยับมือ ครั้นถึงเช้าวันรุ่งขึ้น หลงก็จากไป

 

สิ่งที่ยากยิ่งกว่า 

เมื่อร่างของหลงถูกนำกลับมาที่ศูนย์เพื่อเตรียมทุกอย่างสำหรับการปลงศพ โดยปกติแล้ว สต๊าฟจะต้องช่วยกันทำความสะอาดร่างของผู้ป่วยที่เสียชีวิต จิมมี่บอกว่า มันเป็นช่วงเวลาที่ยากกว่าตอนดูแลเสียอีก เขาวิ่งไปแอบร้องไห้อยู่ในห้อง แม้จะรู้ว่าทุกคนต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผู้ดูแลทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งนี้ให้ได้ ถ้าความรู้สึกผูกพันกับผู้ป่วยอย่างหลง ทำให้เขาทำไม่สามารถทำสิ่งสุดท้ายนี้ให้หลงได้ เขาก็คงไม่สามารถจะอยู่ที่นี่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นๆ ต่อไปได้อีก เขาจึงต้องเข้มแข็งเพื่อจะเดินหน้าต่อไปให้ได้ 

 

หนึ่งชีวิตจากไป หลายชีวิตก็เติบโต 

ความตายของหลงเปลี่ยนชีวิตของจิมมี่อีกครั้งหนึ่ง คุณพ่อบาทหลวงช่วยให้เขาได้ผ่านช่วงเวลาแสนยากนั้นมาได้ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้าง ‘Lung Stand Wheelchair’ หรือ ‘หลง’ รถเข็นยืนตัวแรกเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถเดินได้ แม้ว่าจะไม่สามารถทำอะไรเพื่อหลงได้มากนัก แต่จิมมี่เชื่อว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ มากมายเพื่อผู้ป่วยคนอื่นได้ รถเข็นนี้ยังเป็นต้นแบบสำหรับรถเข็นที่ใช้ช่วยฝึกเด็กออทิสติกให้เดินได้อีกด้วย ด้วยมุมมองแบบนี้ หลงจะยังคงอยู่ต่อไป จิมมี่บอกว่า นั่นคือพระประสงค์ของพระเจ้า ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไป เหมือนเราไต่ขึ้นไปๆ บนกันและกัน เราเรียนรู้และเติบโตขึ้นจากการสูญเสีย

 

รักษาใจก่อนรักษากาย

ในฐานะผู้ป่วยที่เคยสิ้นหวังกับการมีชีวิตมาก่อน จิมมี่บอกว่า การจะช่วยผู้ป่วยได้ เราต้องช่วยรักษาใจเขาก่อน เข้าถึงใจกันให้ได้ก่อน แล้วใครเล่าจะเข้าถึงใจผู้ป่วยได้ดีเท่ากับคนที่เคยเป็นผู้ป่วยมาก่อน ผู้คนส่วนมากมักคิดว่าจะรักษาผู้ป่วยด้วยยา แต่ไม่ใช่เลย ยาไม่ใช่เรื่องหลัก ใจต่างหากที่ต้องรักษาก่อน คนเราทุกคนต้องการโอกาสได้แสดงออกทุกความรู้สึก และต้องการใครสักคนรับฟังอย่างจริงจัง วัฒนธรรมของคนไทยมักจะปิดบังและไม่กล้าเผยความรู้สึกตรงๆ ออกมา แต่การเปิดใจต่างหากที่จะทำให้การช่วยเหลือเกิดขึ้นได้ การที่คนเราตายไม่ใช่สาเหตุเพราะตัวโรคอย่างเดียว แต่บางครั้งเนื่องจากสภาวะจิตใจที่อ่อนแอด้วย การที่ผู้ดูแลสามารถรับฟังและเปิดใจผู้ป่วย เป็นโอกาสที่จะช่วยให้รอดชีวิตได้ จิมมี่เห็นว่าการทำกลุ่มบำบัดมีความสำคัญและจะช่วยผู้ป่วยได้มาก แต่คนไทยมักจะไม่เห็นด้วยกับการพูดเรื่องความเจ็บป่วยกับความตายอย่างเปิดใจและยอมรับ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่ผู้ป่วยบางคนไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือได้ เพียงเพราะเขาปิดตัวเอง 

จิมมี่เชื่อว่าจิตสำคัญกว่ากาย ถ้าจิตเข้มแข็งแล้วจะสามารถทำอะไรได้มากมาย สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการคือความช่วยเหลือทางใจ ให้เขาได้มีโอกาสระบายออก แม้แต่การเปิดโอกาสให้เขาได้ร้องไห้ออกมา นั่นจะทำให้รู้สึกดีขึ้น 

 

คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต

ความสุขจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นกลับไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต ในความหมายของจิมมี่ ‘มิตรภาพ’ (Friendship) หรือความเป็นเพื่อนต่างหากคือคุณค่าแท้จริงของชีวิต เราจะช่วยใครได้เล่า หากว่าความเป็นเพื่อนไม่เกิดขึ้นก่อน เมื่อเราสมดุลในตัวเอง เมื่อนั้นเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘เพื่อน’ อย่างแท้จริง 

 

ชีวิตและความตาย

ชีวิตไม่ใช่เพียงแค่การดำรงอยู่ ‘Life is not existing’ ในหนังสือดังกล่าวมีเรื่องราวของจิมมี่รวมอยู่ด้วย จิมมี่เคยกลัวตาย ในวันที่ชีวิตยังทำดีไม่พอ ความกลัวตายจะมีมาก แต่สำหรับวันนี้ เขาได้มีโอกาสทำความดีมากพอ ความตายกับชีวิตดูจะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ความสงบสุขภายในตนขณะที่มีชีวิตอยู่และดำเนินไปบนความดีและความสงบ ย่อมทำให้ยามที่ตายก็จะสงบเหมือนกัน จิมมี่บอกว่า การที่เรามีทรัพย์สินมากมาย แต่ยามจะตายเกิดความกลัวที่จะต้องพลัดพรากจากของรักทั้งหลายขึ้นมา นั่นไม่ใช่ชีวิตที่แท้จริง มิตรภาพที่เกิดจากความสมดุลต่างหากที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตและความตาย แต่เราจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยถ้าหากเรายอมแพ้เสียก่อน 

ชีวิตมีหลากหลายแง่มุมให้เราได้เรียนรู้ แต่เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกแง่มุมพร้อมๆ กัน โลกนี้สร้างขึ้นจากสิ่งที่แตกต่างกัน คนที่แตกต่างกัน เมื่อเราเชื่อมโยงกับผู้คนและสิ่งต่างๆ ได้ นั่นคือปัจจุบันของเรา ต้องมีครั้งแรกที่เราเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน แล้วเมื่อผ่านไปแล้ว เราจึงเรียนรู้เรื่องอื่นต่อไป

 

ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง ?

มิตรภาพ ความเป็นเพื่อน คือคำแรกที่ผุดขึ้นมา แล้วสิ่งที่ตามมาคือ อย่าเห็นแก่ตัว ถ้าคนที่เรารักต้องจากไป อย่ายื้อเขาไว้ ปล่อยเขาไป ถ้าช่วยได้ก็ช่วย แต่อย่ายื้อชีวิต เมื่อเราก้าวผ่านความเห็นแก่ตัว เปิดใจออก ปล่อยให้เขาจากไป แม้ว่าทุกข์และเจ็บปวด แต่เราจะรักใครสักคนได้ ก็ต่อเมื่อซื่อสัตย์กับความรู้สึกภายในของตัวเอง แล้วเราจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย มนุษย์เราเห็นแก่ความสุขส่วนตัว เราต้องเรียนรู้ที่จะเจ็บปวดเพื่อคนที่เรารักบ้าง อย่างเช่นเราติดเชื้อเอชไอวี แล้วเรามีคนรัก มันยากมากที่จะบอกความจริงกับเขาหรือเธอว่าเราติดเชื้อ แต่จะดีกว่าการที่เราไม่บอก หรือโกหกแน่ๆ แม้ว่าการบอกความจริงจะทำให้เขาจากเราไปก็ตาม 

 

บทเรียนจากจิมมี่

นอกจาก ‘มิตรภาพ’ จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้สัมผัสกับ ‘ชีวิตมนุษย์’ อย่างแท้จริง แล้ว ‘มิตรภาพ’ ยังเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้สัมผัสกับ ‘ความตาย’ อย่างอ่อนโยนด้วยเช่นกัน. 

 

วรรณวิภา มาลัยนวล

วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘

 

ที่มา:

คอลัมน์: