สัญจรพิพิธภัณฑ์ศิริราช ตอน “มรณสติ : อสุภกรรมฐาน”
ศิริราช โรงพยาบาลใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นเสาหลักของการแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย เป็นที่รู้จักกันดีในด้านการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่ในท่ามกลางตึกรามต่างๆ ที่หนาแน่นไปด้วยผู้ป่วยแวะเวียนเข้ามาด้วยความหวังที่จะทุเลาความทุกข์ทรมานอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แล้ว มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทยยังเต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้แฝงตัวอยู่ตามจุดต่างๆ นับสิบแห่ง ไม่เฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการแพทย์เท่านั้น หากยังมีพิพิธภัณฑ์โบราณคดี พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ที่รอผู้คนที่ช่างเสาะแสวงหาเข้าไปเยี่ยมเยือน และขุดค้นหาความรู้ที่มีอยู่มากมาย นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่หาได้ยาก โดยเฉพาะการช่วยให้เราระลึกถึงชีวิตและความตายได้เป็นอย่างดี
แผนงานเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกับโรงพยาบาล ห่างกันเพียงแค่คลองบางกอกน้อยคั่นกลาง จึงถือโอกาสจัดสัญจรพิพิธภัณฑ์ศิริราช ตอน มรณสติ : อสุภกรรมฐาน เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พาผู้สนใจซึ่งผ่านการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ อาสาสมัครโครงการอาสาข้างเตียง ๑๒ คน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ตึกอดุลยเดชวิกรม: พยาธิวิทยาเอลลิส, นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน, ปรสิตวิทยา และตึกกายวิภาค: กายวิภาคศาสตร์คองดอน เพื่อเรียนรู้ชีวิตและความตายในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่ในช่วงบ่าย จะข้ามฝั่งคลองเคลื่อนมาที่สำนักงานพุทธิกา ในซอยอรุณอมรินทร์ ๓๙ แลกเปลี่ยนบทเรียนจากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และการเรียนรู้เรื่องมรณสติ ข้อธรรมที่ว่าด้วยเรื่อง “อสุภกรรมฐาน” โดยมีพระวิชิต ธมฺมชิโต นำสนทนา และปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์มรณสติในชีวิตประจำวันของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
งานนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้มองเห็นชีวิตและความตายแบบเข้าใกล้มากขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรงเพราะหลายคนอาจจะรู้สึกหวาดเสียว เพราะรู้สึกว่าเฉียดกรายเข้าไปใกล้จนเกินไป แต่ก็ได้พูดคุยถึงความตายกันทั้งวัน ตลอดจนได้เรียนรู้มรณสติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์มรณสติของตนเองให้กับผู้อื่น
ที่สำคัญยังได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องมรณสติมากขึ้น ดังที่พระวิชิต ธมฺมชิโต ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง มรณสติ และ อสุภกรรมฐาน ว่า มรณสติเป็นการระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ความตายเป็นสิ่งแน่แท้ เกิดขึ้นกับเราได้ทุกขณะ ผลของการทำมรณสติ เพื่อให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ใช่การนึกถึงความตายแล้วรู้สึกห่อเหี่ยว หมดหวังในชีวิต
แม้ว่ามรณสติจะสามารถนำมาใช้สองด้านทั้งการเจริญวิปัสสนาและเจริญสมาธิ แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับการวิปัสสนาเจริญปัญญา เป็นหัวข้อหนึ่งของสติปัฏฐาน เพื่อทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง และถ้านำไปโยงกับสมถะ จะเน้นการทำจิตให้สงบเย็นแน่วแน่มั่นคง เป็นสมาธิ
ส่วนอสุภกรรมฐาน คือ ความไม่สวยไม่งาม โดยเฉพาะซากศพ หลักของการเจริญอสุภกรรมฐานคือ การดูซากศพให้เห็นถึงความไม่งามของร่างกาย
อสุภกรรมฐาน นำมาใช้สองด้านเช่นกันคือ เจริญสมาธิเป็นส่วนของสมถะ พิจารณาสภาพศพที่มีลักษณะต่างๆ กัน จำแนกไว้ ๑๐ ประเภท คือ ซากศพที่พองขึ้นอืด เขียวคล้ำ น้ำเหลืองไหล ขาดกลางตัว ถูกสัตว์กัดกิน มือเท้าศีรษะขาดหาย ถูกบั่นเป็นท่อนๆ ถูกประหารมีเลือดไหลนอง เน่าเฟะคลาคล่ำด้วยตัวหนอน เหลือแต่โครงกระดูก ดูศพให้ติดตา เมื่อหลับตานิมิตเกิด ใจไม่คิดเรื่องอื่น อสุภกรรมฐาน มีความเหมาะสมกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นกับจริยาหรือจริตของคนนั้นว่า ควรใช้อสุภกรรมฐานข้อไหน อสุภกรรมฐาน เมื่อนำมาใช้เจริญวิปัสสนา เป็นไปเพื่อพิจารณาความไม่เที่ยงของกาย ว่ากายนี้ไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง โดยสภาพศพที่นำมาพิจารณาจะต่างจากที่นำมาใช้เจริญสมาธิบ้าง มี ๙ ประเภท ตั้งแต่พิจารณาศพที่เพิ่งตายจนถึงกระดูกป่นไปเป็นผง
การใช้อสุภกรรมฐานจะสร้างความสั่นสะเทือนภายในใจเรามากกว่าการใช้อย่างอื่นเป็นกรรมฐาน หรือการใช้มรณสติ เรารู้ว่าความตายนั้นแน่นอนแต่ก็คิดว่ายังห่างไกล การได้มาเห็นศพ ได้ยินเรื่องราว ได้กลิ่นจากศพ เป็นอุบายให้เราเจริญสมาธิและวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับกิจกรรมสัญจรพิพิธภัณฑ์ศิริราช ตอน “มรณสติ: อสุภกรรมฐาน” ในคราวนี้ จบลงด้วยความเบิกบานของผู้จัดและผู้เข้าร่วม พร้อมทั้งได้ตัวอย่างของการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ได้เข้าใจความหมายของอสุภกรรมฐานและมรณสติชัดเจนขึ้น กิจกรรมสัญจรคราวหน้า ทางแผนงานเผชิญความตายอย่างสงบจะพาไปเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตและความตายของกลุ่มคริสตชนและมุสลิม พร้อมแลกเปลี่ยนความหมายของการตายดี ตายสงบกัน จะเป็นที่ใดนั้น โปรดติดตามข่าวกัน