ผมเรียนรู้อะไรจากมะเร็ง
เพื่อนใหม่ชื่อมะเร็ง
ในทางการแพทย์มีการจัดแบ่งชนิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ราว ๔๐ ชนิด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ผมป่วยเป็นชนิดร้ายแรง ขยายตัวเร็ว แต่ถือเป็นโชคดีในแง่ที่ว่า หากรักษาหาย โอกาสหายขาดมีสูง ต่างจากมะเร็งชนิดไม่รุนแรง จะมีโอกาสหายขาดยากมาก รวมถึงเป็นซ้ำได้ง่าย
การรักษามะเร็งในกรณีของผมทำได้เพียงการใช้คีโม ทำอยู่ ๖ รอบ โชคดีที่ร่างกายรับได้ แต่ช่วงการรักษา ผมถูกมะเร็งและคีโมกัดกินร่างกาย ผิวหนัง กระดูก ไปมาก กรณีมะเร็งชนิดโตไว ต้องให้คีโมมีโอกาสทำงานได้เต็มที่ แต่ก็ทำให้ร่างกายย่ำแย่ ปัญหาจึงไม่ใช่ตัวมะเร็ง แต่คือผลสืบเนื่องของการใช้คีโม เพราะภูมิคุ้มกันถูกทำลาย สร้างความเครียดกับร่างกาย เกิดการนอนไม่หลับ อีกทั้งต้องฉีดเข้าไปในไขสันหลัง เพื่อป้องกันมะเร็งลุกลามไปที่สมอง ทำให้ความทรงจำในช่วงก่อนการรักษาเหมือนกับสูญหายไป ต้องค่อยๆ อาศัยการฟื้นฟู
ในช่วงก่อนการรักษา ปัญหาท้องผูกทำให้หมอที่โรงพยาบาลตัดสินใจผ่าตัด ทั้งๆ ที่ไม่ควร ตอนที่เปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลชั้นนำ ทางโรงพยาบาลใหม่ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการผ่าตัดลำไส้ เนื่องจากเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อน แต่ในเมื่อผ่าตัดไปแล้ว ทางโรงพยาบาลใหม่จึงต้องรีบให้คีโม ผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด คือ ต้องรักษาเชื้อราระบาด
แต่โดยภาพรวมการรักษาได้ผล ปัจจุบันไม่ต้องอาศัยยาแล้ว แต่รักษาด้วยการออกกำลังกาย โภชนาการ ลดการบริโภคกาแฟ รวมถึงใช้การปฏิบัติธรรม
บทเรียนสำคัญจากมะเร็งคือ ทำให้ผมเรียนรู้เรื่องชีวิตที่สมดุลมากขึ้น บุคคลที่ไม่เคยเจ็บป่วยจะไปสอนธรรมะให้กับผู้ป่วยหนัก ไม่ใช่เรื่องง่าย การมีพื้นฐานธรรมะช่วยผมมากโดยเฉพาะช่วงที่นอนไม่หลับ ถือเป็นเวลาของการอยู่กับลมหายใจ แม้แต่ตอนที่ต้องพักฟื้นในห้องไอซียู ก็พยายามตื่นตัว ทำชี่กงท่ามกลางสายน้ำเกลือระโยงระยาง
ในสหรัฐมีคนป่วยประมาณ ๑ ใน ๓ ที่เป็นมะเร็ง วิถีชีวิตทำให้มีแนวโน้มเป็นมะเร็งกันมาก ค่ารักษาก็สูงมาก สำหรับตนเองค่ารักษาโดยรวมกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เนื่องด้วยการรักษาตกประมาณ ๒๔ ล้านบาท
บทเรียนธรรมะ
และการเรียนรู้ตนเองผ่านนพลักษณ์
ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล ถือว่าได้อยู่กับการเปลี่ยนแปลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่วงรักษาก็เจ็บปวดมาก โดยเฉพาะทางกาย เครียดเพราะเดินไม่ได้อย่างแต่ก่อน ข้อคิดธรรมะที่เกิดขึ้นเสมอคือ การพิจารณาไตรลักษณ์ กายใจที่เจ็บป่วย ใครกันแน่ที่เจ็บป่วย ตัวตนอยู่ไหน ใครป่วย ใครเป็นเจ้าของมะเร็ง ตัวตนของผมเป็นใครกันแน่ หมอ พยาบาล นักศึกษาแพทย์ เพราะร่างกายผมเป็นเสมือนสนามฝึกของหลายคนที่ให้การรักษา ดูแลพยาบาล
ความกตัญญูกตเวที แต่เดิมผมไม่ค่อยคิดชัดเจนนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้เคยฟังบรรยายจากท่านอาจารย์พุทธทาส เห็นตัวอย่างบ้างจากชาวบ้านในภาคใต้ แต่การเจ็บป่วยมะเร็งคราวนี้ ทำให้ได้ทบทวนเรื่องนี้ สิ่งที่พบคือ อาจารย์วิปัสสนาซึ่งผมไม่สนิทมากนักส่งเงินมาช่วย บางท่านผมไม่คุ้นเคย แถมเคยวิพากษ์วิจารณ์ท่านถึงแนวทางการสอนอีกด้วย แต่ท่านยังมีน้ำใจช่วยเหลือ ผมรู้สึกซาบซึ้งมาก รวมถึงความละอายใจที่เคยทำไม่ดี
ทางเมืองไทยก็เอื้อเฟื้อผมมาก ช่วยเหลือมาก แต่ที่ยิ่งใหญ่คือ มีเพื่อนๆ ภาวนาให้ผมหายจากการป่วยไข้เยอะมาก ทั้งเพื่อนชาวไทย ฟิลิปปินส์ และอเมริกา เพื่อนหลายคนจากหลายทวีปก็เข้ามาช่วยทำเรกิให้
ความเป็นคนลักษณ์ ๑ ผมจึงมักไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีคนรักเรา แต่เมื่อพบว่าแท้จริงมีคนรักเรา ทำให้รู้สึกซาบซึ้ง ญาติมิตรมาช่วยเหลือมาก ทั้งหมอ พยาบาลก็ดีมาก ทำให้ผมได้มีโอกาสสอนธรรมะ สอนการภาวนาด้วย ภรรยา คือ โจ มารี ก็ช่วยเหลือมาก ทำทุกอย่างและเข้มแข้งที่จะช่วยเหลือผม การพบว่ามีคนรักเราทำให้กำแพงของความเป็นลักษณ์ ๑ สลายลงบ้าง แม้จะกลับมาแต่ก็เบาบาง เนื่องเพราะการได้พบและได้รับความเมตตา
ช่วงอยู่โรงพยาบาล หมอแนะนำให้ผมเดินบ่อยๆ ในท่ามกลางคนป่วยมากมาย ก็ได้พบเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่น พยาบาลที่ทำงานกับคีโมก็ทำมาร่วม ๓๐ ปี จนได้รับผลกระทบจากคีโมมาก พบด้วยว่าการปกป้องพยาบาลคนทำงานยังมีน้อยมาก หมอรักษามะเร็งท่านแรกก็ล้มป่วยด้วยมะเร็งตับอ่อน และเสียชีวิตแล้ว
ช่วงอยู่โรงพยาบาล ผมมักรำคาญคนแก่ที่เดินช้า ความที่อยากเดินเร็ว แท้จริงแล้วเพื่อแสดงว่าตนเองแข็งแรง คือความเป็นตัวตนแบบหนึ่ง ทำให้ไม่แน่ใจว่าระหว่างความมีตัวตนแบบผม กับแบบคนแก่ที่เดินช้าน่ารำคาญ ใครจะแย่กว่ากัน การได้พบตัวตนนี้ทำให้ผมพบว่ารำคาญคนแก่น้อยลง ผมต้องพูดว่า มะเร็งทำให้ผมเข้าใจธรรมะลึกซึ้งขึ้น
ข้อธรรมเรื่องมุทิตา การได้พบข้อดี สิ่งดีๆ ของผู้คนมากมายเกินกว่าข้อวิจารณ์ติติงที่เคยมีมา และพบว่ามีความสุขมากกว่าการวิจารณ์ซึ่งเป็นความสะใจ แต่มันมีพิษในตัวเหมือนคีโม การได้เอาชนะความโกรธทำให้ผมพบและนำไปสู่การให้อภัยกับคนที่ผมเคยตำหนิ เคยวิจารณ์ ผมทำทำไม เขาไม่ได้ผิดอะไร เขาทำเพราะความเป็นเขา แท้จริงการให้อภัยเพราะเราต่างหากที่ทำผิด ชอบจับผิด ตัวตนตามลักษณ์ทำงานแท้ๆ
ผมพบว่ากำแพงที่หัวใจเบาบางลง รู้สึกได้ถึงใจที่เบิกบาน แม้จะไม่ถึงขนาดท่วมท้นอารมณ์ แต่เข้าถึงใจตนเองมากขึ้น สิ่งที่พบด้วยคือ คนอื่นก็รู้ว่าเรามีหัวใจเช่นกัน ได้เรียนรู้ถึงการสัมผัสทางใจต่างๆ มีการปรุงแต่ง เกิดตัณหา ในช่วงป่วยพักที่บ้านเพื่อนใกล้โรงพยาบาล เวลาว่างก็เฝ้าดูตัวตนที่รู้สึกเบื่อ รำคาญตนเอง ทุกข์กับยาต่างๆ ที่เข้ามา รวมถึงตัวกูที่รำคาญ หงุดหงิด การเห็นตัวตนเหล่านี้ช่วยเรื่องปล่อยวางได้มาก ผมเคยคาดหวังว่าจะปล่อยวางจนหมด แต่ยังทำไม่ได้ เราจะปล่อยต่อเมื่อเราเห็นให้มันสลายตัวไป
อีกอย่างหนึ่งที่ได้พบและเรียนรู้คือ ความต้องการเป็นเด็กดี ชัดเจนมาก ช่วงอยู่โรงพยาบาล ความอยากเป็นเด็กดีมันแสดงตัวโดยพยายามเป็นผู้ป่วยที่ดี ข้อดีคือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ชื่นชมในความร่วมมือ เอื้อเฟื้อ อดทนต่อการรักษา ข้อเสียคือ บางช่วงหมอเสนอการรักษาที่ไม่ดี แต่ผมยินยอมอนุโลมตามใจหมอ ไม่ได้ตั้งคำถาม ตรวจสอบเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณา มักคล้อยตามมากกว่า เช่น การผ่าตัดลำไส้ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ยินยอม คือช่วงการรักษาระยะแรก มีหมอเฉพาะทางแต่ไม่เก่งในเรื่องมะเร็งชนิดที่ผมป่วย การรักษาก็ล่าช้า เฉื่อยชา ผมก็เลยเฉื่อยชาตาม ภายหลังจึงพบว่าอันตรายมาก หมอที่โรงพยาบาลใหม่โกรธมาก โทรไปเร่งรัดผลเพื่อนำมาตรวจสอบทันที จึงทำให้ทราบชนิดของมะเร็ง แต่เพราะความล่าช้าทำให้ต้องเสียเวลาไปร่วมสัปดาห์
สิ่งที่อันตรายคือ ความล่าช้าของผลตรวจทำให้ไปผ่าตัดลำไส้ จนเกิดผลเสียหายอื่นๆ ตามมา ทั้งที่การฉีดคีโมครั้งแรกทำให้มะเร็งลดขนาดทันที จึงไม่ควรผ่าตัดเพราะปัญหาท้องผูกถูกแก้ไขไปในตัวแล้ว แต่เพราะการผ่าตัดลำไส้ ทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา
ความเป็นเด็กดี เกรงใจหมอมักทำให้ผมยอมๆ ภรรยาซึ่งเป็นพยาบาลด้วย ความที่ภรรยาเป็นคนลักษณ์ ๖ จึงพยายามซักถาม แต่หมอก็ไม่ตอบ คนไข้ต้องเป็นฝ่ายเจรจา และการที่มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง ทำให้ต้องทำงานกับหลายฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อสรุป สิ่งสำคัญคือ ผมต้องเท่าทันความต้องการเป็นเด็กดี เพราะเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องราว
อวิชชาทำให้เรามองเห็นหรือรับรู้เพียงด้านเดียว ภรรยาผมเป็นคนลักษณ์ ๖ ปีก ๕ ก็ช่วยเสริม ตรวจสอบจุดที่บกพร่อง ตัวผมตอนแรกอยากใช้การแพทย์ทางเลือก แต่มันช้าและมีโอกาสตาย ก็ไม่ได้มองข้ามเสียทีเดียว ผมเองเคยวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านการแพทย์แผนใหม่ ด้วยความมีอุดมคติแบบเรา แต่พบกับตนเองว่ามันช่วยได้ ทำให้ผมไม่รู้ว่าจะวิจารณ์อย่างไรดี เพราะเราได้ประโยชน์ สิ่งที่พบคือ โลกไม่ได้ขาวดำแบบที่เรารับรู้หรือเข้าใจ มันซับซ้อน หลายสี ความเป็นศูนย์ท้องของผมต้องการความชัดเจน แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันมีเหตุปัจจัยมากมาย
เราต้องยอมรับโลกอย่างที่เป็น ที่มีความขัดแย้งปะปนกันไป จะเอาแต่อุดมคติอย่างเดียวไม่ได้ การเมืองอเมริกาที่ผมอาศัยอยู่ วุ่นวายมาก ยุ่งยากมาก แต่เราต้องอยู่กับมัน เรื่องความอดทน ผมพบว่าบางเรื่องไม่ต้องอดทน บางเรื่องอดทนเกินไป นั่นเป็นการจับธรรมะแบบโง่ๆ
ความเป็นคนลักษณ์ ๑ ซึ่งมักพึ่งตนเองมาแต่ดั้งเดิม พบว่ามันหงุดหงิด แต่มาพบว่าการเห็นกิเลสความถือตัวช่วยให้เราวางกิเลสตัวนี้ เพราะเราอยู่ในสภาพที่ต้องรับความช่วยเหลือ ซึ่งการรับก็ช่วยให้อีกฝ่ายมีความสุข
หลังการรักษาคีโมรอบที่ ๔ ผมเริ่มอ่านหนังสือบ้าง ตอนนั้นไม่พบมะเร็งแล้ว สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ หนังสือเกี่ยวกับมะเร็งหลายเล่มอธิบายว่า ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนบังคับตนเองมาก แม้จะเกิดผลงานที่ดีขึ้นได้ แต่มาจากการบังคับตนเอง ทำร้ายตนเอง เป็นการสร้างเหตุปัจจัยของการป่วยเป็นมะเร็งให้กับตนเองแท้ๆ ตอนนี้ผมลดกาแฟ ระวังเรื่องความเครียด ผ่อนคลายมากขึ้น ผมเองแม้จะบวชมา ๒๐ปี แต่ความโง่ยังมี จนมะเร็งมาช่วยสอนแบบแรงๆ
ความที่ตนเองเป็นศูนย์ท้อง เรื่องความกลัว ความกังวลไม่ค่อยมีมากเท่าไร ช่วงตรวจที่โรงพยาบาล ผมไม่รู้สึกกลัวมากนัก คิดแค่ว่าเอาเนื้องอกออกก็จบ ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ต่างกับภรรยาและหมอซึ่งกังวลมาก สิ่งที่พบคือ กระบวนการป่วยจากมะเร็ง ทำให้เราได้รู้จักความกลัว ไม่ได้เก็บกดความกลัว ยอมรับมัน ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนมักป่วยซ้ำเมื่อรักษาหาย เนื่องด้วยโรคแทรกซ้อน ช่วงตอนเมษายนที่ผ่านมา ผมมีอาการท้องผูก ทำให้ความกลัวเข้ามาอีก มันเป็นกิเลสแต่หากบีบกด ก็ไม่ใช่การปล่อยวาง สำคัญคือ ต้องเข้าใจมันก่อน เมื่อเข้าใจเราจึงปล่อยวางได้
มะเร็งนอกจากจะสอนผมเรื่องความกลัวแล้ว ก็สอนให้ผมรู้จักความรัก รู้สึกซาบซึ้งกับความรักที่มีต่อเพื่อน แฟน ท่านอาจารย์พุทธทาส พระพุทธเจ้า สรรพสัตว์ต่างๆ
สิ่งที่ได้เรียนรู้และสืบเนื่องตามมาคือ ช่วง ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา ผมกับแฟนมักพูดคุยเรื่องอนาคตมากขึ้น ผมเองเป็นขี้เกียจคิด แต่ภรรยาคิดมาก ภรรยาต้องแบกรับเรื่องนี้ซึ่งไม่ยุติธรรม ทำให้ผมตระหนักรู้ขึ้นมามากขึ้นว่า ต้องฟื้นตัว ต้องคิดเรื่องอนาคต เรื่องความมั่นคง ยิ่งอยู่ในสังคมอเมริกาเรื่องนี้ยิ่งรุนแรง
สำหรับผมแล้วการป่วยคราวนี้ เป็นบททดสอบ บทท้าทาย และการฝึกฝนตนเองที่ดีมาก
บรรยายเมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ห้องประชุมบ้านพักกรุงเทพคริสเตียน ขอขอบคุณสมาคมนพลักษณ์ไทย ในฐานะเจ้าภาพและเอื้อเฟื้อเนื้อหาการบรรยายในการเผยแพร่ประสบการณ์การเจ็บ ป่วยผ่านบทความนี้
---
เชิงอรรถ
- อาจารย์สันติกโร อดีตพระสันติกโร (๒๕๒๘-๒๕๔๗) สวนโมกข์พลาราม ในช่วงสมัยท่านอาจารย์พุทธทาส ยังมีชีวิต พระสันติกโรทำหน้าที่แปลธรรมบรรยายให้กับท่านอาจารย์ จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษให้กับชาวต่างชาติที่มาศึกษาธรรมะ
- นพลักษณ์ หรือ Enneagram คือ เครื่องมือเพื่อช่วยในการสังเกต เรียนรู้ เข้าใจและพัฒนาตนเอง รวมถึงการเข้าใจในความแตกต่างถึงบุคลิกภาพที่จัดแบ่งออกเป็น ๙ แบบ โดยอาจารย์สันติกโรมีบุคลิกภาพแบบคนสมบูรณ์แบบ ที่เน้นเรื่องความถูกต้อง ระเบียบวินัย ขณะเดียวกันก็มักหลีกเลี่ยง ขุ่นเคืองใจกับเรื่องความผิดพลาด ผู้สนใจศึกษาข้อมูลได้ www.enneagramthailand.org
- คนลักษณ์ ๖ นักปุจฉา มีบุคลิกภาพช่างสงสัย ระมัดระวัง และหวาดระแวง จึงมักตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่าง
___
ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ (ถอดความ/เรียบเรียง)