เมื่อผู้สูงอายุพูดถึงความตาย ทำอย่างไรดี
- อยู่ดีๆ ผู้สูงอายุก็พูดถึงความตายขึ้นมา
- เช่น “อายุปูนนี้แล้ว จะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่หนอ” “จะได้เห็นหลานๆ เรียนจบปริญญาไหมนะ” “เมื่อไหร่จะพ้นทุกข์พ้นโศกไปเสียที” ฯลฯ
- ลูกหลานมักห้ามปราม บ้างก็ว่าเป็นลางร้าย หรือไม่ก็พูดหลบเลี่ยง เช่น “ผู้สูงอายุยังแข็งแรง ยังอยู่ได้อีกนาน ยังไม่ต้องคิดเรื่องนี้หรอก”
- หากเราห้ามปรามเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาณว่า เรายังไม่พร้อมรับมือกับความพลัดพราก ปฏิเสธการสูญเสีย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเผชิญความตายอย่างสงบ
- บางครั้ง ที่ผู้สูงอายุเปรยสิ่งเหล่านี้ ก็เพราะมีสิ่งกังวล มีธุระคั่งค้างที่อยากสะสาง หรือมีความปรารถนาส่วนลึกที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เช่น ต้องการพบคนสำคัญ ต้องการจัดการแบ่งสรรทรัพย์สิน ต้องการฝากฝังให้ดูแลคนที่ท่านเป็นห่วง ต้องการความมั่นใจว่าจะมีคนดูแล หรือไม่ทุกข์ทรมานจากภาวะโรค
- นี่จึงเป็นโอกาสทองของลูกหลานที่จะเริ่มต้นสนทนา ค้นหาความกังวลของผู้สูงอายุ ด้านหนึ่งก็เพื่อแสดงความสนใจ ใส่ใจ ผ่อนคลายความกังวล อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ท่านมั่นใจว่า เรายอมรับการจากไปของท่านได้
- การพูดคุยกับท่านในเรื่องนี้ จะช่วยให้ท่านได้เตรียมพร้อมรับการจากไป และช่วยให้ครอบครัวใช้เวลาที่เหลืออย่างมีคุณภาพร่วมกับท่าน
- ลูกหลานควรชื่นชม ให้กำลังใจว่าผู้สูงอายุมีความเข้มแข็ง ยอมรับความจริงของชีวิตได้ พร้อมทั้งตั้งคำถามให้ผู้สูงอายุสำรวจความพร้อมในการเผชิญกับความตาย เช่น “คุณตากลัวตายไหม, ถ้าเลือกได้ วันสุดท้ายคุณยายอยากอยู่ที่ไหน, อยากให้ใครอยู่ด้วยบ้าง, มีอะไรที่ย่าอยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ, ในบรรดาลูกหลานทั้งหมด คุณตาเป็นห่วงใครมากที่สุด” เป็นต้น
- ลูกหลานควรเริ่มต้นยอมรับว่า เวลาที่จะอยู่ร่วมกับท่านเริ่มจำกัดและเหลือน้อยลงทุกที ในขณะเดียวกัน ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่กับเรา ยังมีโอกาสทำสิ่งดีงามร่วมกันได้
- หากเป็นไปได้ ควรเริ่มต้นสะสางสิ่งคั่งค้างสิ่งที่ผู้สูงอายุเป็นกังวล อาจจัดงานบุญรวมญาติในโอกาสต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุได้พบคนที่อยากพบ หรือเป็นธุระจัดการสิ่งที่ท่านต้องการทำให้เสร็จ ฯลฯ
หากมีข้อสงสัย ต้องการซักถาม หรือปรึกษาเกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องความตายเพิ่มเติม ขอเชิญโทรมาที่ สายด่วนให้คำปรึกษาทางใจ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ๐๘๖-๐๐๒๒-๓๐๒