Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ชีวิตนี้เพื่อเธอ...บุพการีที่รัก

-A +A

“ไม่ฟูมฟาย ไม่ร้องไห้เลย เฉย ตอนนั้นคิดแต่ว่า ทำไมมันเป็นเร็วจัง อายุเท่านี้เอง มันจะรีบไปไหน คือพี่ยังไม่ได้ทำอะไรให้กับพ่อกับแม่เลย ตั้งความหวังไว้ว่า ถ้าเราเรียนจบ ทำงาน จะทำให้พ่อกับแม่อยู่สุขสบาย” 

คุณวรรณระลึกถึงความรู้สึกของตัวเองเมื่อ ๒๐ ที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๓๘) ขณะที่ฟังหมอวินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์

“แต่พี่ก็คิดว่า เรายังไม่ได้ตายทันที ในช่วงที่เหลือเราจะทำอะไร เพราะว่าพี่ตั้งเป้าไว้ว่า พี่จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ พ่อแม่ต้องสบายก่อน แล้วก็ พี่ตายก่อนพ่อกับแม่ไม่ได้”

.....................

 

ดร.ธนวรรณ สินประเสริฐ หรือคุณวรรณ มีก้อนขนาดเท่านิ้วโป้งที่บริเวณลำคอมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาพยาบาลปี ๒ หมอตรวจแล้วบอกว่าเป็นไทรอยด์ตามช่วงวัย พอโตขึ้นก็จะหายเอง เธอจึงไม่ได้ใส่ใจกับมัน จนกระทั่งเรียนจบและเข้าทำงานที่โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรีได้ไม่กี่ปี ขณะที่เธอเล่นวอลเล่ย์บอลในงานกีฬาของโรงพยาบาล เธอรู้สึกปวดและมีเลือดซึมออกมาตรงบริเวณก้อน คำวินิจฉัยของหมอคือเธอเป็นโรคไทรอยด์ และต้องตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งไปหนึ่งข้าง เมื่อนำไทรอยด์ข้างที่ตัดออกนั้นไปตรวจ จึงพบว่า จริงๆ แล้ว มันคือเนื้อร้าย ไทรอยด์อีกข้างหนึ่งจึงจำเป็นต้องถูกตัดออกไปในเวลาห่างกันไม่ถึงเดือน แต่ถึงกระนั้นเธอก็ไม่ได้ถอดใจในชีวิต 

“ต้นไม้ยืนต้น มันโตได้ ถ้ากิ่งไหนมันเสีย กิ่งไหนมันเน่า มันเหี่ยวมันแห้ง มันเด็ดทิ้ง ตัดทิ้ง หรือว่า มันร่วงของมันไปได้ แต่ต้นไม้ต้นใหญ่ต้องอยู่ พี่ก็มองว่า ไอ้นี่มันเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่ง นิดเดียวเอง ไทรอยด์ นิดเดียวเอง คือถ้ามันเสียหาย ก็โอเคตัดทิ้งไป แต่ว่าอวัยวะอื่นเราต้องอยู่ พอพี่คิดอย่างนี้ ก็โอเค เราต้องอยู่ได้เท่าที่มี ไทรอยด์ไม่อยู่แล้ว  ก็หายากินเข้าไป”

เธอบอกว่า การผ่าตัดนั้นไม่เท่าไหร่ แต่การแพ้ยาสาหัสกว่า เพราะว่าพอผ่าตัดเสร็จ เธออึดอัดจนหมดสติไม่รู้สึกตัวไปเลย เพราะแพ้ยาฆ่าเชื้อที่ฉีดก่อนเข้าห้องผ่าตัด

 หลังจากการผ่าตัด เธอยังต้องรักษาต่อด้วยการกลืนแร่ไอโอดีนเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเซลล์ดีด้วย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และทำให้เธอต้องถูกเก็บตัวแบบห้ามเยี่ยมอยู่ในห้องเล็กๆ คนเดียว เพื่อป้องกันมิให้แผ่รังสีให้กับคนอื่น แต่กระนั้น เมื่อมีงานแต่งงานพี่สาว ซึ่งเป็นช่วงที่รังสีจางลงแล้ว เธอยังขออนุญาตหมอออกไปร่วมงานแต่งงาน เพื่อไม่ให้คนที่เธอรักที่สุดในชีวิตสองคนเป็นห่วง

“๒๐ ปีมานี้ พ่อแม่ไม่รู้เลยว่าพี่เป็นอะไร เขาถาม พี่ก็บอกว่าเป็นไทรอยด์ คือพี่ไม่อยากให้เขาเสียใจ อะไรที่ทำให้เขาทุกข์ใจ พี่ไม่ทำ พอพี่สาวพี่แต่งงาน ไม่มาก็ไม่ได้ ช่วงนั้น (ช่วงกลืนแร่) พี่บอกพ่อกับแม่ว่า พี่ไปอบรม แล้วพี่ก็มา พี่ก็เฮฮาปกติ คือทุกคนเห็นพี่แล้วจะต้องไม่ทุกข์ พอเสร็จงานพี่ก็กลับไปนอนต่อ” 

คำว่า “ไม่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์” เป็นคำพูดติดปากของคุณวรรณตลอดเวลาที่เราคุยกับเธอ แม้ในยามที่เธอเป็นโรคร้าย เธอก็ยังทำตัวสนุกสนานเฮฮาเหมือนปกติ เพราะไม่อยากให้คนอื่นต้องมาทุกข์เพราะเธอ จนบางครั้งคนรอบข้างบอกว่า เธอไม่เจียมตัว 

แม้กระทั่งการเป็นมะเร็ง เธอก็ยังขอให้มีเธอเป็นเพียงคนเดียวในหมู่ญาติพี่น้องรุ่นเดียวกันกับเธอ 

“กรรมพันธุ์พี่ มีเป็นโรคนี้อยู่ตลอด รุ่นต่อรุ่น พี่ก็จะบอกว่า ถ้ารุ่นพี่จะเป็น ขอเป็นคนเดียวนะ คนอื่นอย่า พี่รับไว้เองดีกว่า เพราะพี่เชื่อว่าคนอื่นไม่น่าจะเข้มแข็งเท่าพี่“

“ถ้าถามว่า พี่ทุกข์ไหม คิดบ้าง แต่เล็กๆ ที่คิดก็คิดแต่ว่า มันจะเกิดขึ้นมาอีกไหม เมื่อไหร่ แต่ถามว่า ทุกข์แบบกลางคืนนอนไม่หลับ เศร้าหมอง โน่นนี่นั่น ตกอยู่ในภวังค์ของความทุกข์ ไม่มีเลย ไม่เคยคิด” 

ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร คุณวรรณมักไม่พูดเรื่องความทุกข์ให้ใครฟัง เพราะเธอเห็นว่าการนำความทุกข์ไปให้คนอื่นเป็นการเบียดเบียน ซึ่งเท่ากับเธอสร้างบาป เธอจะคิดจัดการกับปัญหาด้วยตนเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  ส่วนกำลังใจของเธอในยามทุกข์ก็หนีไม่พ้นพ่อแม่บังเกิดเกล้า

“เห็นแกยิ้มได้ เห็นแกหัวเราะได้ ก็พอแล้ว ไม่ต้องมาปลอบ จริงๆ แล้วคำพูดหรือคำปลอบ บางทีมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากในความคิดของพี่”

นอกจากจะผ่านการเป็นโรคร้าย คุณวรรณยังผ่านประสบการเฉียดตายมาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่ทำให้ความคิดในการใช้ชีวิตของเธอพลิกผันคือ อุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนนที่เกิดขึ้นก่อนที่เธอจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง

“รถสิบล้อพุ่งข้ามเลนมา แล้วเสียหลักเข้ามาฟาดกับตัวถังรถเมล์ที่พี่นั่ง คือเบาะหลังจากพี่หลุดออกไปเลยนะ หลุดออกไปแล้วคนนั่งหลังพี่ตาย...พอโดนโครม พี่ก็เทเลย เทเสร็จแล้วเลือดก็เต็มตัวพี่เลยนะ ก็ดูดู ไม่มีแผลนี่นา ไม่ใช่เลือดเรา คือเลือดคนข้างหลัง เรารอดมาได้” 

เหตุการณ์ครั้งนั้นเปลี่ยนเธอจากคนใจร้อนมากให้กลายเป็นคนใจเย็น และดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท

“(เรียน)จบใหม่ๆ กับคนไข้ กับญาติ นี่มีเรื่อง โดนกาดาวแดงเลย เป็นคนที่ไม่ยอมคน แต่พอหลังๆ นี่ เย็น เย็นมาก จากคนที่อารมณ์ร้อนนี่เย็นไปเลย...บางทีก็มีหลุดนะ พออารมณ์มันเหนือเหตุผล เปรี้ยงไปแล้วนะ พอใจเย็นแล้วมานั่งคิด ไม่น่าเลย ไม่น่าพูดเลย มันพุ่งปี๊ดไปแล้ว แต่ว่าแต่ก่อน สิบเรื่อง พุ่งทั้งสิบเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้อาจมีสักหนึ่งเรื่องสองเรื่อง”

 “แต่ก่อนพี่ขับรถอย่างเร็ว คือขับแบบคนไม่กลัวตาย แต่พอตอนหลังมีความรู้สึกว่า ถ้าจะตายด้วยความจำเป็นที่จะตาย มันไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่จำเป็นที่จะตาย แล้วเราเลี่ยงได้ เลี่ยง ใจเย็นลง ขับรถช้าขึ้น ทำอะไรแล้วไม่ประมาท เพราะไม่ว่าประมาทด้วยอะไรก็แล้วแต่ ด้วยการใช้ชีวิต ด้วยคำพูด ตัวอย่างคนประมาทด้วยคำพูดแล้วพากันไปตายก็มี”

ด้วยความที่เธอเป็นนางพยาบาลมานานถึง ๒๕ ปี คุณวรรณบอกว่า เธอมีครูให้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความตายอยู่ทุกวัน

“ถ้าวันนั้นเป็นเวรพี่ อย่างน้อยไม่ต่ำว่าสองศพ เดี๋ยวตึกโน้นเดี๋ยวตึกนี้ คือพี่จะเจอจนตอนหลังมานั่งคิดเอง เออนะ มันไม่ได้ห่างไกล เกิดเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั้น เกิดทุกวัน ตายทุกวัน ในทุกวินาทีที่ผ่านไป เกิดตายเกิดตายก็สลับกันไป มันไม่เที่ยงเลยชีวิต แค่เราเดินออกจากบ้าน ไม่ต้องเดินออกจากบ้าน อยู่ในบ้านยังตายได้เลย”

คุณวรรณได้สัจธรรมแห่งชีวิตมาจากการอ่านหนังสือธรรมะ แล้วนำมาคิดตาม หรือนำไปใคร่ครวญเวลาประสบพบกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต แม้เธอจะไม่เคยนั่งสมาธิภาวนาตามรูปแบบใดใด  แต่เธอเชื่อว่า การคิดใคร่ครวญแบบนี้ คือการภาวนาอย่างหนึ่ง

“ที่นี่ (โรงพยาบาล) ก็มีคอร์สให้ไปอบรมสมาธิ ไปนั่งภาวนา พี่ไม่ไปเลย พี่บอกว่า สมาธิทำที่ไหนก็ได้ แล้วก็การภาวนาของพี่ที่ผ่านมา คือการนั่งพิจารณาถึงสัจธรรมของชีวิต คนจะตาย เราก็มองว่า ไอ้นี่คือเรื่องปกติ ขับรถไปไปเจอซากสัตว์ แมวบ้าง สุนัข อะไรอย่างนี้ พี่ก็มองว่า ทุกอย่างมันเหมือนกันหมด พี่เรียนรู้จากพวกนี้... ถ้าการภาวนาคือการที่เรามาพิจารณาชีวิตของเราแล้วนะ คือมันเห็นทุกวัน เห็นทุกเรื่อง เห็นทุกอย่าง อยู่ที่ว่าคนคนนั้น จะคิดหรือเปล่า”

คุณวรรณบอกว่า ในความเจ็บป่วยนั้น โรคใจหนักกว่าโรคกาย ถ้ากายป่วยแค่หนึ่ง แต่ใจป่วยเป็นสิบ จะอยู่ไม่ได้ แต่คนที่กายป่วยเป็นสิบ แต่ใจไม่ป่วย กลับอยู่ได้นาน 

“พี่มองว่า ทุกอย่างอยู่ที่ใจ พ่อพี่เป็นมะเร็งตับ แต่พ่อพี่อยู่ด้วยกำลังใจ อยู่ด้วยความสบายใจ เขาไม่ได้กังวล หมอบอกอยู่ได้หกเดือน แกอยู่ได้มาสองปี แล้วแกก็ไม่ได้เสียเพราะโรคทางตับด้วยนะ แกเสียเพราะว่าเส้นเลือดในกระเพาะมันแตก”

คุณพ่อคือต้นแบบแห่งความเข้มแข็งและการใช้ชีวิตของคุณวรรณ แม้กระทั่งในวันที่ท่านจะเสียชีวิต เธอยังได้บทเรียนที่สำคัญจากท่าน

“วันที่พ่อจะเสีย พ่อสุดยอดมากเลย เข้มแข็งมาก ขนาดพี่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้และการจัดการวาระสุดท้ายของชีวิต แต่พี่ทำใจไม่ได้ พ่อต้องมาปลอบพี่อีก พ่อบอกว่า จะร้องไห้ทำไม ดูซิแกยังไม่ร้องเลยสักคำ ถ้าแกพูดคำนี้ แสดงว่าแกทำใจมาตลอด แกพร้อม”

“พ่อไม่เคยไปวัดเลย ให้สวดมนต์ให้อะไร แกไม่เอานะ เอาธรรมะไปให้ฟัง แกไม่ฟัง แกกระสับกระส่าย แกชอบฟังรำวงย้อนยุค พี่เลยเปิดย้อนยุคให้แกฟัง แกนอนกระดิกเท้า โห สุดยอด แกทำได้ขนาดนั้น พี่ก็เลยมานั่งคิด คือมันไม่จำเป็นต้องไปวัด ไปนั่งฟังพระ ไปนั่งสวดมนต์ทุกวันพระ การภาวนาที่ไหนก็ทำได้ สมาธิที่ไหนก็ทำได้ แม้กระทั่งนอนป่วยอยู่บนเตียง แกก็อาจทำสมาธิอยู่ก็ได้ แกนิ่งมาก พี่ก็เลยน่าจะได้พ่อเป็นไอดอลแมน”

ตลอดเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา คุณวรรณรู้สึกว่า เธอได้ทำทุกอย่างที่เธอตั้งใจจะทำให้กับพ่อและแม่สำเร็จเสร็จสิ้นหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฐานะและความสุขสบายให้กับพ่อแม่ที่ทำนาส่งเธอเรียน การดูแลพ่อยามเจ็บป่วยด้วยวิชาพยาบาลที่พ่อเป็นคนขอให้เรียน และการเรียนของเธอที่จบถึงขั้นปริญญาเอก 

“พ่อภูมิใจมาก แต่พ่อไม่ได้อยู่รับปริญญาพี่เลยนะ พ่อเสียซะก่อน เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (๒๕๕๗).. เขาเรียกหนูว่าด๊อกเตอร์หรือยัง นี่คือคำที่พ่อถาม พี่บอกว่าเรียกแล้ว แกยิ้ม แค่นี้ พี่ภูมิใจแล้ว พี่ว่าพี่ทำทุกอย่างสำเร็จหมดแล้ว ถ้าถามห่วงอะไรไหม ไม่ห่วงเลย สบาย”

ทุกวันนี้ คุณวรรณต้องไปตรวจเลือดหาเซลล์มะเร็งทุก ๖ เดือน แต่ก็ไม่เคยเจออะไร เธอดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนคนปกติทั่วไป เธอยังคงเป็นพยาบาลเฉพาะทางด้านตา เป็นอาจารย์สอนการพยาบาล และตั้งชมรมของตัวเองช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน เธอบอกว่า เธอทำหน้าที่พื้นฐานของมนุษย์เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ขอทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม  

“เกิดมาทั้งทีไม่รู้จะได้เกิดอีกหรือเปล่า เกิดชาติหน้ามีจริงไหมก็ไม่รู้ คืออยู่ ก็ทำประโยชน์ให้มันเยอะๆ เผื่อเวลาอีกหน่อยเขาจะพูดถึงเรา คือขอให้สรรเสริญนิดหน่อย... เราไม่รู้หรอกว่า พรุ่งนี้หรือข้างหน้านี้มันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าเป็นกับตายมันพิงกันอยู่ตลอดเวลา ในหนึ่งวินาทีมันก็เกิดเหตุได้แล้ว ก็ทำซะ อย่ารอ”

 “แล้วก็ถ้าคิดจะตอบแทนใคร ตอบแทนสังคม ตอบแทนอะไรก็แล้วแต่ อันดับแรกคือ ต้องตอบแทนบุพพการีก่อน” 

 

ที่มา:

คอลัมน์: