ชีวี วารีล่อง: งานศพ(ที่บ้าน)ออกแบบได้
ค่ำวันหนึ่งของต้นเดือนธันวาคม บนศาลาขนาดย่อมในบริเวณบ้านหลังหนึ่งริมคลองชักพระที่ตกแต่งด้วยดอกกุหลาบประดับรอบภาพหญิงสาวในชุดเจ้าสาว และแผ่นป้ายข้อความ “ชีวี วารีล่อง” มีผู้คนหลายสิบคนในชุดหลากสีสันกำลังร่วมกันสวดมนต์ทำวัตรเย็นภายใต้บรรยากาศที่สงบเย็น ถ้าไม่ใช่เพราะมีโลงสีขาวใบหนึ่งตั้งอยู่ อาจไม่คิดว่านี่คืองานศพ เพราะไม่มีใครแต่งชุดดำ หรือมีพระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรมเหมือนประเพณีปฏิบัติทั่วๆ ไป แต่มีการเทศนาธรรมโดยพระสงฆ์ สนทนาธรรม หรือทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เรื่องชีวิตและความตายกัน
งานศพในเมืองที่ไม่ธรรมดาดังกล่าวเป็นความปรารถนาของผู้ตายคือ กันย์ “รสวรรณ ม่วงมิ่งสุข” ซึ่งเขียนระบุไว้อย่างชัดเจนในพินัยกรรมชีวิตของเธอเอง หลังจากรู้ตัวเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเมื่อหลายปีก่อนและลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ จนเปลี่ยนชีวิตของเธอไปอย่างสิ้นเชิง จากสาวนักเที่ยวผู้แสวงหาความสุขสนุกสนานไปวันๆ ตามประสา ให้กลับมาใคร่ครวญทบทวนคุณค่าความหมายในชีวิตตนเอง และพยายามใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างมีค่าที่สุด นอกจากมะเร็งจะไม่สามารถพรากความเป็นคนคิดบวก และความร่าเริงไปจากเธอแล้ว ยังทำให้เธอได้มาสนใจเรียนรู้ธรรมะ การเผชิญความตายอย่างสงบ และกลายมาเป็นผู้ให้กำลังใจแก่คนจำนวนมากด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ในการเยียวยามะเร็งผ่านสื่อสังคมสมัยใหม่ อย่างเฟซบุ๊กแฟนเพจ “มะเร็งพลิกชีวิต” ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยและญาติจำนวนไม่น้อยสามารถผ่านความยากลำบากในชีวิตไปได้
แม้กระทั่งเมื่อเธอจากไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว แต่ความตายของเธอยังให้บทเรียนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่ยังอยู่ รวมถึงสังคมไทยในอนาคตได้อีกด้วย เมื่อสิ่งที่เธอบอกไว้ในพินัยกรรมชีวิต “เมื่อฉันตาย” ซึ่งเขียนครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๖ และแก้ไขล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ ว่าอยากให้งานศพของเธอซึ่งจัดที่บ้าน “เป็นงานบุญ เป็นกุศลสีขาว” เธอไม่ต้องการให้คนมางานศพแล้วเศร้า แต่มาพูดคุยกันแม้แต่เรื่องความตายให้มีบรรยากาศของงานแสดงความยินดีบางอย่าง “สิ่งที่กันย์ต้องการคือ จัดให้มีปฏิบัติธรรมที่บ้าน สวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ และที่สำคัญคือฟังธรรม กันย์อยากให้ทุกคนที่กันย์รักได้เรียนรู้ในสิ่งที่กันย์ได้เรียนรู้ในช่วงที่เจ็บป่วย ธรรมะเหล่านี้ อาจารย์ทุกท่านคือผู้ที่ช่วยประคับประคองกันย์ไว้ในช่วงเวลาอันยากลำบาก” ซึ่งอาจเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับงานศพแบบใหม่ที่มีคุณค่าและเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับยุคสมัยกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ความที่ครอบครัวของกันย์มีความเชื่อเรื่องการจัดงานศพให้มีสาระมากกว่าเพียงแค่พิธีกรรมอยู่แล้ว เมื่อเธอมีความคิดที่จะออกแบบงานศพที่บ้านของตัวเอง พี่ชายจึงเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของเธอ เพราะมีความเชื่อตรงกันในหลายๆ เรื่อง “เราคุยกันมาตลอด เห็นพินัยกรรมนานแล้ว เราเชื่อเหมือนกันว่าการปฏิบัติธรรมน่าจะได้บุญและอุทิศให้ผู้ตาย ถ้าเราไปจัดที่วัด การฟังพระอภิธรรมหลายครั้งมีคนคุยกันเพราะเราฟังไม่รู้เรื่อง กันย์ขอว่าให้จัดที่บ้าน ไม่ต้องสวด เลยยินดีตามนั้น และแม่เห็นด้วย เมื่อนิมนต์พระสงฆ์ที่นับถือมาเยี่ยมศพและให้ข้อคิดทางธรรมะ เลยถือโอกาสถามท่านว่า เราจัดงานแบบนี้ ไม่ได้ไปสวดที่วัด ดีไหม แม้ว่าท่านเป็นพระนักสวด แต่กลับให้เหตุผลสนับสนุน บอกว่าสวดแล้วคนคุยกัน อาจจะไม่มีประโยชน์”
สำหรับคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนเมือง งานศพที่บ้านอาจจะดูเป็นเรื่องแปลก หลายคนเมื่อรู้ข่าวอาจรู้สึกไม่สบายใจ แม้แต่เพื่อนๆ และญาติพี่น้องหลายคนที่มาร่วมงานอาจนึกสงสัยว่าทำได้ด้วยหรือ แต่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคุณแม่ของกันย์ เพราะครอบครัวเคยจัดมาก่อนแล้วเพียงแต่นานมากจนญาติพี่น้องอาจลืม “ศพคุณทวดเก็บไว้ที่บ้านเป็นปี แม่ยังบอกว่าน้องกันย์ไม่ธรรมดา เพราะไม่มีใครใช้สิทธิแบบทวดอีกเลย”
การจัดงานศพที่วัดตามธรรมเนียมทั่วไปในปัจจุบัน ครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือมิตรสหายของผู้ตายแทบจะไม่มีส่วนร่วมงานนอกจากจ่ายเงินและรับแขก แล้วปล่อยเรื่องราวต่างๆ ให้อยู่ในมือของผู้ชำนาญการ แต่เมื่อตัดสินใจจัดงานศพที่บ้าน ภาระต่างๆ จึงตกอยู่ที่ญาติสนิทมิตรสหายที่มีเธอฝากฝังเรื่องราวไว้ หลายคนมีส่วนร่วมรับรู้และให้คำปรึกษาหารือมาตลอดเมื่อเธอเริ่มทำพินัยกรรมชีวิต เป็นการมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ
การศพของกันย์จึงเหมือนงานจิตอาสาที่ญาติพี่น้องและมิตรสหายจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเรียนในวัยเด็ก เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนเพื่อสหธรรมิก ต่างยินดีระดมความสามารถและทรัพยากรที่ตนมีมาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อคนที่พวกเขารักเป็นครั้งสุดท้าย “กันย์เป็นคนแบ่งว่าให้ใครทำอะไรบ้าง เขาขอร้องเพื่อนๆ ว่าขอให้มาช่วยกัน อย่าให้แม่เหนื่อยมาก แล้วเพื่อนๆ มาช่วยกันเยอะมาก จนน่าทึ่ง” เหมือนเป็นการกลับไปหาคุณค่าเดิมที่เคยมีในสังคมไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าการจัดสถานที่ ขนเต็นท์ ทำป้ายหีบศพ เตรียมรูปถ่าย จัดดอกไม้ หรือพิธีกรรมที่จำเป็น ไม่ว่าการแต่งศพ การติดต่อประสานงานกิจกรรมต่างๆ ซึ่งหลายคนรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อเตรียมเผชิญความตายไปพร้อมๆ กัน แม้บางคนไม่ได้มีหน้าที่เป็นพิเศษ ยังมาเพื่อให้กำลังใจแม่และพี่ชาย เพราะกลัวจะเศร้า
แม้แต่ละคนจะไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมงานหรือจัดงานศพที่บ้านมาก่อน แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกัน แม้จะมีคนมางานเป็นจำนวนมาก แต่กลับเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนเพื่อนหลายคนรู้สึกแปลกใจที่งานเป็นตามเจตนารมณ์ที่กันย์วางไว้ทุกประการ อีกหลายคนรู้สึกเกินความคาดหวัง เพราะทั้งคนจัดและคนมาร่วมงานเกิดความเข้าใจ ความรู้สึกดีๆ กลับไป
“เพื่อนผมคนหนึ่งอยู่ในวงการคอมพิวเตอร์ คุณอา คุณป้าหลายคน เพิ่งเคยสวดมนต์แปลครั้งแรก บอกว่าดี รู้ความหมาย ชอบ” พี่ชายของกันย์บอก
ที่สำคัญคือหลายๆ คนเกิดแรงบันดาลใจที่กลับไปออกแบบความตายและงานศพของตัวเอง ไม่เฉพาะกับคนใกล้ชิด แต่รวมถึงคนที่ไม่เคยรู้จักกันส่วนตัวแต่สนใจความคิดในการจัดงานศพของเธออีกด้วย “ไม่รู้จักน้องเป็นส่วนตัว แต่ได้รับข่าวจากเพื่อนๆ ที่มางาน บอกว่าไม่อยากให้เป็นงานศพ แต่เป็นงานบุญ เลยสนใจ แม้ไม่รู้ว่าเครือญาติจะยอมรับหรือเปล่า แต่อยากจะลดพิธีกรรม”
“จากการคุยกับเพื่อนน้องกันย์ ได้แง่มุมว่าเราอยากจะออกแบบความตาย งานศพของเรา เมื่อกลับไป เราจะใช้ช่วงเวลาเงียบๆ ออกแบบการตายของเราอย่างไร”
งานศพของกันย์เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ในการจัดงานศพที่บ้าน โดยไม่จำต้องจัดตามรูปแบบทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากจะไม่สามารถสื่อสารสาระที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่และผู้ตายได้แล้ว ยังสิ้นเปลืองเกินความจำเป็นมากๆ อีกด้วย ขอเพียงแต่เข้าใจความต้องการของตัวเองและเปิดใจสื่อสารเรื่องความตายกับคนใกล้ชิดเสียแต่เนิ่นๆ เหมือนเช่นที่กันย์ไม่เคยปิดบังความเจ็บป่วยและหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องความตาย แต่ให้ทำให้เรื่องความตายเป็นสิ่งที่พูดได้เป็นเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน จึงทำให้คนใกล้ชิดสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลแม้กระทั่งออกแบบและจัดงานศพของเธอจนสำเร็จประโยชน์และเป็นไปตามเจตนาของเธอได้
ที่สำคัญคือ เราทุกคนทำได้เช่นเดียวกัน