Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เยียวยาด้วยรัก...จากหญิงผู้ไม่เคยศรัทธาในความรัก

-A +A

 

อรทัย ชะฟู

 

อรทัย ชะฟู...

เมื่อเอ่ยชื่อนี้ หลายคนอาจรู้จักเธอในฐานะนักกิจกรรมอาสาที่อุทิศตนทำงานเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รอยยิ้มอันสดใส บวกกับท่าทีกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น และเปี่ยมไปด้วยพลัง ทำให้ทุกคนที่เข้าใกล้รู้สึกสดชื่น มีกำลังใจ และได้รับพลังตามไปด้วย แต่คงมีไม่กี่คนที่รู้ว่า กว่าอรทัย หรือ จิ๋ม จะก้าวมาถึงวันนี้ เธอต้องผ่านพบความหนักหนาสาหัสอะไรมาบ้าง...

 

โรคร้ายในกายฉัน

เช้าวันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน (ซึ่งเธอบอกว่าไม่ได้จำว่ากี่ปีแล้ว) เธอไอออกมาเป็นเลือด หาหมอกินยาอย่างไรก็ไม่หายขาด จนเมื่อเธอไปตรวจอย่างจริงจัง จึงพบว่า ตัวเองมีเนื้อร้ายอยู่ในปอด

“พอเรารู้ตรงนั้นก็เหมือนกับชาไปทั้งตัว คือมันเหมือนคนไม่มีอารมณ์ รู้เลยว่าเข้าหูซ้ายออกหูขวามันยังไง มันเหมือนมีแต่ตัว ไม่มีร่างกายวิญญาณแล้ว ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย มันเหมือนลอยไปเลย”

จิ๋มดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะโรคร้าย เธอเข้ารับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันครบคอร์ส ทั้งเคมีบำบัดและการฉายแสง เธอหาหมอดูเกือบทุกสำนักที่บอกว่าจะมีโอกาสหาย เข้าพิธีแก้กรรม และตระเวนทำบุญตามที่ต่างๆ เธอไปหาแพทย์ทางเลือกหลากหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ธิเบต การรักษาแบบชีวจิต หรือคอร์สสุขภาพต่างๆ เธอปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเกือบทั้งหมด เข้านอนไม่เกิน ๔ ทุ่ม ตื่นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางเพื่อมาเดินเท้าเปล่าเหยียบน้ำค้างในสนามหญ้า เลิกอบายมุขทั้งปวง รับประทานอาหารสุขภาพปลอดสารพิษ ทั้งยังเปิดร้านอาหารสุขภาพขึ้นในตัวเมืองเชียงราย บ้านเกิดของเธออีกด้วย 

เธอทำทุกอย่างอย่างเต็มที่และเคร่งครัดเพื่อขจัดมะเร็งออกไปจากร่างกาย และเธอก็ทำสำเร็จ โรคร้ายจากไปจริงๆ เธอกลายเป็นตัวอย่างของการต่อสู้กับโรคมะเร็งและเป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่นที่ป่วยด้วยโรคนี้ 

“ตอนนั้น อัตตาเราเพิ่มขึ้น เราไม่รู้ตัว เพราะว่าตอนนั้นมีคนเริ่มมาหา มาคุยกับเราแล้ว เรารู้สึกพราวด์ขึ้นมา เรารู้สึกว่าฉันหายแล้ว ฉันเก่ง ฉันเจ๋ง”

แต่ความทะนงตนก็อยู่ได้ไม่นานนัก อีกไม่กี่ปีต่อมา หมอตรวจพบเนื้อร้ายเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ หมอบอกว่า มียาที่กินเพื่อบรรเทาไม่ให้เชื้อลาม ซึ่งจะทำให้อยู่ไปได้อย่างนานที่สุดอีก ๒ ปี

“เราเสียใจมากกว่าครั้งแรก เราเป็นตัวอย่าง (ให้คนอื่น) เรารู้สึกเสียหน้า มันกลับมาอีกแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น เราถามว่า ทำไมๆๆๆ มันต้องเป็นเรา ฉันก็ดูแลตัวเองดีแล้ว เคร่งทุกอย่างเลย” 

คำถามว่า ‘ทำไม’ ที่จิ๋มถามตัวเองอยู่ซ้ำๆ นำไปสู่การแสวงหาและการแปรเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต...

 

โยคะ...จุดเริ่มต้นแห่งการแปรเปลี่ยน

ด้วยความที่ร้านอาหารสุขภาพของเธอเป็นที่รวมของคนรักษ์สุขภาพทั้งทางกายและทางใจ เธอจึงได้พบกับครูโยคะ และโยคะ ศาสตร์ตะวันออกอันเก่าแก่นี้เป็นประตูเปิดเข้าสู่อีกมิติหนึ่งของชีวิตที่เธอไม่เคยสัมผัสมาก่อน 

“จริงๆ ไม่ได้ชอบโยคะหรอก เพราะเรารู้สึกว่ามันช้า แล้วเบื่อมากเลย เราเป็นคนที่ทำอะไรเร็ว เราเป็นคนที่หงุดหงิด โมโหง่ายมาก อารมณ์พุ่ง พลังงานเยอะ วีน โวยวาย เรารู้สึกว่าโยคะไม่ใช่จริตเรา เราชอบแบบเต้น แบบอะไรที่ออกแรงเยอะๆ”

แต่สภาพร่างกายของเธอในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยให้ออกกำลังแบบอื่นได้ การฝึกโยคะกับครูแบบตัวต่อตัวจึงกลายเป็นทางเลือกทางเดียว  กระนั้น โยคะที่เธอได้สัมผัสก็ไม่ใช่โยคะเพื่อการออกกำลังกาย หากเป็นกระบวนการฝึกสติให้เธอรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในกายในใจของตัวเอง 

“ก่อนจะฝึกโยคะ ต้องนั่งวาดรูปก่อนนะ คือต้องฝึกความช้าเรามากๆ เพราะเวลาฝึก (โยคะ) ขนาดจะลุกจะนั่ง ทั้งๆ ที่เรามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ครูต้องกดเข่าไว้ คือเป็นคนลุกเร็วมาก”

“เวลาฝึก ตอนแรกเรางงนะ ครูจะพูดย้ำๆ ทุกวันว่า ให้สังเกต เฝ้าดู รู้ทัน แกจะพูดไม่กี่ประโยค แล้วจะถามทุกวัน เป็นไงบ้างวันนี้ จริงๆ คือให้เราสำรวจข้างในเรา เป็นยังไง เราก็ไม่อะไร แล้วเขาก็ให้เขียนบันทึกด้วย เราเป็นคนที่ไม่ชอบเขียน วันนี้รู้สึกยังไง เราก็เขียนคีย์เวิร์ด คำแค่สั้นๆ ดี เบื่อ เซ็ง” 

สองปีที่เธอเรียนโยคะควบคู่ไปกับนพลักษณ์ที่ครูเสริมเข้ามาให้ สิ่งที่เธอได้มาไม่ใช่ท่าทางพิสดารที่เราอาจเคยเห็นโยคีทำกัน  แต่เป็นการรู้เท่าทันสภาวะภายในใจตนซึ่งทำให้ปฏิกิริยาที่เธอมีต่อสิ่งภายนอกต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป

“พอเราช้าลง เราก็เห็นอะไรอีกเยอะ เห็นความกลัวข้างใน สังเกตรู้ คือ สังเกตแล้วอยู่กับมัน เราไม่หนี ทำให้อยู่กับมันได้ พอเราอยู่กับมันจริงๆ มันก็ชั่วขณะหนึ่ง แล้วความรู้สึกมันก็หายไป แรกๆ ก็ไม่เข้าใจหรอก แต่พอปฏิบัติไป เราก็ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง เราเห็นความรู้สึกว่าเวลาโกรธมันเกิดขึ้นยังไง เมื่อก่อนคนที่เราไม่ชอบ เราก็จะเดินไปหาเลย คือมันเร็วมากเลยนะ เหมือนมีแรงดึงดูดบางอย่าง แต่นี่มันทำให้เราชะลอ เราเห็นการเกิดของสิ่งตรงนี้ ครูก็จะถามว่ามันเกิดยังไง แล้วมายังไง ก็บอกว่ากายจะร้อนก่อน แล้วขามันก็จะไป คือแรกๆ มันจับกายไม่ได้นะ บางทีเดินไปครึ่งทางแล้ว ครึ่งร้านแล้ว เราก็เดินกลับมา เรารู้ทันว่าเรากำลังเป็นอัตโนมัติอีกแล้ว พอเรานึกได้ พอสติมันมา เราก็จะหยุดกึก หันหลังกลับ แล้วก็ขำๆ หัวเราะตัวเอง เราไม่ทันตัวเองไง พอกระทบปุ๊บเราก็ตีกลับ เหมือนลูกปิงปอง แต่ตอนหลังพอเราช้าลง เราสโลว์ตัวเอง เราก็เห็นมันเกิดขึ้น แล้วมันเกิดทางเลือกว่า เราจะปะทะต่อหรือถอยกลับมา ส่วนใหญ่เราก็จะเลือกถอย”

 

ความตาย...ออกแบบได้

จิ๋มเคยคิดกังวลถึงอนาคตของตนเองจนนอนไม่หลับและเป็นโรคซึมเศร้า แต่ยาแก้โรคซึมเศร้ากลับทำให้ชีวิตเธอซึมๆ อย่างบอกไม่ถูก ง่วงนอนตลอดเวลา และไม่คิดอะไรเลย แม้เวลาเดินข้ามถนนก็ไม่ดูรถ จนคนใกล้ตัวเอ่ยปากว่า เธอเหมือนผีดิบ มีแต่ร่างกาย ไม่มีวิญญาณ  คำพูดนี้ทำให้เธอฉุกคิดและตัดสินใจเลิกกินยาแบบหักดิบ ซึ่งทำให้ทรมานมากจนในบางครั้งเธอคิดอยากฆ่าตัวตายให้พ้นความทรมานนี้ 

“บางทีเราอยากเอาหัวโหม่ง ตึกสูงๆ โดดลงมา คือมันทรมานข้างใน คือจริงๆ มันก็ความคิดเราอีกนั่นแหละ คิดกังวลล่วงหน้าว่าเราจะเป็นยังไง แต่เราไม่ได้อยู่กับวันนี้ เรายังเดินได้อยู่ เรายังไม่ติดเตียง แต่เรากังวลล่วงหน้าแล้ว มันเลยทำให้เราเป็นแบบนั้น”

ด้วยความที่คนต่างจังหวัดไม่ค่อยยอมพูดเรื่องความตายกันเพราะถือว่าเป็นลางไม่ดี เธอจึงไม่รู้จะคุยเรื่องนี้กับใคร จนกระทั่งได้มาอ่านหนังสืองานศพแม่ของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่พูดเรื่องความตาย เธอรู้สึกเหมือนหนังสือเล่มนี้คือเพื่อนที่เข้าใจเธอ และพาให้เธอเข้าใจสาเหตุแห่งความกังวลของตัวเอง

“จริงๆ แล้ว มันคือความกลัว กลัวที่จะไม่มีตัวตน เพราะว่าเราเป็นคนที่มีอัตตาเยอะ ถ้ามองในทางโลก เรากลัวอัตตาถูกทำลาย กลัวอะไรทั้งหมด จิ๋มเป็นคนไม่ปฏิบัติธรรมนะ แต่เราเข้าใจเลยว่าเรากลัวอะไร พื้นฐานต้นทุนเราไม่ใช่เป็นคนดีแบบขาวสะอาด เราประเภทเด็กเกเร มีด้านมืดเยอะ เรากลัวไง เราไม่รู้ ตายไปเราต้องตกนรกแน่ๆ คือวีรกรรมเยอะ แม้กระทั่งกับพ่อกับอะไร จิ๋มก็จะมีประเด็นเรื่องที่ค้างคา”

เมื่อเกิดความเข้าใจ สิ่งที่ตามมาก็คือ การยอมรับ หรือศิโรราบให้กับความเจ็บป่วยและความตาย เธอเริ่มที่จะออกแบบความตายของตนเอง ซึ่งแท้จริงแล้ว คือการออกแบบชีวิตในขณะที่ยังมีลมหายใจนั่นเอง

“มันเกิดคิดว่าไหนๆ เราจะตายแล้ว ชีวิตเราต้องการอะไร เราอยากตายแบบไหน ที่หนังสือบอก เราอยู่ยังไงเราก็ตายอย่างนั้น เราก็เข้าใจความหมายว่า การเตรียมตัวตาย จริงๆ คือการเตรียมตัวที่จะอยู่ คือ ทำวันนี้ให้มันดี จิ๋มก็เริ่มเลือกก่อนว่าจะตายแบบไหน คือ อัตตาเยอะไง เราอยากให้คนจำเรา คือใช้ให้มันเป็นประโยชน์ เราต้องตอบตัวเองให้ได้นะ ถ้าไม่อยากตาย เราอยากอยู่เพื่ออะไร อยู่แล้วอยากแบ่งปันชีวิตเราที่ผ่านมา ปีนี้อธิษฐานก่อนนอนว่า ถ้าเรายังเป็นประโยชน์กับโลกใบนี้ก็ขอให้เรามีลมหายใจอยู่”

ทัศนคติและมุมมองที่เปลี่ยนไป ทำให้ชีวิตของจิ๋มเบาสบายขึ้น มีความสุขกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องดิ้นรนวิ่งไปหาจากที่ไหน

“เมื่อก่อนเราวิ่งหาความสุขแล้วครอบครอง ความสุขเราคือการครอบครอง แต่นี่มันสุขโดยที่... เรามองดอกไม้เราก็มีความสุขแล้ว ได้ยินเสียงนกร้อง เราก็ว่าเพราะดี เมื่อก่อนนี้ว่ารำคาญ เรามีความสุข แล้วเรารู้สึกว่าคุณภาพชีวิตเราดีกว่า เมื่อก่อนเรามัวแต่ตัดพ้อชีวิต โชคชะตาทั้งหมด เราโทษคนอื่นหมดเลย พอเราปรับทัศนคติข้างใน มันกลับกลายเป็นว่าการหาหมอของเราลดลง เราลืมไปเลยนะว่าเราป่วย จากเมื่อก่อนมันเป็นปกติที่ข้างบ้านจะได้ยินเสียงสตาร์ทรถตอนตี ๒ ตี ๓ คือบางทีเราหายใจไม่ออก หรืออะไร ต้องแอดมิดแล้ว อารมณ์มีผลต่อโรคนะ”

ในที่สุด จิ๋มก็ได้คำตอบแล้วว่า ทำไมมะเร็งจึงกลับมาอีกครั้ง เพราะในครั้งแรกนั้น เธอเคร่งเครียดกับการรักษาสุขภาพกายมากเกินไป ไม่ผ่อนคลาย และละเลยที่จะดูแลสุขภาพใจ มาบัดนี้ เธอจึงไม่ได้เคร่งเครียดกับการใช้ชีวิตเหมือนเคยอีกแล้ว เธอดูแลสุขภาพกายเท่าที่เวลาและโอกาสอำนวย  โดยไม่กดดันตัวเองว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้เกิดความเครียดเมื่อทำได้ไม่ครบถ้วนอีกต่อไป

 

ผู้ให้คือผู้รับ

ทุกวันนี้ เธอเดินทางไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เพื่อถ่ายทอดความสุขจากภายใน กำลังใจ และบทเรียนชีวิตของตนเองให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมไปถึงญาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย ทั้งในโรงพยาบาลและตามสถานที่ต่างๆ ที่ต้องการจิตอาสา อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่เธอบอกว่า เธอไม่ได้เป็นผู้ให้หรอก จริงๆ แล้ว เธอได้รับต่างหาก 

“คือเราเอาคนอื่นมาเยียวยาเราก่อน บางทีเราจมกับตัวเอง เราคิดว่าเราโชคร้าย แต่พอเราไปเจอผู้คน เราเห็นความจริงของชีวิตมากขึ้น เราโชคดีกว่าคนอื่น บางคนเขายังไม่มีค่ารถมาเลย ไม่มีบ้านที่จะอยู่ ไม่มีอะไร พอเราเห็นแบบนี้ มันปลุกข้างในเรา พลังบวก มันพัฒนาความเมตตา ความรักอย่างแท้จริงให้กับเรา เพราะจิ๋มเป็นคนที่ไม่ศรัทธาความรัก เราโตขึ้นมาแบบครอบครัวล้มเหลว เราไม่ศรัทธาและไม่เชื่อว่ามีใครรักใครจริงในโลกนี้ ตรงนี้มันค่อยๆ เยียวยาเรา อันนี้คือของขวัญจริงๆ มันคือสิ่งที่เรารู้สึกรักตัวเองจริงๆ พอเราทำอะไรได้ซักอย่างที่รู้สึกว่ามีคุณค่าสำหรับเรา เราจะชื่นชมตัวเอง เลยรู้สึกมีพลัง”

“พอไปทำแล้ว มันโคตรปฏิบัติธรรมเลย มันจะเห็นอัตตา มันจะละเอียดขึ้น เราก็ต้องวางด้วย พอบางเคสเราผูกพัน แล้วเขาเสียไป ก็เรียนรู้จากตรงนั้น แล้วเวลาที่เขาชื่นชมที่เราทำให้เขาคลี่คลายความทุกข์ได้ เราก็ต้องฝึกที่จะวางตัวเองด้วย ต้องดึงตัวเองไม่ให้ลอยไป จริงๆ เรามาเอาจากเขา เขาเป็นครูเรา เพราะเขาทำให้เรามาเห็นตัวเอง”

งานจิตอาสาที่เธอทำ ทำให้เธอลืมโรคร้ายไปเลย และดูเหมือนมันจะหายไปเสียเฉยๆ ล่าสุด หมอตรวจไม่พบมะเร็งแล้ว แต่จริงๆ เธอก็ไม่ได้ใส่ใจกับมันอีกต่อไป

“ที่ถามตั้งแต่ตอนแรกว่าเป็นมากี่ปีแล้ว จิ๋มไม่ได้ไปสนใจตรงนี้ จิ๋มสนใจแค่ตอนนี้จิ๋มยังมีลมหายใจอยู่ไหม จิ๋มตื่นขึ้นมา จิ๋มยังทำอะไรได้ไหม จิ๋มได้ทำตามความฝันจิ๋มไหม อันนั้นคือพลัง แล้วผลพลอยได้ก็คือการที่เราค่อยๆ ลืมอาการป่วยไปเลย จริงๆ แล้วการทำแบบนี้ สำหรับจิ๋ม มันคือคีโมตัวเองนะ”

 

ฝึกตาย

การได้อยู่กับผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตเขาอยู่บ่อยๆ ทำให้จิ๋มรู้ว่า การยึดติดกับอะไรบางอย่างทำให้ความเจ็บปวดทางกายในช่วงเวลานั้นทวีความรุนแรงขึ้น และจิ๋มใช้สิ่งนี้เตือนใจให้เธอฝึกตัวเองสำหรับวาระสุดท้ายของเธอ 

“เราต้องไม่ให้ความกลัวมาบั่นทอนชีวิตเรา การเตรียมของจิ๋มก็คือ ทำอะไร มีโอกาสก็อย่าเสียดาย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะเราไม่รู้จริงๆ ชาตินี้กับชาติหน้า ว่าวันไหนมาถึงก่อนกัน จิ๋มรู้สึกว่ามีความไม่แน่นอน เพราะอย่างจิ๋มบางทีเราหายใจไม่ออก เราก็เห็นความไม่แน่นอนอยู่แล้ว มันพร้อมที่จะไปทุกขณะจิต ทีนี้เราจะยิ่งดิ้นยิ่งหนี เรายิ่งทุรนทุราย มันคือการเตรียมใจมากกว่า เราดูแลสติเราตอนนั้น ภาวะนั้นได้ยังไงมากกว่า เราจะไม่ให้มีอะไรติดค้าง เหมือนสร้างกุศล” 

สำหรับการจัดการกับความรู้สึกเมื่อต้องสูญเสียคนป่วยที่เธอดูแลและผูกพันนั้น เธอบอกว่า มันขึ้นอยู่กับทัศนคติเกี่ยวกับความตายที่เรามีอยู่

“ถ้าเรามองเป็นการพลัดพรากสูญเสีย เราก็จะเศร้า แต่ถ้าเรารู้สึกว่ามันคือส่วนหนึ่งของชีวิต มันไม่ได้ไปไหนหรอก มันก็ยังอยู่ในนี้แหละ มันสูญแค่กายอย่างเดียว แต่จิตมันยังอยู่ ถ้าเราเข้าใจจริงๆ มันจะไม่เศร้า เราก็ต้องรู้ทันตัวเอง” 

 

เยียวยาด้วยรัก

มาถึงวันนี้ จิ๋มรู้สึกว่า มะเร็งเป็นของขวัญแห่งชีวิตของเธอ ถ้าหากย้อนเวลากลับไปได้ เธอก็ยังขอเป็นมะเร็งอยู่ดี และสิ่งสำคัญที่สุดที่เธอได้เรียนรู้จากการเป็นมะเร็งก็คือ ความรัก

“สำหรับจิ๋ม จิ๋มใช้ชีวิตด้วยความรัก จิ๋มว่าอันนี้มันคือทั้งหมดแล้ว พอจิ๋มได้มาอยู่ตรงนี้ ทำให้จิ๋มดีขึ้น เป็นเราทุกวันนี้ ความรักจากการให้ที่ไม่มีเงื่อนไข รักแบบไม่มีเงื่อนไข รักจริงๆ”

มะเร็ง…ทำให้เธอซาบซึ้งในความรักของคนใกล้ตัว ที่แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกันมาก่อนเลย ก็มาอยู่เคียงข้างและดูแลเธออย่างไม่มีเงื่อนไข

มะเร็ง...ทำให้เธอได้พบความสามารถในการรักและการให้อย่างไม่มีเงื่อนไขที่มีอยู่ในตัวเอง ที่เธอไม่เคยคิดว่ามีมาก่อน

มะเร็ง...ทำให้เธอได้รู้จักความรัก และความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ จากการไปทำกิจกรรมกับผู้ป่วย

จากผู้หญิงมาดแกร่งที่ไม่เคยศรัทธาในความรัก ไม่เคยยิ้ม เดี๋ยวนี้ เธอมีรอยยิ้มที่ออกมาจากหัวใจ และมีความรักเป็นเครื่องนำทาง จนเธอตั้งชื่อกิจกรรมที่เธอจัดให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในเชียงรายว่า “เยียวยาด้วยรัก”

ที่มา:

คอลัมน์:

บุคคลสำคัญ: