คืนความสุขให้คนในครอบครัว
ทัศนี พงศ์เลิศฤทธิ์
หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลยะลา
ปัจจุบัน วิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญขึ้นมาก ความรู้ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในการช่วยชีวิตต่างๆ ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยในระยะวิกฤตเพิ่มมากขึ้น แต่ผลที่ตามมาคือ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องประสบกับปัญหากลายเป็นผู้พิการ รุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ดังเช่นความเจ็บป่วยของเด๊ะยัง ซึ่งป่วยเป็นไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)
เด็กน้อยวัย ๕ ขวบ น้ำหนัก ๑๓ กิโลกรัม ร่างกายซูบผอม ผิวขาวสะอาด ผมดกดำ สั้นเกรียน แขนขาเหยียด แข็งเกร็ง ข้อติดทั้งสองข้าง แววตาสดใสไร้เดียงสา เด๊ะยังต้องเจาะคอเพื่อต่อสายเครื่องช่วยหายใจ บริเวณหน้าท้องด้านซ้ายมีแผลเจาะท้องสำหรับให้อาหารทางสายยาง เด๊ะยังจะนอนอยู่บนเตียงในสวนของบ้านไม้ชั้นเดียวหลังคาสังกะสี บ้านของเด๊ะยังห่างจากโรงพยาบาล ๑๓ กิโลเมตร ในช่วงกลางวัน เด๊ะยังอยู่ในความดูแลของคุณยาย ส่วนกลางคืน แม่เยาะจะเป็นผู้ดูแล ผลัดเปลี่ยนกัน วันไหนแม่เข้าเวรก็จะสลับเวลาดูแลกับยาย เมื่อสองปีก่อน เด๊ะยังป่วยเป็นไข้สมองอักเสบ ต้องนอนโรงพยาบาลนานถึงสองปี ทำให้เกิดปัญหาครอบครัว พ่อเด๊ะยังไปมีภรรยาใหม่ และแม่เยาะไม่สามารถขายกล้วยทอดได้ เพราะเด๊ะยังต้องเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
ดิฉันได้รับรู้ปัญหาและเรื่องราวดังกล่าว จึงนำปัญหาเข้าร่วมประชุมวางแผนกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ กุมารแพทย์ เวชกรรมสังคม นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด โภชนากร ศูนย์เครื่องมือแพทย์ ศูนย์เครื่องช่วยหายใจ งาน IC Palliative Care แพทย์หู คอ จมูก ศัลยแพทย์เด็ก ไฟฟ้าตำบลลิดล และที่สำคัญ ทีมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลลิดล เพื่อร่วมกันดูแลอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเด๊ะยังได้กลับบ้าน สู่อ้อมกอดของแม่ ตา ยาย และพี่ชาย
ในช่วงแรกๆ ดิฉันเป็นแกนนำในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านในตำบลซึ่งไม่มีชาวไทยพุทธอาศัยอยู่ เนื่องจากหลังเกิดการระเบิดในพื้นที่ มีการยิงปะทะกันที่สามแยกบ้านเนียง ชาวไทยพุทธจึงอพยพออกไปหมด บางส่วนก็เสียชีวิตไป ดิฉันเป็นพยาบาลไทยพุทธคนเดียวที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยในท้องถิ่นอิสลาม ในพื้นที่ความเสี่ยงสูง แต่ดิฉันต้องไป เพราะที่นั่นยังมีผู้ป่วยอยู่ จึงต้องเข้าไปดูแล และจัดการให้ด้วยหัวใจและความห่วงใย
ขณะนี้ เป็นเวลาปีเศษ เด๊ะยังได้อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลิดล โดยมีการรายงานอาการกับทีมเวชกรรมสังคม ส่วนเยาะจะมีเบอร์ติดต่อกับดิฉันโดยตรง หลังจากกลับบ้าน เด๊ะยังมีไข้ มีปอดอักเสบอยู่บ้าง ต้องเข้ารับการรักษาตัวประมาณ ๔ เดือนต่อครั้ง
เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๗ ดิฉันสังเกตเห็นความผิดปกติ เยาะพาลูกมานอนโรงพยาบาลสองครั้งในเดือนเดียวกัน
"เยาะ มีปัญหาอะไรไหม บอกพี่ได้นะ"
เยาะมองสบตาแล้วพูดว่า "บอกตามตรงนะ พี่อี่ ไม่มีเงินซื้ออาหารทางสายยางให้เด๊ะแล้ว ค่าไฟแพงขึ้น กล้วยทอดขายไม่ค่อยได้" เยาะจบชั้น ป.๖ แต่เป็นคนขยันหนักเอาเบาสู้ หัวไว
ดิฉันกลับไปคิดว่าจะหางานให้เยาะอย่างไรดี บังเอิญว่าช่วงนั้น โรงพยาบาลยะลาประกาศรับสมัครพนักงานทำความสะอาด ดิฉันไม่รอช้า พาเยาะไปพบฝ่ายบุคลากรของโรงพยาบาลยะลา โดยเอาตัวดิฉันเองเป็นผู้ค้ำประกัน
หลังจากนั้นหนึ่งเดือน เยาะได้มาทำงานในโรงพยาบาลยะลา มีรายได้ที่แน่นอน มีวันหยุด และสามารถหารายได้เสริมโดยการรับผ้าคลุมศีรษะมาขาย นอกจากนี้ การขอเบิกเวชภัณท์ของเด๊ะยัง เช่น สายดูดเสมหะ ชุดทำแผล ยาสวนอุจจาระ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ ก็สะดวกอย่างยิ่ง
ผ่านไปนานหลายเดือนแล้ว ที่ดิฉันไม่ได้เห็นแววตาใสๆ ดวงตากลมโตของเด๊ะยัง และทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเรียกดิฉันหรือเห็นหน้า เด๊ะยังจะยิ้มทั้งตา ปากเบี้ยวนิดๆ ทำให้อดไม่ได้ที่จะต้องก้มลงหอมหน้าผาก แค่นี้เด๊ะยังก็ชื่นใจ...บางครั้งก็จะยิ้มทั้งน้ำตา ความสำเร็จในครั้งนี้ ดิฉันได้มิตรไมตรีจากเพื่อนต่างสหสาขาวิชาชีพจำนวนมาก รวมทั้งความสนิทสนมกับครอบครัวสาเมาะ เสมือนหนึ่งญาติกัน ถึงแม้ว่าเราจะต่างศาสนากันก็ตาม
การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตา และปรารถนาให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ จะทำให้มองได้ลึกไปถึงปัญหาอื่นๆ นอกเหนือจากความเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาด้านอื่นที่เกิดตามมาก็ควรได้รับการแก้ไขด้วยเช่นกัน พลังใจที่รวมเป็นหนึ่งเดียวของทีมสหสาขาวิชาชีพ ทำให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีความสุข และสามารถคืนความสุขให้กับครอบครัวผู้ป่วยได้อย่างยั่งยืน
ด้วยใจรัก ศรัทธา วิชาชีพ
คือประทีป มุ่งมั่น ใฝ่รักษา
เพื่อเยียวยา ทั้งกายใจ ให้พ้นภัย
คืนรอยยิ้ม ชีวิตใหม่ ให้ครอบครัว
จาก http://www.gotoknow.org/posts/581296