Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ยอมรับความตาย ยอมรับความจริง

-A +A

          หลายๆ คนที่เคยเลี้ยงหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ย่อมต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยมาบ้าง ไม่ว่าจะป่วยน้อยหรือมาก ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อความรู้สึกหรือการตัดสินใจของเจ้าของทั้งสิ้น เริ่มจากการสังเกตอาการผิดปกติ ที่บ่งบอกว่า “ป่วย” จากนั้น คำถามแรกจะเริ่มมาว่า จะพาไปหาหมอที่ไหนดี เลือกรักษาแนวทางไหนดี และยิ่งถ้าป่วยหนักต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิด การตัดสินใจจากเจ้าของจะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังจะตัดสินใจการมีชีวิตอยู่ต่อ หรือจบชีวิตสัตว์เลี้ยงที่เรารัก 

          ฉันเองเคยต้องตัดสินใจว่าจะรักษาแบบไหน จะรักษาต่อไหม หรือหยุดการรักษาดี ในกรณีการดูแลเจ้าหมิง ลูกแมวอายุ ๔ เดือน ที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง หลังจากที่เทียวไปเทียวมาหาหมออยู่นาน จนมาถึงวันที่หมิงเริ่มไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา วันนั้น ฉันจึงเริ่มต้นคุยกับสัตว์แพทย์ว่า มีทางเลือกในการรักษาแบบอื่นอีกหรือไม่ หมิงจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ซึ่งคำตอบที่ได้คือ แนวทางในการรักษามีอยู่เพียงสองทาง คือ ยังคงรักษาต่อไป หรือหยุดการรักษา ฉันเลือกที่จะหยุดการรักษา และหันมาใช้วิธีการอื่นแทน นั่นคือ หลีกเลี่ยงการพาหมิงไปหาหมอ เพราะรู้ว่าการเดินทางทำให้เขาเหนื่อย อีกอย่างคือ เพื่อลดการถูกเจาะ หรือแทงจากเข็มแบบต่างๆ เพราะรู้ว่าการทำแบบนั้นไม่ได้ช่วยให้เขาดีขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องอื่นๆ เช่น ช่วยพลิกตะแคงตัว (ลดการเป็นแผลกดทับ) และทำความสะอาด (เวลาอึ ฉี่) จัดที่นอนให้อยู่ในที่ที่เรามองเห็น ห่างจากการถูกรบกวนจากแมวตัวอื่นๆ ในบ้าน

          วันที่หมิงเริ่มไม่ตอบสนองต่อการรักษา นำมาสู่คำถามที่ทำให้ฉันต้องกลับมาทบทวนเรื่องความตาย และความเจ็บป่วยของตัวเอง ว่าเราจะสามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไหม พบว่า เมื่อเรายอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราเองได้ ก็จะยอมรับหากสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับคนที่เรารักได้เช่นกัน แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรายอมรับความตายหรือความสูญเสียไม่ได้ ตัวเราเองจะมีท่าทีแข็งขืนหรือไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น และเลือกใช้วิธีการที่เรียกกันว่า “ยื้อสุดฤทธิ์” 

          เมื่ออาการของหมิงเริ่มปรากฏสัญญาณของการจากลาอย่างชัดเจน ในชั่วโมงสุดท้าย หมิงเริ่มนอนนิ่งมากขึ้น หายใจช้าลงๆ ช้าลงๆ ทำให้เรารู้เลยว่าเขากำลังจะไป เราเริ่มบอกลา บอกรัก บอกทาง และจับอุ้งมือน้อยๆ ไว้ นั่งอยู่เป็นเพื่อนเขาจนลมหายใจสุดท้ายของหมิงหยุดไป เป็นการจากไปที่เรารู้สึกได้ถึงความสงบที่เกิดขึ้น

          มาถึงตอนนี้ ทำให้นึกย้อนไปถึงภาพความทรงจำเกี่ยวกับหมา แมวตัวอื่นๆ ที่บางตัวก็ได้ตายอย่างสงบในบ้าน บางตัวเสียชีวิตในโรงพยาบาลสัตว์ท่ามกลางเครื่องมือ นึกไปถึงคำของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่กล่าวว่า “หากคนที่เขารักตายอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย ญาติพี่น้องจะรู้สึกดีมาก อาตมาเห็นหลายรายที่ยิ้มทั้งน้ำตา แม้คนที่ตายไปนั้นจะเป็นคนที่เขารักอย่างยิ่ง แต่เขาก็ดีใจที่คนรักตายอย่างสงบ” หมิงทำให้เราเข้าใจประโยคนี้ได้ดีขึ้น 

          ฉันเริ่มกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า อะไรทำให้ฉันยอมรับการจากไปของหมิงได้ เป็นเพราะฉันยอมรับได้ว่าวันหนึ่งฉันเองก็ต้องตายเหมือนกัน อีกสิ่งที่สำคัญคือ การที่เราได้ดูแลตอนที่เขายังอยู่ หรือตอนที่เขาป่วยหนักอย่างดี เรียกว่าได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ทำให้เมื่อมองย้อนกลับไป เราจะไม่รู้สึกผิดต่อเขาหรือติดค้างต่อกัน

          อีกสิ่งหนึ่งที่พบคือ การจากไปอย่างสงบนั้นไม่ยาก แต่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน กรณีของหมิง เริ่มตั้งแต่การมีหมอที่เข้าใจแนวทางการรักษา ไม่ได้รักษาโดยมุ่งยื้อชีวิต มีการปรึกษากันเป็นระยะๆ (มีส่วนช่วยอย่างมากในการตัดสินใจว่ารักษาแค่ไหนถึงพอ) เจ้าของที่เข้าใจและยอมรับว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น 

          ฉันคิดว่ากระบวนการที่ได้เล่ามานี้ สามารถประยุกต์หรือนำไปใช้กับคนที่เรารัก หรือคนป่วยที่เราดูแลได้เหมือนกัน เพราะไม่ว่าหมา แมว หรือคนก็มีความรู้สึก และน่าจะต้องการการรักษาที่ต้องการความสงบในช่วงสุดท้ายของชีวิตเช่นกัน       

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน:

บุคคลสำคัญ: