ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง
สิ่งที่คนในสังคมปัจจุบันกลัว คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆคือความเหงา ไร้คุณค่า ดังเช่น ผู้เป็นพ่อ(ของคนรู้จักผู้เขียน)เมื่อเข้าสู่วัยปลายชีวิตอายุเจ็ดสิบ วันหนึ่งได้ถามลูกสาววัยสามสิบปลายที่ยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ ด้วยความเป็นห่วงว่าหากพ่อกับแม่ตายไป ลูกจะทำอะไร ในความหมายอีกนัยหนึ่งว่าเธอจะอยู่ตามลำพังหรือดูแลตนเองอย่างไร ทำให้เชอรี่เริ่มกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอยังไม่เคยคิดว่าจะมีวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างในวันนี้ได้มาจากพ่อกับแม่ เงิน รถ บ้าน แต่พอมีคำถามสำคัญของชีวิต ที่เธอจะต้องอยู่ตามลำพัง ถึงกับอึ้งไป ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เธอลืมความแก่ของเธอและความตายที่จะต้องพลัดพรากจากคนรัก พ่อแม่ พ่อของเธอกำลังจะบอกให้เธอสร้างฐานที่แข็งแกร่งอีกขาหนึ่งที่พ่อกับแม่ทำให้ไม่ได้คือ จิตใจ เธอจะต้องมีความมั่นคงทางจิตใจ ด้วยการผ่านประสบการณ์การพึ่งตนเอง พร้อมกับวางแผนชีวิต เช่น ค้นหาความสามารถของตนเองจากการทำงานและหารายได้ด้วยตนเอง เป็นต้น เพื่อที่จะได้เรียนรู้ เข้าใจชีวิตและสังคม พร้อมกับฝึกฝนภายในจิตใจที่มีฐานทางธรรมอยู่บ้างแล้ว นี้คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เธอรับมือกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่จะต้องอยู่ตามลำพังหรือพึ่งตนเองได้ มากกว่าทางวัตถุที่พ่อมีไว้ให้พร้อมในวันนี้นั่นเอง
คนทุกวันนี้ ไม่ได้คิดถึงว่าวันหนึ่งตนเองก็ต้องแก่เหมือนกัน และเป็นไปตามธรรมชาติ ร่างกายย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถึงเราจะต้องอยู่กับวัยชราตามลำพัง เราก็ยังสามารถเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์นั้นได้ มองความแก่ว่าไม่ใช่สิ่งปกติ ดังเช่น คนที่อยู่บ้านคนเดียวในเมืองและเป็นผู้หญิงด้วยเริ่มจะมีมากขึ้น ตามคำบอกเล่าของโสภา คนเดินขายล็อตเตอรี่ตามบ้านแถบตรอกจันทร์และย่านข้างเคียง เขตยานนาวา กทม. เป็นเวลาหลายปี ที่น่าสนใจคือ เป็นผู้หญิง และวัยมีตั้งแต่กลางคนจนถึงผู้สูงอายุ ก็ใช้ชีวิตอย่างปกติ ดูแลตนเองในเรื่องสุขภาพ มีชีวิตทางสังคม คบหาเพื่อนบ้าน พบปะผู้คน ร่วมกิจกรรม ช่วยเหลือผู้อื่น ทำบุญ เพราะหลักสำคัญเบื้องต้นคือการยอมรับธรรมชาติของชีวิตที่ต้องมีความเกิดแก่เจ็บตาย และความเป็นไปของสังคม ที่ประชากรหญิงและคนโสดมีเพิ่มขึ้น การใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งตนเอง ขนาดครอบครัวที่เล็กลง เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การใช้ชีวิตแตกต่างไปจากสังคมในอดีต
มีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจที่ผู้เขียนได้คุยด้วย เธอกลัวที่จะต้องอยู่ตามลำพัง แม้ว่าจะได้วางแผนเตรียมพร้อมทุกอย่างที่คิดว่าจำเป็น แต่ก็ยังกังวล เธอถามพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ว่า อนาคตในยามแก่ชรา มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องอยู่คนเดียว ทำให้กลัวว่าเมื่อเจ็บไข้จะอยู่ลำบาก ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จึงได้เตรียมความพร้อมด้านกายไว้ เช่น ดูแลสุขภาพให้ดี เก็บหอมรอมริบไว้ใช้ยามเกษียณ แต่สำหรับการเตรียมใจ เธอยังคิดไม่ตก จะทำอย่างไรดี
พระอาจารย์ไพศาล ก็ได้แนะนำไปว่า “การเตรียมใจอย่างหนึ่ง ก็คือ พิจารณาอยู่เสมอว่าความแก่ชรา เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครหนีพ้นได้ เมื่อใจยอมรับความแก่ได้มากขึ้น ความแก่ก็จะเป็นปัญหาแก่จิตใจน้อยลง ขณะเดียวกันก็ควรมองว่า ความชรานั้นมีข้อดีอย่างไรบ้าง เช่น หมายถึงการผ่านโลกมามาก มีประสบการณ์มากขึ้น ช่วยให้ปล่อยวางได้มากขึ้น มีการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ตรงกันว่า คนส่วนใหญ่จะมีความเครียดมากเมื่ออยู่ในวัยกลางคน แต่เมื่ออายุมากขึ้น ความเครียดจะลดลง ความสุขจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวัยชรา งานบางชิ้นชี้ว่า คนอายุ ๘๐ โดยเฉลี่ยมีความสุขกว่าคนที่อายุ ๑๘ เสียอีก สาเหตุที่คนชรามีความสุขมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ชีวิตอยู่
ในช่วงขาลง ก็เพราะมีวุฒิภาวะ มีความเข้าใจโลก และรู้จักทำใจนั่นเอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็เพราะผ่านโลกมามากนั่นเอง
และอีกข้อหนึ่ง การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่ามัวกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง การที่คุณวางแผนเตรียมการสำหรับอนาคตนั้นเป็นเรื่องดี แต่ก็อย่าหมกมุ่นกับมันจนวิตกกังวล ถ้าคุณมีความสุขกับปัจจุบัน ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ปริปากบ่น มองเห็นสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว การมีความสุขในวันหน้าก็มิใช่เรื่องยาก”
จึงขอทิ้งท้ายที่พระอาจารย์ไพศาล วิสาโลให้ข้อคิดดังกล่าว ซึ่งจะว่าไปถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง แม้จะมีคนรอบข้างก็ใช่ว่าจะมาดูแลเราได้อย่างที่ใจปรารถนา เราต่างหากที่จะรู้ความสุขของตัวเองอยู่ที่ใด การอยู่ตามลำพังก็จะเป็นการพึ่งตนเองที่ทำให้ใจเรามีความสุขได้