เตรียมพร้อมตกกระไดพลอยกระโจน
เพราะทุกลมหายใจในการดำเนินชีวิตของ คุณจรีรัตน์ โรจนาจิน อดีตผู้พิพากษา คือการปฏิบัติธรรมเพื่อลดละตัวกูของกู และคลายความยึดติด เพื่อจิตที่สงบ ไม่เป็นทุกข์ ไม่ขุ่นมัว เศร้าหมอง ประกอบกับการเป็นนักวางแผนตัวยงที่มักจะคิดเชื่อมโยงถึงทุกสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ทุกกิจวัตรที่จะทำจึงได้รับการตระเตรียมอย่างดีเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น สอดคล้องกับเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม ไม่เว้นแม้กระทั่งการเตรียมพร้อมรับความตายที่ต้องมาถึงในวันหนึ่ง
“หลักคิดที่เป็นฐานในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติธรรมของพี่ คือการลดละตัวกูของกู อย่าเห็นแก่ตัว และคลายความยึดติด นี่คือเรื่องจิตใจ ส่วนเรื่องร่างกายก็มีหลักการว่า ฉันต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่สิ้นเปลืองจากการเจ็บป่วย กินอาหารให้ถูกต้อง โดยจะศึกษาเรื่องอาหารการกินเพื่อนำไปสู่สุขภาพที่ดี ออกกำลังกายให้เหมาะสมตามวัย ทุกอย่างจะนำไปสู่สุขภาพที่แข็งแรง และจิตใจต้องโปร่งเบา ไม่มีอะไรมาขุ่นมัว ถ้าขุ่นมัวพี่จะดูตัวเองเสมอ จะไม่โทษคนอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นเหตุปัจจัย แต่ในที่สุดอยู่ที่ตัวเรา
“เรื่องมรณสติก็อ่านมาตั้งแต่แรกแล้ว อ่านหนังสือท่านอาจารย์พุทธทาส พระไพศาล วิสาโล ท่านทะไลลามะ ฯลฯ ซึ่งได้ประโยชน์มาก เพราะพี่เป็นคนที่มีของรักเยอะ มีของรักหลายอย่างที่ยึดติด พี่รู้สึกว่าสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับพี่คือการยึดติด แล้วสิ่งที่ทำให้พี่เข้าใจคำว่าการยึดติด คือคำพูดของหลาน เขาพูดอะไรจำไม่ได้เพราะนานมากแล้ว แต่เราฟังแล้วสะอึก เสียหน้า หน้าชา ก็ถามตัวเองทำไมเราหน้าชา อ๋อ...เพราะเป็นคำพูดของหลานกู มันหลานของกูนี่ ถ้าเป็นคำพูดแบบนี้ของคนอื่นพี่จะไม่รู้สึกว่าเสียหน้าขนาดนี้
“หลังจากนั้น พี่จะมาสังเกตตัวเองว่าเรามีอะไรที่ยึดติด ตัวกูของกูนี่แหละ เราจะค่อยๆ ดูแล้วก็จะคลาย ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ พี่มีกระเป๋าหนังเยอะมาก แล้วเป็นของแพงๆ เพราะเป็นคนใช้ของดี เอาให้คนนี้ดีกว่า พอให้เขา เราก็จะรู้ว่าเรากำลังคลายสิ่งที่เราชอบ เพราะเป็นของที่รักและยังดีๆ ทั้งนั้นเลย แล้วตอนนี้กำลังเก็บของบริจาคอีกล็อตใหญ่ ทั้งโต๊ะไม้มะค่าที่อุตส่าห์หอบมาจากสวรรคโลก ประมูลซื้อมาจากคุก เรากำลังคลายจากสิ่งที่เรายึดทั้งที่เป็นวัตถุและเป็นนามธรรม ต้องหาอุบายหลายอย่างมาคลายความยึดติด อุบายธรรมะของพี่มีสารพัดเพราะพี่เป็นนักอ่าน หนังสือเยอะมาก หนังสือนี่เป็นอันดับสุดท้ายที่จะยอมปล่อยออกไป ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะทำพินัยกรรมอย่างไร จะแบ่งหนังสือให้ใครดี พี่จะคิดเป็นระบบเลยว่าจะทำอย่างไรดี
“กลับมาจากไปเที่ยวอินเดียคราวนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ ไปบริจาคร่างกายอีกแห่งหนึ่งคือที่จุฬา เพราะว่าพี่บริจาคร่างกายไปแล้วสองแห่งคือที่ศิริราช และที่คณะแพทย์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะต้องเขียนพินัยกรรมว่าจะยกมรดกให้ใคร อีกอย่างจะเขียนเรื่องการจัดการศพ คิดก่อนไปอินเดีย ตายเช้าเผาเย็นไม่ต้องตั้งสวด เข้าเตาเลย วัดไหนก็ได้ที่สะดวก กระดูกเอาไปโปรยทะเลเลย แล้วค่าใช้จ่ายพี่เตรียมไว้ในกระเป๋าเอกสารสำคัญ เวลาไม่อยู่บ้านหลายๆ วันจะหิ้วไปฝากบ้านพี่ชาย เขียนสั่งเสียทุกครั้ง แต่ไม่ใช่พินัยกรรมนะ เป็นสมุดโน้ตเล่มหนึ่ง คือไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็จะเขียนสั่งเสียว่าต้องทำอะไร ให้คนอ่านเขาเข้าใจหมดเลย เขาจะได้รู้ว่ามีอะไรบ้าง สมุดบัญชี กองทุน LTF RMF ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสมบัติของเรา เอกสารพวกนั้นจะอยู่ในนี้หมด แล้วก็สั่งเสียเรื่องศพของตัวเอง และก็มีเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าใบนี้เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายให้เขาช่วยจัดการเรื่องศพและเรื่องทั้งหลายที่เราฝากไว้ได้อย่างสะดวก แต่ตอนนี้พี่ว่าจะเขียนเป็นพินัยกรรมให้เป็นกิจจะลักษณะแล้ว เดี๋ยวเขาจะยุ่ง
“แล้วพี่ก็โทรไปที่บ้านพักคนชราบางแคเพื่อขอเข้าคิวอยู่ เพราะได้ข่าวว่าต้องเข้าคิวเป็นสิบปีเลยกว่าที่เขาจะเรียกตัว พี่มาเข้าคิวเพื่อว่าถ้าช่วยตัวเองไม่ได้จะไปอยู่ที่นั่น คือเราคิดจะพึ่งตัวเอง ไม่คิดจะพึ่งใครเลย เผื่อล่วงหน้าเลยว่าถ้าแก่ตัวแล้วช่วยตัวเองไม่ได้จะทำอย่างไร
“เราจัดการทุกอย่างให้คนอยู่ข้างหลังเดือดร้อนน้อยที่สุด เพื่อตัวเราจะได้ไม่ห่วงอะไรเลยในสภาวะสุดท้ายที่จิตจะดับ หมายถึงไม่ว่าเราจะไปตอนไหนเราก็จะสบายใจ เพราะว่าความตายไม่แน่นอนว่าจะตายที่ไหน ตายเมื่อไหร่ ตายอย่างไร พี่คิดเรื่องนี้เพราะอ่านหนังสือเกี่ยวกับความตายมาเยอะ แต่เราก็ไม่ประมาทในชีวิต อย่างเรื่องอาม่าที่พี่ชอบเล่า อาม่าอายุตั้งเป็นร้อยปีเพราะแข็งแรง พี่ก็จะบอกเขาทันทีเลยว่า พี่อาจจะไม่ได้ตายเพราะความแข็งแรง แต่มันตายได้ทุกเวลา พี่จะใช้หลักธรรมเตือนตัวเองด้วย แล้วบอกคนที่พูดด้วยว่าเรื่องตายนี่ไม่แน่นะ ไม่ใช่แข็งแรงแล้วจะอายุยืน เพราะการตายมีหลายแบบ จะตายที่ไหนก็ไม่รู้ ตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เราอย่าคิดว่าเราสุขภาพแข็งแรงแล้วจะอายุยืน เพราะถ้าไม่คิดถึงเหตุอื่นที่ทำให้ตายได้เราจะเผลอ ใครพูดเรื่องนี้ปั๊บพี่จะพูดเรื่องนี้เลย เหมือนกับเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา
“เพราะฉะนั้น เวลาอ่านหนังสือพิมพ์หรือได้ข่าวจากไหนก็ตามที่พูดเรื่องตาย พี่ก็จะน้อมเข้ามาที่ตัวเองอยู่เสมอให้คิดอยู่ตลอดเวลาไม่ให้หลุด ตอนไปทำงานทุกเช้า พี่ต้องเดินออกจากหมู่บ้านไปขึ้นแท็กซี่ ไม่มีอะไรทำ พี่ก็นึกถึงความตาย อีกหน่อยก็ต้องจากโลกนี้ไป จากสิ่งที่เรามีเราชอบไปหมด จะไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
“เวลานั่งเครื่องบิน พี่เตรียมตัวตายเลย มันจะตกไหม เครื่องจะน็อกไหม ช่วงที่ติดเครื่อง วอร์มเครื่อง จะมีเสียงบอกให้ผู้โดยสารนั่งประจำที่ กำลังจะเร่งเครื่องให้พ้นแรงดึงดูดของโลก ก็คิดถ้ามันน็อกให้ดิ่งไปเลย บ้านก็ไม่มีอะไรห่วง ตอนที่บินผ่านเมฆ อากาศแปรปรวน ใจก็คิด เอาแล้วๆ จะเป็นอย่างไร คือเหมือนเราเตรียมตัว เรียกสติกลับมาว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ไปเลยนะ แล้วก็คิดอีกทีตอนลงจอดช่วงที่ล้อกระแทกพื้น
“เวลานอนก็นอนท่าศพ เพราะเคยไปถ่ายรูปศพพี่ชายเพื่อน ก็ไปยืนพิจารณา อืมม์...แข็งหมดเลย เห็นแล้วก็ปลง ธรรมดา ตอนนอนท่าศพก็พิจารณาว่าเวลาตายเราก็จะแข็งแบบนี้ ประดุจดังว่าท่อนไม้และท่อนฟืน หาประโยชน์มิได้ อย่างที่บทสวดมนต์ของสวนโมกข์เขาบอกไว้
“เวลานึกถึงความตายก็ช่วยให้เราคลายความยึดติด ในทางธรรมะทางใจ ใจจะสอดคล้องกับวัตถุสิ่งของที่พี่ยึดติด พี่จะพยายามเคลียร์ให้หมด ตัดใจ เพราะว่ากายกับใจพี่ไปด้วยกันตลอดเวลา พี่จะดูตัวเองตลอดว่าจะต้องจัดการอะไรบ้าง เวลาที่มีเรื่องไม่สบายใจ บางทีชอบสงสารตัวเอง หรือเศร้ากับเรื่องบางอย่างภายในครอบครัว ซึ่งพี่รู้สึกว่าทำไมครอบครัวเราไม่เหมือนคนอื่น ไม่ใช่แล้วนี่ คิดแบบลบ พี่ก็จะเตือนตัวเองว่าถ้าไม่ใช่แบบนี้เราจะเจอธรรมะเหรอ จะฝึกใจตัวเองได้หรือ คิดในแง่บวกเลย พี่จะมีวิธีเปลี่ยนมุมโดยใช้หลักธรรมะที่ศึกษาไว้แล้วเรียกสติกลับมา
“หรือถ้ารู้สึกหงุดหงิดก็จะเตือนตัวเองทันที เพราะฉันไม่อยากมีอะไรคาใจ หลักการคือจิตต้องว่างๆ ถ้าไม่เคลียร์ใจ ความรู้สึกนั้นจะติดไป ติดสิ่งที่ไม่ดีไปในภาวะสุดท้าย เพราะไม่มีใครช่วยเราได้เลยนอกจากธรรมะที่เราศึกษาไว้ สิ่งเหล่านี้ต้องถี่ๆ เยอะๆ ถึงจะอยู่ เพราะอาจารย์ไพศาลหรือท่านพุทธทาสเคยพูดไว้ว่า บางทีถ้าเราทำอกุศลไว้เยอะๆ จิตที่ไม่ว่างมันจะมาโผล่เอาตอนจังหวะที่จะไป มันไม่คุ้มกันเลย นี่คือนาทีทอง พี่จะนึกถึงนาทีทองที่ท่านพุทธทาสบอกให้ตกกระไดพลอยกระโจน ไหนๆ จะตายอยู่แล้วจะตกบันไดอยู่แล้ว ก็กลิ้งให้มันดีไปเลย ไม่ใช่กลิ้งไม่เป็นท่า แล้วการที่พี่ใช้ชีวิตเป็นการปฏิบัติธรรม และมีวิธีคิดในเชิงมรณสติที่เตรียมปลดเปลื้องอะไรหลายๆ อย่างแบบนี้แหละที่ช่วยให้พี่ไม่มีทุกข์ เป็นหลักการในการปฏิบัติธรรมเลย เพราะฉันไม่ต้องการทุกข์ ทุกข์คือสภาวะจิตใจที่ไม่สงบ ไม่โล่ง เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจะน้อมมาสู่ตรงนี้หมด คลายความยึดติด ไม่เห็นแก่ตัว ลดละตัวกูของกู”.