เมื่อบทสนทนาติดขัด
- ความตาย เป็นหัวข้อสำคัญที่ควรค่าต่อการพูดคุยกัน คู่สนทนาจะได้สำรวจทัศนคติ และความพร้อมในการรับมือกับความตายของตน
- แต่กระนั้น บางครั้งบทสนทนาอาจติดขัด ไปต่อไม่ได้ เนื่องด้วยใครคนหนึ่งอาจไม่พร้อมคุย หรือเกิดความสะเทือนใจจากประสบการณ์บาดแผลก็เป็นได้
- เป็นไปได้ว่า คู่สนทนาอาจรู้สึกตกใจ ไม่สบายใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร บางคนอาจรีบเปลี่ยนเรื่องคุย หยุดคุย หรือรีบปลอบให้คู่สนทนารู้สึกดีขึ้นโดยเร็ว
- สิ่งเหล่านี้แม้เป็นสิ่งทำได้ แต่ก็อาจเสียโอกาสในการสำรวจ ทบทวน ใคร่ครวญประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
- การที่คู่สนทนาเกิดความสะเทือนใจ แสดงความกลัว หวั่นไหว หรือแม้กระทั่งร้องไห้ นั่นเป็นสัญญาณที่ดี แสดงว่าคู่สนทนาไว้ใจ แสดงอารมณ์ที่อ่อนไหวให้เราได้รับรู้
- ใครคนหนึ่งอาจต้องรับบทบาทเป็นผู้นำการสนทนา ด้วยการประคองสติรู้ตัวในการพูดคุยเพิ่มขึ้น ทำใจให้มีอารมณ์ที่มั่นคง เริ่มต้นด้วยการหายใจเข้าออกลึกๆ การนั่งตัวตรง การผ่อนคลายร่างกาย
- ผู้นำสนทนาควรเปิดใจยอมรับการแสดงออกของคู่สนทนา รับบทบาทเป็นผู้ฟัง พยายามทำความเข้าใจด้วยการเปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้พูดแสดงความรู้สึก
- คำถามที่ใช้บ่อยเพื่อทำความเข้าใจคู่สนทนาเช่น “ขณะนี้คุณรู้สึกอย่างไร” “คุณต้องการ...ใช่ไหม” “ถ้าเป็นไปได้ คุณอยากเห็นอะไร” คำถามดังกล่าวนอกจากจะทำให้เข้าใจคู่สนทนาแล้ว ยังทำให้เขาได้เกิดความเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย
- อาจจะเว้นจังหวะให้เกิดความเงียบบ้างก็ไม่เป็นไร คู่สนทนามักพูดสิ่งสำคัญหลังจากเกิดความเงียบช่วงสั้นๆ
- แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะถามอะไร ไม่รู้จะทำอะไร อาจให้กำลังใจคู่สนทนาด้วยการนั่งเป็นเพื่อน สัมผัสอย่างอ่อนโยน โอบกอด หรือแม้แต่ให้เวลาคู่สนทนาได้อยู่ลำพังก็ได้เหมือนกัน
- การสนทนาหัวข้อที่ติดขัด มักเป็นประเด็นสำคัญ คู่สนทนาไม่จำเป็นต้องเร่งให้ทุกอย่างเรียบร้อย คลี่คลายเสร็จสิ้นในการคุยเพียงครั้งเดียว
การพูดคุยในเรื่องยาก อาจทำให้คู่สนทนาได้ตระหนัก คิดใคร่ครวญต่อยอด เขาอาจเกิดความเข้าใจ และคลี่คลายได้เอง หรืออาจเป็นประเด็นติดค้างสำหรับการสนทนาครั้งต่อไปก็ย่อมได้