Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ก้าวข้ามความกลัวมาทัวร์โลกนอกกะลา

-A +A

           เวลาที่เรากลัวอะไร ส่วนใหญ่สิ่งแรกที่มักจะทำคือการหลีกเลี่ยงที่จะเจอกับสิ่งนั้น ซึ่งก็ช่วยให้เรารอดพ้นจากความกลัวมาได้ แต่ใช่หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วความกลัวก็ยังคงนอนนิ่งอยู่ในใจ จนกว่าจะถูกกระตุ้นออกมาอีกครั้ง แต่ยังมีอีกวิธีที่ดีกว่า และให้ผลที่ยั่งยืนกว่านั่น คือการเผชิญหน้ากับความกลัว ลองมาฟังเรื่องราวการเรียนรู้ของเธอคนนี้ แล้วคุณอาจจะอยากลองหาวิธีใหม่ๆ ในการรับมือกับความกลัวที่เกาะกุมใจดูบ้าง

           คุณปองกมล สุรัตน์ นิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีปัญหาเรื่องการหายใจสั้น ส่งผลให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง หายใจไม่อิ่ม ไม่สดชื่น นอนหลับยาก จนมีเพื่อนทักว่าบุคลิกของเธอเหมือนคนที่ไม่สบายอยู่ตลอดเวลา ขาดพลังชีวิต เดินเหมือนผัก ดูไม่มั่นคง ไม่แข็งแรง ไม่กระฉับกระเฉง และแนะนำว่าเธอควรจะดูแลสุขภาพตัวเองอย่างจริงจังเสียที ก่อนที่อาการเหล่านี้จะส่งผลเสียในระยะยาว เธอจึงตัดสินใจไปสมัครเรียนว่ายน้ำเพื่อฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งๆ ที่มีความฝังใจในวัยเด็กเป็นปมด้อยว่าเธอไม่สามารถว่ายน้ำได้เหมือนคนอื่นๆ แต่ครั้งนี้เธอเลือกเผชิญหน้ากับความกลัวที่เกาะกินใจมานานหลายปี ด้วยความตั้งใจว่าต้องมีสุขภาพดีขึ้นให้ได้

           เธอใช้เวลาประมาณสองเดือนเศษ ในการเรียนว่ายน้ำสัปดาห์ละ ๑-๒ วัน จนในที่สุดก็สามารถว่ายน้ำได้ ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถทำกิจกรรมที่ใช้ขาได้นานและเหนื่อยน้อยลง ปอดขยาย หายใจได้ยาวและลึกขึ้น หลับสนิทและตื่นขึ้นมาสดชื่นกว่าเดิม บุคลิกภาพก็ดูสง่างามขึ้นด้วย 

           ระหว่างทางจากว่ายน้ำไม่เป็นมาสู่การว่ายน้ำเป็น เธอไม่เพียงแต่ได้ทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำและสุขภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น ยังมีสิ่งลึกซึ้งกว่าที่เธอได้เรียนรู้โดยไม่ตั้งใจ นั่นคือ การเห็นความสัมพันธ์ของกายกับใจ เข้าใจความหมายของการมีสติอยู่กับปัจจุบัน เนื่องจากการว่ายน้ำเป็นกิจกรรมทางกายที่ต้องทำด้วยใจที่มีสติ ไม่กลัวที่จะว่าย ไม่มัวแต่กังวลว่าเมื่อไหร่จะถึงเสียที แต่กายกับใจต้องไปพร้อมกันในแต่ละสโตรกที่ดึงแขนจ้วงน้ำ ได้เรียนรู้ที่จะไว้วางใจคนอื่น คือครูฝึก ว่าเขาจะช่วยเหลือเธอได้หากมีเหตุผิดพลาดเกิดขึ้น เมื่อไว้วางใจก็หมดกังวลและว่ายน้ำได้อย่างสบายใจ นอกจากนี้ การว่ายน้ำยังช่วยสร้างตัวตนใหม่ที่เห็นคุณค่าและศรัทธาในตัวเองมากขึ้นว่ามีศักยภาพ เนื่องจากสามารถทำในสิ่งที่เคยคิดว่าไม่มีวันทำได้ในที่สุด

           การกล้าเผชิญกับความกลัว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เธอได้เรียนรู้ เธอกล่าวว่า เมื่อก่อนตอนมีปมว่าเธอไม่สามารถว่ายน้ำได้ เหมือนอยู่ในกล่อง อยู่ในกะลา เหมือนมีอะไรบางอย่างกดทับให้คิดในแง่ลบกับตัวเอง ดูถูกศักยภาพตัวเองว่าทำไม่ได้ แต่พอเธอกล้าที่จะผลักความกลัวออกไป เธอจึงพบโลกทัศน์ใหม่ที่เผยให้เห็นศักยภาพแท้จริงที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง ว่าเธอสามารถทำสิ่งใดก็ได้ถ้าตั้งใจจริง เมื่อไม่ยอมจำนนอยู่กับความกลัวและกล้าที่จะก้าวออกมาจากจุดเดิมที่คุ้นชิน ชีวิตก็พบกับความเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่ก็ได้เรียนรู้สิ่งที่มากกว่าการว่ายน้ำเป็นดังที่ได้กล่าวมา เมื่อโลกทัศน์เปิดกว้างเธอจึงพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาชีวิตในทุกๆ เรื่อง ทุกๆวัน ความเชื่อมั่นในตัวเองคืนกลับมา เห็นคุณค่าและศรัทธาในตัวเองมากขึ้น ต้นทุนทางจิตใจที่จะกล้าและลองทำในสิ่งที่เคยคิดว่ายากในมิติอื่นๆ ก็งอกงามตามไปด้วย

           เมื่อถอดรหัสความสำเร็จที่ช่วยเธอผลักดันความกลัวออกไปจากใจ และเรียนว่ายน้ำจนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดังตั้งใจ ก็พบว่าเธอใช้เทคนิคดังนี้ค่ะ

           •  เมื่อตัดสินใจที่จะทำให้ลงมือทำทันทีโดยไม่รั้งรอ เข้าตำราตีเหล็กต้องตีตอนร้อน

           •  ตั้งความคิดไว้ในหัวว่าจะทำให้ได้ตลอดรอดฝั่ง มุ่งมั่น ฟันฝ่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

           •  ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่เป็นจริง ก้าวไปทีละก้าว ไม่กดดันคาดคั้นตัวเองให้สำเร็จมากเกินไป จะช่วยให้มีกำลังใจทำได้ต่อเนื่อง เช่น เมื่อเริ่มหัดว่ายน้ำใหม่ๆ อย่าเพิ่งคิดที่จะว่ายข้ามฝั่งให้ได้ในครั้งแรกๆ ขอเพียงว่ายไปสบายๆ เท่าที่จะว่ายได้ แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทางไปเรื่อยๆ เก็บสะสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อย ก็จะค่อยๆ พัฒนาและขยายไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้นเอง 

           •  เชื่อมั่นในตัวเองและศรัทธาในความสามารถของมนุษย์ว่าถ้าตั้งใจทำก็จะทำได้ ยึดมั่นความคิดนี้ไว้ตลอดเวลาและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง 

           •  ดูใจตัวเองสม่ำเสมอว่ารู้สึกอย่างไร สัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังทำอย่างไร หากพบอุปสรรคให้ปรับเปลี่ยนหาวิธีการ มองทางเลือกใหม่ๆ ในการทำให้สำเร็จ เช่น คุณปองกมลสังเกตว่า เวลาที่เธอตั้งเป้าหมายว่าจะว่ายไปให้ถึงอีกฝั่งให้ได้ ว่ายไปก็คิดไปว่าเมื่อไหร่จะไปถึงเสียที เธอจะรู้สึกไม่สบายใจ กังวล หนัก เครียด สุดท้ายก็ทำไม่ได้สักที จนเมื่อเธอปล่อยวางเป้าหมาย ลองคิดใหม่ทำใหม่ว่าค่อยๆ ว่ายไป ก็พบว่าในขณะที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะไปให้ถึง เธอกลับว่ายไปถึงได้โดยไม่รู้ตัว และจิตใจก็ผ่อนคลาย สบายๆ กว่าด้วยซ้ำ

           •  อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นที่ทำได้ดีกว่า เก่งกว่า เพราะจะบั่นทอนกำลังใจ ควรมีสติมองเทียบความก้าวหน้าของตัวเองเป็นหลัก คิดเสมอว่าการที่เรากล้าที่จะก้าวออกมาทำในสิ่งที่ไม่คุ้นชิน ถึงจะเป็นการก้าวทีละก้าว แต่ก็ไม่ได้อยู่จุดเดิมอีกต่อไป เราทำได้ดีกว่าเดิมในทุกๆ ก้าว ถือว่าพัฒนาและประสบความสำเร็จแล้วเช่นกัน 

           ผู้เขียนเองเมื่อตอนประถมก็เป็นเด็กที่ไม่เชื่อมั่น ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง ต้องคอยตามติดพี่สาวตลอดเวลา จนเขาเบื่อ รำคาญ และมักจะไล่เราไปห่างๆ เราเองก็รู้สึกไม่ดีที่ถูกปฏิเสธ และด้วยความที่ไม่ชอบอยู่กับความกลัว อึดอัด คับข้องใจ จึงลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง ลองลงมือทำอะไรด้วยตัวคนเดียว เริ่มจากเรื่องเล็กๆ เช่น เดินไปสั่งอาหารฟาสต์ฟู้ดกินเอง ไปเล่นกับเพื่อนโดยไม่มีพี่สาวไปด้วย จนไปถึงเรื่องสมัครเข้าเรียนมัธยมด้วยตัวเองทั้งๆ ที่ไม่เคยไปโรงเรียนนั้นมาก่อน ฯลฯ พอทำได้ทีละนิดก็เพิ่มความมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ ผู้เขียนกลายเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง และพบว่าสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนดังที่คุณปองกมลกล่าวไว้ว่า เมื่อเรากล้าผลักความกลัวที่ครอบเราอยู่ออกไป เราก็จะเห็นโลกใบใหม่ที่อิสระ โปร่งเบา เปิดกว้าง มีเรื่องท้าทายมากมายให้ทดลองทำ เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างไม่สิ้นสุดจริงๆ 

           คราวนี้จึงอยากเชิญชวนให้คุณลองสำรวจตัวเองว่ามีความกลัวใดที่เกาะกุมหัวใจ ขวางกั้น และกดทับเราให้อยู่แต่ในโลกแคบๆ ใต้กะลาซึ่งดูเหมือนจะปลอดภัยนี้บ้างหรือไม่ อาจเป็นความกลัวพื้นฐานธรรมดาๆ เช่น กลัวสัตว์บางอย่าง หรือเป็นความกลัวที่ฝังใจจากวัยเด็ก หรือแม้กระทั่งความกลัวตาย ลองค่อยๆ เผชิญหน้ากับมันทีละนิด หากิจกรรมที่จะเป็นสื่อให้เราได้อยู่กับความกลัวนั้น และก้าวข้ามมันให้ได้ในที่สุด โดยอาจนำเทคนิคที่ได้แนะนำไปข้างต้นไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ แล้วเราจะได้มาทัวร์โลกนอกกะลาด้วยกัน เหมือนกับประสบการณ์ของคุณปองกมลและผู้เขียนไงคะ.

 

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน:

บุคคลสำคัญ: