Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ทัศนะต่อความตาย ในโรงพยาบาลสมัยใหม่

-A +A

           ในบทความเรื่อง “นโยบายตายดี: ก้าวใหม่ใหญ่กว่าเดิม กับสิ่งที่ยังขาดหายไป” ในอาทิตย์อัสดงฉบับที่แล้ว แม้จะเห็นว่านโยบายพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลของรัฐเป็นการยกระดับงานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่สำคัญของสังคมไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในตัวเองอยู่ไม่น้อย จำต้องอาศัยความร่วมมือจากคนทุกกลุ่มในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันเท่าที่จะทำได้ การนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างหลากหลายเป็นวิธีการหนึ่งที่จำเป็นต่อการพัมนางานให้มีความรอบด้านและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

           ทัศนะต่อความตายในโรงพยาบาลสมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาโทของ เอกภพ สิทธิวรรณธนะ เรื่อง “มิติทางวัฒนธรรมของความตายในโรงพยาบาลสมัยใหม่” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ และทำให้เขาได้เข้ามารู้จักกับเครือข่ายพุทธิ กาและเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องการตายดีในปัจจุบัน มุมมองด้วยความปรารถนาดีของเขา น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรนำมาใคร่ครวญ ทบทวน ว่าเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด และจะนำไปใช้ปรับปรุงแนวทางการทำงานของระบบบริการสุขภาพได้อย่างไรบ้าง – กองสาราณียกร

 

 

           ยายสายนอนหมดเรี่ยวแรงอยู่บนเตียง ข้อมือของยายมีสายน้ำเกลือ และที่รูจมูกมีท่ออาหารต่อลงไปถึงกระเพาะ ยายสายแปลกกว่าผู้ป่วยคนอื่นตรงที่ไม่ได้สวมชุดคนไข้ นั่นก็เพราะลูกสาวของยายเจรจากับทางโรงพยาบาลให้เป็นเช่นนั้น 

           “ยายสายเป็นแม่ของฉัน ไม่มีใครจะดูแลแม่ได้ดีไปกว่าลูกหรอก” ลูกสาวของยายสายบอกผมหนักแน่น ผมเรียกเธอว่าป้าสอย

           ป้าสอยพาแม่ที่มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดมารักษาอาการที่โรงพยาบาลชุมชนนานหลายสัปดาห์ แต่เมื่อเธอไม่เห็นว่ายายสายมีอาการดีขึ้น จึงตัดสินใจพายายสายเข้าโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด แม้จะรู้ว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะแออัดกว่า ดูแลผู้ป่วยได้ไม่ทั่วถึงและประณีตเท่าโรงพยาบาลชุมชนก็ตาม แต่เธอก็พายายสายมาด้วยความหวังว่าโรงพยาบาลศูนย์แห่งนี้จะมีปาฏิหาริย์ มีหมอเก่งและยาดีรักษายายให้หายขาดได้

           แม้ยายสายจะพยายามสื่อสารว่าไม่ต้องการรักษาอีกแล้ว ขอให้พาแกกลับบ้านเถิด ยายสายพยายามบอกลูกสาวมาโดยตลอด ตั้งแต่ครั้งยังพูดสื่อสารได้ จนกระทั่งปัจจุบัน แกทำได้เพียงพยักหน้ากระพริบตาว่าอยากกลับบ้าน แต่กระนั้น ป้าสอยก็ยังยืนยันให้แม่ของเธออยู่รักษาในโรงพยาบาลแห่งนี้ต่อ จนกว่าจะหมดความหวังแล้วจริงๆ 

           “ขอเพียงหมอบอกมาคำเดียวว่ารักษายายไม่ได้แล้ว ป้าจะพายายกลับทันที แต่นี่ยายยังมีโอกาส เราไม่ควรตัดโอกาสของยาย” ป้าสอยพูดกับข้าพเจ้าด้วยสายตามุ่งมั่นมีประกาย ไม่ไกลจากเตียงของยายที่กำลังนอนน้ำตาซึม

 

 

           ผมพบเหตุการณ์ข้างต้นในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อทำวิทยานิพนธ์ นี้เป็นเหตุการณ์ธรรมดาๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในหอผู้ป่วยอายุรกรรม

           แต่สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยาสุขภาพฝึกหัด ผมถูกฝึกให้มองเห็นโครงสร้างชุดความเชื่อ โครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ชักใยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ธรรมดา มองหาว่าอะไรที่กำหนดให้ป้าสอยต้องดิ้นรนต่อสู้ยื้อชีวิตของยายสาย บางสิ่งที่ทำให้ยายสายต้องระหกระเหิน ต้องหิ้วหอบสังขารห่างไกลบ้านอันเป็นสถานที่ที่ยายสายปรารถนาจะตาย ทำไมป้าสอยต้องรอคำยืนยันจากหมอ ทำไมยายสายต้องมีชีวิตช่วงท้ายเช่นนี้ 

           ผมสงสัยว่า ในโรงพยาบาลแห่งนี้ บุคลากรสุขภาพ รวมถึงผู้ป่วย มีทัศนะอย่างไรต่อความตาย และนั่นก็คือคำถามการวิจัยของวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เอง

           จากการทบทวนวรรณกรรมการศึกษาต่างๆ ผมตั้งสมมุติฐานว่าทัศนะต่อชีวิตและความตาย น่าจะเป็น “พิมพ์เขียว” ของการออกแบบระบบบริการของโรงพยาบาลให้เป็นเช่นนี้ ซึ่งหมายรวมถึงวิธีการออกแบบโครงสร้างของโรงพยาบาล วิธีการออกแบบเครื่องมือการให้บริการ ขั้นตอนวิธีการรักษาผู้ป่วย วิธีการพูดจาสื่อสารของบุคลากรในโรงพยาบาล เป็นต้น

           ศาสตร์สาขาวิชาที่แตกต่างกัน ก็มีทัศนะต่อความตายที่แตกต่างกันไป นักประชากรศาสตร์มองว่าความตายเป็นดัชนีบ่งบอกระดับคุณภาพของการบริหารจัดการสังคม นักเศรษฐศาสตร์มองว่าการตายเป็นสิ่งไม่ดี เพราะทำให้เสียโอกาสในการสร้างและได้รับอรรถประโยชน์ ศาสนาอาจมองว่าความตายเป็นประตูสู่สภาวะใหม่ เป็นรอยต่อระหว่างโลกนี้และโลกหน้า ในสังคมยุคเก่าอาจมองว่าความตายเป็นภาวะลี้ลับ เป็นภาวะเปลี่ยนผ่านที่ต้องจัดการให้ถูกต้องตามประเพณีเพื่อไม่ให้ผู้ตายกลับมาทำร้ายคนเป็นในรูปของผีหรือวิญญาณร้าย

 

ทัศนะต่อความตายในโรงพยาบาล ๓ ประการ

           ทั้งนี้ ทัศนะต่อความตายที่มีผลต่อการออกแบบระบบโรงพยาบาลมากที่สุดคือ ทัศนะที่มาจากวิทยาศาสตร์การแพทย์ตะวันตก 

           ทั้งนี้เพราะ วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ หรือการแพทย์แบบตะวันตก เป็นปรัชญาพื้นฐานกระแสหลักในการมองโลก รวมถึงการออกแบบโครงสร้างสถาบันสุขภาพในสังคมสมัยใหม่ ทั้งนี้ชนชั้นนำของไทย ก็ได้รับเอาปรัชญาวิทยาศาสตร์การแพทย์ตะวันตกดังกล่าว มาใช้ในการเรียนการสอน การออกแบบโรงพยาบาลและระบบการอบรมบุคลากรสุขภาพ ระบบการเบิกจ่ายและให้บริการสุขภาพของประเทศ ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐ นับตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชเป็นต้นมา

           หลังจากผมใช้เวลาอยู่ในพื้นที่การวิจัย สังเกต สัมภาษณ์ มีส่วนร่วมในวิถีการให้บริการของบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลพื้นที่การวิจัย เป็นเวลา 3 เดือน ก็ได้พบข้อเสนอเกี่ยวกับ ทัศนะต่อความตายของระบบบริการโรงพยาบาลออกเป็น ๓ ประการ ได้แก่


๑. ความตายคือความล้มเหลวเสียหายโดยสิ้นเชิงของระบบอวัยวะ 

           วิธีคิดชุดนี้ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาวิทยาศาสตร์ ที่ลดส่วนแยกซอยศึกษาองค์ประกอบของชีวิตเฉพาะที่สังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ จึงสนใจจำแนกส่วนประกอบการทำงานของร่างกายออกเป็นระบบอวัยวะ เช่น ระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบกล้ามเนื้อ ระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท หากระบบใดระบบหนึ่งล้มเหลวเสียแล้ว ก็จะส่งผลให้ระบบอื่นๆ ล้มเหลวตามไปด้วย 

           วิธีวัดการตาย คือตรวจหาว่าคนคนนั้นยังมี “สัญญาณชีพ” ซึ่งประกอบไปด้วย อุณภูมิของร่างกาย การเต้นของชีพจร การหายใจ ความดันโลหิต ยังมีอยู่หรือไม่ หากไม่มีสัญญาณชีพเหล่านี้โดยสิ้นเชิง ก็นับได้ว่าคนๆ นั้นเสียชีวิตแล้ว


๒. ความตายเป็นสิ่งที่เลวร้าย น่ากลัว มีพิษภัย ไม่น่าพึงปรารถนา

           ระบบโรงพยาบาลไม่ได้ให้คุณค่าที่เป็นกลางต่อความตายเสียทีเดียว แต่มองความตายในแง่ลบ ความตายเป็นสภาวะที่เลวร้าย ไม่น่าพึงปรารถนา จึงพยาบาลแทรกแซง ขัดขวางไม่ให้ชีวิตล่วงตกไปสู่ความตาย 

           ดังจะเห็นได้จากขั้นตอนปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ (CPR - Cardiopulmonary Resuscitation) อย่างเป็นมาตรฐาน เป็นอัตโนมัติ กล่าวคือหากผู้ป่วยหรือญาติไม่ได้ทำการสั่งเสียห้ามกู้ชีพเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว การปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยไม่ทำการกู้ชีพ จะทำให้โรงพยาบาลจะมีแนวโน้มเป็นฝ่ายผิด และอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากญาติผู้เสียชีวิตได้ ดังนั้นการกู้ชีพในหลายๆ ครั้ง จึงมีมิติของการแสดงความหมายว่า โรงพยาบาลได้ดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุดแล้ว ญาติเองก็ตนได้ดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน ผมเรียกการกู้ชีพในความหมายเช่นนี้ว่า “การกู้ชีพเพื่อเยียวยา”

           ปัจจุบัน การฟ้องร้อง เรียกชดใช้ค่าเสียหาย ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่บุคลากรที่ตกเป็นจำเลย และยังถือเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อสถานะของโรงพยาบาล เช่น เสื่อมเสียชื่อเสียง สูญเสียรายได้ สูญเสียกำลังใจในการทำงาน ทั้งนี้ การฟ้องร้องมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตท่ามกลางความขัดแย้ง ความตายของผู้ป่วยจึงทำให้ระบบโรงพยาบาลมีความตึงเครียดและเปราะบางอยู่เสมอ

           อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่า ความตายเป็นสภาวะที่น่ากลัวก็คือ การเลี่ยงที่จะพูดคำว่า “ตาย” อย่างตรงไปตรงมา แพทย์ พยาบาล มักเลือกเลี่ยงไปใช้คำอื่นๆ แทน เช่น “เด้ด (dead)” “ไป” หรือแม้แต่เว้นวรรคไม่ออกเสียง แต่เป็นที่รู้กันโดยนัยว่าคือการตายนั่นเอง

 

 

           การตายดี และตายไม่ดี ในทัศนะของโรงพยาบาล

           การตายดี

           การตายดีในทัศนะของโรงพยาบาล งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า คือการตายที่ผู้ป่วยได้รับบริการจากระบบสุขภาพแล้วอย่างเต็มที่ตามสิทธิ์ที่ผู้ป่วยพึงได้รับ เป็นการตายที่ญาติผู้ดูแลยอมรับได้ ทำใจได้ ไม่โจมตี ร้องเรียน ฟ้องร้องโรงพยาบาล แม้ว่าผู้ป่วยอาจประสบอุบัติเหตุ ตายด้วยโรคร้ายแรง จะตายที่โรงพยาบาลหรือตายที่บ้านก็ตาม

 

           ตายไม่ดี

           ในทางตรงข้าม บุคลากรโรงพยาบาลจะรู้สึกสะดุ้งสะเทือนใจ ต่อการตายที่ทำให้โรงพยาบาลเสียหาย ขาดทุน เสื่อมเสียชื่อเสียง เช่น การตายในทารก การตายระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ในโรงพยาบาล การตายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (เช่น มาตรฐานระบุว่า ผู้ป่วยไม่ควรเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง หลังได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล) การตายของผู้มีอิทธิพลต่อโรงพยาบาล (เช่น พ่อแม่ของแพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาล เกจิอาจารย์ในพื้นที่ ผู้บริจาคเงินรายใหญ่ เป็นต้น) และการตายที่ไม่ดีที่สุดในทัศนะของโรงพยาบาลคือ การตายที่ตามมาด้วยการร้องเรียน ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

 

๓. ความตายคือสภาวะที่สามารถควบคุม ป้องกัน ตอบโต้ได้ด้วยบริการทางการแพทย์

           ทัศนะทั้งสองประการแรกนั้น โรงพยาบาลมองว่าความตายเป็นปัญหา ส่วนทัศนะนี้ โรงพยาบาลมองว่าตนเองเป็นผู้ตอบโจทย์ กล่าวคือ มองว่าชุดความรู้ เครื่องมือ บุคลากรทางการแพทย์สมัยใหม่จะสามารถควบคุมจัดการความเจ็บป่วยได้ สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยตกล่วงไปสู่ความตายได้ รวมถึงตอบโต้ ต่อสู้กับความตายนำผู้ป่วยให้กลับมาหายขาด ใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ (เรียกว่าปาฏิหารย์นั่นเอง)

           โดยลึกๆ แล้วระบบบริการสุขภาพสมัยใหม่ของสังคมไทย ถือกำเนิดขึ้นจากทัศนะต่อความตายทั้งสามข้อนี้ ใช่หรือไม่ว่าเราพัฒนาความรู้ด้านการแพทย์ ผลิตยา เวชภัณฑ์ ศึกษาวิจัยขั้นตอนการรักษาเยียวยา รวมถึงการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพ ก็เพื่อรักษาผดุงชีวิต ยื้อความตายออกไปให้ไกลที่สุดนั่นเอง

           อันที่จริงแล้วระบบการแพทย์แผนใดๆ เช่น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ต่างก็ปฏิเสธความตายทั้งสิ้น ต่างก็พยายามรักษาชีวิตไว้เท่าที่จะทำได้ แต่กระทั่งถึงจุดหนึ่ง แผนการรักษาส่วนใหญ่ก็ต้องยอมรับว่าหมดทางในการรักษา และยอมรับความตายในที่สุด

           ในขณะที่โรงพยาบาลในระบบการแพทย์สมัยใหม่ ดูจะพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีไปไกลกว่าการแพทย์แผนอื่นๆ กล่าวคือ จุดที่ยอมรับว่าผู้ป่วยรักษาไม่หายนั้นมีความพร่าเลือน และอาจดูไกลออกไปไม่สิ้นสุด (เช่นแม้ผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว แพทย์บางส่วนก็ยังเชื่อว่า มีหนทางรักษาให้หายขาดได้อยู่) 

ความเชื่อมั่นว่า ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลมีอยู่ สามารถที่จะยืดชีวิตและยื้อความตายได้เป็นอย่างดีนั้น มีแนวโน้มที่จะกระทำรุนแรงต่อร่างกายของผู้ป่วยได้มาก เช่น การช็อคไฟฟ้าที่หัวใจ การสอดใส่สายท่อในร่างกายหลายต่อหลายเส้น การสอดอาหารเหลวในท่ออาหารโดยตรงไปที่กระเพาะหรือลำไส้ การติดตั้งผู้ป่วยเข้ากับเครื่องช่วยหายใจเป็นระยะเวลาเวลาแรมเดือน

 

สรุป

           ผมเสนอว่า ทัศนะทั้งสามประการที่มีลักษณะปฏิเสธความตายนี้ ทำหน้าที่เหมือนเป็นเมล็ดพันธุ์ เป็นแก่นพื้นฐานในการออกแบบโรงพยาบาลในสังคมสมัยใหม่ แตกกอเป็นวิชาความรู้ทางการแพทย์สาขาเฉพาะทางต่างๆ มีลำต้นเป็นอาคารสถานที่และเครื่องมือการรักษา แตกใบเป็นตำแหน่งงานและอัตราเงินเดือน ออกแบบสายบังคับบัญชาของบุคลากรโรงพยาบาล ทั้งยังระบุกรอบอำนาจว่า แพทย์มีอำนาจเหนือกว่าพยาบาล พยาบาลมีอำนาจเหนือกว่าผู้ป่วยและผู้ดูแล (เพราะแพทย์มีความสามารถในการจัดการกับความป่วยและความตายได้มากกว่าพยาบาล และผู้ป่วยตามลำดับ)

           แน่นอนว่า นอกจากทัศนะต่อความตายข้างต้น โรงพยาบาลก็ยังต้องเจรจาต่อรองกับทัศนะต่อชีวิตและความตายจากบริบททางอื่นๆ อีกมากมาย เช่น นโยบายและงบประมาณของรัฐ ระบบความเชื่อท้องถิ่นของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล ที่มักต้องการให้ผู้ป่วยต้องกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน หรือต้องการพิธีการเยียวยาในช่วงท้ายของชีวิตในแบบพุทธ หรือแบบผีก็ตาม

           ปัจจุบัน ทัศนะต่อความตายทั้งสามประการดังกล่าว ยังถูกท้าทายจากแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งตั้งคำถามต่อทัศนะต่อความตายในลักษณะข้างต้น ทั้งยังถูกท้าทายจากกระแสเรียกร้องสิทธิที่จะตายดี ตายอย่างสงบ ตายตามธรรมชาติ หรือแม้แต่สิทธิที่จะตายเพื่อยุติความทรมาน

           ทัศนะต่อความตายของระบบบริการทั้งสามประการเป็นเพียงข้อเสนอ ที่ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ใคร่ครวญตรวจสอบว่า จริงหรือ ที่ความตาย มีความหมายเพียงการสูญสลายของระบบอวัยวะเท่านั้น ระบบบริการจะตอบคำถามลึกๆ เกี่ยวกับสภาวะตัวตน สภาพจิตใจหลังการตายของบุคลากรในสังกัดและผู้รับบริการได้อย่างไร

           จริงหรือที่ความตายมีความหมายว่าเป็นสภาวะที่เลวร้าย เป็นอันตราย เป็นพิษภัยเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะสัมผัสความสงบ ความสอดคล้องกลมกลืน หรือแม้แต่ความสุขเมื่อความตายมาถึงได้จริงหรือ 

           จริงหรือ ที่เราต้องปฏิบัติต่อความตายด้วยการต่อสู้ ตอบโต้ ป้องกันเท่านั้น หากเราเลือกที่จะสู้กับความตาย เราจะสู้ไปจนถึงจุดใดจึงจะยอมรับความจริงของชีวิต

           งานวิจัยชิ้นนี้ท้าทายว่า ทัศนะทั้งสามประการที่ดำรงอยู่ในระบบบริการสุขภาพสมัยใหม่ ยังเป็นทัศนะที่ไม่สอดคล้องต่อความจริงของธรรมชาติ และไม่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้ให้บริการ ทั้งยังสร้างความตึงเครียดให้แก่ระบบสุขภาพของประเทศ กล่าวคือ เป็นระบบมีลักษณะของการต่อสู้ยื้อความตาย ต่อสู้กับธรรมชาติของร่างกายที่ว่า ถึงวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมทรุดและหักโค่นไปเป็นธรรมดา ทัศนะต่อความตายทั้งสามยังหมกมุ่นอยู่กับการซ่อมแซมร่างกาย โดยละเลยการเยียวยาความเจ็บป่วยด้านอื่นๆ ของมนุษย์ เช่น ด้านจิตใจและอารมณ์ ด้านสังคมและจิตวิญญาณ 

           แม้ในปัจจุบัน ระบบบริการสุขภาพของไทยจะมีการปรับตัว เปิดรับทัศนะที่เป็นมติร เป็นธรรมชาติต่อความตายมากขึ้น เช่นระบบการแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง แต่กระแสดังกล่าวยังส่งผลในวงจำกัด

           นอกจากการนำเสนอระบบบริการที่มีทัศนะที่ดีต่อความตายความธรรมชาติแล้ว ระบบบริการสุขภาพยังควรพิจารณาข้อจำกัดของตนด้วยว่า ตัวระบบบริการเองมองความตายอย่างสอดคล้องตามความเป็นจริงหรือไม่ มิฉะนั้น ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความเครียดของผู้ให้บริการ ความขัดแย้งและการฟ้องร้อง ก็คงจะเป็นโจทย์ที่แก้ไม่ตก สุดท้ายก็กลายเป็นความชาชินและเป็นปกติในที่สุด

           หากบุคลากรในระบบสุขภาพยังไม่ตระหนักในทัศนะต่อความตายที่บิดเบี้ยวของตนเสียแล้ว อนาคตของเราๆ ท่านๆ ก็คงมีภาพเช่นเดียวกับยายสาย ผู้ต้องใช้ชีวิตช่วงท้ายท่ามกลางความวุ่นวาย และความเครียด เนื่องด้วยว่า เราต่างก็ทำให้ความตายดูน่าประหวั่นพรั่นพรึงจนเกินไป

 

 

 

คอลัมน์: