ลัดดาแลนด์ : การมีชีวิต การตายจาก และความกลัว
“ปัญหาไม่ใช่ปัญหา วิธีการรับมือกับปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหา”
“เราเปลี่ยนแปลงพวกเขาไม่ได้ ที่เราเปลี่ยนได้คือ วิธีการรับมือกับพวกเขา”
ลัดดาแลนด์ให้ภาพสังคมไทยสมัยใหม่ที่หลายครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว ต้องต่อสู้เพื่ออยู่รอดทางเศรษฐกิจ สังคม ภาพความสำเร็จที่หลายครอบครัวไทยปรารถนาคือ การมีบ้านที่สมาชิกในครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา มีความรัก ความเอื้ออาทร เหมือนกับฉากแรกของภาพยนตร์ แต่ความฝัน ความปรารถนานี้อยู่ได้ ต่อเมื่อครอบครัวนั้นมีฐานการงานที่มั่นคง และฐานความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แน่นแฟ้น
เพียงไม่กี่ฉาก ภาพความฝันนี้ก็ค่อยๆ แตกร้าว บทสนทนาระหว่างแนน ลูกสาวคนโตกับพ่อ คือ ธีร์ ทำให้เรารู้ว่าถึงความสัมพันธ์ที่แตกร้าว ลูกสาวไม่เคารพพ่อ ไม่ยอมรับ และต่อต้าน และหลายๆ ฉากเราก็ค่อยๆ รับรู้เรื่องราวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในครอบครัวนี้
ครอบครัวนี้กำลังเผชิญวิกฤตการณ์บางอย่าง วิกฤตอาจเป็นเหตุการณ์อะไรก็ได้ แต่ผลกระทบสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงปรารถนา หลายคนเลือกจบชีวิตของตนเองเพราะการเผชิญวิกฤตแล้วไม่สามารถมีทางเลือก หรือทางออกอื่นๆ ให้ตนเองในภาวะนั้น โศกนาฎกรรมจึงเกิดขึ้น
ธีร์เป็นหัวหน้าครอบครัว เขาเป็นเหมือนกัปตันเรือที่ต้องนำพาเรือโดยสารที่ได้ชื่อว่า ครอบครัว ไปสู่ชีวิตที่มีความสุข ความมั่นคง แต่ดูเหมือนเรือโดยสารลำนี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ โดยเฉพาะคลื่นลมอากาศแปรปรวน และที่สำคัญสมาชิกในเรือโดยสารบางคนก็ต่อต้านกัปตันเรือ
ภัยคุกคามที่เข้ามาในชีวิตของธีร์และครอบครัว ที่ชัดเจนก็คือ ศัตรูภายนอก เริ่มต้นที่ผีร้ายที่มักมาหลอกหลอน หนังไม่ได้บอกสาเหตุหรือแรงจูงใจ อาจมีมูลเหตุอยู่บ้างคือ ผีข้างบ้าน กระนั่นเรื่องราวเจ็บแค้นก็มีเพียงการกระทบกระทั่งทั่วไปจากการเป็นเพื่อนบ้าน ศัตรูภายนอกที่ชัดเจนคือ แม่ยายของธีร์ ที่ไม่ยอมรับและต่อต้านลูกเขย บ่อยครั้งเธอมักสบประมาท ดูถูกดูแคลนลูกเขย แต่บางทีท่าทีนี้ก็อาจเป็นการสื่อสารความรัก ความห่วงใยที่มีต่อลูกสาว ต่อหลานๆ ของเธอก็ได้ แม้ว่าในทางเป็นจริง มันส่งผลให้ธีร์ต้องเลือกพาครอบครัวมาอยู่ห่างไกลจากแม่ยายและเพาะเมล็ดที่ทำให้ธีร์ต้องมุ่งมั่น เอาชนะคำสบประมาทของแม่ยาย จนมองข้ามอะไรๆ ที่สำคัญหลายเรื่อง
หลายเรื่อง หลายปัญหา เงินก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่โชคร้ายที่ธีร์ต้องตกงาน รายได้มหาศาลจากอาชีพในธุรกิจขายตรงหายวับ ขณะที่ภาระค่าใช้จ่าย หนี้สินก็ยังคงอยู่ และทบทวีด้วยดอกเบี้ย ภาวะเช่นนี้หลายคนคงจินตนาการได้ถึงความกลัว ความกังวลต่ออนาคต ซึ่งคุกคามชีวิตจนเครียดและก่อผลกระทบในเชิงพฤติกรรมต่างๆ มากมายตามมา เหมือนกับภาวะชีวิตของธีร์ ที่แรงกดดันเช่นนี้ทำให้ธีร์มีพฤติกรรมฉุนเฉียว โกรธเกรี้ยว
กระนั่น ภัยคุกคามที่แท้อยู่ที่ศัตรูภายในของธีร์เอง ที่สำคัญ คือ จิตใจของธีร์ที่ฝากคุณค่าชีวิตไว้กับความสำเร็จด้วยการมีบ้านของตนเอง การมุ่งเอาชนะคำสบประมาทจนลืมมองความต้องการ ความรู้สึกนึกคิดของคนในครอบครัว ความรู้สึกไม่มั่นคงภายในจนก่อความระแวงสงสัยในภรรยา การมองโลกในแง่ร้ายจนไม่เชื่อคำพูดของลูกสาว และมองลูกสาวในแง่ลบ
ชีวิตของธีร์จึงเป็นตัวอย่างชีวิตของคนที่ไม่รู้จักตนเอง การรู้จักและเข้าใจตนเอง ไม่ได้หมายถึงเพียงการรู้ว่าตนเองมีชื่อ นามสกุลอะไร ภูมิลำเนา การศึกษา ความถนัด ฯลฯ หากความหมายสำคัญคือ การที่คนผู้นั้นเข้าใจและเท่าทัน ตระหนักรู้ในอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของตนเอง โดยเฉพาะการถูกความคิดของตนหลอกลวง มีคำพูดที่น่าสนใจจากนักปราชญ์ท่านหนึ่งคือ กับดักที่ดีเลิศที่สุด คือ การคิดว่าตนเองทำถูกต้อง ดังนั้นธีร์จึงไม่เคยตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยกับตนเอง มุ่งมั่นและยึดถือแต่สิ่งที่ตนเองคิดและเชื่อ ยามเมื่อประสบกับสิ่งที่น่าหงุดหงิด ปฏิกิริยาของธีร์คือ ความโกรธเกรี้ยว ด่าทอ การพร้อมใช้ความรุนแรงเพื่อแก้หรือยุติปัญหา ดังเช่นการซื้อหาปืนของธีร์อาจเพื่อใช้ป้องกันตัว แต่ที่แท้เพื่อยุติปัญหาในแบบของธีร์ อันเป็นแบบแผนของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่พร้อมใช้ความรุนแรง
ในเรื่องราว เราจะเห็นว่าธีร์ไม่มีเพื่อนคอยให้คำปรึกษา แม้แต่กับภรรยา หัวโขนของความเป็นผู้ชาย ความเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้ธีร์เลือกแบกรับปัญหาทั้งหมดไว้เสียเอง สังคมที่ยึดถือชายเป็นใหญ่ก็ยิ่งทำให้ธีร์ไม่สามารถแสดงความอ่อนโยน ไม่สามารถสื่อสารความรู้สึก ความต้องการที่แท้ของตนได้ ความสัมพันธ์ของธีร์กับลูกสาวก็ยิ่งแตกร้าว จึงไม่แปลกที่แนนมักเลือกอยู่กับเพื่อน เหมือนกับวัยรุ่นทั่วไปที่พวกเขามักเลือกอยู่นอกบ้านมากกว่า หากว่าบ้านของตนไม่มีความสุข
หลายครอบครัวคงมีสภาพความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ต่างจากครอบครัว นั่นคือ ปัญหาการสื่อสาร ไม่สามรถสื่อสารความรู้สึกนึกคิด ความต้องการได้ รวมถึงปัญหาการไม่รับฟังกันและกัน การด่วนสรุป ตีความจนนำไปสู่ความเข้าใจ และความเชื่อผิดๆ
ชีวิตของธีร์จบลงด้วยโศกนาฎกรรม เป็นบทสรุปของเรื่องราว แม้ว่าธีร์อาจถูกผีหลอกหลอน แต่สิ่งที่พรากชีวิตของธีร์ก็คือ เจ้าตัวเอง จากภาวะไร้สติ ความตื่นตระหนก หวาดกลัวและอ่อนแอ
ความกลัวเป็นภัยคุกคามชีวิต แต่บ่อยครั้งสิ่งที่ทำร้ายตัวเรา คือความกลัวภายใน และพวกเราหลายคนก็มักสร้างให้ความกลัวภายในน่ากลัวกว่าความเป็นจริงเสมอๆ
ท่านทะไลลามะได้ให้ข้อคิดสำคัญเกี่ยวกับชีวิตและความตายไว้ว่า “หากเรามีชีวิตแบบไหน เราก็จะตายแบบนั้น” ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียด กังวล โทสะ ไม่มีฐานธรรมะในใจ ไม่มีที่พึ่งให้กับจิตใจ ยามเมื่อเผชิญบททดสอบ จิตใจจึงไร้ที่พึ่งพา ธีร์ยึดถือบ้านเป็นที่พึ่งพา เป็นฐานมั่นคงในจิตใจ มีลูกเป็นที่รัก เมื่อบ้านพึ่งพาไม่ได้ ลูกก็ตายไป (โดยความเข้าใจผิดของธีร์) ชีวิตของธีร์จึงต้องประสบกับการตายอันเลวร้าย
แต่ในอีกความหมายของวิกฤต ก็คือโอกาส สิ่งที่เราทุกคนพึงเรียนรู้คือ เราทุกคนเติบโตและงอกงามทางด้านจิตใจได้จากบาดแผล จากทุกข์ภัยที่เข้ามา เพราะเมื่อเราได้เรียนรู้ ผ่านพ้นมาได้ สิ่งที่ได้คือ การเติบโตและความเข้มแข็ง ฉากจบของเรื่องราว แนนได้รับรู้เรื่องราวบางแง่มุมและสัมผัส ได้ถึงความรักที่พ่อมีต่อเธอ ได้เข้าใจความเป็นมาของความบาดหมางที่เกิดขึ้นจากคุณยายและพ่อของเธอ แนนได้เกิดความเข้าใจใหม่ต่อพ่อของเธอและรับรู้ในความเป็นพ่อของธีร์มากขึ้น น่าเสียดายที่ธีร์จบชีวิต ไม่ได้รับรู้ว่าลูกสาวของตนได้เข้าใจตนแล้ว
การดำเนินชีวิตให้ดี จึงเป็นภารกิจสำคัญ เพราะยามเมื่อเผชิญศัตรูภายนอก หรือภายในก็ตาม เราก็พร้อมรับมือ ไม่ให้วิธีการรับมือเป็นตัวปัญหาเสียเอง