หมอครับ ขอผมตายที่บ้าน
"หมอครับ... ขอผมกลับไปตายที่บ้านเถอะครับ"
ประโยคนี้เป็นความปรารถนาของผู้ป่วยในระยะท้ายหลายๆ คน ซึ่งหมอก็อยากจะให้สมความปรารถนา แต่บางทีทำไม่ได้ เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องคนดูแลที่บ้าน มีเรื่องการไม่สามารถจะเคลื่อนย้ายออกจากโรงพยาบาล มีเรื่องความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทันทีที่เอาเครื่องมือเครื่องไม้ออกจากตัว
แต่นี่คือการตีความตามตัวอักษรที่เราได้ยินเท่านั้น ประโยคข้างบนอาจจะมีนัยยะอีกหลายประการ ลองดูความเป็นไปได้ดังต่อไปนี้ คือ
ตาย "ที่" บ้าน หรือ ตาย "เหมือนอยู่ที่" บ้าน
ตาย "ที่" บ้าน หมายถึงกลับไปที่บ้านที่เคยอยู่จริง ซึ่งอาจจะมีได้หลายความหมายอีก
๑) อยากจะนอนข้างหน้าต่างบานเดิม เห็นต้นไม้ที่ปลูก ทักทายกับนกที่บินมาเกาะกิ่ง
๒) อยากจะเห็นเงาพระปรางค์วัดอรุณฯ ตอนเย็นๆ
๓) อยากจะเห็นเงาตึกที่ในหลวงประทับอยู่ทุกวัน
๔) อยากจะให้มีคนข้างๆ บ้านที่คุ้นเคยมาหาบ่อยๆ
๕) อยากตายที่ที่เกิด
๖) ไม่อยากตายที่โรงพยาบาล
๗) ไม่อยากถูกทำหัตถการอะไรอีกแล้ว
๘) ไม่อยากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกต่อไป
๙) คิดถึงบ้าน คิดถึงสัตว์เลี้ยง คิดถึงต้นไม้
๑๐) อยากทำสมาธิ อยากทำพิธีกรรม (ที่โรงพยาบาลไม่อนุญาตให้ทำ)
ฯลฯ อีกมากมายเกินกว่าจะทำรายการได้หมด
ตาย "เหมือนอยู่ที่" บ้าน คำว่า "บ้าน" ในที่นี้ไม่ใช่รูปธรรมอีกต่อไป แต่เป็น "คุณลักษณะของบ้าน" ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน คำว่าบ้านอาจหมายถึง
๑) "คนที่อยู่ในบ้าน" นั้นๆ ที่ทำให้ที่แห่งนั้นกลายเป็นบ้าน
๒) "บรรยากาศ" แบบผ่อนคลาย สบายๆ
๓) "ที่ที่ฉันเป็นนาย เป็นเจ้าของ" ไม่ใช่คนมาอาศัย
๔) "รากเหง้าที่มา" ของฉัน หมายถึงภูมิลำเนา
๕) "สถานที่ที่มีคนเคารพฉัน เห็นใจฉัน รักฉัน"
ฯลฯ
ทุกความหมาย แฝงอยู่ในคำว่า "บ้าน" ได้ทั้งสิ้น บางคนอาจจะผสมกันมากกว่าหนึ่งความหมาย แต่พอเราแตกความหมายโดยนัยยะออกมาแล้ว ทำให้เกิด "ความเป็นไปได้" ของความปรารถนาข้อนี้มากขึ้น เช่น
- เอาต้นไม้มาวางข้างเตียงได้ไหม
- นอนอยู่ในตึกในโรงพยาบาลศิริราชบางอาคาร อาจจะเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ
- อนุญาตให้คนมาเยี่ยมให้สะดวกมากขึ้น
- คุยเรื่อง Advance directives สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้แพทย์ทำ
- คุยเรื่องค่าใช้จ่ายว่ามีอะไรหลายประการที่เบิกได้ หรือประกันจ่าย
- อนุญาตให้ทำพิธีกรรมที่ไม่ไปรบกวนผู้อื่น
- ให้ "คนที่ทำให้เหมือนบ้าน" มาอยู่เฝ้าได้ตลอดเวลา
- จัดบริเวณให้สงบ ร่มรื่น ห่างจากการบริการที่ดุเดือดเผ็ดมันของรายอื่นๆ
- แพทย์พยาบาลรักคนไข้เหมือนญาติพี่น้อง
ในทำนองกลับกัน ถ้านำเอาผู้ป่วยกลับไปบ้านได้จริงๆ แต่เราไปตกแต่งห้องที่บ้านจนเหมือนห้องไอซียู เป็นโรงพยาบาลขนาดย่อส่วน ความหมายของ "กลับบ้าน" ก็อาจจะหายไป ถึงแม้คนไข้ได้กลับบ้าน แต่อาจรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ที่บ้าน ทุกความหมายในหมวดที่สอง (ตาย "เหมือนอยู่ที่" บ้าน) จะมีกับดักแบบนี้หมด
บางที สิ่งที่เราทำอะไรไปโดยอ้างว่ามี "ความรักและเมตตา" แต่ถ้าขาดทักษะในการห้อยแขวน ไม่ด่วนตัดสิน เราอาจจะทำร้ายคนอื่นด้วยความรักและเมตตา (แบบด่วนตัดสิน) ของเราเองก็ได้ และในทำนองกลับกัน ถ้าเราสามารถรับรู้ถึงความหมายที่ไม่ใช่แค่ผิวเผินของความปรารถนาของคนไข้ เราอาจจะคิดถึงทางออกได้มากกว่าทางตัน
ที่มา: https://www.gotoknow.org/posts/598291