Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ส้มจีนอยากกลับบ้าน

-A +A

         ในการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยง แน่นอนว่าย่อมมีทั้งตอนที่สุขภาพดี และตอนเจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วยเราต้องพาไปหาหมอ เพราะเราต้องพึ่งพิงความรู้จากวิชาชีพเฉพาะทางที่มักจะมาพร้อมกับการวินิจฉัย วิธีการรักษา และเครื่องมือแพทย์ที่ดูเป็นมืออาชีพ จนบางครั้งเจ้าของอย่างเราทำได้เพียงแค่ก้มหน้าก้มตาจ่ายเงินค่ารักษาเท่านั้น 

         การตัดสินใจให้ “ส้มจีน” อยู่โรงพยาบาลครั้งนี้เป็นเพราะปัสสาวะไม่ออก เนื่องจากมีเม็ดทราย และลิ่มเลือดที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบมาอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคนิ่ว หมอที่รักษาแนะนำว่า ถ้าให้ดีจะต้องสวนท่อ อยู่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ และกินยาตามเวลา ประมาณ ๔-๕ วัน ตอนแรกผู้เขียนลังเล แต่หมอบอกว่าการให้เขากลับไปบ้านเป็นการทรมานเขามากกว่าเดิม และยังต้องเทียวไปเทียวมาโรงพยาบาลทุกวัน การเทียวไปเทียวมาโรงพยาบาลไม่ใช่ภาระที่ผู้เขียนรู้สึกว่าลำบาก แต่การที่หมอบอกว่าการพากลับบ้านเป็นการทรมานเขานี่สิ ทำให้คิดหนัก สุดท้ายหลังจากต่อรองกับหมอ และเจรจากับส้มจีนซึ่งนั่งหน้าบึ้ง (คนเลี้ยงแมวเท่านั้นที่รู้ว่า แมวทำหน้าบึ้งยามถูกขัดใจอย่างไร) เลยต้องยอมให้อยู่โรงพยาบาลตามแนะนำของหมอ

         เมื่อกลับมาบ้าน ผู้เขียนพบว่าเวลาหรือความเหนื่อยที่ใช้ในระหว่างที่ต้องดูแลจีนเมื่อตอนอยู่บ้านหายไปทันที ไม่ว่าจะเป็นการป้อนอาหาร ป้อนน้ำ ป้อนยา เช็ดตัว ทำความสะอาดห้อง ฯลฯ ทำให้มานึกย้อนว่า ขนาดแค่ดูแลแมวป่วยยังยากหรือเหนื่อยขนาดนี้ ถ้ามีคนในบ้านป่วยจะเป็นอย่างไร ยิ่งในครอบครัวขนาดเล็ก นั่นหมายถึงความพร้อมหรือกำลังคนที่จะดูแลก็น้อยลงไป เพราะแต่ละคนต้องทำงาน จะแบ่งเวลามาดูแลอย่างไร ทำให้เข้าใจว่าทำไมคนป่วยถึงต้องถูกพามานอนที่โรงพยาบาล แล้วญาติมาเยี่ยมในเวลาที่สะดวก ส่วนภาระการดูแลแต่ละวันก็ตกเป็นหน้าที่ของพยาบาล 

         เมื่อกลับมาทบทวน ยังพบว่ามีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ความรู้ หรือความสามารถในการดูแล เราเองก็คงจะมีจำกัด หรือไม่มีความมั่นใจในการดูแล ต้องให้อยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ถึงจะมั่นใจได้ว่า “ดีที่สุด” ทำให้เราไม่มีความรู้ในการรักษาโรคที่ง่ายๆ เช่น หวัด ที่คนสมัยก่อนมีภูมิปัญญาในการรักษาให้หายเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการรักษาจากสมัยใหม่

         อีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เราสามารถดูแลที่บ้านได้คือ ข้อมูลเกี่ยวกับโรค คำปรึกษาหรือข้อแนะนำในการดูแล หรือพยาบาลอาการต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหมอที่รักษา เพราะไม่อย่างนั้นการที่เราจะเอาสัตว์ป่วย หรือแม้กระทั่งคนป่วยกลับมาดูแลเองที่บ้านเป็นเรื่องยากมาก เพราะการดูแลอาจใช้ระยะเวลาสั้น-ยาวไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น

         การป่วยและต้องอยู่โรงพยาบาลของ “ส้มจีน” ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนจะได้กลับมาทบทวน ว่า สักวันหนึ่งถ้าคนในบ้านหรือเราเองกลายเป็นผู้ป่วย มีเรื่องอะไรบ้างที่เราจะต้องเผชิญ ถ้าเราหรือคนป่วยที่เราดูแลอยากจะกลับมานอนรักษาตัวป่วยที่บ้าน ความต้องการนี้จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน มีเรื่องอะไรและอย่างไรบ้างที่เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือบ้าง เพื่อให้การดูแลหรือการป่วยเป็นการ “ป่วยแต่กาย ใจไม่ทุกข์” ไม่ว่าจะในฐานะคนป่วยหรือคนดูแลเอง 

 

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: