ชาร์จพลังชีวิตด้วยมรณานุสติ
เนื่องจาก คุณวรรณวิภา มาลัยนวล นักเขียนและจิตอาสาต้องดูแลคุณแม่สามีวัย ๘๐ ปีที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มากว่าสองปี แต่ละวันต้องเผชิญบททดสอบมากมายในการรับมือกับอาการของโรค และหาวิธีที่จะดูแลและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หลายครั้งพลังชีวิตก็ถดถอยจนต้องงัดเอาความรู้ทุกศาสตร์ที่เคยเรียนรู้ และสั่งสมนับสิบปีมาช่วยเติมพลัง ในที่สุดก็ค้นพบว่า การทำงานจิตอาสากับผู้ป่วยเด็กสัปดาห์ละหนึ่งวัน ช่วยเรียกสติให้หันกลับมาทบทวนทำความเข้าใจและเยียวยาตัวเอง ช่วยฟื้นคืนคุณค่าที่เคยมี และค้นพบจุดสมดุลของชีวิตในปัจจุบัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยชาร์จพลังชีวิตให้เต็มเปี่ยมอยู่ตลอดทุกวินาที คือการให้เวลาอยู่กับตัวเอง และพิจารณาความตายในหลากรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ
“ทุกวันนี้ พยายามให้เวลาตัวเองไม่ต้องมากแค่ ๕ นาทีก็ได้ ๑๐ นาทีก็ได้ แต่ต้องทำทุกวัน สวดมนต์พักหนึ่งแล้วก็นั่งสมาธิ เหนื่อยยังไงง่วงแค่ไหนก็ต้องทำ ไม่สนใจว่านั่งแล้วจะได้สมาธิหรือไม่ได้ แค่นั่ง เพราะพี่เน้นอาจจะแค่ ๒ ลมหายใจเข้าออกที่ฉันรู้สึกจริงๆ แค่มีสติรู้ขึ้นมาก็พอใจแล้ว แล้วพอไปนอนเราก็คิดว่า พรุ่งนี้อาจจะไม่ตื่นก็ได้ ถ้าพรุ่งนี้จะไม่ตื่น โอเคหรือยังแบบนี้
“หรืออย่างแฟนพี่เขาจะหลับก่อน เมื่อก่อนจะหงุดหงิดเสียงกรนของเขา เพราะเราจะนอนไม่ได้ เดี๋ยวนี้ถ้าเขายังกรนอยู่แสดงว่ายังมีชีวิต พอคิดอย่างนี้เสียงกรนเลยกลายเป็นเสียงสวรรค์มาก ดีใจที่ยังมีเสียงกรนอยู่ข้างๆ เพราะเราไม่รู้ว่านาทีไหนที่เสียงกรนเขาจะหายไป เหมือนคืนนี้เรานอน เราอาจจะตายแล้วก็ได้
“พอตอนเช้า จะมีช่วงที่เรารู้สึกตัวแต่ยังไม่ลุก ยังงัวเงียๆ จะรู้สึกว่ายังหายใจอยู่ แสดงว่าเรายังมีชีวิต ก็ตั้งใจนิดหนึ่งว่า ๒๔ ชั่วโมงใหม่แล้ว วันนี้จะพยายามทำให้ดีกว่าเมื่อวาน เมื่อเริ่มรู้สึกตัวมากขึ้นก็จะสูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วก็ลุกขึ้นมา คือเหมือนเราให้เวลาสั้นๆ สวดมนต์นั่งสมาธิก่อนนอน เช้าตื่นนอนนิดหนึ่งที่เราหายใจจริงๆ แล้วจะมีเสียงนกเข้ามา เสียงรดน้ำต้นไม้ รถเริ่มออกไปทำงาน เสียงชีวิตมันเริ่มกลับมา ก็รู้สึกว่าดีจังได้ยิน ดีจังได้หายใจ พอทำอย่างนี้ทุกคืน มันเหมือนกับเราชาร์จพลังตัวเองขึ้นมาอีกทุกวัน
“จริงๆ แล้วพี่มานึกถึงความตายมากๆ ช่วงสองปีนี้ที่พ่อแฟนพี่เสียจากมะเร็ง มันเริ่มเห็นใกล้ เห็นเขาทุกวันก่อนตาย รู้สึกว่าทุกสิ่งที่เราเรียนรู้มามันได้ใช้แล้วเกิดประโยชน์จริง พี่ได้มีส่วนช่วยซัพพอร์ตให้แฟนพี่ผ่านเหตุการณ์นั้นได้อย่างดี และคิดว่านั่นเป็นจุดที่ทำให้เขายอมไปปฏิบัติธรรม และกลับมาดูแลสุขภาพ พอถามเขาว่าทำไมเดี๋ยวนี้พี่หันมาดูแลสุขภาพ เขาบอกว่าเขาอยากมีชีวิตอยู่เพื่อดูแลเรา ดูแลแม่ พี่ก็ดีใจว่ามันทำให้คนหนึ่งเปลี่ยนได้ขนาดนี้เลยหรือ เพราะความตายของพ่อทำให้ลูกอีกคนหนึ่งเติบโต และเขาก็มีอะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป เขาจะห่วงเรามากขึ้น ท่าทีก็อ่อนโยนลงหลายๆ เรื่อง พี่เลยรู้สึกว่าความตายไม่ได้มีแง่ร้ายอย่างเดียว ก็เลยเอามาใช้บ่อยขึ้น
“แล้วพี่ก็กลับไปพูดคุยกับแม่เราเองด้วย เวลาทำกิจกรรมอะไรก็เอาไปทำกับแม่ พี่เคยเอาเกมไพ่ไขชีวิตไปเล่น แม่...ถ้าแม่ตายแม่จะทำศพยังไง หรือบางทีงานศพคนใกล้ชิดเขาตาย แม่ว่าถ้าเป็นแม่จะปั๊มไหม แล้วแม่กลัวความตายไหม กลัวเจ็บไหม กลัวเจ็บแล้วแม่ทำยังไง มันเหมือนกับถามเพื่อให้รู้จักเขามากขึ้น เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลานั้น มันมีข้อมูลที่จะรับมือ และช่วยให้เขารับมือกับมันได้
“พี่รู้สึกว่ามันเป็นการพูดคุยที่ดี แล้วแม่ก็เล่าถึงอดีตว่าบางทีเขาก็อยากขอโทษคุณตาที่ไม่ได้ดูแล แล้วแกก็ร้องไห้ เรารู้สึกว่าแม่ได้คลี่คลายสิ่งที่มันอัดอยู่ข้างในที่เขาไม่มีโอกาสได้พูด เพราะปกติเราคุยเรื่องธรรมดา ไม่เคยคุยเรื่องอย่างนี้ แต่พอเราใช้ไพ่คุย เขาได้ร้องไห้ ได้ระบาย ได้พูดสิ่งที่เขาอยากบอกกับตา อยากบอกกับยาย ก็เลยรู้สึกว่าการคุยมันทำให้เขาได้มองย้อนกลับไป ถึงแม้ว่าจะมีน้ำตาไหล แต่มันเป็นน้ำตาที่ทำให้เขาได้คลี่คลายออกมา
“ตอนนี้ คนสำคัญสำหรับพี่ก็คือแม่ แล้วก็สามี เราก็เลยเอาสิ่งที่เรารู้มาใช้กับเขาด้วย เพราะถ้าเราจะเตรียมตัวเรา ก็ต้องเตรียมคนรอบข้างเราด้วย สมมุติเราบอกว่าอยากตายอย่างสงบ ไม่อยากให้ใครมาปั๊มมาใส่ท่อ แต่เราลองนึกถึงใจเขา ถ้าเขาเห็นเราหายใจไม่ออก ถ้าเขาไม่พร้อม เขาก็ต้องอยากให้ปั๊มใช่ไหม เราก็คิดเผื่อใจเขาว่า เขาจะทนเห็นเราเฮือกๆ ได้เหรอ คงไม่ได้มั้ง ก็เลยต้องซ้อมต้องเตรียมเขา
“บางทีพี่ก็ถามแฟนพี่ว่า ถ้าเมียตายก่อน พี่ว่ายังไง แรกๆ เขาก็ฮึดฮัดไม่อยากตอบ ทีนี้วันหลังพอพี่ไปเจอลุงแก่ๆ ที่เขาอยู่คนเดียว แกออกกำลังยกน้ำหนัก ก็เลยบอก พี่ถ้าหนูตายพี่ก็ทำแบบลุงนี้สิ เช้ามาก็ออกกำลังกาย แล้วพี่ก็เลี้ยงนกเลี้ยงแมวอะไรก็ได้ ถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่จะได้มีอะไรทำ หรือบางทีเราไปทำงานต่างจังหวัด ก็เหมือนให้เขาได้ซ้อมอยู่คนเดียว คือเมื่อก่อนความที่สองคนอยู่ด้วยกัน มันมีความผูกพันติดกันอยู่ระดับหนึ่ง กินข้าวด้วยกัน จะไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน เดี๋ยวนี้ต้องหัดให้ไปซื้อของเอง ไปตลาดซื้อของกินเอง ให้เขาเริ่มรู้ว่าถ้าไม่มีเมียอยู่ที่บ้านคอยทำให้ เขาก็ต้องทำอย่างนี้ได้ เป็นการซ้อมวันละนิดละหน่อย
“สำหรับตัวเอง เดี๋ยวนี้ก่อนนอนก็เริ่มฝึกตามบทพิจารณามรณสติ เหมือนกับจำลองวินาทีที่จะตาย จะเห็นความเศร้าเข้ามา แสดงว่าเราน่าจะมีความกลัวอยู่ จิตมันยังแว้บ ใจหาย มันเหมือนกับให้เราค่อยๆ หาจุดอ่อนแอของเราให้เจอ เพื่อที่ว่าต่อไปถ้าเจอกับความตายจะได้เผชิญได้จริงๆ
“มีอยู่วันไปอบรมแล้วเล่นเกม คือมีกระดาษในมืออยู่ ๓ ใบ มีชื่อแฟนพี่ มีพี่ และมีแม่ แล้วมัจจุราชก็มาหยิบไป พอหยิบแฟนพี่ออกไปเหมือนกับว่าถ้าเขาตายก่อน น้ำตานี่ไหลอัตโนมัติเลย รู้เลยว่าไม่พร้อม ยังมีจุดอ่อน ยังมีจุดเปราะ ยังมีกลัว รู้เลยว่า การพึ่งพิงนี้ไม่ใช่ เราต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ที่เราร้องเพราะว่าการพึ่งพิงนี้ ตัวเรายังเอียงๆ อยู่ ยังไม่ตรง พอรู้สึกว่าหลักมันจะหายไปเราถึงได้น้ำตาไหล แล้วความกลัวตรงนี้จะแก้ได้อย่างไร เราก็มานั่งนึกว่าจะแก้ด้วยวิธีไหน
“เพราะฉะนั้น พอเขาขับรถออกไปก็นึกว่า วันนี้เขาอาจจะไม่กลับมาก็ได้นะ หันกลับเข้ามาในบ้าน ถ้าเขาไม่กลับมาจะดูแลบ้านนี้ยังไง จะอยู่ยังไง จะดูแลแม่ยังไง จะดูแลตัวเองยังไง เมื่อก่อนเคยเรียกเขาซ่อมไฟ ซ่อมประปานี่นั่น ถ้าเขาไม่อยู่คงต้องตามช่างเหมือนกับซ้อมกับตัวเอง นั่งรถไปกับเขา บางทีรถติดแล้วเขาโมโห เราก็บอก ไม่เป็นไรนะ เราได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันในรถ ถ้ารถวิ่งเร็วบางทีรถอาจจะคว่ำก็ได้ อาจเกิดอุบัติเหตุก็ได้ รถติดอาจจะช่วยให้เราไม่ตายก็ได้ ก็คุยกันอย่างนี้ มันก็เป็นจุดที่ทำให้เราได้คิดตลอดเวลา พี่จะพยายามคิดบ่อยๆ ว่าถ้าเขาจะไปหรือเราจะไปจะเสียใจไหม ถ้าพูดประโยคนี้ไป สัมพันธภาพก็ดีขึ้น พี่ว่าถ้าเราซ้อมบ่อยๆ ความกลัวน่าจะน้อยลง
“เวลาไม่สบาย เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ลองซ้อม ป่วยขนาดนี้กลัวไหม ฝึกอยู่กับความไม่สบายดูว่าใจเป็นอย่างไร ฝึกอยู่กับความเจ็บ ความปวด หัดทนเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เพราะถ้าเจ็บใหญ่ๆ ตอนจะตายก็น่าจะโอเค แล้วพี่เป็นคนไม่ชอบกินยา กลัวเข็ม กลัวเครื่องมือหมอ ถ้าจะตายจริงๆ คงกลัวเยอะไปหมด ก็สั่งแฟนเหมือนกันว่าไม่เจาะนะ ไม่ปั๊มนะ แต่เขาบอกไม่ใช่นะ ถ้าอุบัติเหตุยังไงก็ต้องปั๊มเพราะไม่ใช่ว่าแก่หรือเป็นมะเร็ง อันนี้พี่ก็เห็นด้วย แง่คิดของเขาก็ดีนะ บางทีพอฟังในฝั่งเขาบ้าง เราก็เริ่มหาตรงกลางได้ง่ายขึ้น การคุยกันก็มีประโยชน์ เดี๋ยวนี้เลยคุยกันเยอะ มีจังหวะพี่จะคุยตลอด
“การคิดเรื่องความตายทำให้เราใช้เวลามีประโยชน์มากที่สุด ได้ใช้เวลาดูแลสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ใช้เวลาดูแลสุขภาพ ใช้เวลาทำประโยชน์ข้างนอก และใช้เวลาทำการปฏิบัติข้างใน คือการใช้ชีวิตทุกองศาทุกมุมเลย ทำให้รู้สึกว่าชีวิตแต่ละวินาทีมันมีค่า อย่างเมื่อก่อนเราเดินจับมือกันก็แค่จับมือ แต่เดี๋ยวนี้คิดว่าถ้ามันจะเป็นการจับมือครั้งสุดท้าย มันทำให้เราซึมซับความอบอุ่นจากสัมผัสกับมนุษย์ตรงนี้ชัดๆ แล้วรู้สึกว่าการเดินไปด้วยกันแบบนี้ทุกวินาทีมันมีค่าจริงๆ ความรู้สึกมันชัดเจนมากกว่าเมื่อก่อน ทำให้เราละเอียดอ่อนกับชีวิตและความสัมพันธ์ เพราะเราอยากอยู่ให้ดีที่สุดกับนาทีนั้นที่อยู่กับเขา ถึงแม้ว่ามันอาจจะสั้นมาก
“อย่างตอนเช้าพี่เดินมาส่งเขาขึ้นรถ พี่ก็จะพยายามมองทุกวินาทีที่จำเขาได้ เพื่อว่าถ้านี่จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ได้เห็นก็เป็นภาพที่จะจำให้ได้ เมื่อก่อนเขาไปทำงาน ไปก็ไป ไม่ได้ละเมียดละไมกับมัน แต่เดี๋ยวนี้จะส่งเขาทุกครั้ง เซย์ บ๊าบ บาย ต้องบอกลาไว้ด้วย เพื่อให้รู้สึกว่าคำพูดสุดท้ายคือลาแล้วนะ ถ้าเกิดเขาไม่ได้กลับมาจะได้ไม่เสียใจว่าไม่ได้ลา
“กลางคืนก่อนจะนอนก็ลานะ ฝันดีนะ พี่...ถ้าเกิดพรุ่งนี้เช้าตื่นมาไม่เจอก็ลานะ เราอยากให้มันเป็นประโยคสุดท้ายที่พูดด้วย เพราะตอนนี้เขาเป็นคนใกล้ชิดที่สุดในชีวิต เป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องพร้อมเสมอที่ครึ่งนี้จะหายไป คือเราไม่ใช่คนเข้มแข็ง จึงต้องซ้อมบ่อย บ่อยมาก เพื่อให้เราพร้อมที่สุด”