Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ทักษะการดูแลและเตรียมพร้อมช่วงท้ายของชีวิต (ต้องทำให้ความรู้ดังกล่าวเป็นเรื่องสาธารณะ)

-A +A

           จะว่าไปแล้ว การจัดอบรมทักษะการดูแลและเตรียมพร้อมช่วงท้ายของชีวิตสำหรับผู้สนใจทั่วไปในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะแต่เดิม “โครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” เครือข่ายพุทธิกา ต้องการจัดอบรมเรื่องดังกล่าวให้กับบุคลากรสุขภาพและจิตอาสาที่จะทำงานเป็นทีมร่วมกับพระสงฆ์ใน แต่เมื่อประกาศข่าวออกไปในทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Peacefuldeath กลับมีคนทั่วไปสนใจไถ่ถามและสมัครเข้ามามาก “โครงการความตาย พูดได้” จึงรับช่วงนำมาใคร่ครวญต่อและพบว่า ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยสูงอายุที่จำเป็นหรือเลือกรักษาตัวอยู่ในบ้านเป็นจำนวนมาก แต่ความรู้ในเรื่องการดูแลด้านต่างๆ โดยเฉพาะการดูแลทางกายกลับจำกัดอยู่ในเฉพาะแวดวงของบุคลากรสุขภาพ โครงการจึงสนใจที่จะช่วยเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวไปสู่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จึงทดลองจัดการอบรมเรื่อง “ทักษะการดูแลและเตรียมพร้อมช่วงท้ายของชีวิต” ในวันที่ ๕-๖ กันยายน ๒๕๕๘ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นประเดิม 

           โครงการพบว่า มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมากถึง ๗๐ กว่าคน ไม่เฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น หากยังมาจากจังหวัดห่างไกล เช่น สุโขทัย อุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก เป็นต้น อีกด้วย เพราะส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นญาติ หรือเป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วย จึงเห็นความสำคัญ ต้องการความรู้ และฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจเรื่องการตายดี การประยุกต์ใช้ในการดูแลตัวเองและผู้อื่น การพูดจาโน้มน้าวผู้ป่วย โดยเฉพาะการเรียนรู้แนวทางการดูแลทางจิตใจ การดูแลใจตัวเองของผู้ดูแล ซึ่งบางเรื่องสอดคล้องกับแนวคิดในการจัดอบรมอยู่แล้ว แต่โครงการยังเพิ่มเติมเรื่องการให้ความรู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายคืออะไร อาการทั่วไปของผู้ป่วยระยะท้ายและการดูแล ซึ่งคนทั่วไปทำได้ สัญญาณ อาการในช่วงท้ายของชีวิต และการเขียนพินัยกรรมชีวิตล่วงหน้า เข้าไปอีกด้วย โดยมีคุณวรรณา จารุสมบูรณ์ และคุณเพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ สองกระบวนกรสาวผู้ช่ำชองช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าการให้ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมผ่านประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนพูดคุย ในกลุ่มย่อย และสะท้อนการเรียนรู้ในกลุ่มใหญ่ ตลอดจนการให้ความรู้และฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นโดยตรง

           เริ่มด้วยฉายอนิเมชั่นความยาว ๖ นาทีเรื่อง “ผู้ป่วยระยะท้ายและการดูแลแบบประคับประคองคืออะไร” ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่สามารถสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหมายของคำว่าผู้ป่วยระยะท้าย การดูแลแบบประคับประคอง การวางแผนการดูแลล่วงหน้า การดูแลอาการทางกาย ทางเลือกในการรักษาที่บ้านหรือโรงพยาบาล เป็นต้น ได้อย่างเข้าใจได้ง่าย และครบถ้วน 

           ต่อด้วยการจัดกลุ่ม ๕ คน เล่น “เกมไพ่ไขชีวิต” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่โครงการความตาย พูดได้ ประยุกต์มาจาก “My gift of grace” เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถเปิดประเด็นการพูดคุยเรื่องความตายกับคนในครอบครัว ญาติ หรือเพื่อนๆ ได้อย่างไม่ยากจนเกินไป 

           ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการหลักที่ผู้เข้าร่วมสนใจ คือการฝึกทักษะการดูแลความสุขสบายแก่ผู้ป่วย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเคยเห็นบุคลากรสุขภาพทำ แต่ตัวเองไม่เคยทำ การเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ดูแล โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถรอผู้เชี่ยวชาญได้ ผู้ดูแลจึงต้องพยายามทำให้ได้ทุกอย่าง โดยคุณนภาพร พีรกวี วิทยากรจะให้ความรู้ สาธิตให้ดู แล้วจึงให้ผู้เข้าร่วมฝึกฝนทักษะหลักๆ ๔ เรื่อง คือ ๑. การดูแลความสะอาดของร่างกาย การอาบน้ำผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งโดยหลักการคือสนับสนุนให้ผู้ป่วยใช้แรงตัวเองเท่าที่จะทำได้ ๒. การดูแลอาการปวด การเหนื่อยหอบ ไข้ เสมหะ ๓. การจัดท่าทางให้สุขสบาย ๔. การดูแลแผลกดทับ 

           แล้วจึงดูสารคดีของ BBC เรื่องเฮอบี (Herbie) ว่าด้วยผู้ป่วยมะเร็งที่อนุญาตให้เอาชีวิตตัวเองเป็นครูสอนคนอื่น นับแต่ป่วยจนถึงระยะสุดท้ายจนเสียชีวิต ทำให้เห็นกระบวนการตายในช่วงต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อคนที่ไม่มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาก่อน เพราะทำให้เห็นว่ากระบวนการดูแลไม่ยากอย่างที่คิด ถ้ามีการร่วมมือกันอย่างเหมาะสมระหว่างญาติและทีมดูแลรักษา อันเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดอย่างเป็นระบบในสังคมไทยต่อไป

           เสริมด้วยการฝึกทักษะการฟัง ซึ่งไม่ใช่การฟังเฉพาะคำพูด แต่รวมถึงสิ่งที่ไม่ได้พูด ความต้องการ หรือสิ่งที่อยู่ในใจ อันเป็นเคล็ดลับสำคัญในการดูแลผู้ป่วย เพราะการฟังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยเป็นตัวของตัวเอง 

           ช่วงบ่าย จึงเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ความสูญเสียของแต่ละคน ก่อนจะปิดท้ายด้วยการพูดคุยเรื่อง Living Will โดย ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส โดยเฉพาะการดูแลชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินอย่างไรให้หายห่วง ซึ่งผู้เข้าร่วมให้ความสนใจอย่างยิ่ง จนโครงการคิดว่าอาจจะจัดการเสวนาต่างหากเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว 

           จากการสะท้อนผลการอบรม หลายคนบอกว่ารู้สึกเกินความคาดหวัง เป็นการอบรมในเรื่องใกล้ตัว ให้ความรู้ละเอียด ใช้กระบวนการเรียบง่าย แต่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมเปิดใจคุยกัน ได้ทักษะสำคัญที่ไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน เช่น การฟังอย่างเข้าใจและได้ยิน หรือการได้รู้จักเพื่อนๆ บางคนบอกว่าจะเอาเกมไพ่ไขชีวิตไปเล่นในครอบครัว เนื่องจากทำให้แต่ละคนแม้จะหลากหลายวัยเปิดเผยความรู้สึกออกมาได้ เพราะการดูแลผู้ป่วยไม่จำต้องเป็นคนสูงวัยดูแลกันเอง แต่อาจเป็นคนวัยรุ่นหรือหลานๆ มาดูแลปู่ย่าตายาย 

           ผลการจัดอบรมสะท้อนให้เห็นว่า มีคนให้ความสนใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยอยู่เป็นอันมาก แต่เข้าไม่ถึงความรู้ดังกล่าว การเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวออกไปสู่สาธารณะเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยให้กับประชาชนทั่วไป นอกจากจะช่วยลดภาระของระบบบริการสุขภาพลงแล้ว ยังช่วยให้การดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีทางเลือกและความเป็นไปได้มากขึ้นอีกด้วย 

 

....................................

อนึ่ง “โครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” และ “โครงการความตาย พูดได้” เครือข่ายพุทธิกา ได้รับการสนับสนุนการทำงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: